​เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง : ๑๖. TL ในการศึกษาพื้นฐานของผู้ใหญ่



บันทึกชุด “เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ๒๖ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Transformative Learning in Practice : Insight from Community, Workplace, and Higher Education เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor and Associates ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2009

ตอนที่ ๑๖ นี้ ได้จากการตีความบทที่ 15 Transformative Learning in Adult Basic Education เขียนโดย Kathleen P. King (ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาผู้ใหญ่ Fordham University, New York City) และ Barbara P. Heuer (ผู้ช่วยศาสตราจาย์ด้านการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัยด้านการศึกษา Fordham University)

สรุปได้ว่า การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการที่ค่อยๆ เกิดขึ้น หมายความว่าต้องใช้เวลา ดำเนินการต่อเนื่อง โดยที่กระบวนการเรียนรู้ต้องไม่ใช่การถ่ายทอดความรู้ แต่เป็นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ร่วมกัน ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิดร่วมกัน ภายใต้บรรยากาศของความเคารพ จริงใจ สนับสนุน และไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน โดยมี “คุณอำนวย” ที่มีทักษะและฉันทะ

เป็นเรื่องราวของ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (TL – Transformative Learning) ในการศึกษาผู้ใหญ่ ซึ่งมีการศึกษาไว้น้อยมาก บทความเล่าประสบการณ์ใน ๒ บริบท คือใน (๑) การศึกษาพื้นฐานในผู้ใหญ่ (ABE – Adult Basic Education) และ (๒) ในการพัฒนาครู (GED – General Education Development) และในทั้งสอง บริบทตามปกติไม่รู้จัก TL

โมเดลที่ใช้คือ Contexualized Model of Adult Learning และใช้ ๓ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (๑) ผู้เรียนเป็น ศูนย์กลาง (๒) ความปลอดภัยและความไว้วางใจ (๓) การอำนวยความสะดวกและการจัดรูปแบบของการเรียน


สองบริบท

บริบทแรก เป็นการประยุกต์ใช้ในนักเรียนผู้ใหญ่ ในศูนย์ Adult Literacy Center ชานเมืองแห่งหนึ่ง จำนวน ๑๙ คน ไปสัมภาษณ์และติดตามนักเรียนต่อเนื่องเป็นเวลา ๙ เดือน โดยที่นักเรียนส่วนใหญ่ มาเข้าหลักสูตรก่อนแล้ว เป็นเวลา ๓ - ๖ เดือน

ส่วนใหญ่เป็นคนอเมริกัน สองสามคนมาจากจาไมก้า ๑ คนมาจากคิวบา จำนวนมากได้เงิน ช่วยเหลือจากรัฐ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเข้าเรียนไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ ๓๕ ชั่วโมง จึงจะได้รับเงินช่วยเหลือ เกินครึ่งถือว่าตนเองเป็นอัฟริกันอเมริกัน ประมาณหนึ่งในสี่ถือว่าตนเองเป็นคนฮิสแปนิก อีกประมาณหนึ่งในสี่เป็นคนขาวที่ไม่ใช่ฮิสแปนิก คนเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นผลของความล้มเหลว ของสังคมและการศึกษา

ประมาณหนึ่งในสาม อายุระหว่าง ๓๐ - ๓๙ อีกหนึ่งในสาม อายุระหว่าง ๔๐ - ๔๙ ร้อยละ ๒๐ อายุระหว่าง ๒๑ - ๒๙

ทุกคนเรียนในห้องเรียนเดียวกัน ผลการทดสอบพบว่าความรู้ต่ำกว่าเกรด ๘ ในวิชาคณิตศาสตร์ และต่ำกว่าเกรด ๑๐ ในวิชาอ่าน

บริบทที่สอง เป็นกลุ่มครูและผู้บริหาร ABE ในระบบโรงเรียนในเมือง จำนวน ๑๐๑ คน จากระบบโรงเรียนมัธยมทางเลือกในเมือง ที่กำลังมีการปรับปรุงขนานใหญ่ ที่มาเข้าโครงการพัฒนาครู เป็นเวลา ๑ ปี เข้า 8 workshop ที่มหาวิทยาลัย (๓ ครั้งในภาคฤดูร้อน ๒ ครั้งในฤดูใบไม้ร่วง และ ๓ ครั้งในฤดูใบไม้ผลิ) และมีโค้ชไปเยี่ยมที่โรงเรียนเดือนละครั้ง

ครูเหล่านี้มีประสบการณ์สอน ๕ - ๒๐ ปี สอนสาขาอาชีวะ และการศึกษาพื้นฐาน แก่นักเรียนที่มีปัญหา หลากหลาย เช่น วัยรุ่นตั้งครรภ์ ติดคุก เป็นอันธพาล และผลการเรียนอ่อน

ทั้งสองกิจกรรม เป็นกิจกรรมระยะยาว เพราะเชื่อว่า TL เป็นเรื่องที่ค่อยๆ เกิด ต้องใช้เวลา

ผู้เขียนบอกว่า มีหลักฐานหลากหลาย ที่แสดงว่าได้ผล “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” โดยเฉพาะที่ตัว นักเรียน GED (บริบทที่หนึ่ง) ที่มาเรียนมากขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น และแสดงความมั่นใจมากขึ้น ส่วนในครู (บริบทที่สอง) เปลี่ยนจากทัศนคติเชิงลบต่อการเปลี่ยนแปลง มาเป็นบวก และมีความหวังมากขึ้น กลุ่มครูที่เริ่ม เข้าโครงการด้วยท่าทีต่อต้าน จบโครงการด้วยการนำเทคนิคการสอนแบบใหม่ (คือแบบ Active Learning ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิดอย่างจริงจังต่อโลกทัศน์ของตน) ไปใช้ กับนักเรียนของตน

เขาสังเกตเห็น “สานเสวนาภายใน” (internal dialogue) ของครูที่มาเข้าโครงการ สะท้อนการตั้งคำถาม ต่อความเชื่อที่ยึดถือมานาน และรับเอาข้อมูลใหม่ๆ เข้าไปไตร่ตรอง นำไปสร้างความเข้าใจใหม่ๆ และเกิดพฤติกรรมใหม่ๆ ในการจัดการเรียนการสอน ครูบอกว่า ประสบการณ์การเรียนรู้นี้ ให้พลัง ฟื้นชีวิต และให้กำลังใจ แก่ระบบ (การศึกษาทางเลือก) ที่ไร้โครงสร้าง นำไปสู่โอกาสาร้างสรรค์ใหม่


ยุทธศาสตร์

ดังได้กล่าวแล้วว่า ผู้เขียนใช้ contextualized model of adult learning ซึ่งหมายถึงปรับไปตาม สถานการณ์ แต่ก็มีหลักการดังต่อไปนี้


ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

สภาพผู้เรียนเป็นศูนย์กลางสะท้อนออกมาที่สภาพห้องเรียน และที่หลักสูตรการเรียนรู้

ห้องเรียนจัดเรียงโต๊ะเก้าอี้นั่งเป็นรูปตัวยู เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ไม่ได้จัดหันหน้าเข้าหา หน้าห้องเพื่อฟังผู้สอน มีที่ว่างด้านข้างกว้างพอที่จะจัดเก้าอี้ใหม่เพื่อการประชุมกลุ่มย่อย มีป้ายชื่อ แฟ้ม และปากกาให้ สื่อว่าในห้องนี้ผู้เรียนจะได้รับความเคารพและรับฟัง และห้องนี้เป็นห้องทำงานร่วมกัน เพื่อการเรียนรู้ของผู้เรียน

กระบวนการเรียนรู้ เป็นการเรียนแบบโครงงาน (PBL – Project-Based Learning) และเรียนแบบ ร่วมมือกันเป็นกลุ่ม (CL – Collaborative Learning) ซึ่งในตอนแรกขลุกขลัก เพราะครูที่มาเข้ารับ การอบรมไม่คุ้นเคย แต่ก็แก้ไขได้ ในกระบวนการเรียนรู้นี้ ผู้สอนกลายไปเป็น “คุณอำนวย” (facilitator)

ห้องเรียน ABE ก็เปลี่ยนโฉม กลายเป็นห้องทำงานกลุ่ม มีผลทำให้นักเรียนง่วนอยู่กับงานหรือ บทเรียนตลอดวัน ไม่ใช่แค่มาเรียนวิชาแล้วก็กลับ แต่ประสบการณ์ระยะยาวหลายปี พบว่ามีนักเรียนบางคน ไม่ชอบห้องเรียนแบบนี้ และลาออกไปเรียนที่อื่น ที่ใช้วิธีสอนแบบถ่ายทอดความรู้ สะท้อนว่า ลางเนื้อชอบลางยา ในเรื่องวิธีเรียน

นักเรียนแต่ละคนเรียนโดยการทำงานที่ได้รับมอบหมาย โดยมีการช่วยเหลือปรึกษาหารือกัน มีการค้นเอกสาร เป็น “คุณอำนวย” ซึ่งกันและกัน การเรียนมีทั้งกิจกรรมทำคนเดียว และที่ทำเป็นกลุ่ม ใช้กระบวนการกลุ่ม การสวมบท (role play) การแสดงสถานการณ์จำลอง การสานเสวนา และการทบทวนไตร่ตรองสะท้อนคิด

มิติสำคัญของการยึดถือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง อยู่ที่ครูตระหนักว่าแหล่งสนับสนุนการเรียนรู้ ไม่ได้มีอยู่ที่โรงเรียนเท่านั้น ยังมีเว็บไซต์ สิ่งตีพิมพ์ และอื่นๆ อีกมากมาย


ความปลอดภัยและความไว้เนื้อเชื่อใจ

นี่คือปัจจัยสำคัญของ TL ในช่วงแรกครู GED ที่มาเข้าแสดงความไม่พอใจ และระแวงต่อโครงการ ทีมองผู้เขียนจัดเวทีให้ครูได้แสดงออก สร้างพื้นที่ปลอดภัยของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแสดงออก เชิงอารมณ์ และสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ผ่านกระบวนการสานเสวนา (dialogue), บทบาทจำลอง (role play) ฉากสถานการณ์ (scenarios) และเขียนบนกระดาษ ฟลิปชาร์ต ได้โดยไม่ต้องลงชื่อ

เมื่อจบวัน ให้สมาชิกเขียน AAR ลงบนกระดาษ ว่าได้เรียนอะไรที่มีประโยชน์ ส่วนไหนไม่มีประโยชน์ อยากได้อะไรอีก ตรงนี้ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า หากให้ทำ AAR กันในกลุ่ม หรือชี้ให้บางคน AAR ให้เพื่อนฟัง จะได้การเรียนรู้ในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งเป็นพลังของ Collective AAR

วิธีการจัดห้อง และจัดสิ่งอำนวยความสะดวก ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของการสร้างความรู้สึกปลอดภัย

โครงการพัฒนาครู GED มีกิจกรรมเยี่ยมสถานที่ด้วย ทีมของผู้เขียนได้ทำตัวเป็นคล้ายที่ปรึกษา ของกลุ่มครู ช่วยอำนวยการเสวนากับผู้บริหาร เพื่อให้เข้าใจความต้องการของครู


การอำนวยความสะดวก และการจัดรูปแบบของการเรียน

ทีมของผู้เขียนไปพบครูในบริบทที่สอง ที่มีวิญญาณความเป็นครู/วิญญาณของความเป็นมนุษย์ สูงมาก รวมทั้งมีความเชื่อใน constructivist approach ของการเรียนรู้ จึงมีทักษะการเป็น “คุณอำนวย” สูงมาก จึงเป็นตัวอย่างที่ดีต่อเพื่อนครูที่มาเข้าโครงการ ผมคิดในใจว่า นี่คือผู้ช่วยวิทยากร

การจัด workshop แก่ครูในโครงการ GED ยึดหลัก๒ ประการ (๑) จัดห้องเรียนแบบ ยึดผู้เรียนเป็น ศูนย์กลาง (๒) ถือว่าทั้งครูที่มาเข้า workshop และวิทยากร ต่างก็เป็นนักเรียนผู้ใหญ่ (adult learner) ด้วยกัน คือเป็น “ผู้เรียนรู้” ด้วยกัน ซึ่งก็หมายความว่า หากครูเหล่านี้เข้าใจว่าตนเรียนรู้อย่างไร ก็จะเข้าใจวิธีเรียนรู้ ของศิษย์ของตนด้วย เพราะศิษย์ของเขาก็คือคนที่เป็นผู้ใหญ่

ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง คือ ตอนเช้าให้ครูในโครงการทวนความจำสมัยเรียนในโรงเรียน ว่าตนเรียนบางเรื่องราวอย่างไร โดยอาจย้อนคิดไปถึงตอนที่ตนประทับใจไม่ลืม แล้วเขียนโน้ตสั้นๆ ไว้ เรียกว่า “แบบฝึกหัดความจำ” (memory exercise) แล้วในตอนหลังอาจให้แลกเปลี่ยนกัน เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ครู เอาใจใส่ ว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร และนำเอาความตระหนักนี้ ไปใช้กับศิษย์ของตน

ประสบการในการพัฒนาครู GED เหล่านี้ เป็นงานที่ยากที่สุดที่ผู้เขียนประสบ เพราะตอนเริ่มต้น เต็มไปด้วยการต่อต้าน แต่เมื่อดำเนินไปตอนปลายๆ ปี ผลที่ได้ก็ชื่นใจที่สุด เพราะทำให้ผู้เขียนได้สัมผัสพลังของ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มาก คือครูเหล่านี้เปลี่ยนไปมากจริงๆ ทั้งในด้านทักษะการเป็นครู แก่นักเรียนผู้ใหญ่ และในด้านการเปลี่ยนโลกทัศน์


ไตร่ตรองสะท้อนคิด

บทเรียนที่ได้ตรงกับหลักทฤษฎี ว่านักเรียนผู้ใหญ่ตอบสนองต่อการให้ความเคารพ และให้การสนับสนุน แต่คนในวงการศึกษามักลืมไปเสมอ กลายเป็นใช้อำนาจ ซึ่งเป็นปฐมเหตุของความล้มเหลวทางการศึกษา

หัวใจของการศึกษาผู้ใหญ่คือ ให้ความเคารพ (respect) และสนับสนุน (support)

เขาพบว่า คนที่แสดงความกระตือรือร้นในการทำงานในระบบเก่า เมื่อผ่านการอบรม ก็เกิดการ เปลี่ยนแปลงมากมาย ซึ่งหมายความว่ามนุษย์เราเปลี่ยนแปลงได้ และวิธีที่ผู้เขียนใช้ ช่วยให้ครูและผู้บริหาร เหล่านี้เปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ สิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการคือ ความช่วยเหลือให้เขาเชื่อมโยงทฤษฎีกับการปฏิบัติได้ ซึ่งผมอยากพูดใหม่ว่า เชื่อมโยงปฏิบัติกับทฤษฎีได้ คือปฏิบัติมาก่อนทฤษฎี

เขาพบว่า เมื่อนักการศึกษามีการเปลี่ยนแปลง เขาจะมองเห็นศักยภาพของศิษย์ เขาจะพยายาม ทำความเข้าใจ ตีความ และหาวิธีการช่วยให้ศิษย์เรียนรู้ตามบริบทนั้นๆ

ผู้เขียนไม่ได้เอ่ยถึงประเด็นว่า เมื่อมี TL มิติหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) ซึ่งเรื่องราวในบทนี้สะท้อนออกมาชัดเจน แต่ผู้เขียนไม่ได้ย้ำผลของ TL ในมิตินี้ ผมจึงขอเสริมไว้ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

พลังของการศึกษาผู้ใหญ่มีมากกว่าที่คิด ขึ้นอยู่กับวิธีการปลดปล่อย



วิจารณ์ พานิช

๑๐ ม.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 591838เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2015 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2015 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท