พญ.อรพรรณ ฟูมณีโชติ : ปืนกระบอกนั้น


หลายๆ ครั้งที่เราอาจจะคิดว่าการดูแลระยะสุดท้ายนั้นจะเกิดในผู้ป่วยมะเร็งเท่านั้น หากแต่ความจริงแล้ว โรคเรื้อรังที่กำลังดำเนินก็ต้องการการดูแลช่วงสุดท้ายของชีวิตเช่นกัน

คนไข้คนนี้เป็นคนไข้ที่นักวิชาการบอกว่า ไม่อยากไปเยี่ยมบ้านแล้ว รู้สึกเครียดทุกครั้ง ที่ต้องไปเยี่ยมบ้านลุงประสงค์(นามสมมุติ) ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ไ ม่เคยเกิดขึ้นกับทีมเยี่ยมบ้านของเราเลย ตั้งแต่ฉันมาทำงานที่นี่ ตอนนั้นพี่บอล..นักวิชาการภาควิชา ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมเยี่ยมบ้านมาคุยกับดิฉัน “รบกวนหมอช่วยไปเยี่ยมบ้านกับพี่หน่อย พวกพี่ไม่รู้จะทำยังไงกับบ้านลุงประสงค์แล้ว”

ผู้ป่วยชื่อนายประสงค์ เราเรียกแกว่า ลุงประสงค์ เมื่อประมาณ ๒ ปีก่อน หลังตื่นนอนแกปวดศีรษะมาก ร่างกายซีกขวาไม่มีแรง ตอนนั้นไปรักษาที่โรงพยาบาล หมอบอกว่าเส้นเลือดในสมองแตก ผ่าตัดที่ศีรษะ เพื่อเอาก้อนเลือดที่คั่งในศีรษะออก นอนรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลนานประมาณ ๑ เดือน จึงได้กลับบ้าน กลับไปที่บ้าน ร่างกายซีกขวาแกอ่อนแรง แกนอนติดเตียง กินข้าวได้เอง แต่ระยะหลังสำลักบ่อย จนต้องไปนอนรักษาตัวเรื่องปอดติดเชื้อหลายครั้ง ผู้ดูแลหลัก คือ ภรรยา ชื่อนางเจือ(นามสมมุติ) เราเรียกว่า ป้าเจือ ป้าเจือ แกมีโรครูมาตอยด์เป็นโรคประจำตัว ตั้งแต่ลุงประสงค์ป่วยแกต้องเป็นคนดูแลลุงคนเดียว แกเลยไม่ได้ไปรับยาโรคปวดข้อของตัวเองอีก

พี่บอลบอกว่า “ตั้งแต่เยี่ยมบ้านมา ไม่เคยเจอคนไข้แบบนี้เลย ปกติมาแบบไหน เราจัดการได้หมด” “คนไข้คนนี้ ทีมเราไปเยี่ยมทุกครั้งจะมีการดุด่า ใช้คำรุนแรง เหมือนทีมเราไปพยายามยุ่งหรือก้าวก่ายชีวิตแกทุกครั้ง”

ครั้งล่าสุด เราให้นักกายภาพบำบัดไปช่วยกายบริหาร ก็มีการทำร้ายร่างกายโดยการใช้เท้าถีบนักกายภาพ ป้าเจือแกแอบบอกพี่บอลหลายครั้งว่า ป้าไม่ไหวแล้ว ป้าดูแลแกไม่ไหวแล้ว ป้าไม่รู้หนังสือ ป้าทำไม่เป็น ทุกวันนี้ ป้าปวดข้อมือมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากพี่บอลบอกดิฉันวันนั้น ดิฉันก็กลับมาคิดอยู่ซักพักว่า บ้านนี้เราจำเป็นต้องเยี่ยมต่อหรือไม่ หรือเราจะหยุดแค่นี้.... ตอนนั้นชั่งใจอยู่นาน แต่คิดว่าบ้านนี้ คนไข้ไม่น่าจะมีแค่ลุงประสงค์คนเดียวแล้ว อีกคนที่ป่วยไปด้วยตอนนี้ คือ ป้าเจือ ไปบ้านนี้เราจะได้ดูแลคนไข้อย่างน้อยสองคน

ปกติแล้ว บ้านที่ดิฉันไปเยี่ยมนั้น จะไปเพื่อเป็นการอาการทางกายที่เกิดที่บ้านเป็นหลัก แต่บ้านลุงประสงค์ น่าจะไม่เป็นอย่างนั้น สิ่งแรกที่ต้องจัดการในผู้ป่วยคนนี้ คือ อารมณ์เกรี้ยวกราด ที่เกือบจะทำให้ทีมเยี่ยมบ้านเราเองถอดใจที่จะไปเยี่ยมบ้านแก และตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่า อารมณ์แบบนี้ของแกเกิดจากสาเหตุอะไร ทีมเราจำเป็นต้องศึกษาบริบทบ้านนี้ใหม่อีกรอบจากแฟ้มประวัติการรักษา จากเพื่อนบ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.)บริเวณนั้น ที่ก่อนนี้เคยไปเยี่ยมบ้านแก แต่ตอนนี้ถอดใจไม่ไปเยี่ยมบ้าน เพราะกลัวลุงประสงค์ดุ

จากการสอบถามและศึกษาข้อมูลที่เราได้เพิ่มเติม คือ บ้านนี้สร้างมาน่าจะประมาณ ๒๐ ปีก่อน ด้วยน้ำพักน้ำแรงของลุงประสงค์ มีคนอาศัยอยู่ทั้งหมด ๔ คน คือ ลุงประสงค์อายุราว ๗๐ ปี แกเป็นหัวหน้าครอบครัวเป็นเสาหลักของบ้าน หาเงินเอง ตอนวัยรุ่น แกสูบยาเส้นเยอะมาก อสม.พยายามบอกให้แกเลิก แต่ไม่เป็นผล จนแกได้โรคถุงลมโป่งพองมาเป็นของแถม แม้แกจะหอบเหนื่อยมากขึ้นแกก็ยังไม่หยุดสูบ และความดันโลหิตสูงที่ตรวจพบโดยบังเอิญ เมื่ออสม.ไปเยี่ยมบ้าน และวัดความดันให้แกพบว่า ความดันแกสูง แต่แกไม่ได้ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล แกบอกว่า “ตอนนี้สบายดี ไม่มีอาการอะไร จะไปโรงพยาบาลทำไม มากความ คนพวกนี้ ไป..ไป ..ออกจากบ้านได้แล้ว”

อสม.บอกทีมเราว่า แกจะเป็นคนพูดจาขวานผ่าซาก ดุแบบนี้ตั้งนานแล้ว “ถ้าหมออยากเยี่ยมบ้านนี้ ต้องทำใจนะ แต่ไปช่วยแกเถอะสงสารเมียแก”

ป้าเจืออายุน้อยกว่าแกประมาณ ๕ ปี ตอนนี้อายุราว ๖๕ ปี เห็นจะได้ ก่อนหน้านี้ช่วยลุงประสงค์กรีดยาง หลังจากลุงนอนติดเตียงแกต้องมาทำหน้าที่หลักในการกรีดยาง อาการปวดข้อที่เป็นมากขึ้นของแก ทำให้บางวันต้องหยุดกรีดยาง วันไหนแกไม่ได้ไปกรีดยางหมายถึงว่า วันนั้นบ้านนี้ จะไม่มีรายได้เข้าบ้านเลย ไม่ไปกรีดยาง ไม่ได้หมายความว่า จะได้หยุดพักอยู่บ้าน แกต้องดูแลลุง เพื่อนบ้านเล่าให้ฟังว่า วันไหนป้าเจืออยู่บ้าน ไม่ไปกรีดยาง หรือทำงานบ้านช้าไม่ได้ดั่งใจลุงต้องการ จะได้ยินเสียงลุงเอะอะโวยวาย ด่าป้าเจือตลอด จนบางครั้งเพื่อนบ้านต้องเข้ามาถามและตัวเองก็โดนดุไปด้วย “ถ้ามาแล้วทำอะไรไม่ได้ก็ไม่ต้องมา” “เป็นอะไร ทำไมไม่ไปกรีดยาง แล้วจะเอาอะไรกิน” นี่เป็นประโยคที่เพื่อนบ้านบอกเราว่า ได้ยินจนชิน ลุงกับป้ามีลูกด้วยกันสามคน สองคนเป็นลูกสาวออกเรือนแยกบ้านกันไป ลูกสาวสองคนมาเยี่ยมลุง ๑ ครั้งต่อสัปดาห์ ลูกชายคนสุดท้องอยู่ในบ้านเดียวกัน ลูกชายแยกทางกับภรรยามา ๓ ปีและมีลูกสาวอายุประมาณ ๓ ปีที่ตอนนี้อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันนี้ด้วย คนข้างบ้านบอกว่า ลุงประสงค์สมัยยังไม่ป่วย อารมณ์รุนแรง ปากร้าย ทำให้ลูกๆ ของแกกลัว และไม่อยากเข้าใกล้ แม้กระทั่งตอนป่วย ลูกชายที่อยู่บ้านเดียวกัน ก็ยังไม่มาช่วยดูแลแก

นี่เป็นครั้งแรกที่ดิฉันและทีมลงไปเยี่ยมบ้านลุงประสงค์ ลักษณะบ้านเป็นบ้านปูนชั้นเดียวกว้างประมาณ ๑๐ เมตร หน้าบ้านเป็นประตูไม้กร่อนที่ปิดอยู่ ภาพที่ดิฉันเห็นตอนนั้น คือ สุนัขเดินรอดผ่านรูกร่อนของประตูเข้าไปในบ้านคุณลุงได้ เมื่อไปถึง พี่บอลที่ยืนอยู่หน้าบ้านได้ส่งเสียงทักทาย “สวัสดีครับลุงสงค์ ป้าเจือ บอลมาเยี่ยมนะ คราวนี้พาหมอมาดูอาการคุณลุงด้วย”

ป้าเจือเปิดประตูออกมาต้อนรับยิ้มและยกมือไหว้ทีมเรา หลังป้าเจือ นั่นคือ คุณลุงประสงค์สินะ กะด้วยสายตาแกน่าจะสูงประมาณ ๑๗๐ ซม. ร่างกายแกผอมมาก นอนอยู่บนฟูกขนาดประมาณ ๕ ฟุต นอนเหมือนหายใจเหนื่อยและเร็ว แขนขวางอเกร็งเกือบจะชิดติดหน้าอก ขาขวาก็เกร็งอยู่เช่นกัน ใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำหรับการขับถ่าย หลังจากสังเกตร่างกายอย่างละเอียด ดิฉันก็หันไปมองหน้าแก สายตาดิฉันปะทะกับสายตาแก ดิฉันคิดว่าแกน่าจะจ้องมาที่เราซักระยะหนึ่งแล้ว สายตาแกน่ากลัวมาก อาฆาตราวกับว่าเ ราเคยไปทำให้แกเจ็บช้ำ หรือเราเคยทะเลาะกันมาก่อน ตอนนั้นดิฉันกลัวมาก เหงื่อไหลออกมาเองทั้งที่อากาศตอนนั้นไม่ร้อนเลย สายตาแกน่ากลัวจริงๆ ไม่แปลกใจที่ทำไมคนแถวนั้นต่างพากันกลัวจนไม่อยากมาเยี่ยมแก ตอนนั้นทำได้ดีที่สุดคือยิ้มและพูดในใจ “ขอให้ผ่านไปได้ เราคุยได้ ข้อมูลเราแน่น ไม่ต้องกลัว เรามาช่วยลุง”

ดิฉันพูดออกไป “สวัสดีค่ะ วันนี้หมอมาเยี่ยมมาดูอาการคุณลุงนะ”

ลุงยังคงจ้องดิฉันด้วยสายตาที่ดุดันกว่าเดิม เหมือนว่าการทักทายนั้นจะทำให้สถานการณ์แย่ลง ลุงเอ่ยปาก “มาทำอะไรกันนักหนา ออกไป!!!” สายตาและน้ำเสียงนั้น ทำดิฉันแทบจะถอดใจและเดินกลับ แต่ดิฉันแอบเหลือบไปเห็นสายตาป้าเจือ ซึ่งเราวางแผนมาแล้วว่าเราจะคิดว่า แกเป็นเหมือนคนไข้อีกคนที่เราต้องมาเยี่ยมบ้านนี้ ป้าแกนั่งอยู่ปลายฟูกส่งสายตามาที่เรา เหมือนรู้สึกผิดและสายตานั้นเหมือนจะบอกว่าเราว่า อย่าเพิ่งกลับไปนะหมอ ช่วยป้าก่อน ทันใดนั้นป้าเจือก็ตะโกนใส่ลุง “พูดแบบนั้นทำไม หมอมาช่วย”

จากที่กำลังจะถอดใจกลับ สายตาคู่นั้นของป้าทำให้ตัดสินใจอยู่ต่อได้ไม่ยาก ตอนแรกที่คิดว่าจะมาเยี่ยมบ้านนี้ คิดว่าเป็นเยี่ยมบ้านโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยอาจจะมีอารมณ์รุนแรง แต่เมื่อเห็นสภาพลุงความคิดของดิฉันเปลี่ยน ฉันคิดว่าผู้ป่วยรายนี้ เราน่าจะมาเยี่ยมวาระสุดท้ายของชีวิตมากกว่า เนื่องจากร่างกายแกผอมมาก คิดว่าน่าจะกินไม่ได้ หายใจเหนื่อยแม้กระทั่งนอนอยู่เฉยๆ การหายใจเหนื่อยนี่เองที่ทำให้ฉันเปลี่ยนแผนการเยี่ยมบ้าน จากที่ดิฉันยืนอยู่ห่างจากลุงประมาณ ๑ เมตร เราก็ค่อยๆ ขยับเข้าไปจนสามารถไปนั่งบนฟูกใกล้ลุงได้ ดิฉันพยายามสังเกตสิ่งต่างๆ รอบบ้าน รอบที่นอนเพื่อจะปรับการดูแลให้แกและป้าเจือ สิ่งที่ดิฉันเหลือบไปเห็นในมุมหนึ่งของฟูกคือ ปืนลูกซอง รุ่นไหนดิฉันไม่แน่ใจ ปืนนั้นถูกวางอยู่ในมุมที่ลุงสามารถใช้มือซ้ายที่แกมีแรง หยิบมายิงเราหรือแม้กระทั่งหยิบมายิงเพื่อฆ่าตัวตายตอนไหนก็ได้ ถ้ามีลูกกระสุน เราก็มีโอกาสจะเสียชีวิตกันตอนนั้นเลย

ตอนนั้นดิฉันเหงื่อท่วมหลัง รวบรวมสติชั่งใจอยู่ซักพักว่าจะถามหรือเงียบไปเหมือนไม่เห็นมันดี... แต่หากไม่ถามประกอบกับพื้นฐานอารมณ์แกคิดว่าน่าจะมีเรื่องที่ไม่ดีเกิดขึ้นในไม่ช้า เป็นไงก็เป็นกัน ดิฉันจะถาม แต่ก่อนถามดิฉันก็บอกแอบทีมของเราว่า แกมีปืน ไม่รู้มีกระสุนหรือไม่ ให้ทุกคนระวังตัวไว้ด้วย ตอนนั้นดิฉันคิดว่า ป้าเจือน่าจะรู้อยู่แล้ว เลยไม่ได้บอกแกว่า เราจะคุยเรื่องปืนและคิดว่าหากคุยกับป้าเจือก่อนคุยกับลุง ความไว้วางใจที่ลุงเหมือนจะมีให้ทีมเราน้อยมากอยู่แล้ว มันจะลดลงไปอีก ฉันเริ่มสนทนาเรื่องปืนกระบอกนั้น “คุณลุงคะ สมัยก่อนคุณลุงยิงปืนด้วยหรอ???”

ลุงหันไปมองปืนและหันมามองที่ดิฉันเหมือนโกรธพร้อมกับตอบว่า “ยิงสิ แม่นด้วย”

ตายแน่!! พวกเรา!! “หมอเห็นคุณลุงมีปืน ตอนนี้เก็บไว้ทำอะไรคะ ยิงโจรรึป่าว”

ลุงตอบ “เอาไว้ยิง...(เสียงหายไปประมาณ 3 นาที แกหันไปมองปืน)......ตัวตาย” แล้วน้ำตาแกก็ไหล แกพยายามเอามือซ้ายที่แกยังพอมีแรงหยิบผ้ามาเช็ดน้ำตาตัวเอง หัวใจหล่นไปที่ตาตุ่ม ตอนนั้นคิดแบบคนเห็นแก่ตัวว่า...พวกเรารอดแล้วแกไม่ยิงเรา!! แต่สิ่งที่แกพูดและน้ำตาที่ไหลนั้น ทำให้ลบความเกรี้ยวกราดที่แกทำมาออกไปได้หมด ข้อมูลเรื่องความโหดร้ายที่เราฟังมา แทบจะหายไปหมด

“ทำไมลุงอยากตาย”

ลุงพูดพร้อมเอามือเช็ดน้ำตาว่า “อยู่ตอนนี้ก็เหมือนตายเห็นไหมหมอ ทำอะไรไม่ได้ ขนาดจะขี้เอง เยี่ยวเอง ยังทำไม่ได้ ไม่อยากให้ใครมาเห็นสภาพแบบนี้”

คำตอบนี้ทำให้เราเข้าใจแล้วว่า ที่แกดุด่าคนที่ไปเยี่ยมหรือแม้กระทั่งป้าเจือ น่าจะเพราะสาเหตุนี้ คำตอบนี้เหมือนคุณลุงได้ปลดล๊อคตัวเองจากเรื่องที่แกอัดอั้นบอกใครไม่ได้

ป้าเจือแอบกระซิบพี่บอลว่า สมัยก่อน แกเป็นคนแข็งแรงทำงานได้ทุกอย่าง บ้านหลังนี้แกก็ทำเองตั้งแต่ซื้อที่ดิน ฉาบปูน กั้นห้องนอน สร้างห้องน้ำ แกเก่ง!!! ตอนนี้แกทำอะไรไม่ได้เลย แกไม่อยากให้ใครเห็น ให้ใครมามองแบบสงสารแก ดิฉันคิดว่าตอนนี้ลุงเหมือนได้ระบาย สายตาแกลดความดุลงมาแทบจะไม่เหลือความดุเลย

“วันนี้หมอมาช่วยลุงนะ ตอนนี้คุณลุงไม่สบายตัวตรงไหนมากที่สุด หมอจะช่วยคุณลุงก่อน หรือคุณลุงอยากให้หมอช่วยตรงไหน บอกหมอมาเลยนะ”

แกบอกว่า “กินไม่ได้ ไม่อยากกิน ปวดตัวไปหมด ปวดข้อ ข้อติด ยืดไม่ออกเลย เหนื่อยมากขึ้นด้วย”

แกมีอาการเหนื่อยแม้กระทั่งนอนพักคิดว่าแกน่าจะเข้าช่วงท้ายของชีวิตอีกไม่นาน ดิฉันคิดว่าอยากจัดการให้มีชีวิตช่วงปลายนี้ที่ดีที่สุด ด้วยการรักษาอาการให้สุขสบายขึ้นมากว่าเดิม พร้อมกับสอนการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นให้กับป้าเจือด้วย วันนั้นทีมเราให้ทีมอาบน้ำเช็ดตัวบนเตียงให้ลุง โดยทีมพยาบาลสอนการอาบน้ำที่ง่าย สวนทวาร ทำแผลกดทับที่แกเริ่มมีที่ก้นกบ ทั้งหมดนี้ก่อนเราจะทำเราบอกเหตุผลแกคุณลุงก่อนทั้งหมด เนื่องจากเรากลัวว่าแกจะทำร้ายร่างกายทีมเราเหมือนครั้งก่อนอีก แต่ครั้งนี้ตรงกันข้ามคุณลุงให้ความร่วมมืออย่างดี พยายามขยับตัวช่วยเพื่อให้ทีมเราทำงานได้ง่ายขึ้น ขณะทำไป ทีมเราก็สอนคุณป้าไปด้วยเพื่อให้แกสามารถทำได้หลังจากเรากลับไป ก่อนเรากลับ เราจัดการเรื่องความเจ็บป่วย จัดที่นอนบนเตียงเพื่อป้องกันเรื่องแผลกดทับให้แก หลังจากเสร็จเราก็ถามแกเรื่องอาการปวด เราพยายามปรับยาโดยให้แกกินยามอร์ฟีนที่แกมีอยู่แล้ว เพื่อบรรเทาอาการปวดและเหนื่อยที่มีอยู่เป็นครั้งคราว ก่อนหน้านี้แกไม่ยอมกินยาเลยเพราะแกอยากไม่รักษา แกอยากตาย ตอนนี้เราบอกเหตุผลที่แกต้องกินมอร์ฟีนทำให้แกเข้าใจและหันมากินตามที่เราพยายามบอก เราคิดว่าวันนี้เพียงพอแล้วสำหรับวันแรก เพราะคิดว่าวันนี้เราทั้งสองฝ่ายต่างได้อะไรมากขึ้นทั้งคู่ อย่างน้อย วันนี้เราก็มั่นใจได้ว่า ต่อไปลุงจะไม่ด่าเราเป็นเสียงต้อนรับอีก ฉันเริ่มสนุกกับการเยี่ยมบ้านนี้แล้วสิ

.. .. ..

ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ดิฉันมาเยี่ยมบ้านลุงประสงค์ ปืนกระบอกนั้นยังวางอยู่ที่เดิม เราสังเกตว่าลุงเหนื่อยมากขึ้น พูดได้สั้นลงก็จะเหนื่อย ปวดเมื่อยตัว กินได้ลดลงกว่าเดิมมาก สายตาลุงวันนี้ไม่แข็งกร้าวเหมือนเดิม วันนี้เรากล้าจะถามเรื่องวาระสุดท้ายของลุง “วันนี้ลุงเหนื่อยมไหม”

ลุงหันมาตอบ “เหนื่อยขึ้น ลุงรู้แล้วว่าใกล้ตายแล้วใช่ไหม”

ตอนนั้นเราเห็นน้ำตาป้าเริ่มคลอ ทีมเราก็ไม่แพ้กันน้ำตาคลอกันหมด บรรยากาศมันอึมครึม ตอนนั้นในใจเราคิดว่าไม่ลุงต้องยังไม่ตาย เราถามลุงว่า “ตอนนี้ลุงอยากทำอะไรบ้าง ลองบอกหมอมาหน่อย”

ลุงบอก “อยากคุยกับลูกบ่าว”

ตอนนั้นเราเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ลูกชายอยู่บ้านเดียวกัน ทำไมลุงไม่ได้คุยกันเลยหรือยังไง เรามานั่งทบทวน ทุกครั้งที่ทีมหรือดิฉันมาเยี่ยมบ้าน ก็ไม่เคยเห็นหน้าลูกชายคุณลุงคนนี้เลย ต่างกับบ้านอื่น เมื่อเราไปเยี่ยมบ้านคนอื่นๆในบ้านจะพากันออกมานั่งสนทนากับเรา

เราเลยแบ่งทีมไปถามป้า “ป้าบอกว่าสมัยก่อน ลุงมีท่าทีเหมือนรักลูกสาวมากกว่าชอบด่าทอลูกชาย จนทำให้มันค่อยๆ ห่างไป จนสุดท้ายไม่ได้คุยกัน แม้กระทั่งอยู่บ้านเดียวกัน ยังไม่เคยออกมาช่วยป้ายกลุงเช็ดตัวเลย”

ตอนนั้นดิฉันคิดว่าถ้าเราคุยกับลูกชายเองน่าจะดีกว่าเพื่อถามความคิดเรื่องพ่อ ตอนนั้นส่งพี่บอลไปคุยกับลูกชายหลังบ้าน “ลูกชายบอกก็ไม่อยากคุยด้วย คุยด้วยแล้วทะเลาะกันทุกที ตอนนี้ไม่คุยนานแล้ว จะให้คุยเหมือนเดิม ทำไม่เป็นแล้ว เข้าใจนะ” น้ำเสียงและอารมณ์น่าจะคล้ายลุง เป็นคนพูดเสียงแข็ง

เนื่องจากเวลาที่ไม่มาก พี่บอลถามกลับไป “แล้วอยากคุยกับพ่อมั้ย”

ลูกชายหันมามอง “อยากสิ แต่กลัวทะเลาะกันอีก ทะเลาะกันแล้วเหนื่อย เครียด” ครั้งสุดท้ายที่คุยกันนานมากแล้วจนจำไม่ได้

“ตอนนี้พ่อไม่เหมือนเดิมแล้วนะ ครั้งนี้พ่อไม่ชวนทะเลาะแน่นอน ลองไหม”

ลูกหันมามองทีมเรา เหมือนเริ่มรำคาญแล้วตอบว่า “ก็ได้”

ไม่ว่าจะรำคาญหรือไม่ แต่คำตอบที่ได้มาทำให้เราหายเหนื่อย ดิฉันบอกลูกชายไปว่า “ตอนหมอกลับไปแล้ว อย่าลืมคุยกับพ่อนะ พ่อรออยู่” ตอนนี้อาการทางกายคุณลุงเป็นเรื่องที่แกไม่ได้รู้สึกทุกข์ทรมานเลย แกเป็นผู้ชายเก่งมีความอดทนมาก แต่เรื่องทางด้านจิตใจนี่แหล่ะที่จะทำให้แกไม่สามารถสู้ต่อได้ ดิฉันหวังว่าหลังจากวันนี้ไป จิตใจคุณลุงจะดีขึ้นเรื่อยๆ

.. .. ..

ดิฉันไปเยี่ยมบ้านครั้งที่สาม ปืนยังวางอยู่ที่เดิม ดิฉันถามแกแบบติดตลกว่า “หมอขอซื้อปืนลุงได้ไหม อยากลองหัดยิงดู”

ลุงตอบมาว่า “ไม่ได้หมอ ผมจะเก็บให้ลูกชาย มันขอผมแล้ว ผมว่าอันนี้น่าจะเป็นสมบัติมีค่าอันเดียวที่ผมให้มันได้” คำตอบนี้ทำให้ทีมเรามั่นใจว่า ที่เราไปคุยกับลูกชายแกไม่สูญเปล่า ลูกชายแกมาคุยกับแกแล้ว ป้าเจือบอกเราว่า ตอนนี้ลูกชายออกมาช่วยยกคุณลุงอาบน้ำแล้ว แต่ทว่าความสุขที่คุณลุงเริ่มจะมีอาจจะสั้นลงเรื่อยๆ ดิฉันสังเกตเห็นลุงประสงค์เริ่มเหนื่อยมากขึ้น คุยประโยคสั้นกว่าเก่า ป้าบอกว่าลุงทำท่าไม่ดีมาหลายวัน เหนื่อยมากขึ้นทุกวัน มือเท้าเริ่มเย็น เพ้อตอนกลางคืน บอกว่าพ่อมาตามไปอยู่ด้วย แต่ไม่ว่าจะเหนื่อยขนาดไหน แกก็จะไม่ยอมไปรักษาที่โรงพยาบาล ลุงบอกว่า “นี่บ้านฉัน ฉันสร้างเอง ฉันจะตายที่นี่” นี่น่าจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ลุงขอให้ญาติและทีมเราทำให้แก คือ แกต้องการเสียชีวิตที่บ้าน ไม่ต้องการทรมานอีกต่อไป

ตอนนั้นดิฉันเริ่มมั่นใจว่าวาระสุดท้ายของแกใกล้จะมาถึงแล้ว ดิฉันบอกให้ป้าเจือเริ่มทำใจ ตามลูกสาวและญาติเพื่อมาดูใจแกครั้งสุดท้าย การเยี่ยมบ้านครั้งนี้ น่าเป็นครั้งที่ดิฉันไปนั่งใกล้แกมากที่สุด จับมือแก ลูบหน้าอก ดิฉันกระซิบข้างหูแก หมอขออโหสิกรรมให้ลุง ถ้าหมอหรือทีมทำอะไรให้ลุงไม่พอใจ หมอขออโหสิกรรม หลังจากนั้นทีมเยี่ยมบ้านก็ทยอยกันเข้าไปกระซิบอโหสิกรรมข้างหูลุง

อีกประมาณ ๑๕ นาทีต่อมา ลูกสาวลุงที่เราไม่เคยเจอเลย เมื่อไปเยี่ยมบ้านก็มาถึง ลูกสาวกอดป้าเจือ แล้วไปกอดลุงประสงค์พร้อมกับร้องไห้ คิดว่าเวลานี้น่าจะเป็นเวลาของครอบครัว ทีมเราจึงขอลากลับ

วันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. ป้าเจือโทรมาบอกเราว่า ลุงแกเสียแล้วตอนตีสองเมื่อคืน เราถามว่า แกเป็นยังไงเหนื่อยไหม แต่ผิดคาด ป้าบอกว่า พอทุกคนที่แกอยากเจอมาหาแกครบ คุยกับแก ซักพักแกก็นอนนิ่งเหมือนหลับไป สงบมาก ขอบคุณหมอมาก น้ำเสียงป้าเข้มแข็งมาก

ดิฉันถามป้ากลับไป แล้วป้าเป็นไงบ้าง “ป้าหมดเวรหมดกรรมแล้ว ขอเจอกันชาติเดียวพอ ต่อจากนี้ ป้าจะได้ดูแลตัวเองบ้าง” คำตอบนี้ดิฉันค่อนข้างมั่นใจว่า ป้าจะไม่ใช้ปืนกระบอกนั้นทำอะไรไม่ดีแน่นอน......

คำสำคัญ (Tags): #Pal2Know#Pal2Know7#palliative care#home care
หมายเลขบันทึก: 597062เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2015 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2015 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท