​คุณอาขา...ปรึกษาปัญหาหน่อย


ตามที่ได้ทำการสัญญากันไว้ว่าจะมาแบ่งปันกันเรื่องนี้(ในFacebook) เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงป.5 คนหนึ่งที่นำปัญหามาปรึกษา ขอความคิดเห็นเกี่ยวกับเพื่อนคนหนึ่งของเธอ ถามว่าทำไมเขาจึงมาปรึกษาอาคนนี้ เรื่องมีอยู่ว่า ในวันหนึ่งที่มาเล่นที่บ้าน แม่ดาวกำลังตอบปัญหาคาใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ปกครองท่านหนึ่งอยู่ เธอก็เดินมาถามว่าเล่นอะไรคะ ก็ตอบไปว่าอาไม่ได้เล่นนะคะ อากำลังช่วยเหลือและแบ่งปันความรู้กับคุณแม่รายหนึ่งอยู่ เขาก็เงียบไป จนตอบเสร็จปิดเครื่อง เขาก็เดินมาหาและบอกว่า “อาดาวขา หนูมีปัญหาอยากจะปรึกษาบ้างได้ไหมคะ”

เด็กหญิงคนนี้สมมุติชื่อว่า “ไก่” มีปัญาคับใจกับเพื่อนรายหนึ่งในชั้นเรียนเดียวกับเธอ สมมุติชื่อเพื่อนคนนี้ว่า “เต่า” บรรยากาศในการพูดคุยส่วนใหญ่แม่ดาวจะคุยกับเขาแบบอารมณ์เพื่อนมากกว่าผู้รู้นะคะ เล่นกันบ่อยเป็นเพื่อนกันได้ฮ่าๆๆๆ

ไก่ หนูมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อว่าเต่า เขาเป็นเด็กที่ไม่มีความรับผิดชอบเลยค่ะ ไม่ตั้งใจเรียน งานอะไรที่ครูสั่งเต่าก็ไม่ยอมทำครูก็บ่นและต่อว่า เพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ก็พลอยซวยไปด้วย (เล่าด้วยอารมณ์เบื่อหน่ายกับเพื่อนรายนี้)

อา ที่ว่า เพื่อน ๆ ต้องซวยไปด้วยนี่ ยังไงคะ

ไก่ ก็ถ้าใครนั่งเรียนใกล้เต่า คุณครูก็บอกให้เพื่อนคนนั้นคอยดูแลเต่าด้วย หากเต่าไม่ส่งงาน ไม่สนใจเรียน เพื่อนที่นั่งด้วยก็จะโดนดุไปด้วยคะ

อา อ้อ...อย่างนี้นี่เอง แล้วหนูเคยนั่งใกล้เต่าด้วยหรือเปล่าคะ

ไก่ ก็เคยค่ะ โดนไปด้วยเลย บอกเท่าไหร่เต่าเขาก็ไม่สนใจ ไม่ทำหรอก ขนาดครูบอกยังไม่ทำ

อา ลำบากแย่เลยเนาะ โดนดุไปด้วยทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด

ไก่ ใช่ค่ะ หนูงี้เซ็งมากคะ ไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยเลย

อา แล้วที่เล่าให้อาดาวฟังนี่ อยากปรึกษา หรืออยากระบายคะให้ฟังคะ

ไก่ อยากปรึกษาคะ

อา ปรึกษาเพื่อ

ไก่ หนูสงสารเพื่อนคนนี้ค่ะ เขาโดนครูดุบ่อยมาก เพื่อน ๆ ก็เอือมระอา

อา หนูสงสารเพื่อน แต่ก็มีความรู้สึกเบื่อหน่ายเพื่อนคนนี้ด้วยหรือเปล่าคะ

ไก่ (อมยิ้ม) ก็สงสารด้วยแล้วก็มีเบื่อบางทีค่ะ ก็เต่าน่ะ บอกอะไรก็ไม่ทำ ไม่ว่าจะพูดยังไงก็ไม่ฟัง

อา อ้อ...ทั้งสงสารและเบื่อในบางทีเนาะ แล้วหนูพูดกับเพื่อนว่ายังไงคะ ที่ว่าพูดเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง ไม่ทำเนี้ย ช่วยยกตัวอย่างให้ฟังสักประโยค หรือสองประโยคได้ไหม

ไก่ อืม.....ได้ค่ะ เช่น เต่าทำไมถึงไม่ทำงานที่ครูสั่งล่ะ งานค้างเยอะมากแล้วนะ ไม่ทำเดี๋ยวก็ถูกครูดุอีกหรอก

อา อืม....เข้าใจแล้วค่ะ ว่าเพราะอะไรเพื่อนถึงไม่อยากจะฟัง ถ้าเป็นอาดาวเป็นเพื่อนหนูคนนี้ ฟังคำพูดนี้ก็คงรู้สึกไม่อยากจะฟัง

ไก่ (ทำหน้างง) อ้าว...ทำไมล่ะคะ

อา เอางี้ สมมุติว่า เป็นไก่บ้าง นะคะ อาดาวเป็นเพื่อนหนู ๆ มีงานค้าง ซึ่งหนูเองก็อยากจะทำให้เสร็จ แต่อีกใจก็ไม่อยากทำ สุดท้ายหนูเลือกที่จะไม่ทำมัน (สอนให้เขาคิดตาม เอาใจเขามาใส่ใจเรา) นึกว่าเป็นความรู้สึกตัวเองนะคะ และก็ถูกครูดุบ่อยมากๆๆๆ และเพื่อนๆ แต่ละคนก็มารุมพูดกันแบบนี้บ่อย ๆ หนูลองฟังประโยคที่อาดาวจะพูดนะคะ และจำว่าหนูรู้สึกอย่างไร พร้อมไหมคะ

ไก่ พร้อมค่ะ

อา “ไก่ งานที่เธอไม่ทำส่ง เธอทำไม่ได้ ไม่เข้าใจหรือเพราะอะไรเหรอ เราเป็นห่วงเธอนะ มีอะไรให้เราช่วยเธอได้ไหม” (เว้นจังหวะให้เขาคิดและค่อยๆ ดูใจตัวเอง เวลาพูดประโยคนี้พูดด้วยท่าทีที่เป็นมิตร อ่อนโยน ห่วงใย จากใจที่อยากจะช่วยเพื่อน) อีกประโยคนะคะ “ไก่ ทำไมถึงไม่ทำงานที่ครูสั่งล่ะ งานค้างเยอะมากแล้วนะ ไม่ทำเดี๋ยวก็ถูกครูดุอีกหรอก” (พูดด้วยน้ำเสียงท่าทาง สายตา เลียนแบบเขาเลยค่ะ ออกอารมณ์ว่าหงุดหงิดปน ๆ กับอยากช่วย) หนูชอบประโยคคำพูดแบบไหนมากกว่ากันคะ

ไก่ (หัวเราะ ประมาณว่าฉันรู้ล่ะเพราะอะไร) ชอบประโยคแรกค่ะ

อา ทำไมล่ะคะ

ไก่ ก็ประโยคแรกฟังแล้วรู้สึกดีกว่า

อา แล้วอีกประโยคล่ะคะ

ไก่ รู้สึกไม่ค่อยชอบเลยค่ะ

อา นั่นซิ ทำไมหนูถึงชอบและไม่ชอบ มันต่างกันตรงไหน

ไก่ ประโยคแรกมันฟังแล้วดูห่วงใยกว่า อีกประโยคมันรู้สึกไม่รู้อ่ะคะบอกไม่ถูก รู้แต่ว่าไม่ชอบ

อา ใช่เลยค่ะ ประโยคแรกหนูรู้สึกว่าเพื่อนห่วงใยเรามากกว่าอยากจะช่วยเหลือเราจริง ๆ เนาะ ส่วนอีกประโยคที่หนูไม่ชอบและบอกไม่ถูก หนูลองคิดนะคะว่า หนูรู้สึกไหมคะ ว่าเพื่อนกำลังตำหนิเรามากกว่าอยากจะช่วยเราจริง ๆ

ไก่ (หัวเราะ) ใช่ค่ะ หนูก็รู้สึกแบบนี้เลย

อา เข้าใจหรือยังคะว่า เพราะอะไรพูดแล้วเพื่อนถึงไม่อยากจะฟัง ไม่อยากจะทำตามที่เราแนะนำ

ไก่ เข้าใจค่ะ

อา สำคัญคือความรู้สึกข้างในของหนูจริง ๆ นะคะ หากหนูต้องการช่วย สงสาร เห็นใจจริง ๆ หนูจะช่วยเพื่อนได้มากกว่า หากหนูพูดด้วยความรู้สึกเบื่อหน่ายปนความรุ้สึกสงสารเห็นใจ หนูต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าหนูอยากช่วยใคร ช่วยตัวเองไม่ให้ถูกครูดุ หรือช่วยเพื่อนให้เพื่อนทำงานเสร็จไม่ถูกครูดุ อยากช่วยใครมากกว่ากัน ตอบคำถามตัวเองก่อนนะคะ ไม่ต้องตอบอาดาวก็ได้ สำคัญที่ใจค่ะ

ไก่ ค่ะ หนูจะลองเอาวิธีนี้ไปใช้นะคะ

อา ดีค่ะ หนูมีน้ำใจอยากช่วยเหลือเพื่อนเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง (เรามักคุยกันอาจเหมือนคำพูดเป็นทางการ แต่วิธีการนี่ไม่เป็นทางการเลยค่ะ ฮาเฮกันไป มีการทดสอบซ้อมบทกันก่อนไปลงสนามจริง)

แล้วเวลาก็ผ่านไปน่าจะสักประมาณ สัปดาห์กว่า ๆ อาและหลานคนนี้ก็ได้โคจรมาพบกันอีกรอบ

ไก่ อาดาวขา หนูมีเรื่องเต่าจะมาเล่าให้ฟังค่ะ

อา อ้อ...อาดาวก็อยากจะฟัง รอว่าจะถาม ๆ แต่ไม่เจอหนูสักที เป็นอย่างไรบ้างค่ะ

ไก่ ใช้ได้ผลดีมากเลยค่ะ แรกๆ แต่ตอนนี้ก็กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกแล้วค่ะ ตอนนี้ครูให้เต่าไปทำงานที่โรงอาหารคนเดียวตอนที่พักทานข้าว

อา อ้าว..เหรอค่ะ ได้ผล แต่ไม่ได้ผลตลอด นี่เต่าต้องไปนั่งทำงานคนเดียวที่โรงเอาหาร ทำยังไงคะทำคนเดียว ไม่มีใครเลยเหรอ

ไก่ ก็คุณครูให้เต่ามานั่งทำกับครูคนเดียว คนอื่น ๆ ก็มีค่ะ พักทานข้าว ครูบอกว่าถ้าไม่อยากอายมาทำที่โรงอาหารแบบนี้ก็ต้องทำงานให้เสร็จเอง

อา โห...น่าสงสารจัง นี่ถ้าเป็นอาดาวนะ คงอายคนอื่น ๆ มากเลย แต่ครูก็ทำเพราะหวังดีเนาะ คงจะลองอยากเปลี่ยนวิธีการเดิม ๆ บ้าง

ไก่ ค่ะ

อา แล้วคุณครูใช้วิธีนี้เป็นอย่างไรค่ะ

ไก่ ก็ทำนะคะ แต่ก็ยังไม่ค่อยจะอยากทำ ต้องให้กระตุ้นเรื่อยๆ

อา แล้วที่ว่าวิธีอาดาวใช้ได้ผลดีแรก ๆ หลังไม่ได้ผลนี่ยังไงค่ะ

ไก่ ใช่ค่ะ แรก ๆ หนูพูดกับเขา ๆ ก็เหมือนฟังหนูมากขึ้น(เปลี่ยนเรื่องกระทันหัน) อ้อ..มีวันหนึ่งค่ะ เต่าโดน หงส์(เพื่อนคนหนึ่งในห้อง) ตวาดใส่เรื่อง.......... และก็ห้ามไม่ให้ใครเล่นกับเต่าด้วย หนูเองก็ยังไม่กล้าเลยค่ะ หนูไม่อยากมีเรื่องกับหงส์ แต่พอหงส์ไปแล้ว หนูก็ค่อยไปปลอบเต่า

อา ฟังแล้วหงส์นี่ดูจะเป็นบุคคลสำคัญ เป็นผู้ทรงอิทธิพลมากเลยนะคะเนี้ย ดูเพื่อน ๆ จะแคร์ความรู้สึกหงส์กันมากรวมทั้งหนู

ไก่ ใช่ค่ะ หงส์เขาบ้านรวย เป็นคุณหนู จริง ๆ หนูก็ไม่ค่อยชอบเขาเท่าไหร่ เอ๊ะอะ ตวาดเพื่อน ไม่พอใจอะไรก็งอน แบบคุณหนูเอาแต่ใจมาก

อา เป็นลูกคุณหนู ฐานะทางบ้านรวย นี่มีผลต่อความรู้สึกเพื่อนขนาดนั้นเลยเหรอคะ

ไก่ อืม....ก็น่าจะนะคะ คือเวลาเขาไปเที่ยวไหนอะไรอย่างเงี้ย เขาก็จะมีของมาแจก

อา อ้อ...เวลาไปเที่ยวก็จะนำของฝากมาแจกเพื่อน ๆ มีน้ำใจกับทุกคนหรือเปล่าคะ

ก่ ไม่ค่ะ เฉพาะกับคนที่เขาชอบ หรือสนิท

อา หนูและเพื่อนๆ ก็เลยอยากจะสนิทกับเขาว่างั้น

ไก่ (หัวเราะ) ก็จริง ๆ ก็ไม่ค่อยชอบนิสัยเขาเท่าไหร่

อา แต่อีกใจก็อยากได้ของฝาก (คือที่กล้าแซวกันแบบตรง ๆ เพราะเรียนรู้นิสัยใจคอกันดีพอสมควรแล้วนะคะ) เอาเถอะ อาดาวก็เข้าใจแหละ อาดาวมีเรื่องตอนสมัยอาดาวเด็กจะเล่าให้ฟัง อยากฟังไหม

ไก่ อยากฟังคะ (ดูจากอาการนี่อยากฟังจริง ๆ ตางี้โต หูผึ่ง จ้องเขม็งเลย)

อา (เล่าเรื่องราวสมัยเด็ก ๆ เกี่ยวกับเพื่อน ประมาณเรื่อง แกะขาวในหมู่แกะดำ เรื่องความกล้าที่จะต่าง เรื่องความเจ็บปวดปนความสุขในการแสดงออกถึงความกล้าของตัวเราในวัยเยาว์ เล่าถึงเหตุ และผลของการกระทำ ขอไม่เล่าไม่งั้นยาวมากค่ะ เล่าจบสบตา คิดว่าเขาจะเห็นอะไรบางอย่างจากเรื่องราวเหล่านี้) จบแล้วค่ะ ว่าแต่ที่ไก่เล่าว่า หนูปลอบใจเต่าหลังจากที่หงส์ไม่อยุ่แล้วหนูปลอบเพื่อนว่าอย่างไร อาดาวอยากฟัง

ไก่ อ้อ...หนูก็บอกเขาว่า “ไม่เป็นไรนะ เต่าไม่ต้องเสียใจ หงส์ก็เป็นแบบนี้แหละเดี๋ยวก็หายโกรธ”

อา ค่ะ แล้วพูดแบบนี้แล้วเต่าเป็นอย่างไรค่ะ

ไก่ ก็ยิ่งโกรธ และก็บอกไม่ต้องมายุ่งกับเรา (พูดด้วยท่าทางประมาณว่านี่ฉันปลอบเธอนะ ทำดี ไม่ได้ดีประมาณนี้ ออกไม่พอใจเต่าเล็กๆ)

อา หนูรู้ไหมทำไมไก่ถึงโกรธหนู แทนที่จะขอบคุณ

ไก่ ไม่รุ้ค่ะ คงอารมณ์ไม่ดีมั้ง

อา จริงค่ะ อาดาวก็คิดว่าเต่าต้องอารมณ์ไม่ดี ก็โดนหงส์ตวาดใส่ ยังสั่งไม่ให้เพื่อนๆ เล่นด้วย แล้วไก่คิดว่าไก่มีส่วนให้เขาอารมณ์ไม่ดีเพิ่มมากขึ้นไหม

ไก่ ไม่แน่ใจค่ะ

อา ไก่บอกอาว่า พอพูดปลอบใจแล้วเหมือนเต่ายิ่งโกรธ ใช่ไหม

ไก่ ใช่ค่ะ

อา นั่นซิ...เพราะอะไรพอฟังสิ่งที่หนูพูดเต่าถึงยิ่งโกรธ

ไก่ (ทำท่าคิด และคงคิดไม่ออก หัวเราะ) นี่หนูพูดอะไรผิดอีกแล้วใช่ไหมค่ะเนี้ย

อา ถูกๆๆๆต้องคะ มีคำพูดบางคำที่หนูไม่ตั้งใจเผลอพูดด้วยความเคยชิน ไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายความรู้สึก แต่มันทำร้ายใจเพื่อน ทายซิ

ไก่ (ทำท่าคิดๆๆ และคิดไม่ออก) ไม่รู้จริง ๆ ค่ะ

อา (ใช้วิธีการเดิม ๆ ค่ะ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ) แบบนี้ค่ะ ลองมาสมมุติกัน สมมุติว่า ในสถานการณ์นั้น ไก่เป็นเต่าแทน แล้วหงส์ก็พูดกับไก่แบบที่พูดกับเต่าเลย หนูจะรู้สึกยังไง ค่อย ๆ คิดนะคะ เอาความรุ้สึกเราเองเลย และมีเพื่อนอีกคนมาปลอบใจ ซึ่งหนูกำลังรู้สึกเสียใจมากๆ “ไก่ เธอคงเสียใจมากเลยใช่ไหมที่หงส์พูดกับเธอแบบนี้ ถ้าเป็นเราเจอหงส์พูดแบบนี้คงร้องไห้แน่ๆ เลย” และนั่งอยู่ข้าง ๆ สงบ ๆ อาจกอบเบาๆ จับมือเบา ๆ หรือแตะไหล่เบาๆ ให้กำลังใจ กับ เข้าไปพูดว่า “ไม่เป็นไรนะ ไก่ไม่ต้องเสียใจหรอก หงส์ก็เป็นแบบนี้แหละเดี๋ยวก็หายโกรธ” (พูดเลียนแบบท่าทางเขา) ไก่ฟังแล้วรู้สึกดีกับคำพูดแบบไหนมากกว่ากันค่ะ แบบแรก หรือ แบบที่ 2

ไก่ แบบที่ 1 ค่ะ

อา เพราะอะไรค่ะ ลองคิดซิ ทำไมนะไก่ถึงรู้สึกดีกับคำพูดแบบที่ 1 มากกว่า

ไก่ อืม...เหมือนๆ เขาจะเข้าใจเรามากว่า

อา แล้วแบบที่ 2 ล่ะ ไม่รุ้สึกแบบนั้นเหรอ

ไก่ อืม....ก็ฟังแล้วมันรู้สึกไม่ดีเท่า

อา ค่ะ ไก่ลองจับความรู้สึกตัวเองนะคะกับคำพูดประโยคที่ 1 พูดก็ไม่ได้เยอะมาก และใข้การแสดงออกของท่าทางอย่างจริงใจช่วย มันก็จะสื่อสารได้ถึงใจเพื่อนจริง ๆ กับอีกแบบเราก็จริงใจนะ แต่ความรุ้สึกไปไม่ถึงใจเพื่อนเพราะ เราไปปฏิเสธความรู้สึกเขาโดยเราไม่รุ้ตัว เช่น “ไม่เป็นไรนะ ไม่ต้องเสียใจ” เพื่อนก็จะรู้สึกว่าไก่ไม่เข้าใจเขา ก็ฉ้นเสียใจ ยังจะมาบอกอีกว่าไม่เป็นไรนะ ไม่ต้องเสียใจ เข้าใจไหมค่ะ

ไก่ เข้าใจค่ะ จริง ๆ ด้วย หนูพูดผิดอีกแล้ว

อา ผิดเพื่อถูกไงค่ะ อาดาวเองก็พูดผิดมาเยอะ แต่พอได้ความรู้มาก็มาแก้ไขปรับปรุงตัวเอง ผิดเป็นครูไง ไก่โชคดีออกได้รู้ตั้งแต่ยังอายุ 11 ขวบ อาดาวนี่รู้ตอน 33 หรือ34 ได้ ติดปาก แก้ยากกว่าอีก

ก่ เดี๋ยวหนูจะเอาไปลองใช้ดูนะคะ

อา จ้าสำคัญคือ อะไรคะ จำได้ไหม

ไก่ คำพูดค่ะ

อา ค่ะ คำพูดรู้แล้วเนาะว่าสำคัญ แต่มีอีกเรื่องที่สำคัญคือ......(

ไก่ ใจค่ะ

อา ถูกๆๆต้องค่ะ ความจริงใจของเรา (และซ้อมกันก่อนเพื่อความมั่นใจ คล่องปาก)

จากนั้นก็ผ่านไปอีกสักสัปดาห์น้องไก่ก็มารายงานผลว่า “ใช้ได้ดีมากเลยค่ะ และตอนนี้นะคะ หนูก็ใช้วิธีกับหงส์และเพื่อนคนอื่น ๆ ด้วย ดีขึ้นเยอะเลยค่ะ” รู้สึกชื่นใจและชื่นชมที่ไก่เรียนรู้เองว่า ไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดเหล่านี้เฉพาะกับเต่าเท่านั้น เขาลองนำไปใช้กับเพื่อนคนอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ตัวเขามีความสุขมากขึ้น เพื่อนก็มีความสุขมากขึ้น และไม่ลืมชื่นชมส่งเสียงดังให้ไก่รับรู้ความในใจของอาคนนี้ไปดัง ๆ ยิ้มหน้าบานกันไปไม่รู้เข้าบ้านได้ไหม อาจจะหน้าใหญ่กว่าบานประตูบ้านฮ่าๆๆๆ

เรื่องราวเหล่านี้เป็นอีกเรื่องราวดี ๆ ที่ประทับใจ ไม่ได้ได้บอกนะคะว่าวิธีการแบบนี้ดีและถูกต้อง ต้องลองพิจารณากันเอง ทำแบบไม่คาดหวัง เราสามารถช่วยเด็กๆ ได้ หลายทาง เช่นการรับฟังอย่างลึกซึ้ง(ฟังอย่างมีสติ) รับฟังและสะท้อนความรุ้สึก ชวนคิด ชวนคุย และอาจเสนอแนะวิธีการจากตัวเราซึ่งผ่านประสบการณ์มาก่อนแบบไม่บังคับ จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ทำแบบไม่คาดหวังผลเนาะ ไม่รู้หรอกค่ะว่าเขาจะใช้วิธีการนี้ไปนานแค่ไหน สม่ำเสมอไหม เพราะคนดูแล คนใกล้ชิดก็คนละแนวทางกับแม่ดาวแทบจะเป็นเส้นขนาน คือคนละทางกันเลยทีเดียว ไหนจะสังคมโรงเรียนเขาอีก เอาเป็นว่าเมื่อไหร่ที่เหนื่อยใจ ก็หลบมาพักใจตรงบ้านนี้ได้ พร้อมรับฟัง พร้อมดูแลใจได้ทุกเวลา

คุณล่ะคะ เคยมีเรื่องราวประทับใจดี ๆ แบบนี้กันบ้างไหม ชวนกันแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน


หมายเหตุ เรื่องราวนี้นำมาจากเรื่องเค้าโครงเรื่องจริงไม่อิงนิยาย ถ่ายทอดจากความจำมิใช่ความจด(จดบันทึก) จึงไม่อาจถ่ายทอดได้ตรงกับคำพูดณ.ขณะนั้นได้เป๊ะๆ แต่ประมาณนี้แหละค่ะ และได้ขออนุญาติจากเด็กหญิงผู้เล่าเรื่องแล้วนะคะ เขายินดีและเต็มใจแบ่งปันเรื่องราวนี้

หมายเลขบันทึก: 592331เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2015 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2015 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

จริงด้วยนะคะ “ไม่เป็นไรนะ ไม่ต้องเสียใจ” ไม่ได้แสดงให้เห็นความจริงใจนะ แม่เองก็ลืมไปเหมือนกันค่ะ ไม่ค่อยคิดถึงประเด็นนี้ค่ะ ขอบคุณนะคะ

เมื่อก่อนตัวเองก็พูดนะคะ "ไม่เป็นไรลูก" "ไม่เจ็บนะ" แต่ไม่ได้เพราะลืมคิดค่ะ แต่คิดไม่ถึง555 อยากปลอบใจ แต่กลายเป็นทำร้ายความรู้สึกลูกไปซะงั้น เพราะศึกษาและเรียนรู้จึงได้รู้ และเมื่อรู้จึงได้ใช้ และเมื่อใช้แล้วใช่ ใช้แล้วถูกใจ ถูกทาง ถูกใจลูก ถูกใจแม่ จึงอยากแบ่งปันต่อๆๆไปค่ะ

เขาถึงว่า แม่ต้องเรียนไปพร้อมกันกับลูกนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท