โครงสร้างพื้นฐานของการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพ



ในการประชุมเสนอผลงานของเมธีวิจัยอาวุโส สกว. นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ ในหัวข้อ “พัฒนาศักยภาพการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ” เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๘ มีการนำเสนอ กระบวนการของการวิจัยด้านนี้ (ซึ่งโดยพื้นฐานเป็นการวิจัยเชิงสังคมศาสตร์) ใน ๔ ขั้นตอน คือ (๑) การจัดลำดับความสำคัญและกำหนดหัวข้อวิจัย (๒) การพิจารณาโครงร่างการวิจัยโดยคณะกรรมการจริยธรรม (๓) กระบวนการเก็บข้อมูล และ (๔) การเผยแพร่และตีพิมพ์ผลงานวิจัย

ผมตกใจมาก ที่ได้รับทราบว่า ในขั้นตอนเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมในการวิจัย ของสถาบัน (ซึ่งส่วนใหญ่คือมหาวิทยาลัย) มีการกำหนดเงื่อนไขว่า อนุมัติแต่ต้องให้มีคนของสถาบันเข้าร่วม เป็นทีมวิจัย หรือในบางกรณีต้องมีชื่อเป็นหัวหน้าโครงการ

ยิ่งตกใจเมื่อได้รับคำบอกเล่าว่า ในบางกรณี คนที่เขาใส่ชื่อมาเป็นผู้ร่วมวิจัย หรือเป็นหัวหน้าโครงการ ไม่ได้ทำอะไรเลย ใส่แต่ชื่อ ผู้เล่าบอกว่า คงจะเป็นเพราะมหาวิทยาลัย้องการได้ชื่อว่ามีผลงาน แต่ผมกลับมองว่า มหาวิทยาลัยนั้นๆ ทำผิดจริยธรรมในการวิจัย คือเรียกร้องการเป็นเจ้าของผลงานวิจัย โดยที่ไม่ได้ทำวิจัย

ผมเดาว่ามหาวิทยาลัยดังกล่าวคงจะคิดว่า ตนเป็นเจ้าของข้อมูลของผู้ป่วย จึงควรมีสิทธิที่จะใส่ชื่อคน ของตนเข้าไปในโครงการ แต่ผมไม่เห็นด้วย

จริยธรรมในการวิจัย เป็นโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนึ่งของการวิจัย ระบบวิจัยสุขภาพของประเทศ จะก้าวหน้า หากโครงสร้างพื้นฐานแน่นหนา

ผมจึงเสนอผู้แทน วช. และ สกว. ที่มาประชุมด้วย ให้ร่วมกันจัด dialogue เรื่องจริยธรรมในการวิจัย เป็นประจำทุกปี หยิบยกพฤติกรรมที่คาบลูกคาบดอก หรือปฏิบัติกันในที่ลับ ไม่กล้านำมาคุยกันในที่แจ้ง เอามาทำสุนทรีย สนทนากันเสีย ก็จะทำให้มีการยกระดับจริยธรรมในการวิจัยของประเทศ ส่งผลทางอ้อม ต่อความเข้มแข็ง ของการวิจัยของประเทศ


วิจารณ์ พานิช

๑๓ ส.ค. ๕๘



หมายเลขบันทึก: 594646เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2015 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 11:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท