ท้องถิ่นไทยกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว


ท้องถิ่นไทยกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว

22 ตุลาคม 2558
 

สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ความสำคัญของการท่องเที่ยว

 

ข้อมูลองค์การการท่องเที่ยวโลกเมื่อ 10 ปีก่อน (2548-2550) พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นจำนวนเฉลี่ยถึงปีละ 75-81 ล้านคน [2]

ฉะนั้น “การท่องเที่ยว” ในท้องถิ่นจึงถือเป็นจุดขายที่บรรดาหน่วยงานภาครัฐ ราชการ เอกชน ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และจังหวัด รวมถึงบรรดานักวิชาการต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ดังมีการกล่าวขานถึง “การสร้างตราสินค้าแหล่งท่องเที่ยว” (Destination Branding) เพื่อเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชน มีการใช้คำว่า “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (Sustainable Tourism) [3] เป็น “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” หรือ “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” (Ecotourism) [4] อันหมายถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ต้องใช้ทุนธรรมชาติอย่างมัธยัสถ์ให้มีความมั่นคง ยั่งยืน ได้แก่ การท่องเที่ยวแบบ Nature Tourism, Biotourism, Green Tourism เป็นต้น

ในบทความนี้ขอนำเสนอข้อมูลและแง่คิดในการจัดการการท่องเที่ยวระหว่างภาครัฐส่วนกลาง และท้องถิ่นที่แตกต่างกัน

สถานที่ท่องเที่ยวไทยมีหลากหลาย

 

การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มีแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นของจังหวัด ที่ล้วนมีศักยภาพดึงดูดความสนใจและชวนให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มาเยี่ยมเยือนหลายแห่ง แหล่งที่มีชื่อเสียง อาทิ [5]

ภาคเหนือที่ เมืองเชียงแสน จ.เชียงราย ถนนคนเดินปาย จ.แม่ฮ่องสอน

ภาคอีสานที่ หมู่บ้านซะซอม จ.อุบลราชธานี ชุมชนเชียงคาน จ.เลย

ภาคใต้ที่ ป่าชายเลนชุมชนลีเล็ด จ.สุราษฎร์ธานี อ่าวหินงาม จ.สุราษฎร์ธานี บ้านทุ่งหยีเพ็ง เกาะลันตาใหญ่ จ.กระบี่ ชุมชนบ้านบางโรง จ.ภูเก็ต วิสาหกิจชุมชนเพลินไพรศรีนาคา จ.ระนอง

ภาคกลางที่ บ้านพุเข็ม จ.เพชรบุรี ตลาดร้อยปีสามชุก จ.สุพรรณบุรี

ภาคตะวันออกที่ บ้านน้ำเชี่ยว อ.แหลมงอบ จ.ตราด

กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ บ้านมอญบางกระดี่ กรุงเทพมหานคร ตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม

กรณีศึกษาการท่องเที่ยวเชียงคานและปาย

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเชิงวัฒนธรรมในบริบทของท้องถิ่นนั้น มีความสำคัญมาช้านานแล้ว ต่อมายิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ ขอยกตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยว อ.เชียงคาน จ.เลย ที่เด่นดังเรื่องวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เราจะเห็นบทบาทของท้องถิ่น โดย เทศบาลตำบลเชียงคาน เข้ามาจัดการส่งเสริม สนับสนุนการท่องเที่ยวร่วมกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการปรับภูมิทัศน์พื้นที่ให้สวยงาม การจัดความเป็นระเบียบเรียบร้อยความสะอาดของตลาด ชุมชน และสถานที่ รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆ ในของงาน

ที่ชัดเจนอีกแห่งก็คือ ที่อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เราจะได้เห็นบทบาทของนายกเทศมนตรีตำบลปาย ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างตลาด การเชิญชวนให้พ่อค้าแม่ค้ามาขายของจนติดตลาด มีการสร้างจุดขายการท่องเที่ยวในลักษณะ “ถนนคนเดิน” มานานนับสิบปี จนติดตลาดการท่องเที่ยวประเทศในปัจจุบัน

พบว่าสิ่งที่เหมือนกันในท้องถิ่นดังกล่าวทั้งสองแห่งก็คือ “การสานต่อการดำเนินงาน” ที่ต่อเนื่องของผู้บริหารท้องถิ่นตนต่อๆ มา ไม่ว่าคนใดเข้ามารับตำแหน่งก็ตาม ทำให้จุดขายการท่องเที่ยวนี้ไม่ขาดตอน ฉะนั้น ในกิจกรรมถนนคนเดินที่ขึ้นชื่อ ก็ยังคงอยู่ที่อ.ปาย หรือในกิจกรรมวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีชื่อก็ยังคงอยู่ที่อ.เชียงคาน เป็นเสน่ห์ของผู้มาเยี่ยมเยือนที่ไม่เสื่อมคลาย แม้ว่าอ.ปายจะเป็นอำเภอที่อยู่ไกลแสนไกลเพียงใด ก็ยังมีนักท่องเที่ยวดั้นด้นไปเที่ยวตลอดปี สรุปได้ว่า การท่องเที่ยวที่เชียงคานและปายติดตลาดก็เพราะท้องถิ่นสานต่องานมาตลอดนั่นเอง

เป้าหมายที่แตกต่างกันด้วยงานเทศกาลของจังหวัดเป็นงานประเพณีประจำปี 

 

เพราะแต่เดิมนั้น ในแต่ละจังหวัดก็มีงานประจำปี หรืองานกาชาดอยู่แล้ว หน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในระดับส่วนกลาง หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ในระดับจังหวัด ต่างมีเป้าหมายและจัดงบประมาณลงในงานเทศกาลใหญ่ประจำปี งานประจำปีของจังหวัดที่มีชื่อเรียกในภาษาชาวบ้านติดปากมานานหลายปี เช่น งานตากสิน จ.ตาก งานเจ้าพ่อพระยาแล จ.ชัยภูมิ งานย่าโม จ.นครราชสีมา เป็นต้น ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คืองาน กาชาดการกุศลของจังหวัด นั่นเอง

ต่อมาเมื่อมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวขึ้น จึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดงานประจำปีดังกล่าวให้เป็น “งานการส่งเสริมการท่องเที่ยว” ซึ่งกาลปัจจุบันดูจะกร่อยกลายเป็น “งานตลาดนัด” ไป ซึ่งเหลืองานประจำปีเพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของงานประจำปี เช่น งานยอยศยิ่งฟ้า อยุธยามรดกโลก ที่จ.อยุธยา ในปีที่ผ่านมา (2557) ยังคงความยิ่งใหญ่ใส่ใจในการฟื้นฟูประเพณีและวัฒนธรรมที่มากกว่ารอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา

งานเทศกาลของท้องถิ่นเป็นการสร้างงานให้ชาวบ้านและสร้างคะแนนนิยมแก่นักการเมืองท้องถิ่น

ในทางกลับกันพบว่า หากเป็นงานเทศกาลของอำเภอหรือท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กกว่า จะไม่ได้รับงบประมาณจากส่วนกลางและจังหวัดในการดำเนินการ อาทิเช่น “การจัดงานวิถีชุมชนถนนคนเดิน” การปรับภูมิทัศน์จัดงานต่างๆ ก็จะเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นได้แก่ เทศบาลฯ เท่านั้น ที่ดูแลจัดกิจกรรมเองทั้งสิ้น 

เพราะการส่งเสริมการท่องเที่ยวของท้องถิ่นนั้น มีเป้าหมายอยู่ที่ประชาชนโดยตรง ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเยือน เหมือนดังเช่นการโปรโมทจัดงานใหญ่ของราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคที่จัดงานใหญ่ในระดับจังหวัด ความแตกต่างของการจัดงานในระดับท้องถิ่นจึงอยู่ที่ว่า การจัดงานของท้องถิ่นนั้น เช่น “การจัดงานถนนคนเดิน” เป็นการสานต่องานในกิจกรรม ไม่จำเป็นต้องเป็นงานประเพณีที่ต้องจัดทุกปีเหมือนงานเทศกาลประจำปี เช่นงานเทศกาลของจังหวัด เป็นการจัดงานเพื่อความยั่งยืนของชุมชน เป็นไปตามความต้องการของชุมชน มิใช่การกำหนดนโยบายมาจากส่วนกลาง

ดังนั้น ท้องถิ่นจึงจัดกิจกรรมงานเทศกาลเพื่อตอบสนองคนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ มิได้จัดเพื่อสร้างชื่อเสียง เพราะผลสำเร็จของท้องถิ่นขึ้นอยู่กับชาวบ้านประชาชนในท้องถิ่นได้มีงานทำ แม่ค้ามีรายได้ หากชาวบ้านขายของไม่ได้ ผู้บริหารท้องถิ่นก็จะวิตกกังวลในเสียงก่นด่าและในคะแนนนิยมในการเลือกตั้งสมัยหน้า ในงานเทศกาลของจังหวัด ชาวบ้านก็สนใจแต่เพียงว่าตนจะขายของได้หรือไม่ ไม่สนใจในพิธีการ การโปรโมทส่งเสริมงานใดๆ ทั้งสิ้น เช่น ไม่สนใจว่า รัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดผู้ใดจะมาเปิดงาน

นอกจากนี้งานเทศกาลในพื้นที่ของท้องถิ่นเองนั้น ยังพบว่าในหลายกิจกรรมเป็นฐานเสียงและคะแนนนิยมของนักการเมืองท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เช่น การจัดงานลอยกระทง งานวันออกพรรษา งานกฐิน ที่ท้องถิ่นเป็นแม่งาน รวมถึงงานทำบุญและสังสรรค์วันขึ้นปีใหม่ด้วย

ปัญหาอุปสรรคในการจัดงานเทศกาลของท้องถิ่น

 

ในการจัดงานเทศกาลของท้องถิ่นที่ผ่านมามักประสบกับปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายจัดตั้งในท้องถิ่นแต่ละประเภท และความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณในการจัดงานเทศกาลต่างๆ ของท้องถิ่น

จุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งของท้องถิ่นก็คือ ต้องการให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับประโยชน์โดยตรงจากการสร้างงานสร้างอาชีพ แม้ในกิจกรรมต่างๆ การแสดงมหรสพ การแสดงโชว์ในงาน รวมถึงกิจกรรมการละเล่นประเพณีพื้นเมืองต่างๆ ในงาน ที่เป็นการสร้างบรรยากาศของงานให้สนุกสนานครึกครื้น ตามอัตภาพของแต่ละท้องถิ่น มักถูกท้วงติงและทักท้วงจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่แนะนำว่า การจัดกิจกรรมการละเล่นฯดังกล่าวเกินจำเป็นเป็นการไม่ประหยัดงบประมาณ เพราะกิจกรรมฯ ไม่มีความสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ของงานฯ แต่อย่างใด จึงให้เรียกเงินคืนคลังอยู่เสมอ [6]

ฉะนั้น ในการจัดกิจกรรมของท้องถิ่นในเทศกาล งานต่างๆ ท้องถิ่น แม้จะเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นโดยเฉพาะการโปรโมทส่งเสริมการท่องเที่ยวดังกล่าวข้างต้นก็ตาม ท้องถิ่นจึงทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่ปัญหาในงานเทศกาลระดับจังหวัด ท้องถิ่นต้องอุดหนุนและสนับสนุนงบประมาณแก่กาชาดจังหวัด กาชาดอำเภอ เพื่อการจัดงานประจำปีของจังหวัดหรืออำเภอ ที่ประชาชนท้องถิ่นไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง เพราะเป็นงานเทศกาลประเพณีที่นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด จะต้องจัดทุกปี โดยขอรับงบประมาณอุดหนุนและสนับสนุนจากทุกปีจากท้องถิ่น

กรณีตัวอย่างธรรมชาติขุนเขาอันบริสุทธิ์ที่ห่างไกล

 

แหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในภาคเหนือติดภาคตะวันตกเขตติดต่อสาธารณรัฐเมียนมา ที่มีความสวยงามติดอันดับ ได้แก่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก [7] ดินแดนแห่งป่าเขาและขุนเขาห่างไกลที่เต็มไปด้วยกลิ่นไอของธรรมชาติที่บริสุทธิ์สวยงาม มีน้ำตกทีลอซู ทะเลหมอกสวยงามที่ดอยหัวหมด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีมนต์เสน่ห์ บรรยากาศยามเช้าที่มีหมอกหนา อากาศเริ่มหนาวเย็นพอดี ณ วันนี้ ดาบตำรวจ สมพร บุญคง นายกเทศมนตรีตำบลอุ้มผาง ได้เริ่มเตรียมการจัดงาน “ถนนคนเดิน” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคม 2558 [8] กิจกรรมหลักเริ่มจากการปรับปรุงภูมิทัศน์ในตลาดชุมชนอุ้มผาง เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าคนในพื้นที่ได้มีพื้นที่เปิดขายของ การสร้างความคึกคักให้ตลาด เพื่อให้มีผู้ซื้อและนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือน เป้าหมายก็เพื่อสร้างงานให้ชาวบ้านขายสินค้าได้ มีรายได้ ทั้งชาวบ้านในเขตเทศบาลฯ และชาวบ้านทั่วไปในอำเภอได้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อีกทั้งสร้างแหล่งท่องเที่ยว สร้างแหล่งช็อปปิ้ง ที่เกิดขึ้นจากการจัดการของท้องถิ่นเอง มีชาวบ้านในพื้นที่จะเป็นผู้มีส่วนร่วมดำเนินการด้วยตนเอง อันถือเป็นการจัดการชุมชนแบบยั่งยืนอย่างหนึ่งในมิติของการท่องเที่ยว ซึ่งมิใช่การขายธรรมชาติโดยตรง

เพราะ เป้าหมายที่สำคัญของท้องถิ่น อยู่ที่ประชาชนโดยตรง เพราะประชาชนเป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว แต่เป้าหมายของภาครัฐราชการนั้น อยู่ที่นักท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ในภาพรวมของประเทศ โดยมีเป้าหมายไปที่ตัวนักท่องเที่ยว ฉะนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการ “การจัดการการท่องเที่ยว” จึงต้องคำนึงถึงการสร้างดุลยภาพระหว่าง “เจ้าบ้าน” ได้แก่ ชาวบ้านประชาชนในพื้นที่ และ “ผู้มาเยือน” หมายถึงนักท่องเที่ยวจากแดนไกลที่จะมาเยี่ยมทั้งในภาพลักษณ์ ในการเข้าถึงและบริโภคการท่องเที่ยวได้อย่างสมดุลเหมาะเจาะด้วย [9]

ขอปิดท้ายว่าในราวต้นปี 2016 นี้จะมีการเปิด 10 ประเทศ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (ASEAN Economics Community – AEC) [10] ในเรื่องการอาชีพนั้นจะมีการเคลื่อนไหวแลกเปลี่ยนแรงงานเสรีใน 7 อาชีพ [11] โดยเฉพาะ 39 อาชีพ [12] ที่กฎหมายไทยยังคงกำหนดให้ต้องเป็นอาชีพสงวนของคนไทย หนึ่งในอาชีพที่สำคัญนั้นก็คือ อาชีพไกด์ หรือมัคคุเทศก์นั่นเอง ฉะนั้น เราคนไทยต้องหันมาใส่ใจในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวกันให้มากขึ้น ด้วยประเทศไทยมีต้นทุนด้านการท่องเที่ยวที่สะสมมากพอสมควรในระดับหนึ่งแล้ว


 

[1] สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 5 วันศุกร์ที่ 23 - วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2558, หน้า 80, ‎เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] การท่องเที่ยว, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , https://th.wikipedia.org/wiki/การท่องเที่ยว

[3] การสร้างตราสินค้าแหล่งท่องเที่ยว (Destination Branding) เพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชนอย่างยั่งยืน, http://utcc2.utcc.ac.th/brandthaicenter/doc/บทความ%20KM/การสร้างตราสินค้าแหล่งท่องเที่ยว%20(Destination%20Branding).docx

[4] สฤษฏ์ แสงอรัญ, การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือเชิงนิเวศ (Ecotourism), http://www.dnp.go.th/parkreserve/Np/Html/Tour/Eco_Tour.html & สมชัย เบญจชย, การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช,เอกสารประกอบการบรรยาย หลักสูตร “การบริหารจัดการป่าชุมชนและการพัฒนาอาชีพด้านป่าไม้” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2549, www.dnp.go.th/fca16/file/96qfwxab5harkte.do & หลักการของการพัฒนาท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community - Based Tourism), http://www.krabi.go.th/krabi2015/m_file/lifetravel/25.pdf & เอกสารประกอบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน,โดย สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน, 27-29 มิถุนายน 2555, http://www.cbt-i.org/admin/uploaded/files/97f0cdb3f5c547399a036bdce03f972c68d2a107.doc

[5] เทิดชาย ช่วยบำรุง, บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนบนฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง, สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวไทย วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า, พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2552, http://kpi.ac.th/media/pdf/M10_213.pdf 

[6] ข้อบกพร่อง งานโครงการจัดงานต่างๆ, เทศบาลเมืองบัวขาว, www.buakhao.go.th/phocadownload/2Finance/23.(002).pdf

[7] นพพล ชูกลิ่น, อุ้มผางดินแดนแห่งขุนเขา, 10 สิงหาคม 2556, http://www.posttoday.com/travel/thailand/239722 

[8] มาเที่ยวตาก อย่าลืมแวะ..ถนนคนเดินอุ้มผาง, Thaiza, 14 พฤศจิกายน 2556, http://travel.thaiza.com/มาเที่ยวตาก-อย่าลืมแวะ-ถนนคนเดินอุ้มผาง/280490/

[9] เทิดชาย ช่วยบำรุง, อ้างแล้ว, การพัฒนาการท่องเที่ยวในท้องถิ่นสู่ความยั่งยืน...ต้องคำนึงถึง “การจัดการ” ที่สร้างสมดุลระหว่างเจ้าบ้านและผู้มาเยือน

[10] AEC คืออะไร, 5 มีนาคม 2555, http://www.thai-aec.com/41#ixzz3pHFKWqWX 

[11] (1) วิศวกร (Engineering Service) (2) แพทย์ (Medical Practitioners) (3) ทันตแพทย์ (Dental Practitioners) (4) พยาบาล (Nursing Services) (5) สถาปนิก (Architectural Services) (6) นักสำรวจ (Surveying Qualifications) (7) นักบัญชี (Accountancy Services)

[12] 39 อาชีพสงวนสำหรับคนไทย จะได้นานแค่ไหนเมื่อไทยเปิดเสรี AEC, 25 กรกฎาคม 2555, www.oknation.net/blog/rinrudee/2012/07/25/entry-1& 39 อาชีพ ที่สงวนไว้ให้คนไทย เท่านั้น หลังเปิด AEC, Indochinaexplorer, 19 สิงหาคม 2557, www.indochinaexplorer.com

หมายเลขบันทึก: 596591เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2015 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2021 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท