Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

7.พระภัททากัจจานาเถรี : ภิกษุณีผู้เลิศทางผู้ทรงอภิญญา (พระนางยโสธราพิมพา)


พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระภัททากัจจานาเถรีตำแหน่งเอตทัคคะ ด้านผู้ทรงอภิญญา

ประวัติย่อ

พระภัททากัจจานาเถรี เป็นราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ แห่งโกลิยวงศ์ ในพระนครเทวทหะ เป็นพระกนิษฐภคินีของพระเทวทัต บรรดาพระประยูรญาติได้ขนานพระนามว่า “ภัททากัจจานา” หรือที่นิยมเรียกพระนามว่า “ยโสธราพิมพา”

เมื่อพระนางเจริญวัยขึ้นจนมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา ได้รับอภิเษกเป็นอัครมเหสีของเจ้าชายสิทธัตถะ บรมโพธิสัตว์ แห่งศากยวงศ์ ในพระนครกบิลพัสดุ์ และเมื่อพระชนมายุ ๒๙ พรรษา ได้ประสูติพระโอรสพระนามว่า “พระราหุลกุมาร”

ในวันที่พระราหุลกุมารประสูตินั้นเจ้าชายสิทธัตถะบรมโพธิสัตว์ได้เสด็จออกทรงผนวช และทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๖ ปี ก็ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์

จากนั้นพระพุทธองค์ ก็ทรงจาริกไปตามคามนิคมต่าง ๆ เพื่อเทศนาสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้ได้บรรลุอมฤตธรรม ตามสมควรแก่อำนาจวาสนาบารมีแล้วได้เสด็จสงเคราะห์พระประยูรญาติ ณ หบิลพัสดุ์บุรี ยังพระประยูรญาติศากยวงศ์ มีพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดาเป็นประธาน ได้ดื่มน้ำอมฤตธรรม จนได้บรรลุอริยภูมิตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์เป็นจำนวนมาก

ในคราวที่พระบรมศาสดา เสด็จโปรดพระประยูรญาติครั้งนี้ พระราหุลกุมาร ก็ได้ติดตามองค์พระบิดาบรรพชาเป็นสามเณร นอกจากนี้ศากยกุมารทั้งหลายจากสกุลอื่น ๆ ก็เสด็จออกบวชเป็นจำนวนมาก

ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดาเข้าสู่พระปรินิพพานแล้ว จากนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมี พร้อมด้วยขัติยนารีชาวศากยะ ๕๐๐ นาง ก็พากันเสด็จออกบรรพชาในสำนักพระศาสดากันทั้งสิ้น

ทางด้านพระนครกบิลพัสดุ์ ก็ว่างเว้นกษัตริย์ที่จะปกครองดูแล หมู่อำมาตย์ราชปุโรหิตทั้งหลายได้ประชุมปรึกษาเห็นพ้องต้องกันได้ทำพิธีราชาภิเษกอัญเชิญเจ้าชายมหานามศากยราช ผู้เป็นพระเชษฐโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ ขึ้นครอบครองราชย์สมบัติในกรุงกบิลพัสดุ์สืบต่อไป

ฝ่ายพระนางยโสธราพิมพาราชเทวี พระชนนีของพระราหุลกุมาร ทรงว้าเหว่าโศกาดูรด้วยพระดำริว่า

“โลกสันนิวาสนี้ มิมีอะไรแน่นอน พระสวามีและลูกน้อยต่างก็ได้เสด็จออกบรรพชา

อีกทั้งพระประยูรญาติทั้งชายหญิง ก็พากันออกบวชตามเสด็จ

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมีประโยชน์อะไรแก่เราในเพศฆราวาส

เราควรสละสมบัติทั้งปวงแล้วออกบวชโดยเสด็จพระภัสดาในบัดนี้ จะประเสริฐกว่า”

พระนางจึงเสด็จเข้าไปกราบทูลลาพระเจ้ามหานามะ แล้วพร้อมด้วยพระนางรูปนันทาชนบทกัลยาณีและสาวสนมกำนัล รวมประมาณ ๕๐๐ นาง เสด็จไปยังพระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ถวายอัญชลีแล้วกราบทูลขออุปสมบท สมเด็จพระบรมศาสดาประทานสงเคราะห์ด้วยครุธรรม ๘ ประการ

พระนาง ครั้นบวชแล้วได้นามปรากฏว่า “ภัททากัจจานาเถรี” ได้เรียนพระกรรมฐานในสำนักพระบรมศาสดาแล้วเจริญวิปัสสนา ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ประการ

เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏว่าพระเถรีเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญในอภิญญาทั้งหลาย นั่งขัดสมาธิครั้งเดียวสามารถระลึกชาติได้ถึงหนึ่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป

เมื่อคุณความสามารถปรากฏเช่นนั้น พระบรมศาสดา ได้ทรงสถาปนาแต่งตั้งพระเถรีนี้ ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีสาวิกาทั้งหลายในฝ่าย ผู้ทรงอภิญญา

หมายเลขบันทึก: 595449เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2015 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2015 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท