ภาษี งบประมาณ กับ การพัฒนาประเทศ (ตอนที่3)


ในปี 2534 (ก่อนการจัดทำแผน 8 ที่ได้กล่าวถึงในคราวที่แล้ว) รัฐมนตรีสาธารณสุขในสมัยนั้น ได้ตั้งงบประมาณเพื่ออุดหนุน หน่วยงานเอกชนสาธารณประโยชน์ (เรียกกันในสมัยนั้นว่า งบสนับสนุนเอ็นจีโอ) โดยมีสัดส่วนเพียงไม่ถึง 0.1% ของงบประมาณทั้งหมดของกระทรวงสาธารณสุข และกำหนดให้หน่วยงานเอกชนสาธารณะประโยชน์ สามารถเสนอโครงการ ที่สอดคล้องกับ ปัญหาสาธารณสุขที่กำหนดไว้ในงบประมาณก้อนนี้ เป็นการพบกันครึ่งทางระหว่าง รัฐกับเอกชนสาธารณะประโยชน์ เพื่อผลักดันเป้าหมายที่กระทรวงเห็นว่ามีความสำคัญร่วมกัน

ปรากฎว่า การพิจารณางบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขในปีนั้น ใช้เวลากับ งบประมาณก้อนนี้ถึงกว่า 2 ใน 3 ของเวลาทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ กรรมาธิการงบประมาณ ไม่เห็นด้วยกับการตั้งงบประมาณ สนับสนุนการทำงานของหน่วยงานเอกชนสาธารณะประโยชน์ เพราะเห็นว่า หน่วยงานเหล่านี้มักทำกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐบาล

แต่เมื่อได้รับคำชี้แจงว่า งบประมาณเหล่านี้มีขอบเขตงานที่ชัดเจน และมีกลไกที่จะมาพิจารณาโครงการไม่ให้เป็นโครงการที่มุ่งหวังทางการเมือง แต่เป็นการพัฒนาสุขภาพอนามัยของประชาชน งบประมาณจึงได้รับการอนุมัติ แต่ก็มีอยู่เพียง 3 ปีงบประมาณ หลังจากนั้น ก็ได้ถูกยกเลิกไปจากกรอบงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข

มองในเชิงผลลัพธ์ งบประมาณในครั้งนั้นไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม ของภาคเอกชนสาธารณะประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีลักษณะเป็นเพียงการให้เงินทำโครงการที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี และภาคเอกชนสาธารณะประโยชน์ก็ไม่ให้ความสนใจ หรือเห็นเป็นโอกาสในการ ปรับตัว หรือพัฒนาศักยภาพเข้ามาเป็น “ภาคี” ของส่วนราชการ ทำความเข้าใจเป้าหมายใหญ่ของการพัฒนาสุขภาพ และมาร่วมคิด ร่วมทำ ยังคงฐานะเป็นเพียง “ผู้รับทุน” ที่พร้อมทำทุกอย่างตามที่ส่วนราชการกำหนด

ที่เล่ามาเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการในการใช้ งบประมาณแผ่นดิน ที่ได้จากการเก็บภาษีอากรของรัฐบาล ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงอีก 3 ครั้งสำคัญในปี 2535 (การเกิดหน่วยงานส่งเสริมการวิจัย ในรูปของหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่หน่วยราชการ) ปี 2540 (การเกิด พรบ องค์การมหาชน)  ในปี 2544 (การเกิดของกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ)
หมายเลขบันทึก: 597502เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2015 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2015 11:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท