การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ : ตราด (๔)
ภายหลังจากการวางแผนการดำเนินงานเพื่อการจัดการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพหรือการมีงานทำมาระยะหนึ่ง ก็มาสู่ของการเดินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการปฏิรูปการเรียนรู้เชิงพื้นที่จังหวัดตราด ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการออกเป็นชุดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของคนตราด โดยมุ่งเน้นหลัก ๓ ด้าน คือ ด้านอาชีพเกษตรกรรม อาชีพธุรกิจและการค้าชายแดน ด้านการท่องเที่ยว
โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการปฏิรูปการเรียนรู้เชิงพื้นที่จังหวัดตราด ด้านอาชีพเกษตรกรรม มีท่านเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตราด เป็นประธาน ได้นัดหารือแนวทางการดำเนินงานในเรื่องของการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะด้านอาชีพเกษตรกรรมร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ
ทั้งมีผู้บริหารโรงเรียนหรือตัวแทนของโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มอาชีพเกษตรกรรม และผู้ทรงคุุณวุฒิที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตรเข้าร่วมด้วย โดยเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติด้านอาชีพเกษตรและด้านต่าง ๆ ทั้งภาพปัจจุบันและทิศทางในอนาคตที่จะก้าวไปข้างหน้า
ซึ่งมุมมองด้านการจัดการศึกษาจากภาคส่วนทางการศึกษาก็เป็นไปในแนวทางเดียวกันว่าการพัฒนาทักษะด้านอาชีพนั้น จะดำเนินการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอาจจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรคู่ขนานระหว่างสายสามัญกับอาชีวะศึกษา โดยจะให้ฝ่ายวิชาการของแต่ละโรงเรียนมาร่วมกันออกแบบหลักสูตรร่วมกัน
ทั้งนี้มีมุมมองแง่คิดจากบางโรงเรียนว่า การจัดการศึกษาเพื่ออาชีพนั้น อาจทำโดยในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นให้มีการวัดความถนัดด้านอาชีพแล้วให้นักเรียนเลือกอาชีพที่สนใจ โดย ม.๑ เลือกไว้ ๓ อาชีพ ม.๒ เลือกไว้ ๒ อาชีพ แล้วตอนม.๓ เลือกอาชีพที่ตนเองสนใจและถนัดเพียง ๑ เดียว ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็เป็นการเลือกเพื่อการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา หรืออาชีวะศึกษา หรือเรียนรู้คู่ขนานกันไป
ก็เป็นมุมมองที่น่าสนใจทีเดียว
ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิหรือปราชญ์ชาวบ้าน ได้นำเสนอมุมมอง แง่คิดเพื่อการพัฒนทักษะทางการเกษตรไว้อย่างน่าสนใจ เช่น การเรียนการสอนอย่างให้อยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติจริง เพื่อเพิ่มทักษะอาชีพให้ติดตัวนักเรียนโดยเฉพาะอาชีพในท้องถิ่น อยากให้สร้างเด็กตราด เพื่อเป็นคนตราดที่แท้จริง มิใช่สร้างผลผลิตเพื่อการส่งออกไปพัฒนานอกพื้นที่
นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่ค่อนสนใจ ด้านการเรียนรู่อาชีพ แต่มัธยมศึกษาตอนปลายจะนิ่งและสนใจมากกว่า จากมุมมองของผู้มีประสบการณ์สอนด้านอาชีพของโรงเรียนตราดสรรเสริญ ที่เขาเรียกว่า "ตราดสรรเสริญโมเดล"
การเรียนไม่อยากให้เอาคะแนนเป็นตัวตั้ง เรียนรู้แล้วต้องมีทักษะติดตัว และยั่งยืน
การเรียนรู้ด้านการเกษตรอย่างเดียวไม่เพียงพอ ในปัจจุบันและอนาคตต้องเรียนรู้ด้านการแปรรูป และการประกอบธุรกิจด้วย
การประกอบอาชีพเกษตรเพื่อการดำรงชีวิตเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันมีคนทำด้านนี้น้อยอยู่ แต่ทิศทางในอนาคตสังคมเริ่มหันมาสนใจและพึ่งพาธรรมชาติมากขึ้น เกษตรอินทรีย์จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและไม่ทำลายธรรมชาติ อยู่ร่วมกันได้
ล้วนแล้วแต่เป็นมุมมองที่มีคุณค่ายิ่งที่ทุกภาคส่วนมองเห็นคุณค่าของการจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาทักษะด้านอาชีพแก่ผู้เรียน เพื่อการมีงานทำ เพื่อการสร่้างคนตราดที่มีคุณค่าในอนาคต
ทิศทางของการจัดการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพหรือเพื่อการมีงานทำ จึงเริ่มสดใสมากยิ่งขึ้น เมื่อขณะนี้พวกเรากำลังคืนการจัดการศึกษาแก่เจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริง ให้เขาเหล่านี้เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากยิ่งขึ้น การปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ หรือจังหวัดจัดการตัวเอง ก็จักมีความชัดเจนมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ซึ่งนี่เป็นการวางแผนของคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านเกษตรกรรม โดยด้านอาชีพธุรกิจและการค้าชายแดน ด้านการท่องเที่ยวก็มีการหารือเพื่อการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำของตราดเช่นเดียวกัน จึงเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่มีทิศทางอย่างแน่นอน
แหล่งความรู้เพิ่มเติม
ไม่มีความเห็น