ความต้องการครั้งสุดท้ายของน้อย : ประไพ บุญมรกต


ความต้องการครั้งสุดท้ายของน้อย

น้อยเป็นชายไทย อายุ 40 ปี อยู่จังหวัดพะเยา นับถือศาสนาพุทธ อาชีพพนักงานขับรถให้กับบริษัท แห่งหนึ่งในอำเภอหาดใหญ่ น้อยมาทำงานนานมากกว่ายี่สิบปี จนห่างหายจากบ้านเกิด และหลังจากที่พ่อกับแม่จากไปน้อยก็ไม่ได้กลับไปอีกเลย น้อยมาพบรักกับภรรยาชาวหาดใหญ่ ภรรยาของน้อยเป็นอิสลาม น้อยจึงได้ทำพิธีเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเหมือนภรรยา น้อยมีบุตรสาว 1 คนอายุ 5 ปี

กลางปี 2556 น้อยมีอาการปวดท้องเป็นๆหายๆ มาพบแพทย์ได้ยาไปรับประทานดีขึ้นบ้าง แต่อาการก็ยังคงอยู่ จนกระทั่งมาตรวจพบว่าน้อยเป็นมะเร็งลำไส้ระยะสุดท้าย แพทย์ทำการผ่าตัดเปิดลำไส้ ทำทวารเทียม ให้ยาเคมีบำบัดไปได้แค่ 2 ครั้ง ผลการให้ยาเคมีบำบัดไม่ตอบสนองต่อการรักษา การรักษาต่อมาก็คือประคับประคองอาการ น้อยมีอาการปวดมาก ปรึกษาคลินิกระงับปวดปรับยาแก้ปวด

ปลายปี 2556 อาการของน้อยเริ่มทรุดลง ภรรยาของน้อยมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดีพี่สาวพี่เขยของน้อยมาเยี่ยมและบอกว่าถ้าน้อยเสียชีวิตจะพากลับพะเยาและทำพิธีศพตามหลักศาสนาพุทธ แต่น้อยบอกหนูว่าถ้าเขาตายก็ขอตายในศาสนาอิสลาม หนูให้เหตุผลแล้วแต่พี่สาวเขาไม่ฟังหนูเลย หนูกลัวว่าเมื่อถึงเวลานั้น หนูคงห้ามเขาไม่ได้...งั้นคงต้องคุยกัน เมื่อมีโอกาสฉันจึงเข้าไปคุยกับน้อยถึงความต้องการนี้ น้อยบอกว่า “ผมทำพิธีเข้าเป็นคนในศาสนาอิสลามแล้วเมื่อตายก็อยากให้ตายในศาสนานี้ จัดการตามประเพณีของศาสนาอิสลาม” ฉันจะช่วยผู้ป่วยและครอบครัวอย่างไรดี ฉันนึกถึงพรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12ที่ให้บุคคลสามารถทำหนังสือประสงค์ที่จะรับหรือไม่รับบริการทางการแพทย์ Living will: ความต้องการครั้งสุดท้ายของชีวิต ...ฉันจึงไปหา “ตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ในแบบที่ 1” ด้านล่างๆ มีช่องให้เดิมความต้องการ ฉันก็เอาหนังสือฉบับนี้ไปให้น้อยเขียนระบุถึงความต้องการที่จะให้จัดการกับตัวเองหลังจากเสียชีวิต มีโต๊ะอิหม่ามในหมู่บ้าน และพยาบาลที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันเป็นพยาน หลังจากทำหนังสือ 2 วัน น้อยก็เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้าน และเป็นไปตามที่คาดกัน ทางพี่สาวและพี่เขยจะพากลับไปทำพิธีที่บ้านเกิด “หนูคุยกับเขาก่อนแต่เขาไม่ยอม หนูเลยต้องเอาหนังสือที่เขาเขียนความต้องการให้ดู ทางพี่สาวจึงได้ยอม หนูขอบคุณพี่มากๆนะคะที่ให้คำแนะนำให้ทำเช่นนั้น”


การที่ผู้ป่วยได้วางแผนการดูแลตนเองล่วงหน้าไว้ ประโยชน์ก็เกิดขึ้นกับทุกๆฝ่ายที่อยู่ข้างหลัง และผู้ป่วยก็จะได้รับการปฏิบัติตามที่ต้องการ


ประไพ บุญมรกต

Palliative care โรงพยาบาลหาดใหญ่

หมายเลขบันทึก: 594032เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2015 20:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2016 13:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท