ข้อสงสัยในเรื่องการตัดแต่งกิ่ง


มีเกษตรกรที่เพาะปลูกมะนาวได้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามเกี่ยวกับเรื่องของการตัดแต่งกิ่งดูแลทรงพุ่มของมะนาว ว่าจะกระทำได้ในช่วงใดถึงจะดี มีความเหมาะสมไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อต้นมะนาวและการติดดอกออกผลในช่วงฤดูกาลที่ต้องการเพราะเกรงว่าตัดแต่งกิ่งไปแล้วต้นมะนาวจะบอบช้ำหยุดหรือชะลอการเจริญเติบโต ทำให้พลาดโอกาสที่จะได้ผลผลิตมะนาวออกขายในห้วงช่วงที่มีราคาแพงๆ

ความจริงวัตถุประสงค์ของการตัดแต่งกิ่ง ไม่ว่าจะเป็นมะนาวหรือพืชผักผลไม้อื่นๆ นั้น ก็เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการทำงาน ลดกิ่งก้านใบที่ระเกะระกะไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่มะนาวหรือพืชให้สามารถผลิดดอกออกผลได้โดยปราศจากสิ่งกีดขวาง ในกรณีที่มีกิ่งก้านที่เกาะเกี่ยวเลี้ยวลดพันกัน ลดการมีกิ่งก้านใบที่อาศัยกินฟรีแต่เพียงอย่างเดียว เพราะกิ่งก้านใบที่อาศัยอยู่ในร่มเงาตลอดทั้งวัน ไม่ได้รับแสงแดด ก็จะไม่ทำการปรุงอาหารหรือสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) มีแต่ดูดกินแร่ธาตุและสารอาหารที่รากและใบดูดรับซับมาจากทั้งทางธรรมชาติและจากน้ำมือของมนุษย์ที่สูญเสียเงินตราไปซื้อหามาใส่ให้ ถ้าปล่อยให้มีกิ่งก้านใบที่อาศัยกินฟรีอยู่ในร่มเงาเป็นจำนวนมาก ก็ยิ่งเท่ากับว่าเราปล่อยให้เงินตราสูญเสียไปกับค่าปุ๋ยค่ายาโดยเปล่าประโยชน์

การตัดแต่งกิ่ง ตัดแต่งทรงพุ่มนั้น บางทีก็สามารถมองไปในเชิงศิลปะได้ ตัดให้มีรูปทรงต่างๆ ทั้งฝาชีคว่ำ ฝาชีหงาย ฯลฯ ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพียงเพื่อทำอย่างไรก็ได้ให้รูปทรงของทรงพุ่มได้รับแสงแดดได้อย่างถ้วนทั่วได้ตลอดทั้งวัน ปรุงอาหารได้มากทั้งทรงพุ่ม และที่สำคัญยังเป็นการช่วยลดการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช เพราะการที่ทรงพุ่มมีแสงแดดส่องสาดกราดลงไปได้อย่างทั่วถึง เชื้อแบคทีเรีย เชื้อราโรคพืชทั้งหลายก็อาศัยหลบซ่อนอยู่ได้ยาก อีกทั้งการที่ไม่มีกิ่งใบสอดไขว้พันกันเหมือนกับเป็นกระท่อมทองกวาว เพลี้ย หนอน แมลง ศัตรูพืช ก็ไม่เข้ามาหลบแดด หลบฝน พักอาศัย ต้นมะนาวหรือต้นพืชต่างก็ได้รับอานิสงส์ส่งผลให้เกิดโรคแมลงศัตรูพืชระบาด ได้รับอาหารที่ใบสังเคราะห์ส่งมาให้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ดังนั้นการตัดแต่งกิ่งมะนาวหรือพืชผักผลไม้โดยทั่วไป สามารถตัดแต่งกิ่งได้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่จำเป็นต้องไปรอตัดแต่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแต่เพียงอย่างเดียวเมื่อใดก็ตามถ้ามีเวลาว่างเยี่ยมชมสวน ก็หมั่นนำกรรไกรตัดแต่ง หรือมีเหน็บ มีดอีโต้ ติดต่อตัวเข้าไปด้วย ก็จะช่วยให้สะดวกสบายเมื่อเราประสบพบเจอกับกิ่งก้านใบที่อาศัยอยู่ในร่มเงา หรือร่มไม้ใบบัง ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับพืชที่เราปลูก ตัดกิ่งกระโดง กิ่งน้ำค้าง กิ่งที่สอดไขว้พันกัน กิ่งที่จะก่อให้เกิดการหมักหมมบ่มเพาะเชื้อโรค ต้องตัดแต่งออกไปให้หมดแบบสวยงามหรือไม่สวยงามก็ได้ เพียงเท่านี้ก็สามารถที่จะช่วยประหยัดต้นทุนการซื้อปุ๋ย การซื้อยาฆ่าแมลงได้อีกช่องทางหนึ่งนะครับ

มนตรีบุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษwww.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 595541เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2015 18:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2015 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท