นพ.พงษ์ศักดิ์ ราชสมณะ : ​ป้าพร


ช่วงเดือนกันยายน ๒๕๕๘ ได้รับผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย ชื่อ คุณป้าพร ป่วยเป็นมะเร็งตับระยะท้าย มี Palliative Performance Scale (PPS) ประมาณ 30 % มีอาการรบกวน คือ อาการปวด มีอาการอ่อนเพลีย รับประทานอาหารได้น้อย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในช่วงแรกของการเข้ารับการรักษา ได้ให้ยามอร์ฟีน เพื่อบรรเทาอาการปวด ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ เพื่อแก้ไขภาวะ เกลือแร่ในร่างกายที่ผิดปกติ จนอาการปวด และเกลือแร่ในเลือดเข้าสู่ระดับปกติ อาการโดยรวมของผู้ป่วยดีขึ้น จึงจำหน่ายผู้ป่วยกลับไปดูต่อที่บ้าน

ผู้ป่วยมีบุตรสาว ๒ คนเป็นผู้ดูแลหลัก มีการส่งแบบบันทึกการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองของเครือข่ายสวรรคโลก ซึ่งมีการบันทึกข้อมูลผู้ป่วย อาการรบกวน การรักษาที่ให้ในปัจจุบัน และการดูแลต่อเนื่องโดยที่ต้องการให้ รพ.สต. ดำเนินการต่อ ซึ่งเป็นรูปแบบการสื่อสารระหว่างทีมให้การดูแลในรูปแบบที่เป็นทางการ หลังจำหน่ายผู้ป่วยกลับไปดูแลต่อที่บ้าน มีเจ้าหน้าที่จาก รพ.สต. ไปเยี่ยมผู้ป่วยเป็นระยะๆ

จนระยะเวลาผ่านไป ๓ สัปดาห์ ได้รับแจ้งจาก รพ.สต. ว่าคุณป้าพรยังมีชีวิตอยู่ อาการทรุดลงเรื่อยๆ ไม่สามารถพูดได้ รับประทานนมเปรี้ยวขวดเล็กๆ ได้ วันละ ๑-๒ ขวด มีอาการคล้ายเพ้อ แกว่งแขนไปมา เป็นช่วงๆ ทีมดูแลผู้ป่วยจากโรงพยาบาลสวรรคโลกจึงติดต่อกับ รพ.สต. ว่าจะลงเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน โดยจะลงไปที่ รพ.สต. ก่อน แล้วจึงจะไปเยี่ยมผู้ป่วยพร้อมกันกับ

ผอ.รพ.สต. และพยาบาลวิชาชีพประจำ รพ.สต. เมื่อไปถึงบ้านผู้ป่วย พบผู้ป่วยนอนอยู่บนที่นอน บริเวณนอกชานชั้นสองของตัวบ้าน ผู้ป่วยซึมลงมาก หลับเป็นส่วนใหญ่ ปลุกตื่นลืมตา ทำตามคำสั่งเช่นยกแขนได้ช้าๆ จึงสอบถามอาการจากบุตรสาวซึ่งเป็นผู้ดูแลหลัก และญาติๆ ทราบว่าผู้ป่วยมีอาการคล้ายเพ้อเป็นช่วงๆ จะยกแขนกวัดแกว่งไปมา และร้องคราง คล้ายกับมีอาการปวด ผู้ดูแลให้ยาระงับปวดตามเวลา ผู้ป่วยไม่มีแผลกดทับ ไม่ได้ใส่สายให้อาหาร ไม่ได้ใส่สายสวนปัสสาวะ มีปัสสาวะซึมมาบนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ที่ใช้สวม ระหว่างพูดคุยซักถามอาการจากผู้ดูแลผู้ป่วยละญาติ ผู้ป่วยร้องครางยกแขนกวัดแกว่งตามที่ญาติแจ้ง จึงทำการตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียด พบว่าผู้ป่วยมีกระเพาะปัสสาวะโป่ง มีปัสสาวะซึมบนผ้าอ้อมสำเร็จรูป คิดว่าการมีปัสสาวะคั่ง น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายเพ้อและร้องคราง จึงได้ทำการสวนปัสสาวะโดยให้พยาบาลวิชาชีพ จาก รพ.สต.เป็นผู้ทำการใส่สายสวน ได้ปัสสาวะออกมาประมาณ ๑๒๐๐ มิลลิลิตร

ผู้ป่วยดูผ่อนคลายลงหยุดร้องคราง หยุดแกว่งแขนหลังจากสามารถระบายปัสสาวะที่ค้างอยู่ออกมาได้หมด จากประสบการณ์นี้ ทำให้ได้ข้อคิดว่า การประเมินผู้ป่วยโดยการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ทำให้เราทราบสาเหตุของอาการรบกวนและสามารถจัดการได้โดยการ empowerment บุคลากรจาก รพ.สต.ให้ได้แสดงบทบาทหลัก ไม่ใช่โรงพยาบาลบริหารจัดการเองทั้งหมด

นพ.พงษ์ศักดิ์ ราชสมณะ พบ.วว.เวชศาสตร์ครอบครัว นายแพทย์ชำนาญการ รพ.สวรรคโลก

คำสำคัญ (Tags): #Pal2Know#Pal2Know7#palliative care#home care
หมายเลขบันทึก: 597415เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2015 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2015 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท