​คุยกับ ศ. ดร. นงนุช อินปันบุตร



ศ. ดร. นงนุช อินปันบุตร เป็นศาสตราจารย์ในคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท สหรัฐอเมริกา ท่านจบสัตวแพทยศาสตร์จากจุฬาฯ และไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตทกว่า ๒๐ ปี และผมรู้จักกับท่านกว่า ๒๐ ปีเช่นเดียวกัน

เวลานี้ท่านเป็นประธานบอร์ดของสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (ATPAC) และต้องการหาลู่ทางให้ ATPAC ทำประโยชน์แก่ประเทศไทย จึงนัดคุยกับผมเมื่อท่านเดินทางมาประเทศไทย และได้รับประทานอาหารเที่ยงและคุยกันเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ เราคุยกันหลากหลายเรื่อง เพราะไม่ได้พบกันหลายปี แต่ที่สะกิดใจผมมากที่สุดคือท่านย้ำหลายครั้งว่า วิชาการในมหาวิทยาลัยสหรัฐ เข้มแข็งเพราะระบบ มากกว่าเพราะคนเก่งฉกาจ

ที่จริงก็สำคัญทั้งระบบและคน แต่ท่านย้ำว่า ระบบสำคัญกว่าคน

ผมเขียนบันทึกนี้จากความจำ จึงอาจตกๆ หล่นๆ ผิดๆ พลาดๆ ที่ท่านย้ำคือการทำงานในภาควิชา ตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายรวมของภาควิชาสำคัญที่สุด อาจารย์ทุกคนจะเคารพและปฏิบัติตามเป้าหมายรวมนี้ ไม่ได้เอาตัวเองเป็นหลักอย่างที่อาจารย์หลายคนปฏิบัติในมหาวิทยาลัยไทย โดยอ้างเสรีภาพทางวิชาการ

เสรีภาพทางวิชาการกับการปฏิบัติตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายของภาควิชาไม่ได้ขัดกัน

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเขาเน้นทำงานพัฒนาวิชาการร่วมกัน ระหว่างมหาวิทยาลัย และระหว่าง สาขาวิชา เน้นความร่วมมือทางวิชาการ ไม่ใช่เน้นแข่งขันจนไม่ร่วมมือกัน

ผมตีความว่า ภาพดังกล่าวสะท้อน วัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยวิจัย ที่ต้องมีวิถีปฏิบัติเพื่อช่วยให้ทำงาน สร้างสรรค์วิชาการได้ collaboration และ interdisciplinary activities คือกลไกสำคัญที่ช่วยให้สร้างสรรค์วิชาการ ได้ง่าย

ผมมองว่า วัฒนธรรมในวงการอุดมศึกษาไทยค่อนไปทางมหาวิทยาลัยสอน ที่ยึดมั่นกับความรู้ที่ตน เรียน (รับถ่ายทอด) มาจากต่างประเทศ เอามายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นความจริงที่ตายตัว วัฒนธรรมเช่นนี้ หากมีอยู่จริง เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัย

ผมเคยเขียนบันทึกเกี่ยวกับ ATPAC ไว้ ที่นี่


วิจารณ์ พานิช

๕ มิ.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 592729เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2015 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2015 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมเห็นด้วยว่าระบบสำคัญกว่าบุคล อุดมศึกษาของเรามีแต่รูปแบบแต่ไม่เอาเนื้อหา ภาควิชาจะต้อง

เป็นหลักในทางวิชาการ ไม่ใช่คณะ ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่คณะมีมากและซำ้ซ้อนกับสำนักอธิการบดี คณะ

ควรเป็นที่ประสานงานเท่านั้น แม้ในสภามหาวิทยาลัยก็เน้นแต่การเลือกคณบดี ส่วนหัวหน้าภาควิชาซึ่งควรจะเป็นผู้นำหลัก ก็ไม่สนใจ บางมหาวิทยาลัยบอกว่าหัวหน้าภาควิชาไม่ใช่ตำแหน่งผู้บริหาร

แต่รองคณบดี รองอธิการบดี ผู้อำนวยการเป็น นี้เป็นตัวอย่างระบบ ที่สำคัญอาจารย์ใหม่ถูกจับให้สอนและทำงานธุรการ ขาดระบบmentor ที่เป็นหัวใจในการสร้างอาจารย์รุ่นใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท