"หลุมพราง" ขวาง "ทางออก"


(บทความนี้ตีพิมพ์ลงใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม 2558)

“ปัญหาทุกปัญหาย่อมมีทางออก”

“ทางออกของปัญหา อันหมายถึง เส้นทางที่จะนำเราไปสู่สิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่แตกต่างนั้นย่อมต้องดีกว่าเดิม”

ในประสบการณ์ของผู้เขียนในการทำหน้าที่ “ที่ปรึกษา (Consultant)” ให้กับบริษัทต่าง ๆ ในเรื่องของการแก้ปัญหา พัฒนาปรับปรุงงานนั้น พบว่ามี “หลุมพราง” ที่มาคอยสกัดกั้นขวางเส้นทางสู่ “ทางออกของปัญหา” อยู่ด้วยกัน 2 หลุมพรางใหญ่ ๆ

Trap

1. “หลุมพรางความเคยชิน”

คนส่วนใหญ่ที่มักตกหลุมพรางนี้ ได้แก่ คนที่ทำงานอยู่ในตำแหน่งหน้าที่งานนั้น ๆ มาเป็นเวลานาน รับผิดชอบทำงานเดิม ๆ ซ้ำ ๆ จนทำให้เกิด “ความเคยชิน” แล้วมักคิดไปเองว่าสิ่งที่ทำนั้นดีที่สุดแล้ว หลายคนเกิด “อัตตา” ในงานที่รับผิดชอบ มีความคิดว่า “คนอื่นจะไปรู้เรื่องในงานที่ตนเองรับผิดชอบได้อย่างไร ตนเองนั่นแหละรู้เรื่องในงานดีที่สุดแล้ว งานที่ทำอยู่ก็ทำดีที่สุดแล้ว”

สิ่งที่จะทำให้หลุดพ้นจาก “หลุมพรางความเคยชิน” ก็คือ การเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม เพราะบางครั้งคนที่อ่อนกว่าเราทั้งในเรื่องคุณวุฒิ วัยวุฒิ ก็อาจให้คำแนะนำดี ๆ กับเราก็ได้ เช่น ร้าน House of Commons – Café&Space ที่ผู้เขียนเป็นหุ้นส่วนอยู่ ก็จะมีระบบการ Check Stock หนังสือในระบบ Manual มากว่า 2 ปี ตั้งแต่เปิดร้าน จนเมื่อช่วงปิดเทอมที่ผ่านมาได้รับน้องแบงค์ ที่เรียนอยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ามาช่วยงานที่ร้าน พอน้องแบงค์มาช่วย Check Stock หนังสือ ก็มีคำถามให้พวกเราฉุกคิดขึ้นมาทันทีว่า “พี่ครับ! ไม่เบื่อเหรอครับต้องมา Check Stock แบบนี้ทุกเดือน ๆ แบงค์ว่ามันน่าจะมีวิธีการที่ดีกว่านี้นะครับ” คำถามที่น้องแบงค์ถามทำให้เราสามารถหลุดพ้นจาก “หลุมพรางความเคยชิน” เพื่อค้นหาเส้นทางสู่ “ทางออกของปัญหา”

2. “หลุมพรางกรอบความคิด”

หลุดจากหลุมพรางแรก “หลุมพรางความเคยชิน” ก็จะทำให้เราได้ขบคิดเพื่อค้นหาเส้นทางสู่ “ทางออกของปัญหา” เมื่อเราขบคิดแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ จากปัญหาที่ “ไม่รู้สาเหตุ” และ ”ไม่รู้วิธีแก้ไข” ก็จะนำไปสู่ปัญหาที่ “รู้สาเหตุ” แต่ “ไม่รู้วิธีแก้ไข” พอมาถึงขั้นตอนนี้ในกระบวนการแก้ปัญหาเรามักตก “หลุมพรางกรอบความคิด”

“กรอบความคิด” คือ สิ่งที่ถูกหล่อหลอมขึ้นจากประสบการณ์ของเราเอง ดังนั้นเมื่อต้องการคิดหา “วิธีแก้ไข” เราก็มักจะใช้ประสบการณ์เดิม ๆ ซึ่งแน่นอนว่า “วิธีแก้ไข” ก็จะไม่แตกต่างจากเดิมมากเท่าไหร่ ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้ก็จะไม่แตกต่างจากเดิมไปซะเท่าไหร่ ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับปัญหาเดิม ๆ

สิ่งที่จะทำให้หลุดพ้นจาก “หลุมพรางกรอบความคิด” ก็คือ การที่เราต้องคิดหาวิธีการใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างไปจากเดิม และดีกว่าเดิม

ตัวอย่างแนวคิดในการคิดหาวิธีการใหม่ ๆ เช่น

  • เทคนิค “SCAMPER” – โดยให้เราตั้งคำถามกับวิธีการเดิม ๆ ที่ทำอยู่ว่า

S – Substitute มีอะไรที่สามารถเข้ามาทดแทนได้ไหม

C – Combine มีอะไรที่สามารถทำพร้อมกันได้ไหม

A – Adapt มีอะไรที่สามารถดัดแปลงได้ไหม

M – Modify มีอะไรที่สามารถเพิ่มเติมเข้ามาได้ไหม

P – Put to another use มีอะไรที่สามารถนำไปใช้งานในหน้าที่อื่น ๆ ได้ไหม

E – Eliminate มีอะไรที่สามารถกำจัดตัดทิ้งได้ไหม

R – Re-arrange มีอะไรที่สามารถจัดเรียงลำดับใหม่ได้ไหม

  • เทคนิค “Benchmarking”

การเทียบเคียงกับหน่วยงานอื่น ๆ บริษัทอื่น ๆ ว่าในเรื่องที่เป็นปัญหาอย่างที่เราประสบอยู่ เขามี ”วิธีแก้ไข” อย่างไร อย่าไปยึดติดว่า “งานของเขาไม่เหมือนเรา เอามาใช้ไม่ได้หรอก” ตัวอย่างเช่น ในเรื่องระบบ Check Stock หนังสือ เริ่มต้นที่คิดหา “วิธีแก้ไข” ก็ไปทำการ Benchmark กับร้านหนังสือขนาดเล็ก ๆ ก่อน แต่ก็ปรากฎว่าใช้ระบบ Manual เหมือนกัน เราเลยต้องขยับยกระดับการ Benchmark ของเราไปเทียบเคียงกับร้านหนังสือขนาดใหญ่ ก็จะได้เรียนรู้ในเรื่องการนำเครื่องอ่าน Barcode มาปรับใช้ในระบบการขาย และระบบ Check Stock เพียงแต่นำมาปรับใช้ในขนาด Scale ที่เล็กลง พัฒนาโปรแกรมขึ้นมาใช้งานเองโดยเฉพาะ

จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นกิจการขนาดใดก็ตามไม่ว่าจะเล็ก กลาง หรือใหญ่ ก็ย่อมล้วนมีสถานการณ์ที่ให้ขบคิดเพื่อแก้ปัญหา และตัดสินใจ ด้วยกันทั้งสิ้น สนใจหลักสูตร “Thinking Skills for Problem Solving and Decision Making” สอนโดย อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร (นายเรียนรู้) ติดต่อได้ที่ คุณเพชร 081-7113466

สำหรับผู้อ่านคอลัมน์ “Life is Learning” สามารถเข้าไปอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ http://nairienroo.wordpress.com

“นายเรียนรู้”

นายบุญเลิศ คณาธนสาร

http://nairienroo.wordpress.com

[email protected]

คำสำคัญ (Tags): #problem solving
หมายเลขบันทึก: 592319เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2015 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2015 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท