​ ภัยแล้ง หายนะแห่งสงครามปี 2050



ว่ากันว่า...ในอีก 30 กว่าปีที่จะถึงนี้ โลกของเราจะมีประชากรเพิ่มขึ้นมาเป็น 9,000 ล้านคน (อ้างอิงจาก วิกิพิเดียที่ได้ทำการบันทึกไว้http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81 ) และประชาชนคนส่วนใหญ่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์จะอาศัยอยู่ในเมืองเนื่องด้วยความจำเป็นที่เราต้องคืนผืนที่ป่าให้กับธรรมชาติและสัตว์ป่า เพราะในปัจจุบันเราใช้ทรัพยากรบนโลกใบนี้มากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และอีกเหตุผลหนึ่งคือสังคมเมืองทุกที่จะมีฝุ่นควัน ละออง มลพิษที่ทำให้บรรยากาศโลกของเราเสื่อมโทรมลง ดังนั้นการที่เรานำเกษตรหรือพืชสีเขียวที่สามารถดูดซับจับสารพิษจากก๊าซของเสียในลักษณะหรือรูปแบบต่างๆในอากาศ มาไว้ใกล้ๆ กับต้นเหตุได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์กลไกต่างๆที่ก่อให้เกิดกำเนิดมลภาวะด้วยการปลดปล่อยออกมาในรูปของเสีย ก็จะถูกพืชสีเขียวที่ย้ายมาเพาะปลูกกันในเมืองทำการดูดซับกำจัดให้ลดน้อยถอยลงหมดสิ้นไปอย่างเช่น ไอเสียรถยนต์ ฝุ่น ควันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แถมยังเป็นการช่วยประหยัดต้นทุนการขนส่ง (logistics) จากนอกเมืองที่ห่างไกลออกไปอีกต่างหากเพราะผู้คนชนส่วนใหญ่นั้นจะอาศัยอยู่ในเมืองด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่

ด้วยเหตุนี้นี่เอง จึงเกิดนวัตกรรมเริ่มต้นทางด้านการทำเกษตรแนวดิ่ง (vertical Forest) เกษตรในสังคมเมือง (Urban Forest) อีกรูปแบบหนึ่งตามทฤษฎีความเชื่อของท่าน ศาสตราจารย์ Dickson Despommier แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านเป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิกแนวคิดของการเกษตรกรรมบนอาคารสูง เพาะปลูกเลี้ยงสัตว์อยู่บนดาดฟ้าหลังคาตึก ปลูกพืชริมระเบียงที่ตึกหรืออาคารนั้นๆสามารถหมุนรับแสงและรับพลังงานลมให้เปลี่ยนเป็นพลังงานได้ 180 องศา เลี้ยงผึ้ง เลี้ยงปลา ปลูกผักในอาคาร มีการ ใช้หลอด LED ทดแทนพลังงานแสงอาทิตย์ พืชก็สามารถที่จะเจริญเติบโตได้เกือบตลอดฤดูกาลซึ่งท่าน ศาสตราจารย์ Dickson Despommier มีความเชื่อเหลือเกินว่าการเกษตรแบบใหม่นี้คือทางรอดของมนุษยชาติ โดยท่านได้เคยกล่าวไว้ว่า "อีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มจาก 6.2 พันล้านคนไปเป็น 9.5 พันล้าน แต่ตอนนี้เรากลับใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำเกษตรไปแล้วถึง 80% เลยครับ ผมนึกไม่ออกว่าเมื่อถึงตอนนั้น การเกษตรแบบเดิมจะเลี้ยงคนทั้งโลกได้อย่างไร" จะอย่างไรก็ตามความคิดนี้ก็ถือเป็นต้นแบบหรือแนวความคิด ที่ไม่แน่ว่าเราอาจจะเห็นเมืองเกษตรแบบนี้ในไม่อีกกี่สิบปีข้างนี้นี้ก็ได้นะครับ

จากที่โลกของเรามีประชากรที่เพิ่มมากขึ้นในทุกขณะ แต่ประสิทธิภาพการเพาะปลูกเพื่อเป็นอาหารเกือบทั่วโลกในปัจจุบันเสื่อมถอยน้อยลง ด้วยสาเหตุส่วนหนึ่งก็คือ ปัญหาจากภัยธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เอลณีโญ ลานิณญาสึนามิ หิมะ แม่คะนิ้ง น้ำท่วม ความหนาวเย็น โลกร้อนจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โรคแมลงศัตรูพืชระบาด และที่สำคัญมากๆ ก็คือ ปัญหาเรื่องความ “แห้งแล้ง” ที่จะทำให้ศักยภาพในการเพาะปลูกหรือผลิตอาหารป้อนชาวโลกดูมืดมน โดยเฉพาะในบ้านเรานั้นภัยแล้งถือเป็นภัยที่คุกคามบั่นทอนศักยภาพการพัฒนาประเทศและการเจริญเติบโตของภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในสาระบบของประเทศนี้มีมากกว่าค่อนประเทศ

เราคงลืมกันไปแล้วว่าบรรพชนคนของเรานั้นเก่งกาจเรื่องเกษตรเป็นที่สุด พ่อหลวงของเราก็สอนให้เราทำเกษตร แต่ท่านๆ คงไม่ทราบว่าเกษตรนั้นต้องใช้ “น้ำ” นะครับที่เป็นปัจจัยในการเพาะปลูก แต่ทำไมเรายังไม่มีแผนการบริหารจัดการน้ำที่มากเพียงพอต่อการทำอาชีพเกษตรกรรม เรายังไม่มีเขื่อนกักเก็บสำรองน้ำที่เพียงพอ เพียงเพราะเราไปมองป่าไม้เป็นเงินตรา ให้มูลค่าในทางมายาดั่งทองคำ ไม่สามารถปรับเปลี่ยน ปรับปรุง แก้ไข ย้ายสถานที่จึงทำให้เหตุผลที่จะปลูกป่าผืนใหม่ใช้แทนป่าผืนเก่าไม่บรรลุผลจนทำให้ปัญหาการสร้างเขื่อนหรือแก้มลิงในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเพื่อกักเก็บน้ำมีน้อยเกินไปไม่เพียงพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกหรือประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งสามารถนำพาประเทศของเราให้อุดมสมบูรณ์ต่อไปในอนาคตได้

ป่าต้นน้ำในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีต เพราะมีแต่พืชไร่อย่าง อ้อย ข้าวโพด ข้าวไร่เสียเป็นส่วนมาก พืชไร่เหล่านี้มีรากที่ชอนไชลงสู่ผิวดินได้แค่เพียงระดับตื้นๆ แตกต่างจากป่าดิบชื้น ป่าเบญจพันธุ์ในยุคเก่าก่อนที่สามารถกักเก็บอุ้มน้ำในชั้นผิวหน้าดินไว้ได้ลึกกว่าเป็นเมตรสองเมตร ดังนั้นจึงทำความสามารถในการกักเก็บน้ำฝนแพ้ผืนดินถิ่นเดิมในอดีต เมื่อฝนตกลงมาชะล้างหน้าดินให้ไหลรี่ปรี่ลงไปสู่เขื่อนอย่างรวดเร็ว จนระดับน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นเกินความสามารถในการกักเก็บทำให้ต้องรีบระบายถ่ายเทปล่อยลงสู่ท้องทะเลก่อนเวลาอันควรเป็นสาเหตุทำให้ขาดแคลนแหล่งน้ำในการเพาะปลูกในคราวที่จำเป็น โดยเฉพาะในช่วงฤดูทำนาปรัง ฤดูแล้ง เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องสั่งห้ามปล่อยน้ำทำนาดังที่เราๆ ท่านๆได้ทราบกันในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เอง

ถึงแม้ว่าจะมีบางพื้นที่ที่สามารถขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ทดแทนได้ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดปัญหานะครับ ถ้าแหล่งน้ำใต้ดินถูกดูดถูกสูบขึ้นมาคราวละมากๆ และพร้อมๆ กันในคราวเดียวเพราะในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาผู้เขียนก็ได้รับข้อมูลจาก พี่น้องชาวไร่ชาวนาแถวชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี โดยมีปัญหาสูบน้ำจากบ่อบาดาลจนแห้งแล้วเกิดปัญหาสูบไม่ขึ้น เนื่องด้วยทุกแห่งหนตำบลในจังหวัดนั้นๆ พี่น้องเกษตรกรชาวนาต่างก็ต้องการสูบและวิดน้ำเพื่อทำนาด้วยกันทั้งนั้น จึงเกิดปัญหาบ่อปั้มน้ำแขวน (คือระดับน้ำแห้งขอดลดต่ำกว่าปลายท่อที่ยัดใส่ลงไป เพราะแหล่งน้ำซับตรงบริเวณนั้นเหือดแห้ง)นี่แหละครับความน่ากลัวเบื้องต้นที่ชาวไร่ชาวนาได้ผ่านพบประสบเจอมาแล้ว ซึ่งก็ต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อที่จะหารายได้เลี้ยงปากท้องดูแลบุตรหลานในครอบครัวให้มีชีวิตต่อไป (เราขาดเขื่อนที่มากเพียงพอ ที่จะใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำรองนั่นเองครับ)

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องหาวิธีช่วยเหลือตนเองกันไปก่อน ดังพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้กล่าวไว้ว่า “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ” ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน นั่นก็คือการช่วยเหลือตนเองก่อนด้วยการทำ “สระน้ำประจำฟาร์มส่วนตัว” ของตนเอง ทำแบบของใครของมัน เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกหน้าเขื่อน หรือรองรับน้ำจากเขื่อนที่เขาอาจจะปล่อยให้ลงมาก่อนกำหนด แล้วเราก็ไขเข้าสู่สระน้ำส่วนตัวของเรา ก่อนที่มันจะไหลทิ้งหายลงไปในทะเลเสียหมด ช่องทางนี้ถือเป็นช่องทางที่พี่น้องเกษตรกรควรจะต้องเรียนรู้และพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะอย่างไรเสียในอนาคตอันใกล้นี้คงจะต้องมีปัญหาเรื่องนี้อย่างแน่นอน

ก่อนหน้านี้องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ประเมินว่า โลกมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีก 60% จึงจะเพียงพอต่อความต้องการของผู้คนที่จะเพิ่มขึ้นในปี ค.ศ.2050 ถือเป็นเป็นเรื่องท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะมีทั้งข้อจำกัดของพื้นที่เพาะปลูก เทคโนโลยี นวัตกรรม การใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง รวมถึงแหล่งน้ำและข้อจำกัดของภัยธรรมชาติที่ได้กล่าวไปแล้วด้วยนะครับ เพื่อที่จะให้มีการผลิตอาหารที่เพียงพอต่อประชากรโลกซึ่งจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 9,000 หรือ 10,000 ล้านคนในอนาคตอันใกล้ ต้นทุนการผลิตและราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงดังนี้แล้วท่านๆพอจะเห็นกันหรือยังล่ะครับว่าสงครามที่ผมได้จั่วหัวไว้นั้น “มันคือสงครามน้ำและอาหาร” ที่ไม่น่าจะเกินความจริงและกำลังย่างกรายใกล้เข้ามาถึงพวกเราในทุกๆขณะ หรือจะรอจนกว่าท่านจะมีอาหารมื้อสุดท้ายตกถึงท้องเสียก่อน.....ท่านๆจึงจะเข้าใจ

มนตรีบุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 595493เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2015 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2015 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท