การถวายชิงช้าพระอิศวร ต้นเค้าพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย ?


การถวายชิงช้าพระอิศวร ต้นเค้าพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย ?

โดย : วาทิน ศานติ์ สันติ 23/16/58

จารึกหุบเขาช่องคอยด้านที่ 2


เหตุผลทางด้านการค้าทำให้ประเทศไทยรับเอาคติความเชื่อและพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูมาช้านาน ไทยเรารับมาและผสมผสานคติความเชื่อเดิมรวมถึงผสมผสานความเชื่อแบบพุทธจนกลายเป็นคติความเชื่อและพิธีกรรมที่มีเอกลักษณ์ และยังคงสืบต่อมาถึงทุกวันนี้ เทพเจ้าพราหมณ์ – ฮินดูที่คนไทยให้ความเคารพนับถือที่สุดพระองค์หนึ่งคือ “พระศิวะ” หรือที่เรียกอีกพระนามหนึ่งว่า “พระอิศวร”

หลักฐานเก่าที่สุดที่บันทึกแน่ชัดสุดเกี่ยวกับลัทธิไศวนิกายในดินแดนประเทศไทยคือ ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ค้นพบที่ ต.ควนเกย อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ข้อความดังนี้ :-


ตอนที่ ๑ (ศิลาจารึกนี้เป็น) ของพระผู้เป็นเจ้าแห่งวิทยาการ (พระศิวะ)

ตอนที่๒ ขอความนอบน้อม จงมีแก่ท่านผู้เป็นเจ้าแห่งป่า

ขอความนอบน้อม จงมีแก่ท่านผู้เป็นเจ้าแห่งเทพทั้งมวล

ชนทั้งหลายผู้เคารพต่อพระศิวะ คิดว่า ของอันท่านผู้เจริญ

(พระศิวะนี้) จงฝังให้มีอยู่ในที่นี้ จึงมาเพื่อประโยชน์ (นั้น)

ถ้าคนดีอยู่ในหมู่บ้านของชนเหล่าใด

ตอนที่ ๓ ความสุขและผล (ประโยชน์) จงมีแก่ชนทั้งหลายนั้น (กรมศิลปากร, ๒๕๒๙ : ๕๔)


กลุ่มที่สร้างจารึกหุบเขาช่องคอยขึ้นนี้ คงจะเป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาสันสฤตนับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย และคงได้เดินทางมาพักพิงอาศัยในบริเวณนี้เป็นการชั่วคราว ได้กำหนดสถานที่บริเวณศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยขึ้นเป็นเทวสถานไวศนิกายเพื่อปฏิบัติกิจตามจารีตของตน (กรมศิลปากร, ๒๕๒๙ : ๕๔) จึงทำให้สันนิฐานได้ว่า พิธีตรียัมปวาย- ตรีปวาย ซึ่งถือว่าเป็นพิธีสำคัญในลัทธิไศวนิกายคงได้ถูกประกอบขึ้น ณ ที่นี้ด้วย

พิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย เป็นสองพิธีที่กระทำต่อเนื่องคือ “พิธีตรียัมปวาย” กระทำรับพระอิศวร ที่จะเสด็จจากเขาไกรลาสมาเยือนโลกมนุษย์ปีละครั้ง ครั้งละ ๑๐ วัน คือวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือนอ้าย ถึงวันแรม ๑ ค่ำ พิธีต้อนรับพระอิศวรจะกระทำในช่วงเดือนหงาย การจะโล้ชิงช้าถวายพระอิศวรจะมีขึ้นในวันแรกและวันที่สาม ส่วน “พิธีตรีปวาย” เป็นการรับพระนารายณ์ที่เสด็จจากเกษียรสมุทร ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ จนถึงวันแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ รวมเวลา ๕ วัน กระทำพิธีในช่วงเดือนมืด พิธีโล้ชิงช้าวันแรกจะกระทำในวันขึ้น ๗ ค่ำ ช่วงเช้า ส่วนในวันขึ้น ๙ ค่ำ การใช้โล้ชิงช้าจะกระทำในตอนเย็น

ช่วงเวลาดังกล่าวผู้คนจะมาเข้าเฝ้าเทพเจ้า ขอพรและถวายสิ่งของสักการะเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตน ผู้ใดได้รับตามความปรารถนาจะใช้โอกาสนี้เป็นการแก้บนด้วย

หลักฐานสำคัญที่สันนิฐานว่าเกี่ยวข้องกับการพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายในแผ่นดินประเทศไทย ปรากฏในจารึกปราสาทพนมรุ้ง หลังที่ ๙ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จังหวัดบุรีรัมย์ อักษรขอม ภาษาสันสกฤต ข้อความ ดังนี้ :-


ด้านที่๑

โศลกที่ ๔ เขาได้ถวายชิงช้าซึ่งมีชื่อว่า ชิงช้างาม (อินฺทรโทล) แด่อิศวรที่ชื่อถัทรเรศวร และนอกจากนี้ยังได้ถวายยานใหญ่แด่พระศัมภุ ซึ่งสถิตบนถูเขาใหญ่อีกตัว

โศลกที่ ๕ เขาได้ถวายชิงช้าทองอันดี มีค่า ซึ่งบรรทุกด้วยยาน สำหรับโล้แด่พระเทวีในราชคูห่ เพื่อความสุขแด่พระศาสดาที่เคารพ

ฯลฯ

ด้านที่ ๒

โศลกที่ ๕ เรียกว่ากระแสน้ำและลม............ถวายแด่พระศิวะ....................เขาได้ (ถวาย) ชิงช้าสำหรับโล่แด่ครู (กรมศิลปากร, ๒๕๒๙ : ๑๘๕)


จากจารึกทำให้ผู้เขียนสันนิฐานว่า นี้อาจจะเป็นต้นเค้าของพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายก็เป็นได้

คนไทยแม้จะนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีหลายคนที่นับถือเทพเจ้าฮินดูด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติของสังคมพหุวัฒนธรรม ที่จะเห็นว่ามีการนับถือสิ่งศักดิสิทธิ์มากมายหลายคติความเชื่อหลายศาสนา เพราะคนไทยถือว่าอะไรที่ทำแล้วสบายใจเป็นศิริมงคลไม่สร้างความเสียหายให้กับคนอื่นก็ทำหมด

อย่างไรก็ตามบทความ การถวายชิงช้าพระอิศวร ต้นเค้าพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย ? เป็นเพียงข้อสันนิฐานยามว่างของผู้เขียนเท่านั้น

หนังสือประกอบ

กรมศิลปากร. (๒๕๒๙). จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร.

ภาพประกอบ จารึกหุบเขาช่องคอยด้านที่ 2 http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscri...

คำสำคัญ (Tags): #โล้ชิงช้า
หมายเลขบันทึก: 591558เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2015 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2015 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท