ตีความนโยบายสาธารณะ


การพัฒนานโยบายสาธารณะจากล่างขึ้นบน ใช้เวลายาวนาน แต่ก็มักจะสอดคล้องกับความเป็นจริง มากกว่า และยากต่อการเสนอนโยบายแบบ “เอื้อประโยชน์” ต่อคนบางกลุ่ม อย่างที่เกิดบ่อยในสมัยหนึ่ง และกฎหมายบางฉบับยังก่อความเสียหายมาจนถึงปัจจุบัน ต้องมีการทำวิจัยหาหลักฐานตามแก้


บ่ายวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๘ ผมร่วมประชุม มสช. ที่ท่านประธานวิชาการ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และ ท่านรองประธานบริหารมูลนิธิ นพ. สมศักดิ์ ชุณหะรัศมิ์ เชิญคนหนุ่มสาวมาร่วม หารือจำนวนหนึ่ง โดยประเด็นที่คุยกันคือ มสช. จะดำเนินการนโยบายสาธารณะด้านสุขภาวะ อย่างไรดี

เป็นจุดเริ่มต้นชักชวนคนหนุ่มคนสาว หรือคนรุ่นใหม่ เข้ามาร่วมขบวนทำงานวิชาการ ภายใต้ร่มมูลนิธิ ซึ่งมีความเป็นอิสระ ยืดหยุ่น และคล่องตัว แต่ตรวจสอบได้ ทั้งในด้านคุณภาพผลงาน และการใช้เงิน ผมชื่นใจมาก ที่ได้เห็นโอกาสที่จะมีคนรุ่นใหม่มารับช่วงการทำงานสาธารณะต่อจากรุ่นเก่าที่ชรา

ผมสังเกตว่า คนทั่วๆ ไป ตีความคำว่า “นโยบายสาธารณะ” ไปในทางที่เป็นโจทย์ใหญ่ระดับประเทศ ที่จะนำไปสู่การออกกฎหมาย หรือแก้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว ซึ่งผมก็ไม่เห็นแย้ง ว่านั่นเป็นนโยบายสาธารณะ ในรูปแบบหนึ่ง แต่ผมเห็นว่า ยังมีนโยบายสาธารณะในระดับที่ขอบเขตเล็กลงในด้าน “หน่วยสาธารณะ” หรือ “ประเด็นสาธารณะ”

ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การทำงานไปสู่การเปลี่ยนแปลง “นโยบายสาธารณะ” อาจเริ่มต้นทำที่ระดับปฏิบัติ หรือคนทำงานระดับหน้างาน โดยร่วมกันทำงานสาธารณะในลักษณะ evidence-based มากขึ้น ทำงานพัฒนา ระบบงานไป สร้างความรู้หรือ evidence สำหรับใช้งานไป พัฒนาวิธีทำงานต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง และสื่อสาร สังคม ให้สังคมรับรู้เรื่องราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องข้อมูลความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาดีขึ้นในเรื่องนั้น ซึ่งในที่สุดทั้งคนในระดับนโยบาย และคนทั่วไปก็จะเห็นร่วมกันเอง ว่าต้องเปลี่ยนแปลงกติกา ระบบงาน และนโยบายของเรื่องนั้น

ผมคิดว่า นี่คือวิธีพัฒนานโยบายสาธารณะจากฐาน หรือจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่พัฒนาจากบนลงล่าง อย่างที่เราคุ้นเคยกัน

การพัฒนานโยบายสาธารณะจากล่างขึ้นบน ใช้เวลายาวนาน แต่ก็มักจะสอดคล้องกับความเป็นจริง มากกว่า และยากต่อการเสนอนโยบายแบบ “เอื้อประโยชน์” ต่อคนบางกลุ่ม อย่างที่เกิดบ่อยในสมัยหนึ่ง และกฎหมายบางฉบับยังก่อความเสียหายมาจนถึงปัจจุบัน ต้องมีการทำวิจัยหาหลักฐานตามแก้

ผมนึกถึง ศวปถ. ภายใต้ มสช. ที่เวลานี้พัฒนาไปเป็น มูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเวลา ประมาณ ๑๐ ปี ทำงานสร้างนโยบายสาธารณะในระดับปฏิบัติมากมาย ก่อคุณประโยชน์ยิ่งต่อสังคมไทย



วิจารณ์ พานิช

๑๘ ก.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 596588เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2015 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2015 14:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท