ฉัตรวิไล วิบูลย์วิภา :  ขอให้หนูไปเถอะอย่ายื้อหนูไว้เลย


ขอให้หนูไปเถอะอย่ายื้อหนูไว้เลย


ฉัตรวิไล วิบูลย์วิภา

โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี


การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง ฟังดูเหมือนง่ายไม่มีอะไรซับซ้อน ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะได้รับแจ้งจากแพทย์วันที่มาฟังผลตรวจตามนัดว่า โรคลุกลามไปมากแล้ว ผ่าตัดไม่ได้ ให้ยาเคมีก็ไม่ได้ผล โรคไม่ได้ตอบสนองต่อการให้ยาเคมี หมอจะให้การดูแลแบบประคองไปตามอาการที่มีอยู่ หมอไม่นัดนะ ให้ไปรักษาตามอาการใกล้บ้าน ...หรือหากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัด เมื่อผ่าตัดแล้วพบก้อนในอวัยวะที่เป็นโตมากและลุกลามไปอวัยวะอื่นๆ แพทย์ก็จะแจ้งกับญาติเช่นเดียวกัน

แต่การวางแผนว่าจะดูแลต่อไปอย่างไร ใครจะเป็นคนดูแล ผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่อีกนานเท่าไหร่ และเมื่อจะจำหน่ายกลับบ้าน ผู้ป่วยและญาติต้องการกลับไปดูแลกันเองที่บ้านอย่างไร พอกลับบ้าน หากอาการทรุดลงจะตัดสินใจดูแลอย่างไร ถ้าให้อยู่ที่บ้านก็จะถูกญาติคนอื่นๆหรือเพื่อนบ้านหาว่า ทอดทิ้ง ไม่ดูแล ก็ถูกนำกลับมาที่โรงพยาบาล ถูกปั๊มหัวใจ ใส่ท่อช่วยหายใจ ...และเสียชีวิตในที่สุด โดยที่ไม่ได้เตรียมการล่วงหน้าทั้งผู้ป่วยและญาติ ถ้าเป็นครอบครัวใหญ่ก็อาจจะมีข้อขัดแย้งตามมาอีก ...นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยหลายคน หลายครอบครัว

หากได้มีการวางแผนดูแลตั้งแต่เนิ่นๆเหมือนกับผู้ป่วยรายนี้ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตในช่วงเวลาที่เหลืออยู่มีคุณค่า ซึ่งก็เกือบจะสายเกินไปเหมือนกัน ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 35 ปี diagnosis CA Colonระยะ advance วันแรกที่พบผู้ป่วยนอนตัวงออยู่บนเตียง เหงื่อซึมทั่วใบหน้าคิ้วขมวด เพราะอาการปวดท้องตลอดเวลา จะทุเลาก็หลังจากได้รับยามอฟีนฉีดเพียงไม่กี่นาที ผู้ป่วยนอนปวดแบบนี้มาแล้ว 7 วัน ได้แต่ช่วยเช็ดเหงื่อที่ผุดเม็ดใหญ่ที่ใบหน้า จับมือ อยู่เป็นเพื่อน สักครู่ใหญ่หลังจากนั้นก็วางแผนจัดการอาการปวด กับน้องพยาบาลward และแพทย์internพร้อมกับปรึกษาอาจารย์ศรีเวียงทางLine เพื่อให้ผู้ป่วยทุเลาอาการในคืนนั้นก่อนถึงวันรุ่งขึ้นที่จะประสานให้วิสัญญีแพทย์เข้ามาช่วยจัดการอาการปวดช่วยกัน ใช้เวลาอยู่สองวันอาการปวดจึงทุเลาลง ตลอดระยะเวลา 2วันที่เจอกันผู้ป่วยจะพูดว่า “ปล่อยหนูไปเถอะ ทรมานเหลือเกิน รักษายังไงก็ไม่หายหรอกหนูอยากตาย” พูดซ้ำๆ จึงได้จับมือบีบเบาๆและเช็ดตัวให้ น้องชายผู้ป่วยถามว่าขอถามได้ไหมว่าพี่สาวจะมีทางรักษาหายไหม ถามใครก็ไม่มีใครตอบ....

ในวันที่3 ที่ไปเยี่ยม ผู้ป่วยจับมือไปแนบที่แก้มและวางบนศีรษะ แล้วพูดว่า “นางฟ้าของหนู” หนูหายปวดแล้ว แต่ทรมานที่ใจ” จึงได้พูดคุยถึงชีวิตที่ผ่านมา ออกจากบ้าน ไปตั้งแต่อายุ19ปี อาชีพขายข้าวแกงบนเรือ มีสามี 2คน แยกทางกันทั้งหมด มีลูก 3คน เป็นหญิงฝากแม่เลี้ยงดูให้ที่บ้านเกิด ลูกๆไม่มีความผูกพันกันผู้ป่วยห่างเหินเหมือนคนแปลกหน้า ขณะนอนโรงพยาบาลก็ไม่มาดูแล มีพี่น้อง5คน จึงตัดสินใจประสานแพทย์เจ้าของไข้ พี่น้องและลูก ทำ Family meeting แพทย์ได้คุยถึงการดำเนินของโรค การรักษาโดยการผ่าตัดซึ่งเมื่อผ่าเข้าไปแล้วพบก้อนที่ช่องท้องเต็มไปหมดแล้ว จึงเย็บปิดไว้

เราจึงวางแผนร่วมกันว่าจะช่วยกันดูแลผู้ป่วยให้ลดอาการทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ ด้านร่างกาย ที่มีอาการปวด คลื่นไส้ อาเจียน มีแผลผ่าตัดทางหน้าท้อง ณ ตอนนี้ทีมสุขภาพได้ช่วยกันดูแลจนทุเลา แต่ปัญหาทางใจที่ค้นพบคือ ผู้ป่วยโดดเดี่ยวมาตลอด มีแผลลึกในใจ ล้มเหลวในชีวิตครอบครัว เคยใช้ชีวิตที่ผิดพลาดจนเข้าไปอยู่ในเรือนจำ 7 ปี ไม่ได้ติดต่อกับใครเลยนอกจากน้องชายคนเล็กที่ติดตามกันไปตลอดตั้งแต่ก่อนติดคุก ห่วงลูกสาวคนเล็กที่เป็นเด็กใจแตก คิดถึงแม่ แต่ไม่อยากกลับบ้าน คิดว่าแม่ไม่รัก โจทย์ที่จะต้องช่วยกันแก้ เยอะและค่อนข้างยาก

ขณะคุยกันญาติทุกคนเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้ป่วย ร้องไห้ น้องชายเป็นคนที่พี่สาวใกล้ชิด ไว้วางใจรับปากว่าจะเลี้ยงดูดูสาวคนเล็กให้ และจะคุยกับแม่ที่อายุมากแล้วให้รับรู้เรื่องการเจ็บป่วยของลูกสาว หลังจากนั้น 1วัน ผู้ป่วยบอกว่า อยากกลับบ้านไปอยู่กับแม่ เราได้พูดคุยกันถึงอาการเจ็บป่วย อวัยวะเริ่มทำงานได้น้อยลงเรื่อยๆและคงจะหยุดทำงานไปในที่สุด ผู้ป่วยบอกว่า “หนูพร้อมแล้ว ไม่มีอะไรต้องห่วง ลูกสาวก็มีคนดูแลให้แล้ว ขอกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน ญาติทุกคนรับรู้ถึงความต้องการนี้ ได้ให้ผู้ป่วยเซ็นชื่อแจ้งความต้องการNO Tube No CPR สุดท้ายผู้ป่วยได้ย้ายไปรับการดูแลจาก รพช.ใกล้บ้านเนื่องจากมีแผลผ่าตัดที่หน้าท้องต้องใช้วิธีดูดระบายน้ำเลือดออกจากช่องท้อง ลูกสาวคนเล็กที่ไม่เคยมาเยี่ยมแม่เลยก็มาดูแลใกล้ชิด ผู้ป่วยมีความสุขมากขึ้นในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิต

นับเป็นความสำเร็จอันงดงามในการดูแลผู้ป่วยหญิงคนนี้ ขอบคุณครอบครัวที่ให้โอกาสทีมได้เข้ามาร่วมดูแล...

หมายเลขบันทึก: 593129เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2015 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2015 17:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เขียนได้ดีมาก เพราะทำดีจึงเขียนได้ดี

เป็นความโชคดีของผู้ป่วยที่มีโอกาสได้รับการดูแลจากทีมที่ด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท