จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๓๒: จริยธรรมกับการตัดสินใจทางการแพทย์


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๓๒: จริยธรรมกับการตัดสินใจทางการแพทย์

คนเราจะทำอะไร ก็มักจะใช้ไม่เหตุผลก็อารมณ์ หรือส่วนใหญ่จะปนๆกันในสัดส่วนต่างๆนานา เคยมีนักวิจัยพยายามจะประมาณเอาไว้ ว่าโดยเฉลี่ยจะอยู่ในสัดส่วนระหว่างอารมณ์ความรู้สึก (feeling) ต่อตรรกะเหตุผล (thinking) ที่ 24:1 (96% มาจากฝั่งอารมณ์!!!!) ตัวเลขนี้บางคนอาจจะตกใจ บางคนอาจจะไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร แต่เราอาจจะมองเห็นว่า "อารมณ์ความรู้สึก" นั้น take over พฤติกรรมเราหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะเวลาที่เราใช้ชีวิตใน mode เกียร์ออโต้ ตั้งแต่ลืมตาตื่นนอน ไปอาบน้ำแปรงฟัน หาข้าวกิน ผ่านทั้งวันจนนอนหลับ เวลาที่เรา "ครุ่นคิดใคร่ครวญ" อย่างมีสมาธิและสติ ๑๐๐% นั้น ไม่มากเท่าไหร่เลย แต่สิ่งสำคัญคือ เรา "สามารถ" ที่จะเริ่มต้นจากมีสติ รับรู้ว่าเรากำลังใช้ mode ไหน และเริ่มเพิ่มสัดส่วนในด้านครุ่นคิดใคร่ครวญให้มากขึ้นก็ได้ เป็นทักษะที่ฝึกได้ และพัฒนาได้

"จริยศาสตร์" นั้นเป็นหลักเหตุผล ที่มีพื้นฐานจากความจำเป็นที่มนุษย์อยู่ร่วมกัน ต้องแบ่งปันทรัพยากรอันจำกัด และเอื้อเฟื้อดูแลกันและกัน เนื่องจากทางกายภาพนั้น เผ่าพันธุ์มนุษย์ช่างบอบบาง ช่วยตัวเองไม่ได้เต็มที่ ต่างจากสัตว์ประเภทอื่นๆที่เป็นอิสระกับตัวเองตั้งแต่แรกๆเริ่มอายุ ความดีงามหรือหลักจริยะนั้นจึงมีวัตถุประสงค์ให้มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยส่ง เสริมซึ่งกันและกัน ดูแลกันและกัน จึงมีเงื่อนไขพื้นฐานได้แก่ ความสามารถในการรับรู้ความรู้สึก (ไม่ใช่ความคิด) ของผู้อื่น รู้สึกแล้วสามารถที่จะสงสาร รัก และเมตตาคนอื่นได้ พอรู้สึกเช่นนั้นแล้วก็แปลงมาเป็นพฤติกรรม ความคิด การพูด และการกระทำ

วิชาชีพแพทย์ยิ่งสำคัญ เพราะเป็นเรื่องการเยียวยา หมายถึงมีคนกำลังทุกข์ (suffering) อันเป็นอารมณ์ความรู้สีกตกต่ำ สูญเสีย พรากจาก ไม่อาจจะควบคุมร่างกาย สิ่งที่มี สิ่งที่เป็น และสิ่งที่ทำได้ ดังนั้นผู้ประกอบอาชีพแพทย์จะช่วยเหลือคนเหล่านี้ได้ จะทำงานที่ต้องการทำให้สำเร็จได้ จะต้องได้รับ "ความไว้เนื้อเชื่อใจ" จากคนที่เราเข้าไปช่วยก่อน เป็นปฐมบท และการที่คนเชื่อถือว่าแพทย์จะทำ จะแนะ อะไรยึดหลักจริยศาสตร์นี่เอง ที่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญ ไม่ใช่ทำไปเพื่อปกป้องตนเอง เพื่อประโยชน์ตนเอง เพื่อปกปิดความหวาดกลัวของตนเอง แต่เป็นการทำเพื่อดูแลเขา เคารพในศักดิ์ศรีตัวตนของเขา เพื่อดูแลความกลัวของเขา

@ จริยศาสตร์ไม่ได้การันตีผลลัพธ์ แต่ช่วยเรื่องความสัมพันธ์

การตัดสินใจทางจริยศาสตร์เป็นศาสตร์และศิลป์ ถือหลักเหตุผลเพื่อหาทางกระทำเพื่อความดี แต่ไม่มีอะไรที่ร้อยเปอร์เซนต์สามารถจะการันตี "ผลลัพธ์" ได้ เพราะตอนตัดสินใจนั้น ผลอาจจะออกมาอย่างที่คาดไม่ถึงได้ ดังนั้นเราไม่สามารถจะนำเอา "ผลลัพธ์" มาบอกว่าที่ตัดสินใจไปในตอนแรกเป็นการตัดสินใจที่ผิดจริยธรรม แต่เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่บางครั้ง "เหตุปัจจัย" นั้นๆมันซับซ้อนเกินกว่าที่ใครจะพยากรณ์และมองเห็นได้ครบถ้วนทั้งหมดเสมอไป จึงเป็นเรื่องอันตรายมาก ที่เราจะนำผลลัพธ์จากบริบทหนึ่ง นำไป generalize หรือ stereotype เป็นหลักสากลราวกับว่าเป็นสัจจธรรมจริงแท้ จริงตลอด ไม่ว่าจะเป็นบริบทใดๆในอนาคต

อาทิเช่น การแจ้งข่าวร้าย

การแจ้งข่าวร้ายทำให้เกิดผลมากมายซับซ้อนหลายทิศทาง ขึ้นกับคนๆนั้นๆ ขึ้นกับบริบทรอบข้าง ขึ้นกับผู้คนที่สนับสนุน (หรือซ้ำเติม) แต่แพทย์ก็จะพบว่าการแจ้งข่าวร้ายบอกความจริงให้ผู้ป่วยทราบ เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้การเผชิญหน้ากับอนาคตที่กำลังมาถึง มีข้อมูลที่ตรงกับเหตุปัจจัยมากที่สุด ถึงแม้จะทำให้เศร้า ถึงแม้จะทำให้กลัว แต่เราก็จะมีเวลาตั้งตัวที่จะเผชิญกับความจริงที่กำลังดำเนินต่อไปตลอดเวลา (ไม่ว่าเราจะรับรู้หรือไม่ก็ตาม) ในบางกรณีเราอาจจะต้องแจ้งข่าวร้ายด้วยความ sensitive และมีความสามารถในการให้คำปรึกษา เพื่อที่คนรับจะได้ไม่สิ้นจนหนทางในทันทีทันใด แต่ก็ยังดีกว่าไม่ยอมบอก เพราะจะไม่เกิดการตระเตรียมเผชิญหน้ากับอนาคตเอาไว้เลย

การไม่แจ้งข่าวร้าย หรือหลีกเลี่ยง จะนำไปสู่การ "พูดไม่จริง" ซึ่งจะเป็นหลุมพรางสำคัญในการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย เมื่อไหร่ก็ตามที่พบว่ามีการโกหกเกิดขึ้น ก็จะยากมากที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันต่อไป หากไม่มั่นใจว่าจะควบคุมสถานการณ์ในการแจ้งข่าวร้ายด้วยตนเองได้ ยังมีทางเลือกคือส่งไปหาคนที่ทำได้ แต่ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะโกหก หรือบิดเบือนความจริงกับคนไข้และญาติ แม้จะอ้างว่าเป็นการดูแลความรู้สึกก็ตาม เพราะที่สุดแล้ว เรา "ไม่ทราบ" ว่าคนไข้จะรู้สึกอย่างไร ไปในทิศทางไหน ความเป็นไปได้นั้นมีเยอะมากและมีได้ทุกทิศทุกทาง

อย่างน้อยที่สุด การบอกความจริง (principle of veracity) จะเป็นต้นทุนสำคัญในการเกิดความงอกงามความสัมพันธ์ที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ ไม่หลอกลวงกัน หนทางเดินอาจจะยากลำบาก และเต็มไปด้วยความทุกข์ก็จริง แต่อย่างน้อยคนไข้และญาติจะทราบว่าแพทย์ที่กำลังร่วมเดินทางไปด้วยกันนั้น เชื่อใจได้ว่าจะบอกความจริงให้ทราบ มีความเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ แห่งความเป็นคน และร่วมเดินทางไปจนสุดทางอย่างมีความเป็นกัลยาณมิตร

นพ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันจันทร์ที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๑ นาฬิกา ๘ นาที
วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 595113เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2015 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2015 11:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วรู้สึกถึงความงดงามของความจริงที่มีพื้นฐานจากใจเลยนะคะ อาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท