เมล็ดพันธุ์ใหม่ “เยาวชนจิตอาสา” ร่วมกระตุ้นชุมชนรับมือภัยพิบัติ


มองข้อดีอีกด้าน กลุ่มนี้มีความสามารถที่จะเข้าได้กับชุมชนทุกกลุ่ม เพราะเป็นนักศึกษาดังนั้นการขอความร่วมมือจะง่าย มีพลังที่จะทำอะไรได้เยอะ ไม่ติดกับกรอบเดิมๆ อย่างที่รัฐทำเช่นการฝึกอบรม ตั้งคณะกรรมการ สนับสนุนงบประมาณซื้อเครื่องมือ กลุ่มนี้จะไม่ทำอย่างนั้น แต่จะลงไปในชุมชน สร้างกิจกรรมมาใช้เช่น ทำเครื่องมือตรวจวัดปริมาณน้ำฝนเอง ทำแผนที่เดินดิน เพื่อเตรียมแผนอพยพ

เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้สร้างความสูญเสียให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแทบจะทุกปี ความรุนแรงมากบ้างน้อยบ้างต่างกันออกไป หลายๆ พื้นที่สามารถรับมือได้ดี แต่บางพื้นที่ก็เกิดขึ้นแบบฉับพลันไม่ได้ทันตั้งตัว ความเสียหายจึงรุนแรง

อย่างเช่นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้เกิดภัยพิบัติดินโคลนถล่มหลายครั้ง อย่างเมื่อปี 2544 และ 2549 จนสร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ขณะที่ทางภาคใต้เช่นที่นครศรีธรรมราช ตรัง หรือสุราษฎร์ธานี ก็เกิดภัยพิบัติแทบทุกปีเช่นกัน

ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงสนับสนุนให้เกิดโครงการเตรียมรับมือภัยพิบัติขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “โครงการชุมชน คนรุ่นใหม่ เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ” เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนในพื้นที่เสี่ยง สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้ทันท่วงที โดยการทำงานผ่านกลุ่มเยาวชนในพื้นที่นั้นๆ

โชคชัย หลาบหนองแสง หัวหน้าโครงการ ชุมชน คนรุ่นใหม่ เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ เล่าว่า เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ได้มีกลุ่มอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ในนาม Gen V ได้รวมตัวกันให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย เริ่มต้นง่ายๆ คือรับบริจาค และคัดแยกสิ่งของ เพื่อส่งไปให้ผู้ประสบภัย ซึ่งการทำงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ใจอาสาเพื่อผู้ประสบภัย ยังได้ทำงานหลังน้ำลด เข้าไปสำรวจชุมชนเพื่อทำแผนฟื้นฟู ดังนั้นจึงมั่นใจว่าครั้งต่อไปเมื่อเกิดภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม แผ่นดินไหว กลุ่มอาสาสมัครคนรุ่นใหม่จะรับมือได้

โชคชัย บอกอีกว่า ดังนั้นในระหว่างนี้ จึงเป็นช่วงเวลาของการเติมศักยภาพของอาสาสมัคร ภายใต้ โครงการชุมชน คนรุ่นใหม่ เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ พลังของคนกลุ่มนี้ อันดับแรกเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ มีความสามารถด้านการใช้สื่อ มีความคิดสร้างสรรค์ มีเครือข่าย ไม่ใช่กลุ่มเดิมๆ ที่รัฐเคยใช้งาน

“ข้อดีอีกด้าน คือกลุ่มนี้มีความสามารถที่จะเข้าได้กับชุมชนทุกกลุ่ม เพราะเป็นนักศึกษา ดังนั้นการขอความร่วมมือจะง่าย มีพลังที่จะทำอะไรได้เยอะ ไม่ติดกับกรอบเดิมๆ อย่างที่รัฐทำ เช่น การฝึกอบรม ตั้งคณะกรรมการ สนับสนุนงบประมาณซื้อเครื่องมือ กลุ่มนี้จะไม่ทำอย่างนั้น แต่จะลงไปในชุมชน สร้างกิจกรรมมาใช้ เช่น ทำเครื่องมือตรวจวัดปริมาณน้ำฝนเอง ทำแผนที่เดินดิน เพื่อเตรียมแผนอพยพ” ผู้รับทุนสสส. กล่าวและว่า การทำงานของเด็กๆ ยังได้มีขบวนการเชื่อมกับหน่วยงานของรัฐ เช่น ให้ กลุ่มอพปร.มาสอนวิธีปฐมพยาบาล อบรมให้ความรู้สังเกตภัยพิบัติ ซึ่งกลุ่มนี้มีทักษะ

ขณะนี้โครงการชุมชน คนรุ่นใหม่ เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ได้ดำเนินงานผ่านกลุ่มเยาวชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยแต่ละกลุ่มต่างมุ่งหวังให้ชุมชนของตัวเองมีความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ และที่สำคัญต่างไม่ต้องการให้เกิดเหตุซ้ำซากอีก

เช่นที่บ้านพร้า อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ จีรพงศ์ ซาซง ครูโรงเรียนน้ำพร้าสามัคคี ในฐานะผู้นำกลุ่มน้ำพร้านางพญา เล่าว่าลักษณะภูมิประเทศรอบๆ โรงเรียนเป็นภูเขาล้อมรอบ จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม จึงเข้าร่วมโครงการผ่านนักเรียน โดยสร้างให้นักเรียนเป็นแกนนำนักเรียนอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ประสานกับชุมชน ให้ความรู้สำรวจพื้นที่ และความต้องการของชาวบ้าน รวมทั้งทำแผนที่เดินดิน ทำกิจกรรมร่วมกันในเชิงป้องกัน คือการทำฝายชะลอน้ำ กิจกรรมบวชป่ามีทั้งผู้ใหญ่บ้าน นักเรียนและชาวบ้านมาร่วมกัน

“เหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา เราใช้โรงเรียนเป็นศูนย์พักพิง ขณะนี้เรากำลังทำคู่มือรับมือภัยให้กับชาวบ้าน” ครูจีรพงศ์ กล่าว

ชอบคุณภาพจาก : http://www.songhongutt.go.th/?page=general

กส่วนกลุ่มเยาวชนนกระจอกที่เกิดจากการรวมตัวของนักเรียนชั้น ม.5-ม.6 โรงเรียนฆังคะทวีศิลป์ ต.เทพราช อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ได้ตระหนักว่าในพื้นที่ที่เขาอยู่เกิดภัยพิบัติบ่อย

นครินทร์ มากชุม หรือ นิก ตัวแทนกลุ่ม บอกถึงเหตุผลของการตั้งกลุ่มขึ้นมาว่า อยากหาวิธีการตั้งรับเหตุการณ์น้ำท่วม ดินถล่ม เพราะเห็นภาพประจำว่าชาวบ้านเมื่อมีภัยมาก็แค่ขนของหนีน้ำ นักเรียนและอาจารย์ในโรงเรียนจึงเริ่มตั้งกลุ่มแกนนำอาสาสมัครขึ้นมาในโรงเรียนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มาเรียนรู้เรื่องภัยพิบัติ จากนั้นลงพื้นที่สอบถามความต้องการของชาวบ้าน ซึ่งจากข้อมูลที่ได้ชาวบ้านต้องการอาสาสมัครซ่อมบ้าน เพราะบ้านไม่ได้พังทั้งหลัง

“ในความคิดของผม ชาวบ้านมองว่าแผนภัยพิบัติยังไม่ชัดเจน เกิดภัยพิบัติไม่รู้จะอพยพไปตรงไหน แต่รู้สึกว่าชาวบ้านยังพูดความจริงออกมาไม่หมด อาจะเห็นว่าเราเป็นเด็ก” ตัวแทนกลุ่มเยาวชนสะท้อนอุปสรรคการทำงาน แต่ก็มองว่าคือความท้าทายด้านการทำงานด้านจิตอาสา แต่สิ่งหนึ่งที่ได้จากจากรวมกลุ่ม ทำให้ชุมชนเห็นความสำคัญของกลุ่มเยาวชนในท้องที่ ที่ผ่านมากิจกรรมของชุมชนไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่า งานสร้างศาลาประจำหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านก็ให้กลุ่มเยาวชนนกกระจอกไปมีส่วนร่วม

“ผมคิดว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว เพราะมีเพื่อนในโรงเรียนยินดีที่จะทำงานจิตอาสา ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกของเรามีอยู่ 50 คน และโรงเรียนก็สนใจกิจกรรมของเรา” ตัวแทนกลุ่มเยาวชนนกกระจอก บอกถึงความสำเร็จ

ต้องรอดูกันต่อไป ว่าพลังเยาวชนจะช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติของชุมชน และสร้างความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติได้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่ประจักษ์ชัด คือเมล็ดพันธุ์แห่งจิตอาสาได้งอกงามในชุมชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หมายเลขบันทึก: 593663เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2015 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2015 16:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท