ประวัติศาสตร์ตอนสมัยผมทำงานที่ "ไกวัล ซอฟต์แวร์" (และความเชื่อมโยงกับ งานวิจัยเรื่องโครงการต่อต้านไวรัสคอมพิวเตอร์ + ระบบปัญญาประดิษฐ์)



ระบบปัญญาประดิษฐ์

เผอิญทาง BBC Thai ได้มาโพสต์ข้อเขียนถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่อง ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่อาจนำไปสู่การสร้างหุ่นยนต์ที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติและทำลายล้างมนุษยชาติ (ดูข้อมูลได้นี่ https://www.facebook.com/BBCThai/posts/16957678439...)


ผมได้โพสต์แย้งไปอย่างนี้ (ดูข้อมูลได้ที่ Facebook ของผม : https://www.facebook.com/kan.yuenyong/posts/101545...)


ปัญหาเรื่องนี้ ถึงที่สุดอยู่ที่สิ่งที่เรียกว่า "artificial consciousness" คือถึงที่สุดหุ่นยนต์สามารถ "มีจิตสำนึกถึงตัวเอง และคิดเอง ได้หรือไม่" ลักษณะ application ด้าน AI ปัจจุบันเป็นเพียงเรื่อง neural network คือ training ให้ตีความปัญหาสุ่มในธรรมชาติให้ตรงความเป็นจริงมากที่สุด เช่น การรู้จำเสียงมนุษย์ การรู้จำลายมือ การรู้จำใบหน้า ยังไปไม่ถึงความหมายของ consciousness จริงๆ

ตอนทำงานด้านคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ เคยสอบผ่านข้อเขียนปริญญาโทของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ตอนสอบสัมภาษณ์เสนอ thesis เรื่องนี้ไป ตอนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นปัญหา artificial consciousness นี้ รู้แต่แค่ว่าต้องหาวิธีให้คอมพิวเตอร์ฉลาดขึ้น เพราะตอนทำโปรเจ็กต์สมัยปริญญาตรี ทำโปรแกรม anti-virus ตอนนั้นประสบความสำเร็จในการ extract signature ของไวรัสมาเก็บเป็น database แล้วให้โปรแกรม search หาไวรัสเจอได้ ด้วยความขี้เกียจเลยคิดว่าถ้าให้โปรแกรมมันตรวจ possibility ของไวรัสเอง แล้ว extract signature ออกมาเอง เราก็สบายไป ไม่ต้องเปลืองแรงมา extract signature ป้อนใส่ database เอง ในที่สุดมันจะกลายเป็น ระบบ antibody ในcomputer ไปเลย ช่วงนั้นบ้าภาษา prolog อยู่พักใหญ่ ไม่คิดว่าจะไปแตะ topic ใหญ่ขนาดนี้ อาจารย์ที่สอบสัมภาษณ์คงเห็นว่าเราเพ้อเจ้อเลยให้ตกสัมภาษณ์มั้ง ทั้งที่ตอนนั้นก็ทำงานมาแล้ว 1-2 ปี แต่หลังจากนั้นก็ไปสนใจ Unix แล้วมาเจอ Linux จนไปยุ่งกับ Thai localization แล้วมาเปิดบริษัทคอมพิวเตอร์เอง

ในทางปรัชญามันมีปัญหาว่าต่อให้สร้าง artificial consciousness ได้จริง เราก็ตรวจมันไม่ได้อยู่ดีเป็น paradox ในตัวเอง เท่าที่ผมdetect ดูเรื่องนี้ไม่น่าเกิดขึ้นได้ในอนาคตระดับ 100 ปี ปัญหาที่น่าจะเกิดคือ ระบบหุ่นยนต์สงครามอัตโนมัติที่ทำงานผิดพลาดมากกว่า แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาระดับ human extinction จาก หุ่นยนต์แบบใน Asimov เป็นปัญหามนุษย์ต่อมนุษย์ แบบเดียวกับสงครามนิวเคลียร์



เนื่องจากหัวข้อต่อเนื่องกัน ผมจึงเขียนอธิบายเพิ่มเติมงานโปรเจ็กต์สมัยปริญญาตรีที่ผมทำเกี่ยวกับโปรแกรมต่อต้านไวรัสคอมพิวเตอร์ ดูได้ที่นี่ https://www.facebook.com/kan.yuenyong/posts/101545... โดยอ้างอิงเอกสารสมัยประกอบงานวิจัยที่ผมทำโครงการที่นี่ https://www.facebook.com/kan.yuenyong/media_set?se...


โครงการโปรแกรมต่อต้านไวรัสคอมพิวเตอร์สมัยปริญญาตรี

โปรเจ็กต์ Antivirus ที่ว่า ชุดโปรแกรมตอนนั้นมีระบบ สกัด signature ออกมาจากไวรัส และโปรแกรม TSR ซึ่งคอย detect พฤติกรรมของคอมพิวเตอร์นอกคำสั่งของผู้ใช้

สมัยนั้นเป็นระบบปฏิบัติการ MS DOS เป็นระบบปฏิบัติการโบราณแบบ single user/single tasking ไม่ใช่ multi-user/multi-tasking เหมือนทุกวันนี้ เพื่อให้ทำงานหลายงานได้พร้อมกัน จึงมีคนคิดระบบ TSR (https://en.wikipedia.org/…/Terminate_and_stay_resident_prog…) ให้โปรแกรมค้างอยู่ในความจำ แล้วกระตุ้นให้มันกลับมาทำงานได้โดยกดชุดปุ่มพิเศษ (เช่น Alt-T) DOS มีความสามารถในการจัดการความจำคอมพิวเตอร์ได้จำกัด เพื่อเอาชนะข้อจำกัดนี้จึงต้องทำให้โปรแกรมมีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงต้องเขียนด้วยภาษาแอสเซมบลี ซึ่งใกล้เคียงกับภาษาเครื่องมากที่สุด แล้วต้องเรียนรู้ undocumented code ของ MS DOS ด้วยตนเอง (undocumented พวกนี้ ไมโครซอฟต์ไม่เปิดเผยใคร แต่จะมีพวกเซียนคอมพิวเตอร์ทดลองแงะออกมาแล้วเผยแพร่กันเอง) โปรแกรม TSR ที่ดังมาก ๆ สมัยนั้นคือ sidekick พอมีระบบปฏิบัติการ multi-user/multi-tasking ออกมา ความจำเป็นที่จะต้องใช้ TSR ก็หมดไป (เพราะเราสลับหน้าต่าง แล้ว switch ไปงานต่าง ๆ ได้เองโดยตรงอยู่แล้ว)

ภาพที่สองเป็นขั้นตอนการสกัด signature ออกมาจากไวรัส ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ทำมือทั้งหมด ขั้นตอนนี้แแหละที่เกิดความขี้เกียจอยากให้คอมพิวเตอร์มันจัดการเอง ไม่คิดว่าจะไปแตะหัวข้อใหญ่ขนาดนี้ (artificial consciousness) https://en.wikipedia.org/wiki/Artificial_consciousness

ผมเข้ามหาวิทยาลัยตอนปี 2532 ตอนปีสี่ที่ทำโปรแกรมนี้อยู่คงเป็นปี 2536 (ก่อนหน้านั้นปีนึง ไปฝึกงานที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ไปเข้าร่วมกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬพอดี โชคดีรอดชีวิตมาได้)

ตอนทำหัวข้อวิจัยพวกนี้ ความรู้เหล่านี้อาจารย์ที่ปรึกษาท่านช่วยไม่ได้เลย เพราะความรู้เกินที่อาจารย์รู้ไปหมดแล้ว สมัยของอาจารย์เป็นสมัย mainframe และ minicomputer อย่างพวก VAX สมัยของผมคอมพิวเตอร์กำลังจะเปลี่ยนผ่านจาก DOS มาเป็นยุคของ Windows อันเกรียงไกรของไมโครซอฟต์ (แต่ไมโครซอฟต์ต้องทำสงครามกับ OS/2 กับไอบีเอ็มอยู่พักหนึ่งกว่าจะเอาชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและสถาปนาอาณาจักรไมโครซอฟต์อันยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ จนถึงปัจจุบัน)

ตอนนั้นระบบกราฟฟิคบนคอมพิวเตอร์ก็ไม่ค่อยดีเท่าปัจจุบัน จำได้ว่ามีคนไทยพัฒนา Hercules card ออกมาขาย ผมเลือกทางที่ไม่ขึ้นอยู่กับ การ์ด (คือแผงวงจรที่ต้องเสียบเพิ่มเข้าไปบนบอร์ดคอมพิวเตอร์) ภาษาไทยของพวกนี้ (ตอนนั้นมีหลายเจ้า) โดยการพัฒนาระบบภาษาไทยที่ใช้กราฟฟิกการ์ดที่มีในคอมพิวเตอร์ตอนนั้นทุกเครื่องขึ้นมา เลยได้รู้จักระบบกราฟฟิกและภาษาไทยของ CU Word เลยเอาเทคนิคนี้ของ CU Word มาใช้ (ตอนมาทำงานบริษัทถึงได้มาพบรุ่นพี่จาก จุฬาฯ ที่เป็นคนพัฒนา CU Word อันนี้) เอกสารที่พิมพ์ส่งอาจารย์ก็ใช้ CU Word อันนี้แหละ พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ dot matrix ไม่ใช่เครื่องพิมพ์ laser printer เหมือนทุกวันนี้

ความรู้พวกนี้ผมขึ้นสนิมไปหมดแล้ว แต่สิ่งที่ได้ติดตัวมาคือ ทักษะในการต่อสุ้กับปัญหาที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน (ในระดับที่เข้าถึง ตอนนั้นยังไม่มีระบบอินเทอร์เน็ต มีแต่ระบบ bulletin board ที่ดัง ๆ ก็อย่างเช่น Falcon ซึ่งกลายเป็นตำนานไปแล้ว) ทักษะนั้นยังติดตัวมาจนถึงตอนทำงาน เวลาไปเจอ Linux จึงเป็นระบบปฏิบัติการที่เหมือนอยู่ในอุดมคติ เพราะเป็นระบบแบบ opensource ที่เปิดเผยข้อมูลทุกอย่าง และเปิดให้ทุกคนเข้ามาร่วมพัฒนา เลยเข้าไปศึกษาและพัฒนาระบบภาษาไทยด้วยตนเอง ร่องรอยเรื่องที่ทำตอนนั้นยังอยู่ที่นี่ http://linux.thai.net/pub/ThaiLinux/docs/LTP/index.html

ตอนไปทำ ก็เพิ่งรู้ว่า Nectec ก็ทำเหมือนกัน (โครงการลีนุกซ์ทะเล) แต่เราลุยมาด้วยตนเองขนาดนี้ ไม่กลัวใครอยู่แล้ว ก็ยืนซดกันหมัดต่อหมัดเลย (ฮา) ทีหลังสู้เงินภาครัฐไม่ได้เขาทุนหนากว่า

ตอนนั้นคิดแผนสู้ไว้แล้ว ด้วยการเขียน Business Plan เพื่อ approach หา Venture Capital แล้วเข้าสู่ตลาดระดับ regional เสียดายตลาดวายไปก่อน แล้วความสามารถกับความรู้ความเขาใจในเรื่อง ธุรกิจ การตลาด และการเมือง ยังไม่เท่ากับตอนนี้


ประวัติศาสตร์ของไกวัลซอฟต์แวร์

ข้อความข้างต้นนี้เกี่ยวข้องกับงานผมที่เคยทำกับ บริษัท ไกวัล ซอฟต์แวร์ (ซึ่งเป็นบริษัททำซอฟต์แวร์ และบริการไอทีโดยใช้ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ร่วมกับเพื่อน ๆ เมื่อหลายปีที่แล้ว) ผมจึงได้โพสต์ข้อความพร้อมทั้งเอกสารประกอบเอาไว้ที่นี่ https://www.facebook.com/kan.yuenyong/posts/101545...


พอมาคิดถึงตรงนี้ก็เริ่มคิดได้ว่า ปัญหาการสู้กับเนคเทค นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เส้นทางชีวิตผมเปลี่ยนไปขนาดนี้เหมือนกัน ภาพพวกนี้เป็นภาพ Business Plan ที่ผมเขียนขึ้น เพื่อเตรียม approach Venture Capital เพื่อพัฒนาเป็นธุรกิจ ตอนนั้นไม่มีความรู้เรื่อง การเงิน การตลาด การบริหาร เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ อะไรอย่างที่สนใจตอนนี้เลย

ตอนนั้นเป็นเรื่อง ทำไป เรียนรู้ด้วยตัวเองไปทั้งนั้น ผมพูดสบาย ๆ แบบนี้ แต่ตอนนั้นนี่โหดร้ายมาก เพราะเราต้องดิ้นรนทางการเงินอย่างหนัก ในขณะที่ฝ่ายตรงข้าม (Nectec) ไม่ต้องเสียเวลามาคิดเรื่องนี้เลย เพราะมีเงินจากภาษีของเราเองมาสนับสนุนอยู่แล้ว (เฮ้อ)

จำได้ว่า VC แรกที่เข้าไป Approach อยู่ในเครือ Value ซึ่งมี (ขออนุญาตเอ่ยนาม) คุณชนิตร ชาญชัยณรงค์ เป็นผู้บริหารอยู่ แต่นอกจากที่นี่ เราก็พยายาม Approach หานักลงทุนจากต่างประเทศหลายราย ที่จำได้คือ LinuxOne ที่เกาหลี และอีกรายเป็น Distributor จากไต้หวัน ผมเคยเดินทางไปที่เกาหลีเพื่อเจรจาเรื่องนี้ แต่ไม่ได้ข้อสรุป และโชคร้ายที่ตอนนั้นเป็นจังหวะขาลงของธุรกิจ Linux Distribution แล้ว ธุรกิจที่อยู่รอดได้จากช่วงนั้นมามีเพียง RedHat ซึ่งเป็นรายที่แข็งแกร่งที่สุดในตลาดตอนนั้น

ต้องรอหลังจากที่เลิกกิจการที่ Kaiwal Software นี้แล้ว ผมถึงมาเรียนรู้ สายงานด้านธุรกิจ ความรู้ทางการตลาด ความรู้ด้านการเงิน จากบริษัทแห่งใหม่ และจากการที่ผมเข้าไปเรียนปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ในเวลาเดียวกันตอนนั้น


เผอิญมีคุณอ๊อด (ภัทระ เกียรติเสวี) ซึ่งเคยทำงานอยู่ที่ศูนย์วิจัยเนคเทคมาตอบกระทู้ในส่วนการแสดงความคิดเห็น ผมเห็นว่ามีประโยชน์จึงขอยกมาไว้ด้วยกันดังนี้

คุณอ๊อด: ขอออกความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะอดีตพนักงานเนคเทคในยุคนั้นนะครับ

ซึ่งถึงตอนนี้ผมจะอยู่ฝั่งเอกชน และหลังๆ ก็มีหลายกรณีที่ผมโวยเนคเทคเหมือนกันว่าอย่าทำแข่งกับเอกชน แต่ในกรณีนี้ผมมองว่าบทบาทของเนคเทคในเรื่อง Linux-TLE ณ ตอนนั้น ได้ทำในสิ่งที่ควรทำนะครับ (อย่างน้อยในช่วงที่ผมอยู่ คือ ถึงปี 2000)

จริงๆ แล้ว Linux-TLE ต้องเรียกว่าเริ่มจากอาสาสมัครภายนอกมากกว่า ถึงแม้งานวิจัยภายในเนคเทคก็มีทำ แต่ก็มีงานที่อย่าง Thai Extension จาก Poonlap Veerathanabutr หรือ cttex หรือ การแก้ภาษาไทยใน txiterm โดย Vuthichai Ampornaramveth และอื่นๆ อีกหลายท่าน ดังนั้น จึงเรียกว่า เนคเทคทำคนเดียวหรือทำเป็นส่วนใหญ่ไม่ได้ จึงมีการตั้งกลุ่มที่เรียกว่า Thail Linux Working Group (TLWG) ขึ้นมา โดยมีฐานการทำงานอยู่ที่ http://linux.thai.net/ (LTN) ซึ่งอาสาสมัครต่างๆ ก็ร่วมกันทำงานในด้านภาษาไทยต่างๆ บนลินุกซ์ให้มันใช้งานได้ โดยเนคเทคเล่นบทบาททั้งร่วมทำด้วย ให้การสนับสนุนทรัพยากร ตัวเว็บ LTN รวมถึงการโปรโมตต่างๆ

ซึ่งการทำงานทั้งหมดเป็น open source และ open collaboration ผลงานทั้งหมดพยายามผลักขึ้นต้นน้ำ โดยมี Linux-TLE เป็นแค่แผ่นรวมสิ่งต่างๆ ให้ผู้ใช้ได้ทดลองใช้งานโดยง่าย อะไรที่ยังขึ้นต้นน้ำไม่ได้ก็กองในแผ่นนี้ก่อน
และ source code ทั้งหมด อยู่บน cvs/web พร้อมให้ทุกฝ่ายนำไปใช้ รวมถึงช่วยแก้

ซึ่งเรื่องภาษาไทยเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกควรควรมีส่วนร่วมได้ ไม่ใช่ของเอกชนรายใดรายหนึ่ง ผมจึงมองว่าบทบาทของ NECTEC ในการสนับสนุน Linux-TLE ตอนนั้นจึงถูกต้องแล้ว

ผลงานต่างๆ ที่ได้เป็น open source ที่ภาคเอกชนสามารถเอาไปใช้ได้เลยอยู่แล้ว ส่วนการทำ distro Linux-TLE ก็ไม่ได้เน้นตอบโจทย์เชิงพาณิชย์แต่อย่างใด แค่เป็นส่ิงที่ให้นักพัฒนาและ early adoptors ทดลองใช้ได้ง่าย ไม่ใช่สำหรับ ordinary computer users เลย

เทียบกับ Linux-SIS หรือ ลินุกซ์สำหรับโรงเรียนไทย อันนั้นเรียกได้ว่าเป็น distro ที่กะให้โรงเรียนใช้เลยด้วยซ้ำ ซึ่งถามว่าผลิตภัณฑ์เอกชนมีมั้ย ตอบว่ามี แต่มันแพงมาก (เครื่อง UNIX server สมัยก่อน) ส่วนลินุกซ์เดิมๆก็ใช้ยาก ครูลงไม่เป็น เนคเทคจึงต้องแทรกแซงโดยการทำสิ่งที่โรงเรียนนำไปใช้ได้ง่าย แต่ก็จำกัดวงแค่โรงเรียน สถานศึกษาที่ไม่มีกำลังซื้อผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ต่อมามีผลิตภัณฑ์ทั้ง open source และเชิงพาณิชย์ที่ใช้ง่ายและราคาไม่แพงออกมาในตลาด เนคเทคก็ลดบทบาทตรงนี้ลงไป

ผมก็จึงมองว่าบทบาทของเนคเทค ก็ทำถูกต้องแล้วน่ะครับ


แต่ถ้า ณ วันนั้น เนคเทคไปทำ Desktop Linux distro เชิงพาณิชย์ ไปให้บริการ support องค์กรต่างๆ ที่จะนำไปใช้ ฯลฯ อันนั้นถึงจะเรียกว่าแข่งกับเอกชนครับ

เคยเขียนบันทึกไว้จากมุมมองของผม และพี่ Theppitak Karoonboonyanan เขียนต่อไว้ที่
http://linux.thai.net/about/history

ผมตอบ: ขอบคุณคุณอ๊อด ที่มาตอบครับ

ความจริงผมไม่มีปัญหาอะไรกับคนในระดับ staff ของเน็คเทคนะครับ ผมเห็นด้วยกับหลาย ๆ เรื่องที่ทำและที่ contribute ให้กับสังคม แต่ผมมีมุมมองที่เห็นต่างไปหลายอย่าง

ในช่วงตอนที่เน็คเทคพัฒนา Linux for Desktop ผมไม่มีปัญหานะถ้าจะแข่งกันแฟร์ ๆ กับทีมงานภายในของเน็คเทคเอง ผมคิดว่าผมก็สู้ได้แน่ ๆ แต่ที่ที่ทำให้ผมรู้สึกแย่มาก (และฟิวส์ขาด) กับเน็คเทค คือปรากฎว่าแทนที่เน็คเทคจะใช้คนในทำ (หรือโอเคอาจจะเลี่ยงไปใช้อาสาสมัครก็ได้) ปรากฎว่าเน็คเทคกลับไป "จ้าง" คนมาทำ Linux for Desktop ตรงนี้น่ะครับ

คนที่ทำ Linux for Desktop ของเน็คเทคนี่ได้เงินไปเท่าไหร่ไม่ทราบ แต่ก็เป็นคนเดียวกับคนที่ผมแชร์ เทคนิคการเข้าไปแฮ็คงานตรงส่วน Boot strap ให้ในส่วนติดตั้งของ RedHat อันนี้อาจเป็นเรื่องส่วนตัวนิดหน่อยนะครับ แต่ผมถือว่าเหยียบหน้ากันนะ

ยอมรับว่าผมฟิวส์ขาดนะตอนนั้น ผมก็ "ชน" กับเน็คเทคเลย เรื่องการไปหา partner หรือ VCs ภายนอกนี่ผมก็มาคิดซีเรียสจริงจังตอนนั้น ทั้งที่ไม่ได้มีความรู้พื้นฐานด้านธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ หรือ การตลาด ฯลฯ อะไรมาเลยแบบตอนนี้ แต่สำหรับผมเมื่อตัดสินใจแล้วผมชนแบบ "all in" นะ เรียกว่าตายเป็นตายเจ๊งเป็นเจ๊ง (เป็นไม่กี่ครั้งที่ผมมีความรู้สึกขนาดนี้) พอมันเฟลล์มาผมก็พบว่ามันกลายเป็น trauma ในใจผมอยู่นานเหมือนกัน ซึ่งผมก็ไม่รู้ตัว

ประเด็นสั้น ๆ คือ ถ้าเป็นงานอาสาสมัคร ทำไมถึง "ไปจ้างทำ" และในเมื่อจ้างทำแสดงว่าเน็คเทคไม่มีความสามารถนี้ใช่ไหม แล้วถ้าไม่มีแล้วอยากให้เกิดโปรเจ็กต์ ทำไมถึงไม่ได้มาจ้าง "ไกวัล ซอฟต์แวร์"?

เรื่องนี้ความจริงมันพูดออกไปได้เยอะกว่านั้นอีก เช่น ที่บอกว่างานอาสาสมัคร นี่ต้องใช้เงิน budget ของราชการในการดำเนินงานไหม เงินเดือนคุณอ๊อด หรือใครต่อใครในเน็คเทค แล้วอย่างนี้ถือว่าเป็นการใช้ public fund ไปสนับสนุนโครงการของรัฐเพื่อมาแข่งกับเอกชนไหม


20050729 present from Kan Yuenyong

http://www.slideshare.net/sikkha/20050729-present?…


ไอเดียหัวข้อเรื่องบทบาทของรัฐนี่ ผมเอามาเขียนในงาน thesis ผมที่ทำตอนที่ผมเรียนที่ มธ นะ (ตอนนั้นผมคิดไว้หลายแผนในการรับมือกับเน็คเทค เพื่อเปลี่ยนนโยบายเรื่องนี้ของรัฐ ในแง่ไอซีที)

ปล อีกครั้ง ที่พูด ๆ มาผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับคุณอ๊อด หรือคนในระดับ "staff" ที่เน็คเทคนะครับ อันนี้ผมว่าคนที่ผมคุยด้วยหรือใคร ๆ ที่รู้จักผมส่วนตัวและรับทราบเรื่องที่ผมพูดเกี่ยวกับเน็คเทคเรื่องนี้จะทราบดี ผมชื่นชมและนับถือเสมอ


คุณอ๊อด: มีไปจ้างคนนอกทำด้วยเหรอครับ อันนี้ผมเพิ่งทราบนะ

ถ้าในช่วงผมอยู่ไม่มีนะครับ มีแต่ละคนส่ง package มา แล้วก็น้อง Pawee ซึ่งเป็นน้องฝึกงานที่เก่งมากๆ (อยู่ไหนแล้วไม่รู้) และก็ผมนี่แหละช่วยกัน build แผ่น

ถ้าวัตถุประสงค์การใช้ public find หรือ ภาษี ไม่ว่าจะในรูปเงินเดือนพนักงานที่มาร่วมโครงการ หรือ การจ้าง เพื่อทำให้เกิดระบบภาษาไทยที่ดี และผลงานทั้งหมด open source ยิงเข้าต้นน้ำ ผมว่า เป็นการใช้งานของภาครัฐที่สมเหตุสมผลนะครับ ผลลัพธ์คือภาษาไทยที่ดีขึ้น และทุกคนเอาไปใช้ได้ ไม่ใช่รายรับที่เป็นตัวเงิน หรือ แม้กระทั่งจำนวนลูกค้า

แต่ถ้าเอาไปเน้นทำ distro หีบห่อสวยๆ บริการ commercial ทำในสิ่งที่เอกชนเค้าทำได้อยู่แล้ว อันนี้ไม่เหมาะสมครับ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ามีการได้ทำอย่างนั้นไหม


ผมตอบ: มีครับ จ้าง พัฒนาเป็น ดิสโตรเลยครับ


คุณอ๊อด: ถ้ามองอีกมุมจากฝั่งธุรกิจ ผมว่าโจทย์ของ Kaiwal Software ตามที่เล่ามากก็ไม่ง่ายเลยครับ Linux โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่ง Desktop ณ ตอนนั้น เกิดยาก (ตอนนี้ก็เรียกว่ายังไม่เกิดไหม) อย่าว่าแต่ในเมืองไทย ในระดับโลก ก็ไม่ค่อยจะถึงไหน กลับเป็นฝั่ง server มากกว่าที่เกิดมาเป็นธุรกิจใหญ่ และ รอดมาจนถึงทุกวันนี้

ในประเทศอย่างเยอรมันถึงจะเรียกว่ามีการใช้งาน Linux desktop เยอะกว่าเมืองไทยมาก แต่มองย้อนกลับไป ก็คงเรียกว่าสำเร็จมิได้เหมือนกัน

สรุปว่าผมว่าโจทย์คุณกาน ไม่ง่าย ครับ :)


ผมตอบ: ความจริงตอนนั้นผมก็จะ "ถอนตัว" หลายครั้งแหละครับ sign ในตอนนั้นมันอ่านดูก็รู้แล้วอย่างที่คุณอ๊อดพูดคือไม่ง่าย (แต่ความจริงถ้ามองในแง่เศรษฐศาสตร์การเมือง ตลาดไอทีมันมีการล็อกโครงสร้างอยู่นะ ถ้าคุณอ๊อดไปดูจะเห็นบริษัทใหญ่ ๆ อย่างพวก CDG, TNIS อะไรพวกนี้อยู่ได้เพราะอะไร ผมเคยเข้าไปงานในบริษัทพวกนี้มาผมทราบดี มันไม่ได้มีลักษณะ innovation มากเท่าไหร่ และตลาดหลักของพวกเขาคือ Enterprise / Government/ Banking) คือตอนนั้นชื่อเสียงผมในสื่อก็มีอยู่ ผมคงหางานในระดับ EDP manager ในบริษัทใหญ่ ๆ ได้ แล้วไปใช้ชีวิตสงบ ๆ (อ้อมีอีกเรื่องคือผมคงทิ้งน้อง ๆ พนักงานไม่ได้ ถ้าผมจะออกไปก็ต้องออกเป็นคนสุดท้าย แต่ว่าในตอนท้ายมันก็มีปัญหาการเมืองภายในน่ะครับ ไกวัลก็เลยจบแบบไม่ค่อยสวยเท่าไหร่) แต่อย่างที่บอกน่ะครับ พอเจอเรื่อง "เหยียบหน้า" แบบนั้น ก็ไม่มีปัญหาล่ะครับ "สู้กันถึงตาย"

แต่ว่าไปมาถึงตอนนี้ผมก็ไม่เสียใจนะ ถ้ามองย้อนกลับไป การสู้กันแบบถึงเลือดถึงเนื้อแบบนี้ก็ให้อะไรกับผมมาเยอะ ไม่งั้นผมก็คงจบชีวิตแบบคนชั้นกลางธรรมดาคนหนึ่ง แล้วก็สร้างครอบครัวปกติไป ไม่ได้คิดอะไรมากมายขนาดนี้ (ความจริงผมก็มีโอกาสตอนนี้อีกครั้งหนึ่งหลังตอนที่ผมมาทำงานที่ ISP แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ผมหันเหความสนใจมาสายงานด้านสังคมศาสตร์)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานในด้านต่าง ๆ ของไกวัลซอฟต์แวร์

อย่างไรก็ตาม เท่าที่จับน้ำเสียงการสนทนาระหว่างคุณอ๊อดและผม ดูเหมือนจะมี "perception" ว่า ไกวัล ซอฟต์แวร์ ทำงานเฉพาะ Desktop Linux และมีลักษณะเป็นเอกชน (คือน่าจะ imply ถึงการไม่ contribute ให้กับสังคมเท่ากับที่ภาครัฐอย่างเนคเทคทำ) ผมไม่แน่ใจว่าคุณอ๊อดจะให้ความหมายในลักษณะนี้หรือเปล่าในการสนทนาข้างบนนี้ แต่เท่าที่เคยรับฟังมามีความรู้สึกเช่นนี้เยอะ ผมเลยขออธิบายเพิ่มเติมว่า ไกวัล ซอฟต์แวร์ ถึงแม้จะทำดิสตริบิวชั่นลีนุกซ์ภาษาไทย (เรียกโดยย่อว่า "ดิสโตร") ให้เน้นใช้งานง่ายเหมือนเป็นเดสก์ท็อปจริง และมีคนนำดิสโตรของไกวัล ไปใช้งานในลักษณะนั้นอยู่บ้าง แต่งานโดยส่วนใหญ่ของเราจะมีลักษณะเป็นเซิร์ฟเวอร์ เราให้บริการในเรื่องนี้กับลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหลายราย นอกจากนี้งานที่มีลักษณะบริการสังคม (หรือเรียกกันตามสมัยนิยมเดี๋ยวนี้ว่า CSR) เราก็มีหลายงานเช่น การบริการติดตั้งลีนุกซ์เซิร์ฟเวอร์ให้กับโรงเรียน (ซึ่งเราก็ใช้ดิสโตรของไกวัลนี่แหละติดตั้งให้ไป) การตั้งเว็บไซต์ Linux Centrix (เป็นเว็บไซต์ข่าวสารด้านไอทีและโอเพ่นซอร์ส มีลักษณะคล้ายกับ Blognone สมัยนี้ แต่ในตอนนั้นเราทดลองรันระบบเว็บเซิร์ฟเวอร์ด้วย Java Servlet และระบบฐานข้อมูลของอินฟอร์มิกซ์) ตัวผมเองก็เข้าไปเป็นอาสาสมัครให้กับ KDE i18n (ลองดูข้อมูลที่นี่ https://bugs.kde.org/show_bug.cgi?id=35390)

ผมขอนำเอกสารที่เกี่ยวข้องในเวลานั้นมาเก็บไว้ที่นี่ดังต่อไปนี้:

เอกสารตอบรับให้การสนับสนุนโครงการ Linux Centrix จากอินเทล


เอกสารตอบรับการเข้าเป็นสมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยจาก ATCI


เอกสารตอบขอบคุณจากบริษัทอินฟอร์มิกซ์ประเทศไทย ที่คุณประยูร (ซีอีโอในขณะนั้น) ไปบรรยายให้กับอินฟอร์มิกซ์


เอกสารตอบรับจากบริษัทอินฟอร์มิกซ์ประเทศไทยในการเป็น VAP (Value-Added Partner)


เอกสารรับรองการเป็น IBM Software ISV Program ของ IBM


เอกสาร MOU ตอบสนับสนุนการเป็นพันธมิตรในด้านต่าง ๆ จาก Linux One, Inc จากเกาหลีใต้


ข่าวเกี่ยวกับไกวัลซอฟต์แวร์ บนหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (ตอนนั้นมีหลายข่าวและหลายครั้ง แต่เก็บข้อมูลไว้เฉพาะฉบับนี้)


เกียรติบัตรรับรองจาก โรงเรียนปากน้ำชุมพรวิทยา เนื่องในโอกาสการสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อติดตั้งอินเทอร์เน็ต



xxx


หมายเลขบันทึก: 594841เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2015 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2015 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท