วิชาพัฒนานิสิต (๒๐) : กระบวนกรและกระบวนการเรียนรู้ว่าด้วยเรื่องจิตสาธารณะ


ทีมกระบวนกร ได้ยกตัวอย่างสำนวน สุภาษิต คำพังเพยต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง “จิตสาธารณะ-คุณธรรมจริยธรรม-ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาให้นิสิตได้ดูได้ฟังเล็กๆ น้อยๆ พร้อมๆ กับการตั้งคำถามกลับไปยังนิสิตในแต่ละกลุ่ม เพื่อชวนเชิญให้วิเคราะห์ว่าวาทกรรมเหล่านั้น ตอบโจทย์หลักคิดที่ว่าด้วยเรื่องจิตสาธารณะ-คุณธรรมจริยธรรม-ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไรบ้าง

การเรียนการสอนวิชาการพัฒนานิสิตเมื่อวันจันทร์ที่ 15-16 มิถุนายน 2558 เป็นการจัดการเรียนรู้ โดย “ทีมกระบวนกร” เพื่อต่อยอดจากการบรรยายภาคทฤษฎีเรื่อง "จิตสาธารณะ" ที่อาจารย์ศุภวุฒิ โมกข์เมธากุล ได้บรรยายเมื่อวันที่ 10 และ 11 มิถุนายน 2558


อาจารย์ศุภวุฒิ โมกข์เมธากุล



เตรียมความพร้อมการเรียนรู้ผ่านคลิป-วิดีทัศน์

เมื่อนิสิตทยอยเข้าชั้นเรียน ทีมกระบวนการทำการเปิดคลิป-วีดีทัศน์ให้นิสิตได้ชมไปพรางๆ ซึ่งมีทั้งที่เป็นสื่อสร้างสรรค์จากภายนอกและสื่อสร้างสรรค์ที่เกิดจากการผลิตของนิสิตและบุคลากรมหาวิทยาลัยมหาสารคามตามวาระต่างๆ อาทิ ประมวลภาพและวาทกรรมการเรียนรู้ของนิสิตในรายวิชาพัฒนานิสิต ภาคเรียนที่ 2/2557


รวมถึงวีดีทัศน์ประมวลภาพกิจกรรมการลงสำรวจพื้นที่ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยฯ ในภาวะที่ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อทบทวนความทรงจำและตอกย้ำแนวคิดเรื่อง “จิตสาธารณะ” ของนิสิตและมหาวิทยาลัยที่มีต่อการรับผิดชอบสังคมตามวาทกรรม “เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน”




เช่นเดียวกับการนำคลิปสร้างสรรค์อันเป็นนิทานสอนใจเรื่อง “ความรับผิดชอบ” (VRZO-ปลื้ม) มาเปิดให้นิสิตได้ดูชม เพื่อชวนให้นิสิตได้ “ทบทวนกับชีวิต” หรือ “ถอดบทเรียนชีวิต” ผ่านปรากฏการณ์จริงทางสังคมที่มีประเด็นชวนขบคิดใคร่ครวญหลากประเด็น ทั้งในมิติความรักในวัยเรียน ยาเสพติด วิถีครอบครัวที่ล่มสลาย ฯลฯ




สวัสดีครับครู : อีกหนึ่งสื่อการเรียนรู้ที่ “ผู้สอน” เล่นเอง และ “สอนเอง”

เมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นทางการ ทีมกระบวนกรนำสื่อของสภาพัฒนาการเมือง เรื่อง “สวัสดีคุณครู” มาเปิดให้นิสิตได้เรียนรู้

สื่อดังกล่าวมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมแห่งการอยู่ร่วมกัน และสำคัญอย่างยิ่งคือตัวละครที่สวมบทบาทเล่นในสื่อเรื่องนี้ คือ ดร.คชากฤษ เหลี่ยมไธสง ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้สอนรายวิชาพัฒนานิสิต

- เรียกได้ว่า เมื่อเปิดตัวอาจารย์คชากฤษฯ ก็เรียกเสียงฮือฮาได้ค่อนครึ่งห้องเรียนเลยทีเดียว



ดร.คชากฤษ เหลี่ยมไธสง


ทันทีที่สื่อปิดตัวลง อาจารย์คชากฤษฯ เข้ามาพบปะนิสิตและนำเข้าสู่การเรียนรู้ โดยเล่าถึงบรรยากาศของการถ่ายทำสื่อดังกล่าว ผูกโยงไปถึงแก่นสารความคิดเล็กๆ น้อยๆ ตลอดจนการมุ่งประเด็นไปยังองค์ความรู้ หรือหลักคิดของการผลิตสื่อเพื่อการเรียนรู้ ด้วยหมายใจว่านิสิตจะพอเห็นแนวทางของการนำไปประยุกต์ใช้กับการประเมินผลโครงการผ่านสื่อสร้างสรรค์ในรูปของคลิป-วีดิทัศน์


เนื่องเพราะการประเมินผลการดำเนินงานโครงการฯ ในรายวิชาพัฒนานิสิต ไม่ได้กำหนดให้นิสิตส่งผลการประเมินแค่ในรูปเล่มรายงานนั้น หากแต่มีกระบวนการหลากรูปลักษณ์ ทั้งที่เป็นเรื่องเล่าเร้าพลัง ภาพถ่าย คลิป ฯลฯ เพื่อให้นิสิตมีกระบวนการ หรือเทคนิคในการเรียนรู้อย่างหลากหลายวิธี




แบ่งกลุ่มเตรียมความพร้อมทีม PBL และการเรียนรู้เรื่อง “สัตว์สี่ทิศ”

หัวใจหลักของการเรียนรู้ในวันนี้ คือการตระเตรียมนิสิตสู่การเรียนรู้อย่างเป็น “ทีม” อันหมายถึงการแบ่งกลุ่มนิสิตออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อเตรียมระดมความคิดออกแบบโครงการฯ หรือกิจกรรมที่จะจัดขึ้นตามครรลองของการ “เรียนรู้คู่บริการ” หรือเรียนรู้ผ่านกิจกรรม/โครงงาน (Project Base Learning : PBL)




ในกระบวนการของการแบ่งกลุ่ม ทีมกระบวนกร พยายามสร้างบรรยากาศในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” ให้ได้มากที่สุด นับตั้งแต่การใช้กระบวนทัศน์เรื่อง “สัตว์สี่ทิศ” เข้ามาหนุนเสริม- ชวนนิสิตเลือกชนิดของสัตว์ ชวนตีความตัวตนของสัตว์แต่ละชนิด (กระทิง อินทรี หมี หนู) ก่อนจะเฉลยในแบบฮาๆ และเน้นให้นิสิตได้ศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเองอีกครั้ง


โดยกระบวนการกลุ่ม มุ่งทำความเข้าใจกับนิสิตในแต่ละกลุ่มว่าการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม/โครงงาน ต้องเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็น “ทีม” และรูปธรรมของการเรียนรู้ความเป็นทีมก็ต้องมี “เป้าหมายอันเดียวกัน” มิใช่ไปคนละทิศละทาง เช่นเดียวกับการให้สมาชิกในกลุ่มได้โสเหล่กันว่าในทีม/กลุ่ม จะมีการบริหารจัดการโครงสร้างทีม/ตำแหน่งอย่างไร ---




ฝากโจทย์การเรียนรู้ผ่านวาทกรรม สำนวน สุภาษิต คำพังเพย


ตอนท้ายชั่วโมง-ทีมกระบวนกร ได้ยกตัวอย่างสำนวน สุภาษิต คำพังเพยต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง “จิตสาธารณะ-คุณธรรมจริยธรรม-ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาให้นิสิตได้ดูได้ฟังเล็กๆ น้อยๆ พร้อมๆ กับการตั้งคำถามกลับไปยังนิสิตในแต่ละกลุ่ม เพื่อชวนเชิญให้วิเคราะห์ว่าวาทกรรมเหล่านั้น ตอบโจทย์หลักคิดที่ว่าด้วยเรื่องจิตสาธารณะ-คุณธรรมจริยธรรม-ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไรบ้าง เป็นต้นว่า

  • ทำอะไรตามใจเป็นไทยแท้
  • ไทยมุง
  • อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น
  • มือใครยาวสาวได้สาวเอา
  • ธุระไม่ใช่
  • ขี่ช้างจับตั๊กแตน
  • ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
  • มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ
  • กินน้ำไม่เผื่อแล้ง
  • ขนทรายเข้าวัด
  • ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน
  • กินน้ำให้เผื่อแล้ง
  • กระเชอก้นรั่ว
  • นกน้อยทำรังแต่พอตัว ฯลฯ



แต่ด้วยเวลาอันจำกัด กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวจึงไม่จบลงอย่างเสร็จสรรพ ถึงกระนั้นทีมกระบวนการก็ได้ทิ้งเป็นโจทย์ให้นิสิตแต่ละกลุ่มได้ไปเรียนรู้เพิ่มเติม พร้อมๆ กับการมอบหมายให้สัปดาห์หน้านำกลับมาแบ่งปันร่วมกันในชั้นเรียนอีกรอบ

พร้อมๆ กับการมอบหมายให้นิสิตแต่ละกลุ่มทำงานอย่างเป็นทีม ด้วยการสรุปบทเรียนประจำวันเป็น “ผังมโนทัศน์” เพื่อนำเสนอในสัปดาห์ถัดไป




บททวนการเรียนรู้ : ใบงาน (สุ จิ ปุ ลิ)

ก่อนแยกย้ายกลับออกจากชั้นเรียน กระบวนกรให้นิสิตทุกคนได้สรุปผลการเรียนรู้ประจำวันลงใน “ใบงาน” ผ่านคำถามง่ายๆ (ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากวันนี้) เพื่อบ่มเพาะทักษะการเรียนรู้ตามครรลอง “สุ-จิ-ปุ-ลิ” ผ่านกระบวนการของวันนี้และคลิปเรื่องต่างๆ ที่เปิดให้ดู โดยเฉพาะเรื่อง “สวัสดีคุณครู”



และนี่คือส่วนหนึ่งที่นิสิตได้เขียนสะท้อนกลับมายังผู้สอนและทีมกระบวนกร

  • รู้มุมมอง เทคนิคของการถ่ายภาพ เพื่อทำคลิป
  • รู้หลักคุณธรรม จริยธรรม เช่น เสียสละ สามัคคี ไม่ริษยา ให้อภัย แบ่งปัน เกื้อหนุน ทำดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
  • รู้หลักความเป็นผู้นำ เช่น กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ รับผิดชอบต่อหน้าที่ อดทน รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับในความต่างของผู้คน
  • รู้หลักของความเป็นครูที่ดี เช่น มีจรรยาบรรณในวิชาชีพครู เป็นกันเองกับนักเรียน เป็นกันเองกับภารโรงและเพื่อนร่วมงาน
  • รู้จักการใช้เวลาว่าง เช่น ปลูกต้นไม้ ช่วยเหลือการงานผู้อื่น
  • รู้จักหลักการบริหารโครงการ เช่น PDCA การมีส่วนร่วม (ทีม)
  • หมายเหตุ ภาพ : ทีมกระบวนกรวิชาการพัฒนานิสิต



หมายเหตุ ภาพ : ทีมกระบวนกรวิชาการพัฒนานิสิต

หมายเลขบันทึก: 591309เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2015 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2015 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

กิจกรรมเรียนรู้หลากหลาย ได้ทบทวนตนเอง เรียนรู้ผ่านการทำงานกลุ่ม .... น่าสนุกมาก ๆ ค่ะ

สวัสดีครับ พี่หมอ ธิรัมภา

ชัดเจนมากๆ ครับสำหรับข้อสังเกตของพี่หมอ เพราะผมและทีมผู้สอน มุ่งเน้นการเรียนรู้แบบกลุ่มทีม ไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นเตือนให้นิสิต / ผู้เรียนได้ทบทวนชีวิตตนเองไปพร้อมๆ กัน...

เน้นการได้คิด-ได้สังเคราะห็ ได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ พร้อมๆ กับการปลูกฝังให้นิสิตได้เชื่อมั่นว่าไม่มีที่ใดปราศจากการเรียนรู้และความรู้ สำคัญคือนิสิต ต้องมีเครื่องมือในการเรียนรู้....โดยนิสิตต้องรู้ว่าตนเองมีเครื่องมืออะไร และจะใช้อย่างไร

ขอบพระคุณครับ




สวัสดีครับ คุณมะเดื่อ

เป็นยังไงบ้างครับ
ดิน ฟ้าอากาศ
ทางนี้ ร้อนมากโข เหมือนฝนจะมา แต่ไม่มาสักที ครับ

อาจารย์ พี่ประทับใจวิชา "พัฒนานิสิต" โดนเน้นที่การมี "จิตสาธารณะ" มากเลยนะคะ

เพราะนี่คือ หัวใจของความเป็นมนุษย์ ที่กำลังขาดแคลน

และที่ชอบอีกอย่างคือ การให้นิสิตฝึกวิเคราะห์วาทกรรม (..พี่ไม่ชอบคำนี้เลย ฟังเหมือนอยู่บนหิ้ง แตะไม่ได้ไงก็ไม่ร้สิ) ที่ดึงนักเรียนให้มาคิดอยู่บนสภาพสังคมจริง พวกน้องๆ (เออ..ต้องลูกๆ สิ) จำนวนหนึ่งน่าจะได้ผลึกความคิดดีๆ ติดตัวไปใช้ในชีวิตต่อไปของพวกเขานะคะ

อยากให้ทุกวิชาจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบนี้จัง คือตั้งประเด็นที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงๆ ได้ แล้วให้นิสิตคิดหาคำตอบกันเอง ได้ผลทั้งในแง่การฝึกคิด Critical Thinking และ Creative Thinking

ชื่นชมและให้กำลังใจอาจารย์ค่ะ

พี่ขอเชิญอาจารย์เข้าไปอ่านบันทึกนี้ของพี่ https://www.gotoknow.org/posts/591267 และต่อด้วยบันทึกที่เป็นต้นเรื่อง ของคุณ Sr https://www.gotoknow.org/posts/588726?3022959

และกรุณาให้ความเห็นด้วยนะคะ ใส่ความเห็นในบันทึกคุณ Sr ก็ได้เลยค่ะ

สุดยอดครับ ขออนุญาตนำไปกล่าวถึงในรายงานเกี่ยวกับรายวิชานี้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท