แนะนำนิทานและเทคนิคการชวนลูกคุย


สวัสดียามเช้าวันพุธค่ะ วันนี้มีหนังสือนิทานมาแนะนำจ้า

แบ่งปันนิทานดี ๆ เพื่อชีวิตครอบครัวดี ๆ เรื่อง “กระรอกน้อยเจ้าป่า” ใครสนใจลองไปหาซื้อมาอ่านให้ลูกฟัง หรือจะซื้อให้ลูกอ่านเองก็ได้นะคะ เขาระบุไว้ว่า สำหรับเด็กวัย 8-12 ปี จริง ๆ แม่ดาวไม่ได้คำนึงถึงอายุลูกสักเท่าไหร่ ดูจากความเข้าใจ ความสนใจของลูกเป็นเบื้องต้น จากนั้นก็ดูว่าเราต้องการจะสอดแทรกคุณธรรม หรือคุณสมบัติอะไรให้ คือบางกรณีจงใจหานิทานตามลักษณะนิสัยที่อยากส่งต่อให้ลูก หรือช่วงนี้มีพฤติกรรมจี๊ดใจที่อยากแก้ไข ใช้นิทาน นิทานซ่อมและสร้างใจได้ค่ะ (อันนี้ก็เป็นประสบการณ์และความคิดเห็นส่วนตัวอีกล่ะ) ตอนลูกสัก 5-6 ขวบหากจำไม่ผิด แม่ดาวเคยได้นิทานในชุดนี้มา 1 เล่ม เรื่อง “คุณหมอสุขใจไขปัญหา” อ่านกับลูกแล้วชอบกันมากทั้งแม่และลูก ช่วงนั้นมีอะไรก็มาเล่นบทบาทสมมุติกัน เช่น ผลัดกันเป็นคุณหมอสุขใจ มีปัญหาอะไรก็มาใช้วิธีนี้คุยกัน เช่นแม่ดาวมีปัญหาเรื่องที่มีผู้ปกครองมาถามเรื่องพฤติกรรมลูก ว่าแบบนี้จะแก้ยังไง ก็ให้ลูกเป็นคุณหมอสุขใจมาช่วยไขปัญหา หรือเขามีปัญหาอะไร แม่ดาวก็จะแปลงร่างเป็นคุณหมอสุขใจช่วยไขปัญหา สลับ ๆ กัน แต่ก็เลิกเล่นมุกนี้ไปนานแล้วนะคะ

หากถามว่า นิทานเรื่องนี้ /ชุดนี้ ดีอย่างไร เหตุใดจึงชอบ

ตอบ คือ เป็นหนังสือนิทานที่มีแง่คิดดี ๆ ในการสอน และที่สำคัญท้ายเล่มยังมีเทคนิควิธีการแนะนำให้พ่อแม่ได้ชวนลูกพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับนิทานเล่มนี้ คิดว่าช่วยได้มากนะคะ สำหรับพ่อแม่บางท่านที่อาจคิดไม่ออก เล่าจบแล้วจะคุยอะไร จะถามอะไร เพื่อกระตุ้นให้ลูกได้ฝึกคิด การชวนคุยอยากให้คุยสบาย ๆ ไม่ได้จะเอาเป็นเอาตายกับคำตอบ ไม่ใช่การสอบ ที่ต้องตอบให้ถูกต้อง ไม่ได้เพื่อคะแนนใด ๆ ในการพูดคุยแม่ดาวใช้ความสุขเป็นเบื้องต้น ลูกฟังนิทานก็มักสนุกมีความสุข จากนั้นก็ชวนคุย ชวนคิด แบบไม่ได้ไปกดดัน บางครั้ง ลูกฟังจบก็บอก ขอไม่ตอบได้ไม่แม่ ง่วงมากอยากนอน555 ก็ไม่มีปัญหาค่ะ อย่างที่บอกสบาย ๆ ใช้นิทานเป็นสะพานเชื่อมใจแม่ลูก เป็นกิจกรรมก่อนนอนที่ผ่อนคลาย เสริมสร้างความรักฟูมฟักความดีไปทีละนิด ๆ ประมาณนั้น

คำถามท้ายเล่มส่วนมาก แม่ดาวก็จะอ่านในใจไว้ พอเวลาจะถามจะไม่ได้อ่านเรียงตามตัวอักษร แต่ถามจากความเข้าใจ ใช้คำพูดที่คิดว่าเหมาะกับลูก ว่าถามแบบนี้เขาจะรู้สึกอยากจะตอบเรา ส่วนมากลูกแม่ดาวชอบขำ ๆ 555 และไม่จำเป็นจะต้องถามให้ได้ครบทั้งหมด แต่ส่วนมากแม่ดาวก็ถามลูกครบนะคะ ออกจะเกินด้วยซ้ำ ลูกชอบคุย แม่ก็ชอบคุย

ยกตัวอย่างการพูดคุยเกี่ยวกับนิทานเรื่องนี้เล่าสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อคืนนี้เอง

แม่ ที่โรงเรียนลูกใช้วิธีการแบบไหนในการเลือกหัวหน้าห้องครับ

ลูก ก็ใช้หลักประชาธิปไตย (5555 แม่หัวเราะในใจตอบแบบเป็นหลักการมาก)

แม่ อ้อใช้หลักประชาธิปไตย แล้วที่ว่าหลักประชาธิปไตยนี่เป็นยังไงครับ

ลูก ก็ให้เพื่อน ๆ สมัคร ใครอยากเป็นหัวหน้าห้องให้ยกมือ แล้วก็ให้เพื่อน ๆ ลงคะแนน ใครได้คะแนนเยอะที่สุดก็เป็นหัวหน้าห้อง ใครให้คะแนนรองลงมาก็เป็นรองหัวหน้า (เรื่องนี้เคยคุยกับคุณครู ก็ว่าเช่นนี้ เพิ่มเติมที่ครูบอกว่าขอผู้กล้า 4 คน)

**** บทสนทนาข้างบนนี่เป็นบทสนทนาที่เคยเคยกันมาตั้งแต่เปิดเรียนใหม่ ๆ นะคะ แต่เอามาลงไว้ด้วยเผื่อเป็นแนวคิดให้พ่อแม่ที่สนใจ อาจอ่านแล้วได้วิธีการพูดคุยไปคุยกับลูกตัวเองนะคะ

เริ่มต้นของเมื่อคืนจริง ๆ

แม่ เอ..หัวหน้าห้องอาทิตย์นี้ ใครเป็นครับ (สลับเปลี่ยนทุกอาทิตย์เพื่อให้หมุนเวียนกันทำหน้าที่ ใครที่เป็นแล้วจะไม่ได้เป็นอีก เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทดลองทำหน้าที่เหล่านี้บ้าง)

ลูก ก็ xx เป็นหัวหน้า ส่วนรองก็ yy (นามสมมุติ)

แม่ อ้อ xx เป็นหัวหน้าห้อง ส่วน yy ก็เป็นรองหัวหน้าห้อง แล้วเป็นอย่างไรบ้าง (คือพอเปลี่ยนหัวหน้าห้องแต่ละรอบ ลูกก็มักจะมีเรื่องมาเล่าให้ฟัง เกี่ยวกับความคิดเห็นที่เขามีต่อหัวหน้าห้องและรองหัวหน้าห้องแต่ละรอบ)

ลูก ดีนะแม่

แม่ ดียังไงล่ะ ใจดี ดุดี ปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี หรืออะไรครับ

ลูก ก็ใจดี ไม่ค่อยเหมือนคนที่แล้ว

แม่ ลูกหมายถึง M รองหัวหน้าห้องคนที่แล้วเหรอ หรือหมายถึง หัวหน้าห้อง

ลูก หมายถึง ดีกว่า M เยอะ ไม่จดชื่อเพื่อนเท่าไหร่ (เป็หน้าที่หนึ่งที่ครูจะมอบหมายให้หัวหน้าห้องและรองหัวหน้าห้องคอยจดชื่อนักเรียนที่คุยเวลาครูไม่อยู่)

แม่ หัวหน้าห้องใจดีไม่ค่อยจดชื่อเหรอ

ลูก ไม่ใช่หรอก สงสัยจดไม่ทัน คงสะกดชือ่ไม่ค่อยได้มั้ง(ฮาอีกล่ะ...พูดไปก็ยิ้มแบบเจ้าเล่ห์ อาการนี้เดาว่า คงยังไม่แน่ใจว่า ใจดีจริง หรือ จดชื่อเพื่อนไม่ทัน เลยเล่นมุก)

แม่ แล้วถ้าลูกได้เป็นหัวหน้าห้องบ้างล่ะ ลูกจะเป็นหัวหน้าห้องแบบไหน

ลูก ตอบง่ายมาก "ไม่เป็น" เพราะจะไม่ยกมือ (ฮ่าๆๆๆๆ)

แม่ อ้าว...ทำไมล่ะ ไม่อยากเป็นหัวหน้าห้องบ้างเหรอ

ลูก เคยเป็นแล้วเมื่อตอนป.2 ไม่เห็นจะดีเลย ทำหน้าที่ก็เยอะ ความรับผิดชอบเยอะแม่ ครูก็ไม่ค่อยจะเข้าใจ เพื่อนก็ไม่ค่อยจะยอมฟังหรอก เด็กพวกนี้คุยกันตลอดแหละ พูดไม่หยุด (จริง ๆ เขาจะตอบจบแค่ ทำหน้าที่เยอะ รับผิดชอบเยอะ ส่วนเหตุผลที่ห้อยท้ายเพิ่มเพราะเป็นเหตุผลที่เขาเคยบอกไว้ว่าทำไม จึงอยากเพิ่มเข้าไปจะได้เห็นภาพชัด ๆ )

แม่ อืม...แม่เข้าใจแหละ แม่ก็เคยเป็นรองหัวหน้าห้อง เวลาเพื่อนทำผิด แม่จะโดนด้วยเป็น 2 เท่า ของแม่นี่ถูกตีเลยนะ เพื่อน ๆ ก็มักมองว่าเราร้ายกาจ บ้าอำนาจ จริง ๆ เราก็แค่ทำตามหน้าที่ กดดันเนาะ ไหนจะครู ไหนจะเพื่อน แต่พอโตมาแม่เรียนรู้ว่าจริง ๆ แล้ว นั่นคือ การฝึกฝนความเป็นผู้นำ แม่อาจโดนฝึกหนักไปหน่อยฮ่าๆๆ เลยเข็ดเลย พอมาอีกที ได้รับเลือกเป็นอีก ร้องไห้หน้าห้องเลย ไม่อยากจะเป็นอีกแล้วฮ่าๆๆ จริง ๆ แล้วแม่ก็เพิ่งมาเรียนรู้ว่าเราสามารถเป็นผู้นำที่ดีได้ นำแบบได้ใจลูกน้อง นำแบบไม่กดดันตัวเอง แล้วสมมุตินะ ถ้าลูกได้เป็นหัวหน้าห้องจริง ๆ ลูกจะเป็นหัวหน้าห้องแบบไหน และจะทำอะไรเพื่อเพื่อนบ้าง ขอสัก 5 ข้อ พอ

ลูก ถ้าตอบจะได้ฟังนิทานอีกเรื่องไหม

แม่ ลูกอยากฟังนิทานอีกเรื่อง ได้ไม่มีปัญหา ตอบมา เดี๋ยวแม่จัดให้

ลูก 1. จะเป็นตัวอย่างที่ดี (โห....นี่หลักการสำคัญ หลักเดียวกับแม่ดาวเลี้ยงลูกเลยนะคะฮ่าๆๆๆ)

2. จะเตือนเพื่อนก่อนเวลาที่เพื่อนคุยไม่จดชื่อทันที

3. จดชื่อเพื่อนหากเตือนแล้วไม่ฟัง

4. ช่วยปิดหน้าต่างบานเกร็ดให้เพื่อนๆ (เวลาเปิดแอร์ในห้องเรียน)

5. ช่วยเหลือคุณครู

แม่ นี่ถ้าแม่เป็นเพื่อน ๆ ลูกนะ แม่คงจะลงคะแนนให้หัวหน้าห้องคนนี้แน่ ๆ เลย ทั้งเป็นตัวอย่างที่ดี มีเตือนก่อนด้วยให้โอกาสเพื่อนได้แก้ไขปรับปรุงตัว ก่อนและก็เด็ดขาด รักษาคำพูด จดชื่อทันทีหากเพื่อนคุยอีก มีน้ำใจช่วยปิดหน้าต่างและช่วยเหลือคุณครูอีกต่างหาก (ลูกยิ้มปากบานฮ่าๆๆๆ ) แม่ขอนุญาติเอาเรื่องนี้ไปเขียนแบ่งปันเพื่อเป็นความรู้ เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ไหมครับเนี้ย

ลูก ได้ไม่มีปัญหา แต่เรื่องลูกบอลไม่ได้นะแม่ แม่สัญญาแล้ว

แม่ แม่รักษาสัญญาครับ ยินดีให้ตรวจสอบได้เลย เปิดFacebook ให้อ่านได้ แม่รักษาคำพูดแน่นอนครับ ลูกก็รู้ว่าแม่พูดจริง ทำจริง

เรื่องราวจึงเป็นเช่นนี้ และเรื่องที่บอกว่าจะขออนุญาติลูก ก็อย่างที่ทราบ เขาไม่อนุญาติ จึงขอผ่านไปเลยนะคะฮ่าๆๆๆๆ เป็นปกติของคนเราเนาะ เรื่องราวไม่ค่อยจะดีของตัวเอง ก็ไม่อยากจะเปิดเผย ถึงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นก็เถอะ เอ...บอกเอง ก็สับสนเองว่า ตกลงแม่ดาวผิดปกติใช่ไหมเนี้ย ที่มักเอาเรื่องไม่ดีของตัวเองมาเปิดเผย จริง ๆ แล้วจากใจค่ะ ไม่อยากให้ใครต้องมาได้บทเรียนแบบตัวเอง ยินดีแบ่งปันเรื่องทุกข์ ๆ ไม่ดี เพราะตอนนี้ก็ผ่านมาได้แล้วหลายเรื่อง เรียนรู้แล้ว เลยอยากส่งต่อ ไว้ให้เป็น”บทเรียน” เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย

ขอบคุณที่สละเวลาอ่านกันมาจนถึงบรรทัดนี้นะคะ และมีใครอยากจะแบ่งปันนิทานเล่มโปรดกันบ้างไหม แนะนำกันบ้างนะคะ ดีอย่างไร น่าสนใจตรงไหน เผื่อน่าสนใจแม่ดาวจะได้พุ่งตัวไปหามาอ่านกับลูกบ้างค่ะ ขอบคุณล่วงหน้าเลยนะคะ

หมายเลขบันทึก: 591852เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2015 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2015 09:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วันนี้ชวนลูกไปซื้อมาอ่านดีกว่า ขอบคุณนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท