วิชาพัฒนานิสิต (๑๙) : ว่าด้วยเรื่องจิตสาธารณะ


การบรรยายที่ว่านั้นก็หาใช่บรรยายด้วยการสื่อสารทางเดียวเสียทั้งหมด ทว่ามีการโยนประเด็นชวนคิด ชวนเสวนาร่วมกับผู้เรียนเป็นระยะๆ รวมถึงการยกตัวอย่างกิจกรรมผ่านสไลด์อันเป็นเพจประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ ที่นิสิตและมหาวิทยาลัยฯ ได้จัดขึ้น

การเรียนการสอนวิชาการพัฒนานิสิตเมื่อวันที่ 10 และ 11 มิถุนายน 2558 เป็นการบรรยายเรื่อง “จิตสาธารณะ” โดยอาจารย์ศุภวุฒิ โมกข์เมธากุล ซึ่งเป็นอาจารย์ในสังกัดคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม


คลิป : นำเข้าสู่การเรียนรู้ในประเด็น “จิตสาธารณะ”


การบรรยายในครั้งนี้ ยังคงเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ “บันเทิงเริงปัญญา” เริ่มตั้งแต่นำเข้าสู่บทเรียนผ่าน “คลิปสร้างสรรค์ของนิสิต” ในเรื่องที่เกี่ยวกับหมุดหมายของการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ในรายวิชาพัฒนานิสิต ในประเด็น “เรียนวิชาพัฒนานิสิตไปทำไม” ซึ่งคลิปดังกล่าวนี้นิสิตที่ลงเรียนในปีก่อนๆ ได้ได้จัดทำขึ้น เพื่อสรุปผลการเรียนรู้ในมุมมองของนิสิต



ถักจากนั้นก็มีคลิปสั้นๆ อีก 2 เรื่องมาหนุนเสริมบรรยากาศ ซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่อง “นิสิตจิตอาสา” อันเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของนิสิตที่จัดทำขึ้น เพื่อรณรงค์เสริมสร้างสำนึกที่ดีในการรับผิดชอบต่อสังคม บ่มเพาะอัตลักษณ์นิสิต (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) หรือปรัชญามหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)



จะเห็นได้ว่าคลิปสั้นๆ ทั้ง 3 เรื่อง ถึงแม้บรรยากาศจะแตกต่างกันตามโครงเรื่อง แต่ทั้งปวงก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นนิสิตจิตอาสา (จิตสาธารณะ) ด้วยกันทั้งสิ้น จึงเป็นงานสร้างสรรค์ของนิสิตที่เหมาะต่อการนำมาเป็นชุดความรู้เล็กๆ ในการนำเข้าสู่บทเรียนของวันนี้ในประเด็น “จิตสาธารณะ”



อาจารย์ศุภวุฒิ โมกข์เมธากุล



บรรยาย : จิตสาธารณะ


ภายหลังคลิปทั้ง 3 เรื่องปิดตัวลง อาจารย์ศุภวุฒิ โมกข์เมธากุล ได้นำเข้าสู่เนื้อหา บรรยายในประเด็น “จิตอาสาธารณะ” (Public Mind) นับตั้งแต่ความหมายของจิตสาธารณะ ประเภทและระดับจิตสาธารณะ วาทกรรมที่เกี่ยวโยงกับจิตสาธารณะ หรือคำจำกัดความของจิตสาธารณะอย่างกระชับๆ ที่สัมพันธ์กับหมุดหมายการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดังว่า “จิตสาธารณะ : การรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม”



นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องหลักคิดเกี่ยวกับจิตสาธารณะ เช่น แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรืออื่นๆ เช่น

หลักคำสอนศาสนาพุทธ เช่น

-สังคหวัตถุ 4 ได้แก่ ทาน (การให้ การแบ่งปัน) ปิยวาจา (มีวาจาที่เรียบร้อย) อัตถจริย (การกระทำที่เป็นประโยชน์) สมานัตตา (ความเสมอต้น เสมอปลาย)

-ฆราวาสธรรม ได้แก่ สัจจะ (ความซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่อกัน) ทมะ (ความข่มใจ) ขันติ (ความอดทน) จาคะ (การบริจาค เสียสละและแบ่งปัน)

-พรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา (ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข) กรุณา (ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์) มุทิตา (ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี) อุเบกขา (การวางเฉย)




หลักคำสอนศาสนาคริสต์เช่น จริยธรรมเรื่องความรัก เช่น การเสียสละ เฉกเช่นกับพระเยซูเสียสละชีวิตบนไม่กางเขนเพื่อไถ่บาปให้กับมนุษยชาติ ซึ่งเป็นการสอนให้รู้ว่าการอยู่ร่วมกันในสังคม หากคิดเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน โดยลืมคิดคำนึงถึงส่วนร่วม เรื่องจิตสาธารณะก็จะเกิดขึ้นไม่ได้

หลักคำสอนศาสนาอิสลาม เช่น

•การบริจาค (ซากัต) ทำให้เกิดความรัก ความผูกพันของคนในสังคม

•การถือศีลอด ทำให้เข้าถึงภาวะของผู้อดอยากขาดแคลน เกิดความยินดีที่จะแบ่งปัน หรือช่วยเหลือผู้อื่น

•พิธีฮัจญ์ เป็นการระลึกถึงพระเจ้า ศาสดา สะท้อนความตระหนักรู้ในเรื่องของผู้มีพระคุณ และเป็นการเดินทางไปพบพี่น้องมุสลิมทั่วโลก ก็เป็นการสะท้อนความตระหนักในเรื่องของเครือญาติในทางศาสนา และชาติพันธุ์



จะว่าไปแล้ว การบรรยายที่ว่านั้นก็หาใช่บรรยายด้วยการสื่อสารทางเดียวเสียทั้งหมด ทว่ามีการโยนประเด็นชวนคิด ชวนเสวนาร่วมกับผู้เรียนเป็นระยะๆ รวมถึงการยกตัวอย่างกิจกรรมผ่านสไลด์อันเป็นเพจประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ ที่นิสิตและมหาวิทยาลัยฯ ได้จัดขึ้น เพื่อเน้นย้ำความเป็นรูปธรรมของกิจกรรมจิตสาธารณะผ่านกลไกสำคัญๆ อันเป็นแนวปฏิบัติ 4 ด้านของกิจกรรมนิสิต คือ

•ด้านบำเพ็ญประโยชน์

•ด้านศิลปวัฒนธรรม

•ด้านนิสิตสัมพันธ์

•ด้านกีฬาและนันทนาการ

และตอนท้ายได้สั่งงานแก่นิสิต เพื่อเรียนรู้กิจกรรมจิตสาธารณะตามอัธยาศัย โดยสามารถดำเนินการเองในเชิงเดี่ยว/ปัจเจกบุคคล และในระบบกลุ่ม/ทีม



ทวนซ้ำท้ายชั่วโมง

ก่อนแยกย้ายการกลับที่พัก ทีมกระบวนกรได้เข้ามาทวนซ้ำงานที่อาจารย์ฯ ผู้สอนได้ให้โจทย์ไปเรียนรู้ด้วยตนเองซ้ำอีกรอบ เช่นเดียวกับการย้ำเน้นให้กลับไปอ่านบททวนเนื้อหาทั้งหมดที่มีอยู่ในเอกสารประกอบการเรียนการสอน หรืออื่นๆ

เช่นเดียวกับการมอบหมายให้นิสิตได้ทบวนซ้ำความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ในวันนี้ ด้วยการบันทึก “สุจิปุลิ” ลงในใบงานใน 2 ประเด็น คือ (1) จิตสาธารณะในมุมมองของนิสิตคืออะไร (2) นิสิตคิดว่าตนเองมีจิตสาธารณะในเรื่องใดบ้างแล้ว —


ครับ-นี่คือกระบวนการเรียนรู้ในรายวิชาพัฒนานิสิต เป็นการเรียนรู้แบบบันเทิงเริงปัญญา หาใช่บรรยาย และบรรยาย--



หมายเหตุ ภาพโดย ทีมกระบวนกรวิชาการพัฒนานิสิต


หมายเลขบันทึก: 591105เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2015 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2015 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท