เรียนรู้จากสถาบันวิจัยชั้นเลิศของประเทศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ มช.



วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ มีการประชุมคณะกรรมการประเมินผลการบริหารงานของผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ. นพ. สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ในช่วง 1 1/2 ปีแรกของการดำรงตำแหน่งวาระที่สอง ระหว่าง ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ - ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๘

มองในด้านผลงานของสถาบันวิจัยแห่งนี้ ดีเยี่ยมอย่างหาเทียบได้ยาก ซึ่งผมตีความว่า เป็นผลจาก ความสามารถของท่านผู้อำนวยการท่านปัจจุบัน และจากการสั่งสมวัฒนธรรมความเข้มแข็งในการทำงานวิจัยที่คร่อม ระหว่างงานวิจัยประยุกต์และงานวิจัยพื้นฐาน มายาวนานตั้งแต่เริ่มตั้ง มช. เป็นสถาบันวิจัยที่ใน แต่ละช่วง มีทิศทางและประเด็นเน้นชัดเจน และทำต่อเนื่องแม้เมื่อเปลี่ยนผู้อำนวยการ

สมัยสี่สิบปีก่อน สถาบันนี้มีชื่อเสียงมากจากการวิจัยปัญหาโภชนาการ ในโครงการที่เรียกกันว่า MALAN โดยมีผู้อำนวยการสถาบันคือ รศ.พญ. อุษา ธนังกูล ต่อมาเมื่อเอ็ชไอวี/เอดส์ระบาด สถาบันก็หันมาจับเรื่องการวิจัย HIV/AIDS ในแง่มุมต่างๆ ปรับไปตามสถานการณ์ ก่อให้เกิดความรู้ที่เอาไปใช้ป้องกันและรักษาโรค HIV/AIDS ทั่วโลก โดยผู้อำนวยการคือ ศ. นพ. ธีระ ศิริสันธนะ ที่ทำหน้าที่ ๒ สมัย ๘ ปี ต่อด้วย ศ. นพ. สุวัฒน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งมา ๖ ปีแล้ว

สถาบันวิจัยนี้จับเอาข้อได้เปรียบที่อยู่ในท่ามกลางปัญหา จับเอามาเป็นประเด็นวิจัย และทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็น research issue ไม่ใช่ทำเป็น research project จะทำเช่นนี้ได้ต้องสามารถแสวงหาแหล่งทุนที่มียุทธศาสตร์การทำงานแบบเดียวกัน คือส่งเสริมทุนระยะยาว ซึ่งหายากมากในประเทศไทย แต่มีที่ US NIH หากมีฝีมือ/มีผลงานเป็นที่น่าเชื่อถือ ดังสถาบันฯ ได้รับทุน จาก NIH ในชื่อ Thai CTU (Thailand HIV/AIDS and Infestious Disease Clinical Trials Unit) เป็นเวลา ๗ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๐ - ๒๕๕๖ และได้รับทุนต่ออีก ๗ ปี ระหว่างปี ๒๕๕๗ - ๒๕๖๓ ทุน NIH นี้ เป็นที่เลื่องลือว่าได้รับยากมาก

จะทำเช่นนี้ได้ ภาวะการนำของผู้บริหารต้องเข้มแข็ง คือเข้มแข็งทั้งด้านวิชาการ/วิจัย ด้านเครือข่ายความร่วมมือ และด้านการจัดการสถาบัน สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งคือ ยุทธศาสตร์การทำงานแบบเน้นความร่วมมือ ไม่ใช่แข่งขัน ในการเขียนขอทุน NIH ช่วงที่สองนั้น สถาบันเขียนขอร่วมกับสภากาชาด ทำให้มีความเข้มแข็งมากกว่าสถาบันขอเองโดดๆ ผมคิดว่า หากสถาบันและกาชาดต่างก็แยกกันเสนอโครงการไปยัง NIH คงยากที่จะได้รับการคัดเลือก

ในตอนประชุมคณะกรรมการ มีการพูดกันว่า สถาบันนี้ประสบความสำเร็จสูงส่ง ก็เพราะเลือกประเด็นที่เป็นจุดเน้น ถูกยุคสมัย และมีภาคีร่วมมือในต่างประเทศและในประเทศที่เข้มแข็ง ทำให้สามารถหาแหล่งทุนที่ให้ทุนขนาดใหญ่ และระยะยาวได้ ความท้าทายคือ ในอนาคตหลัง ศ. นพ. สุวัฒน์ครบการดำรงตำแหน่ง ๒ วาระ การสรรหาผู้อำนวยการคนต่อไปจะมีความสำคัญ ผูกพันกับประเด็นวิจัยหลักใน ๑๐ - ๒๐ ปีข้างหน้า จะยังเป็น HIV/AIDS อยู่หรือไม่ หรือควรเปลี่ยนไปเป็นประเด็นอื่น

มีการพูดถึง emerging infectious diseases อื่นๆ และประเด็นปัญหาที่มีผลกระทบสูงต่อคนในท้องถิ่น คือปัญหา หมอกควัน และปัญหาสารเคมีจากการเกษตร ซึ่งขณะนี้สถาบันฯ ก็ร่วมมือทำวิจัยอยู่บ้าง แต่หากจะทำเป็นประเด็นวิจัยหลัก ในอนาคตของสถาบันฯ ก็จะมีข้อจำกัดที่แหล่งทุนวิจัยภายในประเทศไม่มีทุนขนาดใหญ่ และให้ทุนในระยะเวลายาวอย่างทุน US NIH

ประเทศไทยเรายังไม่มีนโยบายเอาจริงเอาจังกับการใช้การิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ยังไม่มีแหล่งทุนวิจัย ที่สนับสนุนแบบจริงจัง และต่อเนื่อง


วิจารณ์ พานิช

๒๒ ส.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 595117เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2015 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2015 12:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท