แกะหลักการสร้างร่องชะลอน้ำหยาบๆพอเข้าใจมาได้ว่า ร่องชะลอน้ำที่ว่าจะเป็นรางรูปเหลี่ยมยาวลึก ท้องร่องเป็นดินเรียบ อยู่ในระนาบเสมอกัน ไม่เอียงไปตามความชันของดิน รางต้องวางขวางทางน้ำที่ไหลบ่าลงมาตามความชันของผิวดิน รองน้ำที่ไหลลงมาตามดินชันขังไว้จำนวนหนึ่ง ขอบรางฝั่งปลายน้ำเป็นคันดินรูปโดม ยกสูงให้กั้นน้ำที่ล้นรางได้ มีความลาดพอจะทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาไหลย้อนลงรางได้
รางไม่จำเป็นต้องใหญ่ เป็นรางเล็กแคบลึกก็ได้
บนขอบรางปลูกพืชไว้ยึดดินให้แข็งแรงได้ทั้งสองฝั่ง พืชที่ปลูกจะเป็นหญ้า หรือผสมผสานไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น ไม้คลุมดินก็ได้
ให้ถมเศษไม้ ใบไม้ลงในรางจนเกือบเต็ม แล้วถมเศษหญ้าหรือฟางทับจนรางมิด หรือจะไม่ถมอะไรเลยก็ได้ เพียงแต่การไม่ถมอาจจะส่งผลด้านอื่นที่ไม่ต้องการ เช่น ถ้ามีน้ำขังนิ่งก็อาจกลายเป็นที่เลี้ยงตัวอ่อนของแมลงนำโรค
หลังพบว่าน้ำที่ไหลบ่าจากที่สูงลงมาที่ต่ำกว่า พรั่งพรูลงไปในรอยดินแตกแล้วเซาะดินแรงจนกลายเป็นร่องกว้างได้ ก็คิดหลายตลบเรื่องสร้างร่องขึ้นอีก แต่อยากรู้ว่าร่องทำงานแล้วให้ผลยังไง จึงเดินท่อมๆมองหาดินที่แตกเป็นร่องอยู่แล้ว ไปเจอตรงจุดหนึ่ง ร่องดินแยกมีรูปร่างคล้ายราง แถมความลึกมากกว่าความกว้าง ท้องร่องได้ระดับระนาบกัน ขอบร่องมีคันดินด้วย รูปร่างรูปโดมเบ้ๆ อยู่ฝั่งเดียวกับทางน้ำด้านต่ำ เสป็คตรงตามต้องการเหมาะเจาะพอดี
ไม่ได้ถมเศษไม้ ใบหญ้าลงในร่อง เลือกวัสดุที่หยิบทิ้งได้ง่ายลองถมแทน ขวดประดิษฐ์ที่ใส่ขวดแก้ว หลอดยานั่นแหละเหมาะ หยิบมาใช้ได้เลย เลือกจุดถมที่วางขวดลงไปแล้วพอดีมิดร่อง วางขวดไปในร่องยาวสองฟุต รอดูผลหลังฝนตก
๒-๓ สัปดาห์ตามดูผลแล้วพบเรื่องแปลกใจ
ดินรอบๆร่องดินแตกเปลี่ยนไป ดินเปียกขึ้นเยอะ บางเวลาก็พบน้ำขังค้าง บางเวลาก็แฉะ ร่องไม่กว้างออก ส่วนที่ไม่ถมขวดตื้นขึ้น หญ้าคาที่งอกในบริเวณห่างร่องไปไม่มากมีโคนเน่าและล้มตาย ดินร่องส่วนที่อยู่ถัดจากหัวและท้ายขวดที่ไม่เคยมีหญ้าคา หญ้าคางอกตรึม อืม ทำแค่นี้เอง
ดินก็มีหญ้าคลุมดินเพิ่ม ความลึกของร่องดินเปลี่ยนไปได้
ไม่รู้สึกรังเกียจเจ้าขวดประดิษฐ์นี้เมื่อเห็นผล คิดว่าจะชะลอเรื่องขุดร่องน้ำไว้ก่อน ปล่อยขวดไว้รอรื้อทิ้งอย่างนี้แหละ ขอพึ่งพาให้ช่วยจัดการน้ำฝนที่ไหลผ่านลงมาและกำบังแรงน้ำที่ไหลลงกระแทกดินในร่องไปพลางๆ
ทิ้งไว้ระยะหนึ่งก็ไปรื้อออก ด้อมๆมองๆดูอีกครั้งมีอะไรเปลี่ยน อะฮ้า ใกล้ร่องมีหญ้าแพรก หญ้าพันงูเขียวงอกแทรกหญ้าคา โดมดินที่อยู่ฝั่งเดียวกับทางน้ำด้านต่ำราบเตี้ยลง ไม่ไกลจากร่องเกิดต้นมะเดื่อใหม่ต้นหนึ่ง ที่ปลายร่องดินมีดินงอก รอยแตกหดสั้นลง แค่วางสิ่งกีดขวางเส้นทางไหลของน้ำเอาไว้แค่เนี้ยะ เป็นไปได้ยังงี้เชียวเรอะ
ความเปลี่ยนแปลงสะท้อนปริมาณมวลน้ำที่ไหลลงมายังที่ต่ำกว่าว่าไม่มากอย่างที่คาดไว้ มีน้ำปริมาณหนึ่งซึมซาบลงในดินได้ หญ้าคาที่มีเต็มทุ่งก็ช่วยชะลอน้ำที่ไหลบ่าให้ ที่เกิดการกัดเซาะจนดินแตกเป็นร่องได้ ปัจจัยหลักน่าจะเกิดจากหน้าดินไม่แข็งแรงมากกว่าอย่างอื่นแล้ว
น่าสนใจมากครับเพราะที่บ้านของผมก็มีปัญหาน้ำเซาะดินพังอยู่
รบกวนถ่ายหรือวาดรูปร่องชะลอน้ำพร้อมขวด
เพื่อให้เห็นรายละเอียดด้วยจะสะดวกไหมครับ
ปัญหาน้ำเซาะดินมีแตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นที่ สำหรับพื้นที่ที่ไปลองไปเล่นอยู่ของหมอนั้นจะแก้ปัญหาให้หมดลงสะเด็ดน้ำยังมีระยะทางอีกไกลค่ะ สนใจร่องชะลอน้ำคุณ rojfitness สามารถศึกษาจากต้นตำรับได้ที่นี่ค่ะ หมอแค่เปลี่ยนหลักการของวัสดุที่ถมลงในร่องแค่นั้นค่ะ สำหรับการประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับพื้นที่ ค้นจากที่นี่ได้นะคะ ส่วนรูปที่อยากเห็น ไม่ได้เก็บภาพไว้ แต่ก็จะลองไปจำลองใหม่แล้วแปะบอกนะคะ