​ส่องมุมคิดเยาวชนภาคเหนือ ใช้ค่ายอาสาฯ สะท้อนปัญหาชุมชน


นอกไปจากจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมในมิติต่างๆแล้วอีกนัยหนึ่งว่ากันว่าความสนใจ และการแสดงออกของเยาวชนเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนความเป็นไปในสังคม เช่น เรื่องหนักๆ อย่างการเมือง ที่นักศึกษา เยาวชนมักแสงท่าทีการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมากันทุกยุคทุกสมัย หรือจะเป็นเรื่องศิลปะบันเทิง ความเป็นไปในสังคม ซึ่งเยาวชนมักเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่แสดงออกในสิ่งที่คิดเห็นรวดเร็วกว่ากลุ่มคนวัยอื่นๆ เมื่อผนวกเรื่องพื้นที่กับการแสดงออกของเยาวชนแล้ว ตลอดเวลากว่า 9ปี ที่ค่ายอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (ค่ายสร้างสุข) ทำกิจกรรมร่วมกับนักศึกษาทั่วประเทศ ประเด็นที่เหล่าบรรดาเยาวชนคัดเลือกจึงหนีไม่พ้นเรื่องราวร่วมสมัยที่เยาวชนต้องการสะท้อนสังคมให้คนวงกว้างได้รับรู้เช่นเดียวกัน เกร็ดน่าสนใจเรื่องหนึ่ง ระหว่างกิจกรรมเวทีค่ายอาสาฯระดับภาค ในส่วนภาคเหนือซึ่งมีการระดมสมอง แลเปลี่ยน ฝึกทักษะการทำค่ายไปเมื่อกลางเดือนมิถุนายน เนื้อหาของกิจกรรมพิสูจน์ได้ว่าบรรดาเยาวชนภาคเหนือต่างให้ความสนใจในประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ทั้งยังสะท้อนถึงความเป็นไปของสังคมได้เป็นอย่างดี

บอล -ไชยวัฒน์ มะกรูดอินทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า เขาสนใจในประเด็นเรื่องการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจในภาคเหนือ เพราะว่ารู้สึก และสังเกตได้ชัดถึงความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในภาคท่องเที่ยว ภาคการเกษตร โดยนโยบายของการพัฒนาเมืองในเขตเศรษฐกิจ ซึ่งเน้นการค้าขาย การจ้างงาน การก่อสร้าง แต่กลับไม่มีใครพูดถึงการรักษาเอกลักษณ์ชุมชนที่มีอยู่อย่างจริงจัง “จะมีแค่การดึงเอาความไม่เหมือนใคร มาใส่ไว้ในส่วนของการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ไม่มีใครให้ความสำคัญอย่างจริงจังว่า เอกลักษณ์เฉพาะเหล่านี้จะอยู่อย่างไรในวันที่สังคมกำลังพัฒนา” เขากล่าวเสริม ไชยวัฒน์ กล่าวอีกว่า โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว การพัฒนาเมืองเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ แต่ต้องไม่ทำด้วยมุมมองของรัฐจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว เหตุนี้นโยบายที่ผลิตออกมาจากภาครัฐต้องมีพื้นฐานมาจากการตัดสินใจของชุมชนด้วย หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องหาข้อตกลงร่วมกันว่าอัตลักษณ์ที่คนท้องถิ่นมีอยู่จะเป็นอย่างไรต่อไป “ผมได้แรงบันดาลใจในเรื่องนี้มาจากบทความจากหลายงานวิจัย ซึ่งสะท้อนว่าตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาภาคเหนือคืออีกพื้นที่ที่มีการเจริญเติบโตของเมืองสูงมาก แต่มักไม่ค่อยมีใครพูดถึงเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนว่าเป็นอย่างไรบ้าง เปลี่ยนไปจากเดิมมาก-น้อยเพียงใด จะมีก็แค่การนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเท่านั้น” อีกมุมมองหนึ่ง แชมป์-วิศวะ ชาตรีกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง กล่าวว่า พวกเขาสนใจทำประเด็นเรื่องการจัดการขยะ เนื่องด้วยปัญหาขยะน่าจะเป็นปัญหาลำดับแรกๆ ของการเจริญเติบโตของเมือง เป็นปัญหาที่ทุกคนรู้ว่านับวันยิ่งสร้างปัญหาอื่นๆตามมา จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบจัดการอย่างเร่งด่วน

“การจัดการสิ่งแวดล้อมกับชุมชนภาคเหนือจึงเป็นประเด็นร่วมที่สำคัญไม่แพ้เรื่องใด เป็นสิ่งที่ผมเลือกสะท้อนออกมาผ่านการทำกิจกรรม” ส่วนมุมมองชาวบ้านอย่าง พงศธร มะเริงสิทธิ์ อายุ 68ปี ชาวบ้านก๊อหลวง ต.บ้านกล้วย อ.ภูซาง จ.พะเยา ซึ่งเป็นอีกพื้นที่ที่ทำงาสนร่วมกับนักศึกษา กล่าวว่า ประเด็นที่นักศึกษาสนใจ อาจเป็นประเด็นที่ชาวบ้านไม่ได้นึกคิด หรือมองว่าเป็นเรื่องชาชิน การที่นักศึกษาเข้ามาทำกิจกรรม สร้างเวทีชาวบ้านให้มีโอกาสได้พบปะ แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ทำให้กลับมาสนใจปัญหานั้นอีกครั้ง มุมมองของเยาวชน จึงสะท้อนความเป็นไปของชุมชนได้เป็นอย่างดี ความนึกคิด การแสดงออกของเยาวชน จึงไม่ต่างอะไรกับกระจกสะท้อนความจริงที่ใครๆก็ไม่ควรมองข้าม

หมายเลขบันทึก: 591796เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2015 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2015 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท