"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

​“ชีวิต คือ อะไร” ชีวิตคือ ขันธ์ ๕ และ อายตนะ ๖(คู่)


“ชีวิต คือ อะไร” ชีวิตคือ ขันธ์ ๕ และ อายตนะ ๖(คู่)

ได้กล่าวถึงทุกขอริยสัจ ข้อที่ว่าด้วยเรื่อง ขันธ์ ๕ ไปพอสมควรแล้ว บันทึกนี้จะเขียนถึงธรรมชื่อ “อายตนะ ๖(คู่)” บ้าง แต่ก็เขียนโดยสรุปเพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ และสั้น ๆ เท่านั้น หากท่านใดสนใจหรือปรารถนาศึกษาธรรมให้ลึกซึ้งกว่าที่พี่หนานเขียนอยู่นี้ ก็ขอเชิญหาอ่านในเรื่องที่เกี่ยวข้องตามหนังสือหรือเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง หรือ ในพระไตรปิฎกออนไลน์ที่ให้บริการศึกษาได้ฟรีหลายแห่ง รวมทั้ง “พุทธธรรม” ที่นำประกอบด้านล่างของบันทึกนี้ด้วย...

มาต่อด้วยธรรมชื่อ “อายตนะ” (อายะตะนะ) แปลว่า ที่เชื่อมต่อ เครื่องติดต่อ หมายถึง สิ่งที่เป็นสื่อสำหรับติดต่อกัน ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น แบ่งเป็น ๒ อย่าง(๖ คู่) คือ…

๑.อายตนะภายใน หมายถึง สื่อเชื่อมต่อที่อยู่ในตัวคน หรือภายในตัวตนของเรานี่แหละ มี ๖ อย่าง คือ ตา(จักขุ) หู(โสตะ) จมูก(ฆานะ) ลิ้น(ชิวหา) กาย(กายะ) และ ใจ(มโน) บ้างเรียกตามการทำหน้าที่ว่า “อินทรีย์”(เป็นใหญ่) เช่น ตาเป็นใหญ่ในการมองเห็น เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นที่เชื่อมต่อกับอายตนะภายนอก…

๒.อายตนะภายนอก หมายถึง สื่อเชื่อมต่อที่อยู่นอกตัวคน สิ่งที่ตัวตนของเราเข้าไปเกี่ยวข้องเข้าไปกระทบ บ้างเรียกว่า “อารมณ์ ” มี ๖ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทั้งหมดนี้เป็นของคู่กับ หรือเข้าคู่กันกับ อายตนะภายใน ลองจับคู่กันดังนี้...

ในตัวเรา..คู่กับ..นอกตัวเรา(โลก)

...ตา...คู่กับ...รูป

...หู...คู่กับ...เสียง

...จมูก...คู่กับ...กลิ่น

...ลิ้น...คู่กับ...รส(ชาติ)

...กาย...คู่กับ...โผฏฐัพพะ(สิ่งที่มาถูกต้อง)

...ใจ...คู่กับ...ธรรมารมณ์
...

ทีนี้ลองมาดูตัวอย่างการเกิดขึ้น การับรู้ และความรู้สึกต่ออารมณ์ โดยขอนำตัวอย่างมาจากพุทธธรรมโดยย่อ ดังนี้...

.... “อาศัยตาและรูป เกิดจักขุวิญญาณ, ความประจวบแห่งธรรมทั้งสามนั้นเป็นผัสสะ, เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี, บุคคลเสวยอารมณ์ใด ย่อมหมายรู้อารมณ์นั้น(สัญญา),...”

เขียนแบบให้เห็นการเชื่อมโยงแบบเข้าใจง่ายได้ดังนี้...

.

...ตา (ทางรับรูป ๑) + รูป (สิ่งที่ถูกเห็น ๑) + จักขุวิญญาณ (เกิดความรู้ที่เห็นรูป ๑) = ผัสสะ (การรับรู้) ... ก่อให้เกิด > เวทนา (ความรู้สึกต่อการเห็นรูป) …การดื่มด่ำอยู่กับรูปใด ย่อมหมายรู้รูปนั้น> สัญญา (การหมายรู้รูปนั้น) ...

.

ทีนี้อธิบายโดยรวมให้กระชับก็จะได้ประมาณว่า...

...เมื่อตาเห็นรูปเกิดความรู้ขึ้น เกิดการรับรู้ว่ารูปสวยหรือขี้เหร่ หากรูปสวย ก็ชอบใจ(สุข-เวทนา) เมื่อชอบใจก็ดื่มด่ำหมายรู้มองแล้วมองอีก(สัญญา) จากนั้นก็คิดปรุงแต่งคาดหวังใฝ่ฝัน(สังขาร) ปรารถนาได้มาครอบครองเป็นของตน(ตัณหา)...ต่อไปก็เข้าหลักปฏิจจสมุปปบาทคือ...ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ(ภาวะของชีวิต/สิ่งที่ทำให้สัตว์ข้องอยู่ติดอยู่) ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ(การเกิด) ชาติเป็นปัจจัยให้เกิด ชรา(แก่) มรณะ(ตาย) โสกะ(ความโศกเศร้า) ปริเทวะ(ความร่ำไรรำพัน) ทุกขะ(ความไม่สบายกายไม่สบายใจ) โทมนัส(ความเศร้าใจ) อุปายาสะ(ความคับแค้นใจ)ทำให้มีพร้อม... รวมเรียกว่า “ทุกขอริยสัจ” ทั้งนั้น...

สิ่งต่าง ๆ สืบเนื่องกันนี้พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “...นี้คือการอุทัยพร้อมแห่งโลก” หรือ “การเกิดขึ้นแห่งโลกในทางอริยวินัย”

.....ในทางกลับกัน ...ก็มีช่องทางที่จะ “ดับลงแห่งโลกในทางอริยวินัย” ได้เหมือนกัน...

.....เมื่อตาเห็นรูปเกิดความรู้ขึ้น เกิดการรับรู้ว่ารูปสวยหรือขี้เหร่ หากรูปสวย ก็ชอบใจ(สุข-เวทนา) เมื่อชอบใจแต่ก็ตัดใจไม่คิดปรารถนาได้มาครอบครองเป็นของตน กำหนดรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่เที่ยง(เป็นเหมือนกันหมด:ไตรลักษณ์) ไม่คงทน เดี๋ยวก็เปลี่ยนสภาพไป (ดับตัณหา:สำคัญอยู่ตรงนี้)...ต่อไปก็เข้าหลักปฏิจจสมุปปบาทคือ...ดับตัณหาได้ เป็นปัจจัยให้อุปาทานดับ(ความยึดมั่นถือมั่นดับ) อุปาทานดับ เป็นปัจจัยให้ ภพดับ(ดับภาวะของจิตที่ทำให้เราข้องติดอยู่) ภพดับ เป็นปัจจัยให้ ชาติดับ(ดับการเกิด) เพราะดับชาติ ชรา(ความแก่) มรณะ(ตาย) โสกะ(ความโศกเศร้า) ปริเทวะ(ความร่ำไรรำพัน) ทุกขะ(ความไม่สบายกายไม่สบายใจ) โทมนัส(ความเศร้าใจ) อุปายาสะ(ความคับแค้นใจ) จึงดับตามไปด้วย...

สิ่งต่าง ๆ สืบเนื่องกันแบบนี้พระพุทธองค์ตรัสว่า“...นี้เรียกว่า อัสดงแห่งโลก” รวมเรียกว่า “ดับกองทุกข์ทั้งหมด” ...

พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เรา “สำรวมอินทรีย์” อินทรีย์ก็ คือ อายตนะที่แสดงหน้าที่ต่อการรับรู้โลก หรือ การติดต่อสื่อสารกับโลก การสำรวมคือ การมีสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ในขณะนั้นๆ ไม่เผลอให้ตัณหาครอบงำตนเองได้...

...

เขียนไปเขียนมาก็ชักจะสับสนเหมือนกัน ธรรมหมวดไตรลักษณ์ ๓ เอาไว้มาเขียนสรุปสั้นๆ ในครั้งต่อไป...

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านมาก... เชิญอ่านรายละเอียดและเรื่องอื่น ๆ ได้ ในหนังสือ “พุทธธรรม” ตามลิงก์ด้านล่างนี้

..........................................

“พี่หนาน”

18/8/2558

..................................................................................................

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงเรื่องอายตนะจากวิกิพีเดียไทย...

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548

ขอบคุณหนังสือพุทธธรรมจากเว็บไซต์ต่อไปนี้มาก...

http://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/...

หมายเลขบันทึก: 593662เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2015 13:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2015 13:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท