ภาษี งบประมาณ กับ การพัฒนาประเทศ (ตอนที่2)


มาคุยกันต่อเรื่อง ยากและซับซ้อน แต่สำคัญ สำหรับคนอยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้น

ขอเริ่มด้วย ประสบการณ์แรกที่ทำให้ผมฉุกคิด และตามเรียนรู้ทำความเข้าใจ ความสัมพันธ์ของ 3 เรื่องนี้

ในการประชุมการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ที่นับเป็นความพยายามครั้งใหญ่ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายใต้การนำของ ดร สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการฯ ในขณะนั้น ที่เปลี่ยนกระบวนการและเนื้อหา แผนพัฒนาระยะ 5 ปี ด้วยการเน้นการมีส่วนร่วมของผู้คนในสังคม เชิญผู้มีความรู้และประสบการณ์จากวงการต่างๆ เข้าร่วม มี ผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งที่ผมต้องขออภัยที่จำชื่อไม่ได้แล้ว จำได้เพียงว่าเป็น สุภาพสตรี อาวุโสพอสมควร ท่านตั้งคำถามน่าสนใจในที่ประชุมคณะทำงานย่อย ว่าแผนพัฒนาระยะ 5 ปีของเราที่ผ่านมา โดยเนื้อหาดีมาก ครอบคลุมเรื่องสำคัญดีๆ เกือบทุกเรื่องที่ควรทำ แต่พอนำไปสู่การปฎิบัติ กลับกลายเป็นเพียงกรอบ ในการทำงบประมาณของ หน่วยราชการ และดูเหมือนภาคส่วนอื่นๆในสังคม จะไม่มีส่วนร่วมเท่าที่ควร แม้จะเห็นด้วยกับทิศทาง และเนื้อหาในแผน แต่ก็ไม่รู้จะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร

เกิดคำถามตามมาว่า งบประมาณที่รัฐบาลใช้เงินภาษีอากร มาจัดทำเป็นแผนงานโครงการต่างๆมากมาย ต้องดำเนินการโดยหน่วยราชการเท่านั้น ใช่หรือไม่

ความจริงคือ งบประมาณของหน่วยราชการในแต่ละปี นั้นมีส่วนหนึ่งแน่นอนที่ใช้ไปกับการทำให้ภาคส่วนอื่นๆที่ไม่ใช่หน่วยราชการ มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ โดยอาจแบ่งคร่าวๆเป็น 3 ลักษณะ

แบบแรกคือการที่หน่วยราชการใช้ งบประมาณในการทำงานของหน่วยงาน ที่มีบทบาทในการเอื้ออำนวยในภาคธุรกิจ หรือภาคเอกชน สามารประกอบกิจการต่างๆได้ ตามกฎหมาย กติกา และนโยบาย ที่กำหนดขึ้น

แบบที่สองคือการที่หน่วยราชการ ใช้งบประมาณสำหรับทำแผนงานโครงการต่างๆ ไปจัดจ้างหน่วยงานต่างๆ ในการทำกิจการที่ตรงกับความต้องการ ของหน่วยราชการ (ซึ่งเป็นช่องทางให้เกิดการ คอรัปชั่นได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง ซื้อของ จ้างงาน หรือแม้กระทั่งมาร่วมในนโยบายสำคัญ เช่นการจำนำข้าว เป็นต้น)

แบบที่สาม คือการที่หน่วยราชการตั้งงบประมาณอุดหนุนให้กับ หน่วยงานเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น หน่วยงานสาธารณประโยชน์ ที่ได้รับการยอมรับ จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หรือบางหน่วยงาน อาจเป็นหน่วยที่ส่วนราชการนั้นๆ จัดตั้งขึ้นเอง เพื่อทำกิจการสนับสนุน การทำงานของหน่วยราชการ

สองแบบแรกนั้น เป้าหมายและรายละเอียดของงานที่จะทำ จะกำหนดโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แต่ในแบบที่สาม เป้าหมายและรายละเอียดกำหนดโดยหน่วยงานที่ได้รับ งบประมาณอุดหนุน เช่น สภากาชาด แพทยสภา เป็นต้น

การใช้ งบประมาณแผ่นดิน จึงไม่ได้จำกัดเพียงให้ หน่วยราชการใช้จ่ายเท่านั้น มีการสนับสนุนองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยราชการด้วย แต่สัดส่วนมากน้อยเพียงไร และควรให้กับหน่วยงานใด อย่างไร ยังมีคำถามที่ต้องช่วยกันตามเรียนรู้ และที่แน่ๆ คือยังเป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างกันอยู่ไม่น้อย

เรื่องที่ผมจะเล่าต่อไป อาจเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่จะทำให้เห็น ความคิด ของผู้เกี่ยวข้องในประเด็น งบประมาณ กับ หน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยราชการมากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 597245เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2015 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2015 13:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สนใจประเด็นนี้เลยครับ

แบบที่สาม คือการที่หน่วยราชการตั้งงบประมาณอุดหนุนให้กับ หน่วยงานเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น หน่วยงานสาธารณประโยชน์ ที่ได้รับการยอมรับ .....

ขอบคุณมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท