จิตสำนึกและวิญญาณสหกรณ์


เศรษฐกิจของสังคมปัจจุบัน มุ่งเน้นแต่การหารายได้ โดยไม่ได้แก้ไขปัญหาในการลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ หรือการประกอบอาชีพ การที่เกษตรกรจะขายผลผลิตได้ในราคาแพง แต่ต้องมาซื้อวัสดุการเกษตรที่แพง ข้าวสาร อาหาร เครื่องใช้ที่แพงๆ จึงไม่เกิดประโยชน์ต่อตัวเกษตรกรเอง หรือราษฎรพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการงานอาชีพอื่น ๆ ประสบปัญหากับการมีรายได้จากการทำงานหรือประกอบอาชีพ ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการครองชีพ จนเกิดปัญหาหนี้สินมากมาย ล้วนเกิดจากความไม่เป็นธรรมทางด้านเศรษฐกิจและสังคม การตั้งสหกรณ์ขึ้นมาจึงเป็นการแก้ปัญหาค่าครองชีพ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ ตัดทอนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้าที่ไม่เป็นธรรมมาให้กับบรรดาผู้เป็นสมาชิก ผลของกำไรที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นส่วนเกินที่จะนำมาลดค่าครองชีพของสมาชิก โดยแบ่งปันเงินส่วนเกินที่ได้มาในรูปเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนตามส่วนธุรกิจที่สมาชิกทุกคนได้กระทำไว้กับสหกรณ์ เช่น การนำผลผลิตหรือสินค้ามาขายให้กับสหกรณ์ การจ่ายเงินที่ซื้อสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ตลอดถึงการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ การเก็บออมเงินในรูปสหกรณ์ และการกระจายรายได้ตามระบบสหกรณ์ เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของไทยได้ และสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นจะมาจากความต้องการของประชาชนเบื้องล่าง หรือจัดตั้งโดยนโยบายของรัฐบาลก็ล้วนก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อเจ้าของสหกรณ์ คือ สมาชิกผู้มีส่วนถือหุ้นทุกคน แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะเป็นไปได้อย่างเต็มที่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกเอง ที่จะต้องมีจิตสำนึกและวิญญาของชาวสหกรณ์ คือ

1. คิดแบบสหกรณ์ (COOPERATIVE THINKING) คือ การคิดถึงผู้อื่น คิดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม คิดถึงอนาคต มีวิสัยทัศน์ มองทิศทางการพัฒนาสหกรณ์ที่ยาวไกล คิดในสิ่งที่ดี คิดในทางบวกและสร้างสรรค์

2. ทำแบบสหกรณ์ (COOPERATIVE DOING) ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยความรักความสามัคคี ไม่สร้างปัญหาแต่ร่วมมือกันช่วยแก้ปัญหา

3. มีน้ำใจแบบสหกรณ์ (COOPERATIVE SPIRIT) คือ เรียนรู้ที่จะฝึกตนเองให้มีความซื่อสัตย์ เสียสละ สามัคคี มีวินัย ใฝ่ใจในคุณธรรม และต้องทำให้เกิดเป็นนิสัย

องค์ประกอบสำคัญในการปลูกจิตสำนึก

การที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจในอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ จะต้องปลูกจิตสำนึกของประชาชน ให้เกิดค่านิยมสหกรณ์ โดยอาศัยการให้การศึกษาอบรม การให้ข่าวสารอย่างมีระบบ โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ

1. พฤติกรรม จะต้องฝึกให้ประชาชนมีพฤติกรรมด้านสหกรณ์ด้วยความเคยชิน โดยลงมือปฏิบัติด้วยตนเองจนเกิดความเคยชิน หรือเกิดสำนึกโดยตนเองด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่เกิดจากการใช้ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายมาบังคับกดดัน ให้เกิดพฤติกรรมสหกรณ์ เพราะไม่สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ การกดหรือบีบบังคับนี้ ถ้าอำนาจยังอยู่สหกรณ์ก็อยู่ได้ แต่พออำนาจที่กดบีบหมดไปเมื่อไร คนก็จะละเมิดกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ การใช้อำนาจบีบบังคับกัน ถึงแม้จะมีวินัยอยู่ได้ แต่เมื่อไรอำนาจหรือแรงกดบีบนั้นหายไป สหกรณ์นั้นก็จะ ปั่นป่วนวุ่นวาย ไม่ได้ผลที่แท้จริง จำเป็นต้องมีการสอนให้สมาชิกเข้าในในระเบียบข้อบังคับ กฎหมาย และกติกาต่าง ๆ ของสหกรณ์อย่างเข้าใจ จนสมาชิกร่วมมือปฏิบัติอย่างเป็นอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม การใช้กฎเกณฑ์ข้อบังคับนี้ บางครั้งได้ผลในเมื่อกฎเกณฑ์นั้นไม่บีบบังคับ รุนแรงจนเกินไป และมีช่วงเวลายาวพอที่จะให้คนผ่านเข้าสู่ความเคยชิน จนเขาไม่รู้ตัว จนเข้าสู่กฎธรรมชาติตามวิธีแรก คือ เป็นพฤติกรรมแบบสหกรณ์พื้นฐานที่เกิดขึ้นโดยการสร้างความเคยชิน จนกลายเป็นเรื่องของความเคยชินตามธรรมชาติที่รับทอดมาจากการใช้อำนาจบีบบังคับ อันนั้นต่างหากที่ได้ผล เช่น การสร้างพฤติกรรมการออม ไม่ต้องกำหนดขั้นสูงของเงินออมไว้ครั้งละมากๆ เพียงแต่สร้างนิสัยการออม และนำเงินไปฝากกับสหกรณ์ทีละเล็กละน้อยให้มีการกระทำซ้ำๆ จนเกิดความเคยชิน และติดเป็นนิสัย ต่อไปการเก็บออมก็จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยสามัญสำนึกของตัวสมาชิกเอง

2. สภาพจิตใจ สหกรณ์จะต้องสร้างสิ่งจูงใจมากระตุ้นทำให้สมาชิกมีความพอใจ เต็มใจที่จะทำหรือมีความสุขที่รวมกันเป็นสหกรณ์ เกิดความศรัทธาในระบบสหกรณ์ หรือชื่นชมเมื่อเขาเริ่มเข้าสู่สังคมใหม่ สู่ชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบสหกรณ์ ไม่ควรบังคับจิตใจกัน ให้ยึดหลักสมัครใจอย่างแท้จริงตามหลัการสหกรณ์สากล

3. ด้านปัญญา จะต้องให้องค์ความรู้สร้างภูมิปัญญาให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ รู้เหตุผล มองเห็นคุณค่า มองเห็นประโยชน์ของการสหกรณ์ด้วยภาพในใจของสมาชิกว่าคุณค่าสหกรณ์ดีอย่างไร มีผลต่อตัวเขาและครอบครัวตลอดจนสังคมและประเทศชาติอย่างไร คือสามารถบอกได้ว่าเป็นสมาชิกสหกรณ์แล้วมีผลอย่างไร ความรู้ความเข้าใจนี้ก็จะมาสนับสนุนองค์ประกอบด้านสภาพจิตใจ ทำให้เขามีความพอใจ และยินดีมีความสุขในการที่จะมีส่วนร่วมต่อกิจการของสหกรณ์ยิ่งๆขึ้นไป

หมายเลขบันทึก: 593978เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2015 09:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2015 09:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท