CADL โครงการเด็กดีมีที่เรียน_13: โครงการคืนถิ่นทำดี ครั้งที่ ๓ โรงเรียนโกสุมวิทยาสรรค์ จ.มหาสารคาม


บ่ายของวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๘ กลุ่มนิสิตเด็กดีมีที่เรียนจำนวน ๑๑ คน เจ้าหน้าที่สำนักศึกษาทั่วไป ๑ และผม ไปเยี่ยมน้องชั้น ม.๖ โรงเรียนโกสุมวิทยาสรรค์ ๓๐ กิโลเมตรจากตัวจังหวัด มีนักเรียนทั้งหมด ๒๑๕ คน เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ภายใน ให้น้องๆ รู้จักตนเองมากขึ้น ก่อนจะตัดสินใจเลือกทางเดินของชีวิต ...

ผมบอกย้ำกับนิสิตเด็กดีมีที่เรียนหลายครั้งว่า เราไม่ได้มา "แนะแนว" หรือที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า มาค้นหาคนเก่งเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แต่เป็นการมา "แนะนำ" และทำกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักความถนัด ความชอบ และความต้องการของตนเองและครอบครัว....แม้ว่าความตั้งใจจะเกี่ยวข้องกับ "คนดี" ที่รู้จักตนเองและสนใจจะเข้าไปร่วมโครงการเด็กดีมีที่เรียน

เราได้รับการต้อนรับจากผู้บริหาร ผู้อำนวยการมาต้อนรับเราด้วยตัวท่านเอง และมีคุณครูแนะแนว รวมนักเรียนหลังเลิกแถวตอนบ่ายอย่างเรียบร้อย ... ขอขอบคุณท่านทั้งสองมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

กิจกรรมแรกคือ การสำรวจความเห็น สิ่งที่นักเรียนอยากจะเป็นในอีก ๕ ปีข้างหน้า โดยให้นักเรียนทุกคนเขียนลงใสกระดาษโพสท์อิท แล้วส่งให้พี่นิสิตนับสถิติ ได้ผลดังนี้

ครู ๖๒

พยาบาล ๔๖

ตำรวจ ๒๐

นักบัญชี ๑๗

วิศวะ ๑๕

เภาสัชกร ๕

ไกด์ ๔

ทำงานการโรงแรม ๓

เชฟ ๓

ผู้พิพากษา ๓

ทนายความ ๓

อัยการ ๓

นิเทศ ๓

นักธุรกิจ ๓

สัตวแพทย์ ๒

แพทย์ ๒

ทันตแพทย์ ๑

เจ้าหน้าที่สหภัชศาสตร์ ๑

เทคนิคการแพทย์ ๑

บุรุษพยาบาล ๑

ผู้จัดละคร ๑

สถาปนิค ๑

โปรแกรมเมอร์ ๑

อุตสาหกรรมพาณิชย์ ๑

ทหาร ๑

พิธีกร ๑

หมอผี ๑

เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ๑

นักการฑูต

ข้อสังเกตสำคัญ ความต้องการของนักเรียนต่างโรงเรียนกัน คล้ายกันอย่างมาก อาชีพยอดฮิต ยังเป็นครู พยาบาล ตำรวจ นักบัญชี และมีวิศวะบ้าง ส่วนอาชีพอย่างอื่นมีบ้างประปราย .... โอกาสที่จะสูญเปล่าทางการศึกษายังสูงมาก ....ซึ่งจะเขียนอธิบายในโอกาสต่อไปนะครับ

ผม AAR ว่า กระบวนการที่นิสิตเด็กดีฯ ทำในคราวนี้ ประสบผลสำเร็จอย่างดี สร้างความประทับใจ ให้กับทุกคน จึงเห็นว่า น่าจะบันทึกกระบวนการบางอย่างไว้ เผื่อว่าผู้อ่าน จะนำไปใช้ในคราวต่อไป

นิสิตเด็กดีมีที่เรียน เตรียมตัวอย่างดีพอสมควร มีการนัดประชุมเตรียมกระบวนการตั้งแต่สัปดาห์ก่อนการมาครั้งนี้ และช่วยกันเตรียมเอกสารแนะนำคุณลักษณะที่เหมาะสมสำหรับคนแต่ละอาชีพ เตรียมกิจกรรม "สามเหลี่ยมตัวฉัน" (ขอเรียกชื่อนี้ก่อนนะครับ) และกิจกรรมไทม์ไลน์ เพื่อทำให้นักเรียนรู้จักตนเองและวางแผนการศึกษาต่อได้ดีขึ้น

นิสิตที่นำทำหน้าที่ "วิทยากรกระบวนการ" หรือ "กระบวนกร" ในคราวนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นผลิตผลที่น่าภูมิใจของคุณครูเพ็ญศรี ใจกล้า และโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม นั่นคือ ธีระวุฒิ ศรีมังคละ หรือน้องแสน นิสิตปี ๑ ศึกษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ติดตามผลงานของเขาได้ที่นี่

ผมรู้ว่าตอนนี้นิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียน มีหลายคนที่มีภาวะความเป็นผู้นำสูงมาก มีความสามารถที่ผมยังไม่รู้เพราะยังไม่ได้สร้างโอกาสให้พวกเขาได้แสดงออกมามากพอ อย่างไรก็ดี ผมหวังว่าจะสามารถส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเป็น "กระบวนกร" นำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมั่นใจ

ผมไม่รู้ว่าใครเป็นคิดกิจกรรมนี้ครั้งแรก แต่แสนเป็นคนแรกที่ทำให้ผมรู้จักกิจกรรมนี้ นิสิตเด็กดีฯ เตรียมงานในลักษณะเอกสารดังรูปด้านล่าง เพื่อนำน้องๆ ทำกิจกรรมที่อาจเรียกว่า "สามเหลี่ยมตัวฉัน" โดยเริ่มทำกิจกรรมนี้หลังจากการ "ละลายพฤติกรรม" จนมั่นใจว่า "เปิดใจตนเอง" ได้แล้ว




เป้าหมายของกิจกรรม คือทำให้น้องนักเรียนรู้จัก "ฉัน" ว่าสิ่งที่ตัดสินใจอยากจะเป็นนั้น เป็นการตัดสินใจจาก "ฉันเอง" ไม่ใช่เพราะครอบครัว ไม่ใช่เพราะกระแสนิยม หรือเหตุผลความจำเป็นอื่นใดๆ

วิธีการคือ ให้เขียนว่า ฉันอยากทำอะไร ฉันมีความสุขกับการทำอะไร และอะไรคือความฝันของฉัน และแนวทางการในการตัดสินใจว่า ฉันควรจะทำอาชีพอะไร ครอบครัวว่าอย่างไร กระแสนิยมคืออาชีพอะไร และรวมถึงโอกาส ข้อจำกัดเรื่องทุนการศึกษา ปัญหาด้านการเงิน หรือเหตุผลอื่นๆ

แล้วตั้งคำถามชวนคิด เพื่อให้เห็นคำตอบด้วยตนเองว่า ความฝันที่ฉันอยากจะเป็นนั้น ใช่สิ่งเดียวกับที่ฉันอยากทำ สิ่งที่เดียวกับที่จะทำให้ฉันมีความสุข ตรงกับความต้องการของครอบครัวหรือไม่ หรือทำไมต้องไปหรือไม่ไปตามกระแสนิยม

ผมตีความว่า สิ่งที่ฉันอยากทำ บอกถึง "ความชอบ" สิ่งที่ฉันทำแล้วมีความสุข บอกถึง สิ่งที่ทำแล้วสำเร็จ เพราะสิ่งที่ทำได้ดี จะทำให้คนมีความสุข นั่นคือบอกถึง "ความถนัด" ส่วนความฝันที่อยากมีหรือที่อยากเป็น นับเป็นเป้าหมายของชีวิต สรุปคือ สามเหลี่ยมนี้ บอกถึง ความชอบ ความถนัด และ เป้าหมายของชีวิต

และตีความว่า อะไรที่เขียนอยู่ในสามเหลี่ยม คือ "ตัวฉัน" ส่วนข้อมูลที่อยู่นอกสามเหลี่ยมนั้นเป็น "คนอื่น" ประเด็นคือ ต้องทำให้มั่นใจว่า คนที่ตัดสินใจคือฉัน ไม่ใช่คนอื่น








หมายเลขบันทึก: 594040เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2015 03:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2015 03:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท