หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ​ไดโนเสาร์ภูน้อย (ความสำเร็จเล็กๆ จากยุวมัคคุเทศก์สู่ครูแกนนำและหลักสูตรท้องถิ่น)


ปรับแต่ง “โจทย์การเรียนรู้” จากเด็กและเยาวชน (นักเรียน : ยุวมัคคุเทศก์) มาเป็น “คณะครูและชาวบ้าน” เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอด-ผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนและชุมชนด้วยตนเอง รวมถึงการเพียรพยายาม “สร้างหลักสูตรท้องถิ่น” ในเรื่องบรรพชีวินวิทยาให้เป็นรูปธรรม เพื่อก่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริงในชุมชน เสมือนการแก้ปัญหาความไม่ต่อเนื่องที่เกิดจากการที่ยุวมัคคุเทศก์ไม่อยู่ประจำในชุมชน ซึ่งมีทั้งจบการศึกษาแล้วไปเรียนต่อนอกพื้นที่ และเดินทางไปทำงานเลี้ยงชีพทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่

นับเป็นเวลา ๓ ปีต่อเนื่องที่ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวิน ได้ดำเนินโครงการ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” ณ พื้นที่ใกล้แหล่งขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย (ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์) โดยในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ขับเคลื่อนภายใต้ชื่อโครงการ “ปลูกกล้าสร้างแกนนำครูไดโนเสาร์ภูน้อย” ประกอบด้วยวัตถุประสงค์หลักของการเรียนรู้คู่บริการ ๓ ประการ ดังนี้

  • เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบรรพชีวินวิทยาให้กับคณะครูและชาวบ้าน ทั้งด้านการสำรวจ การดูแลรักษา
  • พัฒนาทักษะครูและชาวบ้านที่เกี่ยวกับการบูรณาการความรู้ด้านบรรพชีวินวิทยาและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การเรียนการสอนในโรงเรียน
  • พัฒนาคู่มือหลักสูตรท้องถิ่นที่เกี่ยวกับบรรพชีวินวิทยาและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การเรียนการสอนในโรงเรียน




เรียนรู้คู่บริการ : ๓ ปีต่อเนื่องว่าด้วยไดโนเสาร์ภูน้อย

ปี ๒๕๕๕ โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้คู่บริการในชื่อ “โครงการการฝึกอบรมยุวมัคคุเทศก์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงบรรพชีวินวิทยา” มุ่งฝึกอบรมให้เยาวชนในชุมชนตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องบรรพชีวินวิทยา หรือซากไดโนเสาร์ดึกดำบรรพ์ที่ขุดค้นเจอในชุมชนของตนเอง เป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนสู่การศึกษาและท่องเที่ยวผ่านเรื่องราวสัตว์โลกล้านปี โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือ “เด็กและเยาวชน” ในหมู่บ้านและโรงเรียนใกล้แหล่งขุดค้น



ในทำนองเดียวกันปี ๒๕๕๖ ยังคงขับเคลื่อนต่อเนื่องจากปี ๒๕๕๕ ในชื่อ “โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เชิงบรรพชีวินวิทยาใกล้แหล่งฟอสซิลในจังหวัดกาฬสินธุ์” โดยกลุ่มเป้าหมายยังคงเป็นเหล่าบรรดายุวมัคคุเทศก์กลุ่มเดิม เพียงแต่มุ่งเพิ่มพูนความรู้และทักษะที่เข้มข้นขึ้น รวมถึงการเปิดศูนย์เรียนรู้ “หุบเขาไดโนเสาร์ใกล้บ้านหนู” ขึ้น ณ โรงเรียนบ้านดินจี่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนและเพื่อเชื่อมโยงไปสู่แหล่งเรียนรู้จริงบนภูน้อย ซึ่งปีนี้ชุมชนและโรงเรียนเริ่มสนใจและให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

กระทั่งปี ๒๕๕๗ จึงปรับแต่ง “โจทย์การเรียนรู้” จากเด็กและเยาวชน (นักเรียน : ยุวมัคคุเทศก์) มาเป็น “คณะครูและชาวบ้าน” เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอด-ผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนและชุมชนด้วยตนเอง รวมถึงการเพียรพยายาม “สร้างหลักสูตรท้องถิ่น” ในเรื่องบรรพชีวินวิทยาให้เป็นรูปธรรม เพื่อก่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริงในชุมชน

เสมือนการแก้ปัญหาความไม่ต่อเนื่องที่เกิดจากการที่ยุวมัคคุเทศก์ไม่อยู่ประจำในชุมชน ซึ่งมีทั้งจบการศึกษาแล้วไปเรียนต่อนอกพื้นที่ หรือไม่ก็เดินทางไปทำงานเลี้ยงชีพทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่




เรียนรู้คู่บริการ
: สร้างแกนนำครู ๓ โรงเรียน ๓ ชุมชน

โครงการ “ปลูกกล้าสร้างแกนนำครูไดโนเสาร์ภูน้อย” ที่ดำเนินการในปี ๒๕๕๗ มีโจทย์การเรียนรู้คู่บริการที่ชัดเจนในเรื่องของการสร้างแกนนำครูขึ้นมาในชุมชน หากแต่ “ครู” ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงแต่เฉพาะคุณครูในโรงเรียนเท่านั้น ทว่าครอบคลุมถึงชาวบ้านในชุมชนด้วยเช่นกัน เพื่อระดมพลังมาสู่การเป็น “ผู้สอน” หรือกระทั่งการทำหน้าที่ผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) ในเรื่องบรรพชีวินวิทยาให้เป็นรูปธรรมในชุมชนและโรงเรียน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นอย่างเข้มแข็ง



ด้วยเหตุนี้จึงสร้างกระบวนการรับสมัครและคัดกรองครูกับชาวบ้านที่สนใจ จำนวน ๒๐ คนเข้าร่วมการฝึกอบรม จำนวน ๔๐ ชั่วโมง ซึ่งครูและชาวบ้านจะเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ตำบลดินจี่อันเป็นพื้นที่ตั้งสถานที่ขุดค้นฯ ได้แก่ โรงเรียนบ้านดินจี่ โรงเรียนนักธุรกิจ (บ้านโคกสนาม) โรงเรียนบ้านโพนแพง โดยประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ ให้บ่มเพาะความรู้และทักษะสู่การถ่ายทอดต่อนักเรียนและผู้สนใจ เช่น

  • อบรมและบรรยายเรื่องการขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ภูน้อย ทั้งที่เป็นเรื่องราว
  • การค้นพบ การขุดค้น การดูแลและเก็บรักษา คุณลักษณะ หรือชนิดและการเกิดของไดโนเสาร์
  • ปฏิบัติการสร้างคู่มือหลักสูตรท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม โดยบูรณาการเรื่องบรรพชีวินวิทยากับประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • ศึกษาดูงานการวิจัยและการดำเนินงานเรื่องบรรพชีวินวิทยาที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามและหน่วยปฏิบัติการภูน้อย
  • ฝึกทักษะการถ่ายทอดความรู้ ผ่านการเรียนการสอนในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน ผ่านสื่อต่างๆ เช่น หนังสือ นิทรรศการเคลื่อนที่



นอกจากนี้ยังบูรณาการกิจกรรมหนุนเสริมร่วมกัน เป็นต้นว่า ทำชุดความรู้ ทั้งที่เป็น “คู่มือหลักสูตรท้องถิ่น” และ “ชุดนิทรรศการเคลื่อนที่ด้านบรรพชีวิน” (หุบเขาไดโนเสาร์) ออกไปจัดแสดงและทดลองใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในโรงเรียนทั้ง ๓ แห่ง อันเป็นความร่วมมือระหว่าง “ครูแกนนำ” กับบุคลากรจากมหาวิทยาลัยฯ ที่ประกอบด้วยนักวิชาการ นิสิตปริญญาเอก และนิสิตปริญญาตรีในชมรมไดโนเสาร์สะออนของสังกัดคณะวิทยาศาสตร์




แกนนำครูไดโนเสาร์ภูน้อย : ๔ In ๑ และการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

การขับเคลื่อนโครงการ “ปลูกกล้าสร้างแกนนำครูไดโนเสาร์ภูน้อย” เป็นการเรียนรู้คู่บริการที่สะท้อนให้เห็นถึงการขับเคลื่อนแบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนที่ชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ มองผ่าน “การเรียนการสอน” ก็มีการบูรณาการทั้งนิสิตในระดับปริญญาเอก เช่น

  • วิชาบรรพชีวินวิทยาเบื้องต้น
  • วิชาซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง
  • วิชาซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง

รวมถึงนิสิตปริญญาตรีจากชมรมไดโนเสาร์สะออน เป็นอีกเครือข่ายหนึ่งที่เข้ามาช่วยออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับนิสิตปริญญาเอกและชุมชน มีการทดลองใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาเป็นสื่อการเรียนรู้และบรรจุไว้ในหลักสูตรท้องถิ่น เช่นเดียวกับการบูรณาการควบคู่ไปกับ “งานวิจัย” ของศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินที่ปักหลักปักฐาน ณ ภูน้อยมายาวนาน จนชุมชนเริ่มเข้าใจและเห็นความสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่นผ่านเรื่องซากดึกดำบรรพ์ ทั้งในมิติการศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ฯลฯ



การมีส่วนร่วมปรากฏชัดเจนในการทำงานครั้งนี้ ดังเช่นการร่วมสร้างชุดความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ทั้งที่เป็นนักวิชาการ นิสิต นักเรียน ครู ผู้นำชุมชน ปราชญ์ และชาวบ้านทั่วไป ต่างล้วนขยับเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันอย่างเด่นชัด

  • มีการระดมพลังความรู้และความคิดกำหนดเป็นประเด็นเนื้อหาการเรียนรู้ใน “คู่มือหลักสูตรท้องถิ่น”
  • มีการระดมพลังนำนิทรรศการหมุนเวียนไปติดตั้งในโรงเรียนต่างๆ เพื่อทดลองกระบวนการเรียนรู้สู่การสร้างสาระการเรียนรู้ผ่านครูแกนนำ
  • มีการประชาสัมพันธ์ไปยังชาวบ้าน เพื่อให้ได้รับรู้และเข้ามาร่วมศึกษาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันกับนักเรียน และคณะครูแกนนำ
  • มีกระบวนการประเมินผลร่วมกันเป็นระยะๆ เพื่อให้รู้ถึงผลสัมฤทธิ์ของการขับเคลื่อนครูแกนนำและหลักสูตรท้องถิ่น

หรือกระทั่งการนำข้อมูลในมิติศิลปวัฒนธรรมที่ประกอบด้วยประวัติศาสตร์ชุมชนและภูมิปัญญาชุมชนเข้ามาเป็นประเด็นการเรียนรู้ควบคู่กับเรื่องซากดึกดำบรรพ์ที่ขุดค้นในชุมชน เพื่อตอกย้ำให้คนในชุมชนได้ตระหนักในศักยภาพของตนเอง-รับรู้ถึงสายธารความเปลี่ยนผ่านตามยุคสมัย เพื่อช่วยให้ชุมชนค้นพบแนวทางการเป็นอยู่อย่างมั่นคงสืบต่อไป




กรณีดังกล่าวนี้มีความเป็นรูปธรรมอย่างเด่นชัด ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการสืบค้นและกระบวนการเรียนรู้ที่สะท้อนความเป็น “บริบทชุมชน” ออกมาอย่างครอบคลุมทั้ง ๓ ชุมชน (บ้านดินจี่ บ้านโพนแพง บ้านโคกสนาม) ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน ประวัติศาสตร์ชุมชนที่เกี่ยวพันอยู่กับสงครามโลกครั้งที่ ๒ มิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุดิบอันทรงคุณค่าที่รอเวลาผนึกเป็นหนึ่งเดียวกับหลักสูตรท้องถิ่นที่ว่าด้วยดินแดนไดโนเสาร์ภูน้อยอย่างลงตัวเท่านั้นเอง



เหนือสิ่งอื่นใด

จากการประเมินผลเบื้องต้น หากคณะทำงานสามารถสะท้อนข้อมูลบางประเด็นที่เกิดจากการปฏิบัติจริง จะเป็นประโยชน์ต่อยอดหลากมิติ ยกตัวอย่างเช่น การสะท้อนรายละเอียดของเรื่องราวอันเป็นวัสดุในท้องถิ่นที่ถูกนำไปประยุกต์เป็นสื่อการเรียนรู้ว่าคืออะไรบ้าง และการจัดทำนั้นเกี่ยวโยงแบบมีส่วนร่วมกับใครบ้าง...

เช่นเดียวกับการสะท้อนเชิงลึกว่า ความเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและภูมิปัญญาดังกล่าว มีประเด็นอะไรบ้างที่ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อให้ "แกนนำครูไดโนเสาร์ภูน้อย" ได้นำไปเป็นชุดความรู้ในการถ่ายทอดสู่นักเรียน -ชุมชน หรือสาธารณะ

เฉกเช่นกับการนำเอกสารอันเป็นคู่มือหลักสูตรท้องถิ่น หรือความรู้อันเป็นคู่มือหรือเอกสารประกอบการอบรมแกนนำครูฯ มาเผยแพร่ในวงกว้าง ย่อมน่าจะเป็นมรรคผลของการศึกษาเพื่อการรับใช้สังคมมากยิ่งขึ้น ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ อันหมายถึง "ทำจริง" และ "เกิดผลจริง" อยู่แล้ว




หมายเหตุ ภาพ โดย ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวิน

หมายเลขบันทึก: 591494เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2015 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2015 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มหาวิทยาลัยกับชุมชน... ดีจริงๆ ... โดยชุมชน....ของชุมขน .. เพื่อชุมชน นะคะ

ครับ พี่ Dr. Ple

โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ค่อยชอบคำว่า "หุ้นส่วน" มากนัก เลยพลอยมาใช้วาทกรรมนี้แทน "เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน" หมายถึง ทั้งชุมชนและมหาวิทยาลัยต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เกื้อหนุน เติมเต็มกันและกัน...

การศึกษาที่รับใช้สังคม จึงต้องไม่แยกส่วนออกจากสังคม การออกแบบการเรียนรู้ที่นำพานิสิตและอาจารย์ออกไปเรียนรู้และบริการสังคมไปพร้อมๆ กัน- นั่นคือสิ่งที่ผมรัก และศรัทธา ครับ




พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท