The One
"ไม่ต้องไปหาความสุข ความสมบรูณ์แบบที่ไหนไกล แค่ใจเราสงบ นั่นแหละคือที่ชีวิตที่ดีแล้ว" พ.เพชรศรีจันทร์ Pechsrijun

ลายรดน้ำ....งานประณีตศิลป์ของไทย..ที่ควรค่าแห่งการอนุรักษ์...


  • ................. เป็นงานประณีตศิลป์ของไทย...ที่จัดอยู่ในงานจิตรกรรมประเภทสีเอกรงค์ สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี จากหลักฐานในจดหมายเหตุกรุงสยามและกรุงจีน ซึ่งบรรยายถึง พ่อขุนรามคำแหงทรงเจริญพระอักษรแต่งตั้งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนโดยการเขียนพระราชสาส์นเป็นลายรดน้ำ.......อาจจะเป็นลวดลายหรือภาพ รวมไปถึงภาพประกอบลายต่าง ๆ ที่ปิดด้วยทองคำเปลวบนพื้นรัก โดยขั้นตอนการทำสุดท้ายคือการเอาน้ำรด ให้ปรากฏเป็นลวดลาย จึงกล่าวได้ว่า “ลายรดน้ำ” คือ ลายทองที่ล้างด้วยน้ำ.....งานเขียนลายรดน้ำส่วนใหญ่จะเขียนประดับตามสถานที่ต่าง ๆ เช่นประตู หน้าตา ฝาผนัง รวมถึงเครื่องไม้ใช้สอยต่าง ๆ ด้วย....

  • งานศิลปะลายรดน้ำเป็นหนึ่งในงานช่างสิบหมู่ประเภทช่างรัก และเป็นงานศิลปะไทยที่มีเอกลักษณ์ คือเป็นภาพที่ใช้สีแค่สองสี ได้แก่ สีทองของทองคำและสีดำของยางรัก
  • สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้อธิบายว่า “ลายรดน้ำ คืองานจิตรกรรมไทยแขนงหนึ่ง ได้รับช่างถ่ายทอดความรู้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นวิธีการที่ช่างเขียนได้คิดทำไว้ช้านานแล้ว ลายรดน้ำประกอบด้วยการลงรัก เขียนลายด้วยน้ำยาหรดาลและปิดทองรดน้ำ” ... ส่วนใหญ่เราจะพบงานลายรดน้ำเขียนบนพื้นไม้ที่พบมากคือ ลายรดน้ำประดับภายนอกของ ตู้พระไตรปิฎก ซึ่งบางครั้งเรียกว่าตู้ลายทอง หีบไม้ลับแล บานประตู บานหน้าต่าง และที่น่าสนใจคือ ภาพลายรดน้ำขนาดใหญ่ ตกแต่งผนังด้านนอกของอาคารไม้ ซึ่งมักเป็นพระตำหนักของกษัตริย์มาก่อน ได้แก่ หอเขียน วังสวนผักกาด และตำหนักไม้ที่วัดไทร เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ...
  • การสร้างงานลายรดน้ำแบบโบราณ
  • ๑. เตรียมพื้นผิวที่จะเขียนลายรดน้ำ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องเตรียมการอย่างดี เพราะจะมีผลต่อความคงทนของลายรดน้ำ โดยจะต้องขัดผิวให้เรียบ นำรักน้ำเกลี้ยงมาทาพื้นให้ทั่วเพื่อ อุดรอยสี้ยนและผึ่งให้แห้ง

๒. นำรักน้ำเกลี้ยงผสมสมุก* โดยบดให้เข้ากันจนละเอียด นำไปทาที่พื้นผิว จากนั้นปล่อยทิ้งไว้จนแห้งสนิท

๓. นำหินหรือกระดาษทรายมาขัดผิวให้เรียบเสมอกัน หากยังไม่เรียบให้เอาสมุกที่ ผสมรักน้ำเกลี้ยงมาทาซ้ำ รอแห้ง และขัดซ้ำ

๔. เมื่อทารักและขัดผิวจนได้พื้นผิวที่มีความหนาเหมาะสมแล้ว ให้ทาด้วยรักน้ำเกลี้ยง และนำไปเก็บในที่มิดชิดไม่มีฝุ่นจับได้ จนเมื่อแห้งสนิทนำพื้นผิวนั้นมาเช็ด ปัด ทำความสะอาด และทารักน้ำเกลี้ยงทับ ปล่อยให้แห้งทำเช่นนี้ซ้ำ ๓ ครั้ง จนพื้นรักขึ้นเงาเป็นมัน ที่สำคัญคือรักน้ำเกลี้ยงนั้น ต้องกรองจนไม่มีกากหรือฝุ่นละอองปะปน

๕. เตรียมน้ำยาหรดาลได้แก่หินสีเหลืองที่นำมาบดให้ละเอียด แช่น้ำ ล้างให้สะอาด และนำมาบดรวมกับน้ำส้มป่อย แล้วนำไปตากแดดให้แห้งจากนั้นนำมาใส่น้ำต้มฝักส้มผ่อย บดจนละเอียดแล้วตากแดดอีก ทำเช่นนี้ซ้ำ ๒-๓ ครั้ง จากนั้นนำยางมะขวิดมาแช่น้ำให้ละลาย แล้วนำมาผสมกับหรดาลที่เตรียมไว้จนได้ความเหนียวพอดี คือเมื่อแห้งแล้วเช็ดรักไม่หลุด

๖. ขั้นการเขียนลวดลายในสมัยโบราณ นายช่างจะนำกระดาษข่อยมาร่างตัวลายที่จะเขียน จากนั้นใช้เหล็กแหลมปรุตามเส้นลายที่เขียนไว้ แต่ก่อนที่จะนำกระดาษลายไปทาบพื้นผิวที่จะเขียนนั้น จะต้องนำดินสอพองละลายน้ำมาล้างพื้นผิวเสียก่อนแล้วเช็ดดินสอพองออกให้หมด จึงนำกระดาษปรุลายมาทาบเอาฝุ่นดินสอพองเผาใส่ลูกประคบ นำมาตบบนกระดาษตามรอยปรุ เพื่อให้ฝุ่นนั้นผ่านรูปรุ ไปติดบนพื้นผิวเป็นลวดลาย แล้วจึงม้วนตลบกระดาษลายไว้ด้านบน (เผื่อในกรณีที่ลายที่ตบด้วยฝุ่นไม่ชัดเจนสามารถทาบกระดาษได้ตรงลายเดิม)


๗. นำน้ำยาหรดาลที่เตรียมไว้มาเขียนตามรอยที่ใช้ลูกประคบโรยแบบปรุไว้ และถมช่องไปที่ต้องการให้เห็นพื้นรักสีดำ โดยในการเขียนนั้นต้องมีไม้รองมือ มีลักษณะเป็นไม้ยาว เล็ก หุ้มผ้าที่ปลายมิให้เกิดร่องรอยที่พื้นผิว

๘. เมื่อเขียนเสร็จใช้ผ้านุ่มเช็ดฝุ่นออกแล้วนำผ้าชุบยางรักที่เคี่ยวไฟไว้จนเหนียว นำมาทำการเช็ดรัก คือ เช็ดยางรักลงบนพื้นที่ไม่ได้ลงหรดาล (พื้นที่จะปิดทอง) และเช็ดออกให้เหลือบางที่สุด เรียกว่า การถอนรัก การถอนรักนี้ ต้องอาศัยความชำนาญ หากทำไม่ดีจะทำให้หรดาลไม่หลุดออกในขั้นตอนสุดท้าย

ขั้นตอนการนำน้ำมารด เพื่อล้างน้ำยาหรดาลออก
จนเผยให้เห็นส่วนปิดทองที่ติดแน่นกับพื้นรัก



(ขอขอบคุณ..ที่มา..สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ๙๖ ถนนปรีดี พนมยงค์ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา )


หมายเลขบันทึก: 591372เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2015 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2015 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท