พญ.สัณหพรรณ ธนามี : เสียงโทรศัพท์จากลูกสาวของคุณลุง


เสียงโทรศัพท์จากลูกสาวของคุณลุง : ช่องทางในการช่วยเหลือครอบครัวจัดการอาการที่บ้าน

ฉันเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หมอที่ต้องดูแลทั้งผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วย ฐานะของฉันอาจจะเรียกได้ว่าเป็นหมอประจำตัว หรือหมอประจำครอบครัว ฉันมีครอบครัวในการดูแลหลายครอบครัว แต่ในเคสมะเร็งเคสแรกที่ฉันได้ดูแล ให้ประสบการณ์สำหรับมือใหม่ในขณะนั้นอย่างมาก

คุณลุงท่านนี้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ลุกลามไปยังกระดูกสันหลัง ไม่ได้มีแผนให้ยาเคมีบำบัดหรือฉายแสงเพื่อรักษาอีก แผนการรักษาขณะนี้ คือ การรักษาแบบประคับประคอง ปัจจุบันรับประทานยาแก้ปวดมอร์ฟีนเพื่อบรรเทาอาการ คุณลุงเดินไม่ได้ นอนอยู่บนเตียงตลอด ทำกิจกรรมทุกอย่างอยู่บนเตียง ทั้งกินข้าว กินยา อาบน้ำ และขับถ่าย จากที่เคยเป็นเสาหลักของครอบครัว กลายเป็นคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มีภรรยาและลูกสาวหนึ่งคนเป็นผู้ดูแล ลูกสาวเล่าให้ฉันฟังว่า การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยขึ้นลงรถค่อนข้างลำบากการมาโรงพยาบาลแต่ละครั้ง ใช้เวลาทั้งวัน และเมื่อเสร็จธุระที่รพ. กลับไปถึงบ้าน คุณลุงก็มักจะมีอาการอ่อนเพลียมาก ถ้าให้เลือกได้ ลูกสาวอยากมารับยาแทนโดยไม่ต้องพาคุณลุงมาด้วย

ฉันรับผู้ป่วยเคสนี้เป็นเคสประจำของฉัน และได้ปรึกษาทีมเยี่ยมบ้าน จึงตัดสินใจรักษาอาการของคุณลุงที่บ้าน ไม่ต้องนำคุณลุงมาตรวจที่โรงพยาบาล แต่เปลี่ยนเป็นฉันและพยาบาลลงไปเยี่ยมบ้าน เพื่อประเมินอาการแทน และหากมีความจำเป็นต้องรับยา ลูกสาวจะเป็นผู้มายาเองตามระเบียบของโรงพยาบาล ซึ่งครั้งแรกที่ลงไปเยี่ยมบ้านทุกอย่างก็เรียบร้อยด้วยดี ฉันได้ให้เบอร์ส่วนตัวสำหรับติดต่อ ส่วนใหญ่เคสเยี่ยมบ้านที่ผ่านๆ มาของฉัน ก็ทำเช่นนี้ ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหา ผู้ป่วยหรือญาติมักจะโทรมาถามอาการ หรือปรึกษาในช่วงเวลาราชการเพียงแค่นานๆ ครั้ง และปัญหาก็ไม่ได้ซับซ้อน หรือญาติไม่ได้กังวลมาก ซึ่งแตกต่างกับคุณลุงซึ่งป่วยเป็นมะเร็งระยะท้ายรายนี้

“คุณหมอคะ .. คุณพ่อยังบ่นปวดอยู่เลยค่ะ ให้กินยาน้ำมอร์ฟีนตามที่เขียนไว้บนฉลาก แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น ทำอย่างไรดีคะ”

“คุณหมอคะ คุณพ่อไม่ยอมรับประทานอาหาร ทานได้น้อยมากๆ เลย”

“คุณหมอคะ สายปัสสาวะขุ่นอีกแล้วค่ะ เพิ่งเปลี่ยนไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง”

“คุณพ่อเท้าบวมมาสองวัน ต้องเอาไปตรวจที่รพ.ไหมคะ”

“ตอนนี้เริ่มมีแผลที่ส้นเท้าขวาค่ะ พี่ต้องทำยังไงดีคะ”

“พี่เหนื่อยจังเลยค่ะหมอ ...ตอนนี้แม่ก็ไม่ค่อยสบาย ...”

“...”

ลูกสาวของคุณลุงโทรมาหาฉันอีกแล้ว...

ลูกสาวของคุณลุงโทรมาปรึกษาค่อยข้างบ่อย และบางครั้งก็โทรมาปรึกษานอกเวลาราชการ ในขณะนั้น ฉันรู้สึกอึดอัดที่จะต้องรับโทรศัพท์ จนบางครั้งก็ไม่อยากจะรับสาย แต่ทุกครั้งที่โทรศัพท์มา ฉันรับรู้ได้ถึงความกังวลจากน้ำเสียงของลูกสาว และสิ่งที่ปรึกษาเป็นปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้นโดยที่ลูกสาวก็ไม่รู้จะปรึกษาใคร ไม่รู้จะจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร

ฉันจึงพยายามทำความเข้าใจ และปรับความคิดความรู้สึกของฉันใหม่ ฉันรับฟังด้วยใจเป็นกลาง ไม่ตกใจหรือกังวลไปกับญาติ เพราะรู้ว่าเราเป็นหมอ อย่างน้อยก็สามารถช่วยจัดการปัญหานั้นได้ไม่มากก็น้อย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แสดงความเห็นอกเห็นใจ รับฟัง ปลอบใจ และให้กำลังใจ พร้อมกับให้คำแนะนำในการจัดการปัญหานั้น

โชคดีที่ช่องทางการสื่อสารในปัจจุบันสะดวกมากขึ้น บางครั้งลูกสาวส่งรูปมาให้ทางไลน์ ทำให้ประเมินจัดการอาการเบื้องต้นได้ แต่ถ้าหากฉันไม่มั่นใจก็จะนัดเยี่ยมบ้านให้เร็วขึ้นกว่าเดิม หรือแนะนำมาห้องฉุกเฉินหากเร่งด่วนจริงๆ และในช่วงหลังฉันก็พยายามอธิบายอาการที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับคุณลุง เพื่อเตรียมการหรือให้คำแนะนำไว้ก่อน ว่าถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ควรจะทำอย่างไร

ช่วงหลังลูกสาวโทรมาปรึกษาลดลง แต่อย่างไรก็ตาม บางครั้งลูกสาวก็ยังไม่มั่นใจและต้องการที่จะปรึกษา ดังนั้น การจัดเตรียมช่องทางการสื่อสารเพื่อปรึกษาอาการของผู้ป่วยที่ดูแลที่บ้านมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในระยะท้ายของโรคที่บ้าน เนื่องจากอาการของผู้ป่วยที่อยู่ในระยะท้ายของโรคมีอาการเปลี่ยนแปลงขึ้นๆลงๆ ได้เสมอ อาจเพิ่มภาระให้บุคลากรทางการแพทย์มากขึ้นหากต้องรับปรึกษาบ่อยๆ การจัดสรรบุคลากรที่เข้าใจประวัติของผู้ป่วยรายนั้น และมีความรู้ความเข้าใจในการให้คำปรึกษา การจัดการอาหารหรือติดต่อประสานงานอื่นๆ ให้หมุนเวียนการทำหน้าที่รับคำปรึกษาอาจจะจะช่วงแบ่งเบาภาระให้กับบุคลากรในทีมสุขภาพของตนได้ เป้าหมายในการช่วยดูแลลักษณะนี้ก็เพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการที่ทุกข์ทรมาน เพื่อให้ครอบครัวทราบวิธีแก้ปัญหาและคลายความกังวล เมื่อครอบครัวมั่นใจว่าสามารถจัดการอาการต่างๆ ที่บ้านได้ ดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้ เมื่อช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วยมาถึง และผู้ป่วยต้องการจะเสียชีวิตที่บ้าน ครอบครัวก็มีจะมีความมั่นใจว่าจะมีทีมที่คอยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือให้ผู้ป่วยสามารถ “ตายดี” ที่บ้านได้ตามความต้องการ

คำสำคัญ (Tags): #Pal2Know#Pal2Know7#palliative care#home care
หมายเลขบันทึก: 597058เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2015 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2015 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณ บันทึกดีดีนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท