พระพุทธศาสนากับการแก้ปัญหาการศึกษาไทย


เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพระพุทธศาสนาอยู่คู่สังคมไทยมาตั้งแต่ยังเป็นอาณาจักรเล็กๆ สู่การรวมอาณาจักรเป็นสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งพระมหากษัตริย์ไทยก็ยังเป็นพุทธมามกะและสนับสนุนค้ำชูพระพุทธศาสนาเรื่อยมา จนในปัจจุบัน ประชากรไทยกว่าร้อยละ 94.72 ของประชากรทั้งประเทศ นับถือ พระพุทธศาสนา บางท้องถิ่นที่มีวัดและสำนักสงฆ์ พระภิกษุ สามเณร สำนักเรียนพระปริยัติธรรม วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงฆ์ โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ระบบการศึกษาก็เช่นเดียวกันที่อยู่คู่กับศาสนาตั้งแต่การเป็นโรงเรียนวัด อาศัยวัดในการจัดการเรียนการสอนทั้งวิชาความรู้ด้านวิชาการและความรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรมโดยพระภิกษุ

การศึกษาปัจจุบันยังคงมีการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในสถานศึกษากันทุกสัปดาห์ซึ่งนักเรียนทุกคนต้องเรียนรวมถึงการจัดกิจกรรมค่ายต่างๆทางพระพุทธศาสนา แต่ภาพที่สะท้อนปัญหาสังคมไทยคือเวลานี้ ในขณะที่เศรษฐกิจเจริญเติบโต ในขณะที่เรามีตึกที่สูงใหญ่ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่คนไทยกลับติดเหล้าเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย มากกว่าประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเมืองหนาว เรากินเหล้าสูงเป็นอันดับ ๕ของโลก เรามีการฆ่ากันตายสูงกว่าอังกฤษถึง 10 เท่า ทั้ง ๆ ที่เราอ้างว่าเราเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาประจำชาติ อังกฤษนั้นมีคนเข้าวัดน้อยลงเรื่อย ๆ แต่การฆ่ากันตายน้อยกว่าประเทศไทยมาก แค่ 1 ใน 10 ของประเทศไทยเท่านั้น ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นก็คือ เยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ มีตัวเลขระบุว่า 1 ใน 4 ของเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี มีปัญหาสุขภาพจิต 1 ใน 4 พ่อแม่แยกทางกัน 4 ใน 10 หรือ 40 % ติดอบายมุข ชอบเที่ยว สูบบุหรี่ การพนัน เรามีโสเภณีเด็ก หรือผู้ที่ขายบริการทางเพศ ร้อยละ 40 ของโสเภณีที่เป็นผู้ใหญ่ (พระไพศาล วิสาโล : 2547) เหล่านี้ล้วนเป็นสภาพสะท้อนกลับปัญหาสังคมที่ทุกคนต้องตระหนักและร่วมกันวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหามิฉะนั้นประเทศก็จะถอยหลังเข้าคลองเพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า

หลวงพ่อพุทธทาส ได้กล่าวถึงหลักการศึกษาที่สมบูรณ์ไว้ว่า การศึกษาที่สมบูรณ์จะต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ 1) มีความฉลาด 2) มีเครื่องมือควบคุมความฉลาดเพื่อให้ใช้ความฉลาดอย่างถูกต้อง มีวิชาชีพและอาชีพ เพียงพอต่อการดำรงชีพ 3) มีมนุษยธรรม คือ ความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง พอตัวซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของท่านปัญญานันทะได้กล่าวถึงการศึกษาที่สมบูรณ์ว่า การศึกษาที่สมบูรณ์เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา เป็นทางให้เกิดหูตาสว่าง มองการณ์ไกล เป็นปัญญาที่มีเหตุผล มีธรรมะคือสติ เป็นต้น คอยเหนี่ยวรั้งความคิดไม่ให้ดำเนินไปผิดทาง (อ้างถึงใน จักรแก้ว นามเมือง:2546)
ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่การศึกษาไทยจะแก้ไขปัญหาการศึกษาอย่างจริงจังโดยการนำหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามาใช้ในการเรียนการสอนอย่างจริงจังโดยหลักคำสอนทีควรปฏิบัติให้เป็นจริยะและสืบทอดไปจนเป็นจารีตปฏิบัติ ตัวอย่างหลักธรรมคำสอน

1. อริยมรรค 8 ซึ่งประกอบด้วย
1. สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ ความเห็นอันถูกต้องถ่องแท้ เป็นความจริงแท้ ไม่ใช่ผลที่เกิดจากการคาดคะเนหรือตั้งสมมติฐาน
2. สัมมาสังกัปปะ คือดำริชอบ ดำริถูกต้อง สอดคล้องกับความจริงที่ปรากฏนั้นเมื่อความจริงปรากฏเป็นพื้นฐานแล้ว
3. สัมมาวาจา คือวาจาชอบ การพูดจาถูกต้อง เมื่อใจประจักษ์ความจริงทุกด้าน
4. สัมมากัมมันตะ คือการงานชอบ การงานถูกต้อง ไม่ว่างานทางกายหรือทางใจ
5. สัมมาอาชีวะ คือ การประกอบอาชีพชอบ การประกอบอาชีพถูกต้อง
6. สัมมาวายามะ คือความเพียรชอบ ความพากเพียรอย่างถูกต้อง
7. สัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ ความระลึกที่ถูกต้อง
8. สัมมาสมาธิ คือความตั้งใจชอบ ความมั่นคงของจิตที่ถูกต้อง

2. โยนิโสมนสิการ คือปัจจัยกระตุ้นการเรียนรู้จากภายใน หมายถึงการคิดอย่างแยบคาย หรือความรู้จักคิด คิดอย่างมีระบบ คิดอย่างมีกระบวนการ คิดรอบด้าน หรือคิดตามแนวทางปัญญา คือ รู้จักมอง รู้จักพิจารณาสิ่งทั้งหลายตามสภาวะ ตามความเป็นจริง การคิดอย่างมีเหตุและผลอ้างอิงถึงเหตุปัจจัย

การจะพัฒนาประเทศต้องเริ่มจากการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ทั้งร่างกายและจิตใจตลอดจนมีภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์ต่างๆของสังคม แก้ปัญหาให้กับตัวเองและสังคมมิฉะนั้นประเทศก็จะเจริญแต่เฉพาะวัตถุแต่สิ่งที่ส่วนทางคือจิตใจที่ยิ่งต่ำลงในทุกด้านเดียวก็กลายเป็นดังคำพูดที่ ท่านพุทธทาสภิกขุได้เคยกล่าวไว้ในหัวข้อ"ธรรมะในฐานะสิ่งที่หายไปจากระบบการศึกษาว่า"การศึกษาเหมือนหมาหางด้วน"(อ้างถึงใน สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ : 2555) กล่าวคือที่คนจบการศึกษาสูงๆ มีฐานะดี หน้าที่การงานดีกลับยินดีและยอมรับได้กับระบบการติดสินบนหรือทุจริตตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันคือการฝากบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนดีมีชื่อเสียง ซึ่งถือเป็นการปลูกฝังให้เกิดการทุจริตตั้งแต่กระบวนการแรกๆของการศึกษา และไม่น่าเชื่อจะเกิดกับสถานศึกษาที่ให้ความรู้ ทั้งๆที่ท่านพุทธทาส ได้กล่าวสอนไว้ตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งบัดนี้กำลังจะกลายเป็นความเป็นจริงในสังคมไทย

อ้างอิง

จักรแก้ว นามเมือง. (2546). พระพุทธศาสนากับการศึกษาที่สมบูรณ์. [Online]. Available: https://www.

gotoknow.org/posts/444773 [2558, มิถุนายน 15].

พระไพศาล วิสาโล. (2547). พุทธศาสนากับการศึกษาเพื่ออนาคตของประเทศ. [Online]. Available:http:

//www.visalo.org/article/budBudandSuksa.htm. [2558, มิถุนายน 15].

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์. (2555). การศึกษา"หมาหางด้วน" คืออะไร?. [Online]. Available: https://www.

gotoknow.org/posts/502830. [2558, มิถุนายน 15].

หมายเลขบันทึก: 591100เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2015 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2015 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พุทธศาสนากับการแก้ปัญหาการศึกษา(ไทย)...น่าจะเป็นคนละเรื่อง..

(พุทธศาสนา..เป็นพุทธวิถี..ที่ต้องฝึกปฏิบัติ..มิใช่แค่อ่านและท่องจำ..ตอบโจทย์..โดยใช้ระบบ.(.กู.)..(.เกิ้ล)

การศึกษา(ไทย)...มีและใช้..ระบบนี้...เก่งแต่(ปฏิบัติ)ไม่ได้..มีปริญญาราคาแพง..เอาไว้ใส่กรอบ..อวด..กัน.(.เท่านั้น..มั้ง)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท