พิธีบรรจุพระพุทธรูปและพระไตรปิฎกลงองค์เจดีย์(2)


ภาพถ่าย : กลุ่มพุทธศาสนิกชนชาวมอญ ชาวพม่าจำนวนหนึ่งที่ยืนรอและประนมมือไหว้ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์และพระภิกษุสงฆ์ไทยขณะเดินเข้าสู่พิธี

..

นอกเหนือจากกลุ่มชาวพม่าที่นั่งพับเพียบกราบไหว้ท่านในระหว่างทางแล้ว ก็ยังมีกลุ่มพุทธศาสนิกชนชาวมอญ ชาวพม่าอีกจำนวนหนึ่งที่ยืนรอและประนมมือไหว้นิมนต์ท่านพร้อมคณะสงฆ์ไทยให้เข้าไปยังบริเวณเต้นท์พิธี

และเมื่อประธานพิธีสงฆ์มาถึงบริเวณเต้นท์พิธีการทางศาสนาแล้ว "มัคนายก"ของวัดซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัด อีกทั้งเป็นผู้ประสานงานระหว่างพระสงฆ์กับพุทธศาสนิกชน ได้พูดกล่าวเชิญชวนทั้งพุทธศาสนิกชนชาวมอญ ชาวพม่า และชาวไทยที่มาร่วมงานพิธีครั้งนี้ให้เข้ามานั่งในเต้นท์พิธี ซึ่งพิธีการต่างๆ จะเริ่มในอีกไม่ช้านี้

..

ภาพถ่าย : มัคนายกของวัดกล่าวเชิญชวนทั้งพุทธศาสนิกชนชาวมอญ ชาวพม่า และชาวไทย ให้เข้านั่งในพิธี

..

ระหว่างที่มัคนายกของวัดกล่าวคำเชิญชวน และพิธีการขั้นตอนต่าง ๆ ในพิธีการครั้งนี้อยู่นั้น พุทธศาสนิกชนต่างก็ทยอยกันมา และบางส่วนก็เข้ามากราบสักการะบูชาพระรัตนตรัย และกราบไหว้ประธานในพิธีสงฆ์ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่างานพิธีกรรมในครั้งนี้ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ถึงแม้นว่าการพูดจาสื่อภาษาระหว่างกันนั้น อาจจะฟังไม่ได้เข้าใจไปทั้งหมด แต่ด้วยเหตุที่ความเป็นพุทธศาสนิกชนแล้ว ธรรมเนียมการปฏิบัติต่อศาสนา ต่อพระสงฆ์ของทั้งสองประเทศนั้น แทบจะไม่แตกต่างกันเลย

..

ภาพถ่าย: พุทธศาสนิกชนชาวพม่า บางส่วนที่เข้ามากราบบุชาพระรัตนตรัย และประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ ก่อนที่พิธีการจะเริ่มต้น

..

บรรยากาศของงานพิธีตอนเช้านั้น ผู้เขียนได้พูดคุยกับกรรมการฯชาวพม่าท่านหนึ่งว่า...ทำไมคนมอญ คนพม่า ส่วนใหญ่ ถึงนั่งยอง ๆ อยู่บริเวณรอบ ๆ เต้นท์พิธี และผู้เขียนก็ได้คำตอบว่า...คนพม่านั้น นิยมนั่งพื้นเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะนี่คือธรรมเนียมปฏิบัติของพวกเขา หรือแม้กระทั่งการสวมใส่รองเท้าเข้าวัด ซึ่งจริง ๆ แล้ว ที่ประเทศพม่าของพวกเขานั้น ก่อนที่จะก้าวเท้าเข้าวัด ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนทุกชนชั้น พวกเขาจะต้องถอดรองเท้าก่อนเข้ามาภายในบริเวณวัดกันทุกคน

สิ่งนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนอดทึ่งไม่ได้ว่า...ทำไมพวกเขาถึงทำเช่นนี้

ผู้เขียนได้รับคำตอบเพิ่มเติมภายหลังว่า...เหตุที่พวกเขาทำเช่นนี้เพราะนี่คือวัฒนธรรมและประเพณีของพวกเขาที่ทำสืบทอดกันมาอย่างช้านานแล้ว พวกเขาบอกว่าการทำเช่นนี้ เป็นการรักษาวัดซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา ไม่ว่าผู้ใดก็ตามจะละเมิดสิ่งนี้ไม่ได้เป็นอันขาด และถือเป็นหน้าที่ที่พวกเขาต้องปฏิบัติกันทุกคน หากทำไปก็เท่ากับย่ำยีหัวใจของพระพุทธศาสนาและหัวใจของพวกเขานั่นเอง

พวกเขายังบอกอีกว่า ที่เมืองไทยไม่เป็นเช่นนั้น แรก ๆ ที่มาเมืองไทย เข้าวัดไทย ก็ฝืนใจกันอยู่สักระยะหนึ่ง แต่ด้วยเหตุที่เมืองไทยมีธรรมปฏิบัติเช่นนี้ พวกเขาจึงต้องทำตาม...นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนได้รับการบอกกล่าวจากกรรมการฯชาวพม่าคนเดิมท่านนั้น

..


ภาพถ่าย : พุทธศาสนิกชนชาาวไทย ชาวมอญบางคนที่เข้ามานั่งร่วมในงานพิธี

..

ก่อนพิธีการจะเริ่มขึ้นเล็กน้อยนั้น ผู้เขียนยังคงสังเกตุเห็นว่า เก้าอี้ในเต้นท์พิธียังคงมีที่ว่างอยู่อีกมาก ในขณะที่รอบ ๆ เต้นท์พิธีนั้น ได้มีกลุ่มชาวมอญ ชาวพม่า ที่มีทั้งนั่งยอง ๆ และยืนอยู่รอบ ๆ บริเวณต้นท์พิธี จำนวนมาก นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัวผู้เขียนเองนั้นไม่แปลกใจเลย หลังจากที่ได้รับฟังคำบอกกล่าวของกรรมการฯชาวพม่าท่านนั้นแล้ว

ก่อนเวลา 09.00 น...เล็กน้อย ประธานฝ่ายฆราวาส ได้เริ่มพิธีสงฆ์ด้วยการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย

และคำอารธนาศีล และเมื่อการรับศีลจบลงแล้ว พระสงฆ์ในพิธีสวดชัยมงคลคาถา ชะยันโตฯ

..


ภาพถ่าย : พิธีกรรมทางศาสนา ตั้งแต่ประธานฝ่ายฆราวาสจุดธูปเทียนบุชาพระรัตนตรัย อารธนาศีล รับศีล และพระสงฆ์จำนวน 8 รูปสวดชัยมงคลคาถา

..

ชัยมงคลคาถา ชะยันโตฯ บทนี้นั้นเป็นบทสวดที่สวดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย รวมทั้งยังเป็นบทสวดที่กล่าวถึงชัยชนะทั้งมวลที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงมีพระเมตตาประทานพรให้ทุกสิ่งอันเป็นมงคลทั้งปวง จงมีแก่ผู้ร่วมในพิธีกรรมทางศาสนา และขอเทวดาทั้งหลายทั้งปวง ได้ปกปักรักษา ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า อานุภาพแห่งพระธรรม และอานุภาพแห่งพระสงฆ์..

และในระหว่างที่พระสงฆ์สวดชะยันโตฯ นั้นเอง ผู้เขียนในฐานะประธานฝ่ายฆราวาสได้ถวายชุดเจิมมงคลให้แก่ประธานฝ่ายสงฆ์ โดยในชุดเจิมมงคลนี้ ประกอบไปด้วย แป้งเจิม น้ำมันจัน และสีผึ้ง ซึ่งผู้เขียนสังเกตุเห็นพระเดชพระคุณฯท่าน ได้ท่องบ่นคำภาษาบาลีอยู่หลาย ๆ ประโยค แล้วก็ใช้นิ้วชี้ผสมทั้งสามสิ่งนี้เข้าด้วยกัน ท่านผสมลงบนพานทองที่รองรับพระไตรปิฏกที่จะบรรจุลงบนองค์เจดีย์ ซึ่งแป้งเจิมมงคลนี้ พระเดชพระคุณฯท่าน ทำไว้เพิ่มเจิมสิ่งอันเป็นมงคลที่จะบรรจุลงองค์มหาวิทยะเจดีย์แห่งนี้

..

ภาพถ่าย : การผสมแป้งเจิมมงคลในขณะสวดชะยันโตฯ ของพระราชไพศาลมุนี ประธานสงฆ์ในพิธีฯ




ความเห็น (4)

เป็นพิธีที่ขลังมาก

เป็นประวัติศาสตร์ของเจดีย์นี้เลยครับ

ขอบคุณมากๆครับ

ชายมอญมักนุ่งโสร่งสีแดง ชายเมียนมาร์นุ่งโสร่งสีน้ำตาล

เคยคุยกับไกด์ชาวอินเดียครั้งไปพุทธคยา ที่กล่าวถึงความศรัทธาของชาวเมียนมาร์ต่อพุทธศาสนาหลายประเด็น และในประเด็นเรื่องการ ถอดรองเท้า เมื่อเดินเข้าไปในวัดนี้ เป็นนัยดังที่คุณแสงฯ กล่าวไว้ และยังมีนัยที่แสดงถึง ความเท่าเทียม กัน ไม่ว่ายากดีมีจน สูงศักดิ์ ยากจนแค่ไหน เมื่อเข้าเขตพุทธสถานจะเท่าเทียมกันทั้งหมดค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท