๗๐๒. การประเมินค่างานตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ ระดับชำนาญการและระดับชำนาญการพิเศษ


การประเมินค่างานตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ ระดับชำนาญการและระดับชำนาญการพิเศษ

ตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่องมาตรฐานการกำหนดระดับตำแหน่งและการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น พ.ศ.๒๕๕๓ ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ นั้น กำหนดให้ตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ ระดับชำนาญการและระดับชำนาญการพิเศษ ต้องมีการประเมินค่างาน โดยมีองค์ประกอบหลักในการประเมิน ได้แก่

๑. หน้าที่และความรับผิดชอบ (๓๐ คะแนน)

๒. ความยุ่งยากของงาน (๓๐ คะแนน)

๓. การกำกับตรวจสอบ (๒๐ คะแนน)

๔. การตัดสินใจ (๒๐ คะแนน)

ซึ่งเกณฑ์การตัดสิน : ระดับชำนาญการ ต้องได้คะแนน ๖๔ คะแนนขึ้นไป จะถือว่าผ่านเกณฑ์

ระดับชำนาญการพิเศษ ต้องได้คะแนน ๘๔ คะแนนขึ้นไป จะถือว่าผ่านเกณฑ์

เทคนิคในการเขียนการประเมินค่างาน : ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลักการประเมินค่างาน ซึ่งมีคะแนนในแต่ละองค์ประกอบแตกต่างกันไป มีทั้งหมด ๔ ด้าน รวมแล้ว ๑๐๐ คะแนนเต็ม...ในการเขียนให้คำนึงถึงในแต่ละองค์ประกอบ เช่น

๑. หน้าที่และความรับผิดชอบ (๓๐ คะแนน) :

ในการเขียนสิ่งที่ต้องเขียนให้ดูว่าลักษณะงานที่ปฏิบัติอยู่นั้นสามารถไปถึงคะแนนในระดับใด...ซึ่งแบบประเมินจะกำหนดในหน้าที่และความรับผิดชอบ มีทั้งหมด ๔ ข้อ ในแต่ละข้อก็มีคะแนนแตกต่างกันไป แต่เมื่อรวมคะแนนทั้ง ๔ องค์ประกอบแล้วจะต้องได้คะแนน ๖๔ คะแนนขึ้นไป จะถือว่าผ่านเกณฑ์ สำหรับระดับชำนาญการ และ ต้องได้คะแนน ๘๔ คะแนนขึ้นไป จะถือว่าผ่านเกณฑ์ สำหรับระดับชำนาญการพิเศษ...

๑.๑ ปฏิบัติงานระดับต้น (๑๐ - ๑๕) คือ การเขียนปฏิบัติงานในระดับต้น...ซึ่งต้องใช้ความคิดริเริ่มประกอบกับวิธีการหรือแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่ (โดยให้เขียนบรรยายลักษณะงานที่ต้องปฏิบัติ)

๑.๒ ปฏิบัติงานที่ค่อนข้างยาก (๑๖ - ๒๐ คะแนน) คือ การเขียนบรรยายลักษณะงานที่ต้องปฏิบัติในลักษณะใช้ความคิดริเริ่มในทางปฏิบัติน้อยมาก เรียกว่า อาจทำตามการสั่งการของหัวหน้าหน่วยงาน

๑.๓ ปฏิบัติงานที่ยาก (๒๑ - ๒๕) คือ การเขียนงานที่มีขอบเขตเนื้อหาหลากหลาย โดยต้องใช้ความคิดริเริ่มในการปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ เช่น วิธีการเมื่อปฏิบัติงานแล้วเกิดปัญหา สามารถนำความคิดริเริ่มมาช่วยปรับแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงานได้ ซึ่งเป็นความคิดใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้งานที่ปฏิบัตินั้นบรรลุผลสำเร็จได้ตามสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น

๑.๔ ปฏิบัติงานที่ยากมาก (๒๖ - ๓๐) คือ การเขียนงานที่มีขอบเขต เนื้อหาหลากหลาย โดยต้องใช้ความคิดริเริ่มในการกำหนด หรือปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับสภาพการณ์...เช่น ได้ปฏิบัติงานเดิมอยู่แล้ว แต่เมื่อมีแนวทาง ความคิดที่จะปรับเปลี่ยนและสามารถให้งานนั้นบรรลุผลสำเร็จได้เร็วขึ้น มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และนำเทคนิค แนวคิดนั้นมาปรับใช้เพื่อให้งานนั้นบรรลุผลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เร็วขึ้น เกิดคุณภาพต่อผลงานมากยิ่งขึ้น

๒. ความยุ่งยากของงาน (๓๐ คะแนน) :

๒.๑ เป็นงานที่ไม่ยุ่งยาก มีแนวทางปฏิบัติงานที่ชัดเจน (๑๐ - ๑๕ คะแนน) คือ การเขียนบรรยายลักษณะงานที่ได้ปฏิบัติงานและมีแนวทางปฏิบัติงานที่ชัดเจน ไม่ซับซ้อน เห็นได้ง่าย

๒.๒ เป็นงานที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน และมีขั้นตอนวิธีการค่อนข้างหลากหลาย (๑๖ - ๒๐ คะแนน) คือ การเขียนบรรยายลักษณะงานที่เริ่มยากขึ้นกว่า ๒.๑ เริ่มมีขั้นตอนวิธีการค่อนข้างหลายวิธี

๒.๓ เป็นงานที่ยุ่งยากซับซ้อน (๒๑ - ๒๕ คะแนน) คือ เป็นการเขียนบรรยายลักษณะงานที่ต้องประยุกต์ใช้ความรู้และประสบการณ์ในการปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น โดยนำความรู้มาประยุกต์ใช้และบูรณาการกับการทำงาน ณ เหตุการใดเหตุการณ์หนึ่ง หรือ ณ ปัจจุบัน

๒.๔ เป็นงานที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมาก (๒๖ - ๓๐ คะแนน) คือ เป็นการเขียนบรรยายลักษณะงานที่ต้องประยุกต์ใช้ความรู้และประสบการณ์ในการกำหนดหรือปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติงานให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการณ์...โดยนำความรู้ประสบการณ์มาบูรณาการใช้กับงานที่ปฏิบัติซึ่งยากกว่าข้อ ๒.๓ ซึ่งเป็นงานที่สามารถทำเองได้ด้วยการตัดสินใจเองและหาแนวทางในการปฏิบัติเองเพื่อให้งานบรรลุผลสำเร็จได้ตามเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

๓. การกำกับตรวจสอบ (๒๐ คะแนน) :

๓.๑ ได้รับการกำกับ แนะนำ ตรวจสอบอย่างใกล้ชิด (๑ - ๕ คะแนน) คือ การปฏิบัติงานที่่ยังต้องอาศัยให้หัวหน้าหน่วยงานคอยควบุคม กำกับ แนะนำ ตรวจสอบงานอย่างใกล้ชิด ยังปล่อยให้ลงมือทำเองยังไม่ได้

๓.๒ ได้รับการกำกับ แนะนำ ตรวจสอบการปฏิบัติงานบ้าง (๖ - ๑๐ คะแนน) คือ การปฏิบัติงานที่ต้องอาศัยให้หัวหน้าหน่วยงาน กำกับ แนะนำ ตรวจสอบการปฏิบัติงานอยู่บ้างเป็นบางงาน

๓.๓ ได้รับการตรวจสอบ ติดตามความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานเป็นระยะตามที่กำหนดในแผนปฏิบัติงาน (๑๑ - ๑๕) คือ การปฏิบัติงานที่หัวหน้าหน่วยงานต้องทำปฏิทินในการติดตามงานตามกำหนดระยะเวลาที่จะต้องส่งให้ภายในกำหนดระยะเวลา โดยหัวหน้าหน้าหน่วยงานจะต้องเป็นผู้ควบคุมระยะเวลานั้น

๓.๔ ได้รับการตรวจสอบ ติดตามผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานตามแผนงาน/โครงการ (๑๖ - ๒๐ คะแนน) คือ การปฏิบัติงานตามโครงการ แผนงานที่หน่วยงานมอบหมาย และตำแหน่งที่เขียนนั้นต้องมีการติดตามผลสัมฤทธิ์ของงานตามแผนงาน/โครงการ ด้วยตนเอง ไม่ต้องให้หัวหน้าหน่วยงานต้องมาคอยกำกับ ตรวจสอบหรือติดตาม

๔. การตัดสินใจ (๒๐ คะแนน) :

๔.๑ ในการปฏิบัติงานมีการตัดสินใจบ้าง (๑ - ๕ คะแนน) คือ เขียนภาระงานที่ปฏิบัติว่ามีเรื่องที่จะต้องตัดสินใจบ้าง

๔.๒ ในการปฏิบัติงานมีการตัดสินใจด้วยตนเองค่อนข้างมาก คือ เขียนภาระงานที่ปฏิบัติมีกระบวนการในการตัดสินใจเริ่มมากขึ้น มีการวางแผนและกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาสำหรับงานที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้น

๔.๓ ในการปฏิบัติงานมีการตัดสินใจด้วยตนเองอย่างอิสระ (๑๑ - ๑๕ คะแนน) คือ เขียนภาระงานที่ปฏิบัติว่ามีการตัดสินใจด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องขอคำแนะนำ และสามารถปรับเปลี่ยนแนวทางและแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงานที่รับผิดชอบได้เอง

๔.๔ ในการปฏิบัติงานมีการตัดสินใจด้วยตนเองอย่างอิสระ (๑๖ - ๒๐ คะแนน) คือ เขียนภาระงานที่ปฏิบัติโดยมีการตัดสินใจด้วยตนเองอย่างอิสระ และมีการริเริ่มพัฒนาแนวทางและวิธีการในการปฏิบัติงานได้ด้วยตนเอง

นี่คือ...เทคนิคหรือแนวคิดในการเขียนประเมินค่างาน...ดูจะค่อนข้างยากนิดหนึ่ง แต่ต้องอ่านหรือทบทวนหลาย ๆ ครั้ง จะทำให้เข้าใจในการเขียนการประเมินค่างานมากยิ่งขึ้น...สิ่งที่สำคัญ ก็คือ การเข้าใจภาระงานที่ได้ปฏิบัติบัติ หรือสำหรับคนที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานต้องเข้าใจในบริบทของเนื้องานนั้นอย่างแท้จริง เพราะงานแต่ละงานจะมีความเหมือนกันบนความแตกต่างกัน...

อย่าลืมว่า!!! ระดับชำนาญการและชำนาญการพิเศษ ถ้าเป็นสมัยที่เป็นระบบซีนั้น เทียบได้เท่ากับ ซี ๗ และซี ๘...ซึ่งต้องเป็นลักษณะงานที่ยากมาก ๆ เพราะต้องแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี...เวลาการเขียนการประเมินค่างาน ต้องเขียนภาระงานเดิมและเทียบกับภาระงานใหม่ให้เห็นถึงความยุ่งยากและความซับซ้อนของงานที่ได้เปลี่ยนแปลงไป...การเขียนการประเมินค่างาน ต้องเขียนภาระงาน ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล ให้คำนึงถึงภาระงานของส่วนราชการเป็นหลักที่จะต้องให้คนเข้ามาสู่ตำแหน่งนั้น...คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนราชการเป็นหลักสำคัญไม่ใช่คำนึงถึงตัวบุคคลที่ปฏิบัติ...

...

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติเข้ามาอ่านบันทึกนี้ค่ะ

บุษยมาศ แสงเงิน

๒๑ กันยายน ๒๕๕๘


หมายเลขบันทึก: 595115เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2015 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2015 12:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบคุณสำหรับกำลังใจนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท