สื่อสังคมออนไลน์ @มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า สื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย (social media) เป็นซอฟต์แวร์ที่อยู่บนโครงสร้างสิ่งแวดล้อมเว็บ 2.0 ที่เน้นการปฏิสัมพันธ์และอนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถผลิต เผยแพร่และแชร์หรือ แบ่งปันเนื้อหา สารสนเทศ ทรัพยากรที่ตนเองสร้างสรรค์ได้ด้วยตนเอง สื่อสังคมออนไลน์มีหลายประเภท ครอบคลุม เครือข่ายสังคม เช่น เฟสบุ๊ค ลิงค์อิน (linked In) การแบ่งปันสื่อวิดีโอ ภาพ เช่น ยูทูบ(You tube) ฟิคส์ (Flickr) บล็อก (blog) ทวิสเตอร์ (twitter) เป็นต้น

สื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทกับชีวิตของคนเกือบทุกวัยในโลก จากการเข้าร่วมประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558 ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิทยากรท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เคยมีการตั้งคำถามการใช้อินเทอร์เน็ตกับผู้ใช้ในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือ กลุ่มวัยรุ่นว่า เคยใช้อินเทอร์เน็ต หรือ ที่หลายๆ คน เรียกว่า เน็ต บ้างไหม หลายคนไม่สามารถบอกได้ว่าเคยใช้หรือไม่ แต่หากถามว่า เคยใช้ หรือ เคยเล่นเฟสบุ๊ค เล่นไลน์ไหม คนทุกวัยจะตอบว่า เคย นั่นหมายถึงความหมายของอินเทอร์เน็ตกำลังได้รับการแทนที่ด้วยซอฟต์แวร์ที่เป็นสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ ทุกวันนี้เราใช้สื่อสังคมออนไลน์กันด้วยเหตุผลต่างๆ มากที่สุดน่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารแบบปฏิสัมพันธ์ การส่งข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์ และอาจมีอีกหลายๆ คนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อสร้างความผูกพัน (engagement) ต่อกันทั้งในด้านการงานและชีวิตส่วนตัว

ปัจจุบันมีการนำสื่อสังคมออนไลน์มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา จากการจัดอันดับการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ 50 แห่งของเว็บโบเมตริกซ์ (Webometrics) พบว่า สื่อสังคมออนไลน์ที่มีการนำมาใช้กับการเรียนการสอนมากที่สุด คือ เฟสบุ๊ค และยูทูบ ร้อยละ 96 รองลงมา ทวิสเตอร์ ร้อยละ 94 อินสตาแกรม ร้อยละ 60 ลิงค์อิน ร้อยละ 44 และ กูเกิล พลัส (Google+) สถาบันการศึกษาในประเทศไทยก็มีการนำสื่อสังคมออนไลน์มาใช้งานเช่นกันรวมทั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หรือ มสธ. จากการนำเสนอผลการวิจัย เรื่อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในชุมชนออนไลน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ของ อาจารย์ ดร. ฐิติมา ศรีวัฒนกุล เป็นงานวิจัยที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน งานวิจัยมีการสำรวจการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเด็นหน่วยงานและประเภทของสื่อสังคมออนไลน์ที่มสธ.นำมาประยุกต์ ผลการสำรวจพบว่า หน่วยงานในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ มีการนำสื่อสังคมออนไลน์มาประยุกต์ ประเภทของสื่อสังคมออนไลน์ที่นำมาใช้มากที่สุด ได้แก่ เฟสบุ๊คแบบแฟนเพจ (face book Fan Page) รองลงมาเป็นเฟสบุ๊คแบบโปรไฟล์ เพจ (face book Profile Page) ตามลำดับ นอกนั้นเป็นสื่อสังคมออนไลน์ประเภทอื่น เช่น ทวิสเตอร์ ยูทูบ กูเกิ้ลพลัส ไลน์ อินสตาแกรม โดยพบว่า มีบางหน่วยงานใช้สื่อสังคมออนไลน์หลายประเภทร่วมกัน เช่น สำนักเทคโนโลยีการศึกษา ใช้เฟสบุ๊คแบบแฟนเพจ และยูทูบ งานประชาสัมพันธ์ และสำนักบรรณสารสนเทศใช้เฟสบุ๊คแบบแฟนเพจ เฟสบุ๊คแบบโปรไฟล์เพจ ยูทูบและทวิสเตอร์ เป็นต้น

จากผลการสำรวจการใช้สื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าว มีประเด็นปัญหาที่นำไปสู่การวิจัย โดยพบว่า สื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานต่างๆ ในมสธ. มีการใช้กระจัดกระจายไปตามหน่วยงาน ยังไม่มีการรวมกันไว้ในหน้าเดียวกัน หรือที่เรียกว่า mash- ups ข้อมูล เพื่อให้สะดวกในการเข้าถึงและใช้งาน อีกทั้งสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการนำมาใช้ยังไม่ได้รับการยืนยันถึงความน่าเชื่อถือ ความเป็นปัจจุบันและผู้รับผิดชอบในการจัดทำ นอกจากนั้นพบว่ามีการจัดทำสื่อสังคมออนไลน์ทั้งในระดับหน่วยงานและระดับบุคคล โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ประเภทเฟสบุ๊คที่มีทั้งแบบโปรไฟล์เพจ และแบบแฟนเพจ โดยส่วนใหญ่โปรไฟล์เพจมักใช้กับเฟสบุ๊คส่วนบุคคล ขณะที่แบบแฟนเพจใช้กับองค์กร หรือหน่วยงาน เป็นต้น ดังนั้น งานวิจัยจึงได้จัดทำเว็บไซต์ชุมชนออนไลน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชขึ้น (http://socialmedia.stou.ac.th) เพื่อบูรณาการและเผยแพร่เนื้อหาในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของ มสธ. ทำให้นักศึกษาเข้าถึงช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของมสธ.ได้มากขึ้น และผู้ใช้ทุกคนของสมสธ.สามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ของทุกหน่วยงานในหน้าเดียวหรือ จุดเดียว เว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการทดลองใช้งาน

จากการทดลองใช้เว็บไซต์ชุมชนออนไลน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พบว่า เว็บไซต์ชุมชนออนไลน์ฯ เป็นเว็บไซต์ที่ดีและมีประโยชน์ การออกแบบเว็บเพจที่มีช่องทางให้ค้นหาสื่อสังคมออนไลน์ตามสาขาวิชา และหน่วยงานของมสธ. ส่วนเว็บเพจ connect แสดงเนื้อหา และโพลต์ ที่ผู้ใช้สามารถค้นหาเนื้อหาของสื่อสังคมออนไลน์ที่โพสต์ได้จากช่องค้นหา ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นส่วนที่ช่วยผู้ใช้ให้หาเรื่องราวของหน่วยงานของตนเองหรือ หน่วยงานอื่นที่มีการโพสต์ไว้ ซึ่งจะไม่สามารถทำได้หากเป็นการใช้สื่อสังคมออนไลน์ผ่านเว็บเพจของสื่อสังคมออนไลน์ประเภทนั้นๆ แม้แต่เฟสบุ๊คที่แม้จะมีหน้าค้นหาแต่เป็นการค้นหาชื่อเจ้าของเฟสบุ๊ค แต่ไม่สามารถค้นหาเนื้อหา เรื่องราว ที่โพสต์ไว้ได้ เป็นต้น เว็บเพจชุมชนออนไลน์ของพวกเรา ที่เป็นการแสดงโพสต์ที่มีผู้อื่นติดแฮชแท็ก (hashtag) ตามที่กำหนดไว้ เว็บเพจ social media directory เป็นการรวบรวมสื่อสังคมออนไลน์ทุกประเภทที่มีการจัดทำโดยหน่วยงานภายใน มสธ. จำแนกตามหน่วยงาน และสามารถคลิกเรียกดูเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ภายใต้หน่วยงาน หน้า STOU hashtag ที่จัดไว้เพื่อเผยแพร่แฮชแท็กให้นักศึกษา อาจารย์ บุคลากร และบุคคลทั่วไปสามารถนำไปใช้เผยแพร่ในโพสต์ของตนเอง เป็นเหมือนเวทีให้คนมสธ.ร่วมพูดคุยเรื่องราวเดียวกัน

สื่อสังคมออนไลน์ของมสธ. นับเป็นสื่อเสริมที่ดีและมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนในระบบการเรียนการสอนทางไกลของ มสธ. เป็นอย่างมาก มหาวิทยาลัยสามารถใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางในการสื่อสารแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับมหาวิทยาลัย และระหว่างหน่วยงานภายใน มสธ. ด้วยกันเอง อีกทั้งยังใช้เป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ข่าวสารความเคลื่อนไหวของมหาวิทยาลัย รวมทั้งยังเป็นช่องทางที่ช่วยสร้างความผูกพันระหว่างนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

Nuree Wiwatwattana. (n.d.). Social media in higher education. เอกสารประกอบการอบรมเชิง

ปฏิบัติการ เรื่อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2558 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ฐิติมา ศรีวัฒนกุล. (ม.ป.ป.). เอกสารแนะนำการใช้งานระบบเว็บไซต์ชุมชนออนไลน์ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง

การพัฒนาเว็บไซต์ชุมชนออนไลน์เพื่อบูรณาการการใช้งานซอฟต์แวร์เพื่อสังคมของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. เอกสารประกอบการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2558 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

เว็บไซต์ชุมชนออนไลน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (ม.ป.ป.) เข้าถึง 6 สิงหาคม 2558, จาก

http://socialmedia.stou.ac.th/

หมายเลขบันทึก: 593619เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2015 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2015 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท