​สถาบันอาศรมศิลป์ อุดมศึกษาเน้นปฏิบัตินำ


หลักสูตรสถาปัตย์ฯ ใช้เครื่องมือ ไอซีที ในการเรียนรู้และสื่อสารวงกว้างอย่างน่าชื่นชมยิ่ง แต่ไม่เห็นเลยใน หลักสูตรผู้ประกอบการสังคม ซึ่งก็อธิบายได้ว่าเพราะหลักสูตรแรกผู้เรียนเป็นวัยรุ่นอายุ ๑๗ - ๑๙ ปี ที่เกิดและเติบโตมาในยุคไอซีที แต่ผู้เรียนหลักสูตรหลังเป็นผู้ใหญ่ ไม่สันทัดเรื่อง ไอซีที

สถาบันอาศรมศิลป์ อุดมศึกษาเน้นปฏิบัตินำ

บ่ายวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ ในการประชุมสภาสถาบันอาศรมศิลป์ มีการนำผลการจัดการเรียน การโค้ช ในหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (หลักสูตร ๕ ปี) และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาผู้ประกอบการสังคม ที่จัดการเรียนรู้ (บางส่วน) คนละแบบในลักษณะขั้วตรงกันข้าม แต่ก็ช่วยให้เห็นแนวทาง ปรับปรุงให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น โดยอาศัยจุดแข็ง ของกันและกัน

หลักสูตรสถาปัตย์ฯ เขียนหลักสูตรเป็นรายวิชา แต่เวลาจัดการเรียนรู้จริงๆ รวบเอาหลายวิชา เข้าด้วยกัน เป็นโมดูล และเรียนรู้แบบ PBL (Project-Based Learning) เวลานี้ นศ. เรียนอยู่ชั้นปีที่ ๑ จำนวนนักศึกษา ๑๐ คน การเรียนรู้แบบปฏิบัตินำจึงเข้มข้นทีเดียว

ในภาคการศึกษาที่ ๑ แบ่งกิจกรรมการเรียนรู้ ออกเป็น ๓ ส่วน คือ

  • ส่วนที่ ๑ ฝึกทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้ โดยมีวิชาหลักคือ

ASI 10207 ศิลปะวิจักขณ์และจริยศิลป์

ASI 10404 ทักษะการฟัง การอ่านเอาเรื่อง การพูดและการเขียนภาษาไทย

ASI 10302 หลักการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

ASI 10501 พื้นฐานการออกแบบ

  • ส่วนที่ ๒ เรียนรู้ต้นกำเนิดสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น โดยไปเรียนรู้ด้วยการใช้ชีวิตอยู่กับ ชาวปกาเกอญอที่ชุมชนแม่กองคา อ. แม่สะเรียง จ. แม่ฮ่องสอน ๓ สัปดาห์ ชุมชนนี้ ต้องการรักษาวิถีทางวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกับป่าอย่างรู้คุณค่า โดยนักศึกษาได้เรียนรู้ บนฐานของวิถีการพึ่งตนเองในปัจจัย ๔ ผ่านการอยู่ร่วมกับชาวปกาเกอญอ โดยมี พระอาจารย์สันติพงศ์ เขมปัญโญ เป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้ และพานักศึกษาให้ มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง ศิลปะ วิถีชีวิต ศาสนา รวมทั้งให้เห็นกำเนิดของ สถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่มีความสัมพันธ์กันระหว่าง สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ชมวีดิทัศน์การไปเรียนรู้ของนักศึกษาได้ ที่นี่

เป็นการเรียนรู้บูรณาการ ๕ รายวิชาคือ

ASI 10207 ศิลปะวิจักขณ์และจริยศิลป์

ASI 10404 ทักษะการฟัง การอ่านเอาเรื่อง การพูดและการเขียนภาษาไทย

ASI 10302 หลักการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

ASI 10502 ทักษะการวาดเส้นระบายสี ๑

ASI 10504 การเขียนแบบสถาปัตยกรรม

นักศึกษาได้สะท้อน (reflection) สิ่งที่ได้เรียนรู้ในแต่ละวัน ทำวีดิทัศน์สะท้อนการเรียนรู้ (ดังลิ้งค์ข้างบน) และทำหนังสือ ๑ ในใจ เพื่อฝึกสื่อสาร และให้ชาวปกาเกอญอ ได้นำไปใช้ในการสื่อสารกับบุคคลภายนอกต่อไป โปรดสังเกตว่า กิจกรรมการเรียนรู้นี้ มีส่วนของการเรียนโดยรับใช้ชุมชน (service learning) อยู่ด้วย

  • ส่วนที่ ๓ เรียนรู้กระบวนการออกแบบและก่อสร้างอาคารไม้ไผ่ โปรดชม วีดิทัศน์นี้

จะเห็นว่า รูปแบบการเรียนรู้ในหลักสูตรนี้ ใช้หลักการเรียนรู้ที่เน้นปฏิบัตินำ เริ่มจากตั้งเป้า แล้วทำ Action ตามด้วย Reflection ซึ่งนักศึกษา reflect ออกมาเป็นผลงานสร้างสรรค์ ที่เป็นรูปธรรม งดงามมาก สำหรับนักศึกษาที่เพิ่งเรียนชั้นปีที่ ๑ เทอมแรก แต่ผมเสนอในที่ประชุมว่า ยังไม่พอ

หากจะให้การเรียนรู้ลงลึกในเชิงทฤษฎีได้จริง ต้องตั้งเป้าไว้ในแต่ละรายวิชา ว่านักศึกษาจะต้อง สามารถอธิบายทฤษฎี จากการปฏิบัติได้อย่างไรบ้าง แล้วอาจารย์นำเป้าหมายดังกล่าวมาตั้งคำถามใน reflction (AAR) เป็นการใช้กระบวนการ embedded formative assessment (EFA) เพื่อนำผลที่ได้เดี๋ยวนั้น มาทำ Constructive Feedback (CFB) ให้นักศึกษามุมานะในการปฏิบัติ สังเกต/เก็บข้อมูล และเรียนรู้ต่อไปอีก ตามที่ระบุไว้ในหนังสือ ประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้ ซึ่งอ่านสาระทั้งหมดได้ ที่นี่

เป้าหมายคือ เพื่อให้การเรียนรู้มีความลึกและชัดเจนด้านทฤษฎี (ปริยัติ) โดยเรียนจากการตีความ ผลจากการปฏิบัติ (ปฏิเวธ) ที่ตนเองสัมผัส

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาผู้ประกอบการสังคม เป็นการเรียนของผู้ใหญ่ ที่ประกอบสัมมาชีพ แล้ว และประสบความสำเร็จ นำเอาความสำเร็จนั้นมาตีความและขยายจากสัมมาชีพ สู่การประกอบการสังคม โดยมีการเรียนรู้ ๓ ทางคือ (๑) พัฒนาตนเอง ผ่านการปฏิบัติตามแนวทาง แห่งมงคลชีวิต และความเป็นจิตอาสา (๒) มีโครงงานประกอบการสังคมที่พึ่งพาตนเองได้ หรือสร้างความ เข้มแข็งให้แก่ชุมชนของตน (๓) สามารถเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาชุมชน/สังคมของตนเอง

ผศ. ดร. ศักดิ์ ประสานดี ผู้อำนวยการหลักสูตร บอกว่า ใช้ปรัชญาการเรียนรู้ของสถาบันอาศรมศิลป์ ๕ แนวทางคือ (๑) สร้างการเปลี่ยนแปลงตนเองจากภายใน (๒) ฝึกการสื่อสารและการฟังอย่างลึกซึ้ง (๓) เรียนรู้โดยการลงมือทำ (๔) เรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (๕) เรียนรู้แบบบูรณาการ ผสมผสานรายวิชา

มีการจับกลุ่ม ๔๕ รายวิชา ๑๓๕ หน่วยกิต เป็น ๘ โมดูล คือ (๑) การวิเคราะห์ชุมชนและทุนทางสังคม (๒) ความรู้เกี่ยวกับผู้ประกอบการสังคม (๓) การวางแผนพัฒนาชุมชน (๔) การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ในงานพัฒนา (๕) สังคมโลกและโลกาภิวัตน์ (๖) สื่อสารสนเทศ และภาษา (๗) การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อ การเปลี่ยนแปลง (๘) การจัดการความรู้เพื่อเป็นผู้ประกอบการสังคมที่ยั่งยืน

รูปแบบการประเมินผลการเรียนรู้ในชั้นปีที่ ๔ คือ (๑) ผลการลงพื้นที่และชุมชน เพื่อเยี่ยมชมกิจการ ประกอบการสังคมของนักศึกษา โดยอาจารย์และศิลปาจารย์ของหลักสูตร รวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำ แก่นักศึกษา (๒) ผลการเข้าค่ายฝึกสติปัฏฐาน ๕ วัน ตามแนวทางการสอนของหลวงพ่อเทียน (๓) ผลการเข้า ค่ายสุขภาวะหมอเขียว ๕ วัน ตามแนวทางของกลุ่มแพทย์วิถีธรรม (๔) ผลการจัดเวทีสนทนาในเวทีปฏิรูป ประเทศไทย กิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนา หรือกิจการเกี่ยวกับสังคม (ตามแผนการเรียนหลักในภาคเรียนที่ ๗) (๕) การบันทึกเอกสารการจัดการความรู้ ในโครงงานของนักศึกษา ตามรูปแบบของแผนธุรกิจ หรือแผนยุทธศาสตร์ (ตามแผนการเรียนหลักในภาคเรียนที่ ๗)

ตัวชี้วัดการสำเร็จการศึกษา มี ๓ คือ (๑) การเปลี่ยนแปลงตนเองจากภายใน (๒)โครงงานประกอบการ สังคมที่พึ่งตนเอง มั่นคง ยั่งยืน (๓) การขับเคลื่อนชุมชน/สังคม ซึ่งส่วนนี้ผมเสนอให้เพิ่ม (๔) ทักษะในการ เรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อการปรับตัวและพัฒนาต่อเนื่อง อธิบายว่า สมมติว่านักศึกษาได้รับปริญญาไป แต่ผ่านไปสามสี่ปี กิจกรรมธุรกิจเพื่อสังคมเจ๊ง หากเกิดกับบัณฑิตส่วนใหญ่ สถาบันอาศรมศิลป์ก็จะเสียชื่อ จึงต้องให้ผ่านตัวชี้วัดที่ ๔ ที่ผมเสนอ

จำนวนนักศึกษาในปัจจุบัน ๔๑๐ คน เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ จำนวน ๒๓๑ คน คาดว่าจะจบ การศึกษา ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ ได้ ๒๕ คน

เป็นแนวทางที่สุดยอดในหลักการ แต่กรรมการสภาฯ ตั้งข้อสงสัยว่า ในทางปฏิบัติจะประกันคุณภาพ ของบัณฑิตได้อย่างไร

ผมเสนอว่า หัวใจอยู่ที่อาจารย์ของหลักสูตร และศิลปาจารย์ ที่จะต้องพัฒนาทักษะการประเมิน ผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนดไว้ อย่างแม่นยำ ผมเสนอทางออก ๒ ข้อ (๑) ให้ผู้บริหารหลักสูตรและอาจารย์ กำหนดว่าแต่ละโมดูล เป็นการเรียนรายวิชาใดบ้าง (ตามแบบที่หลักสูตรสถาปัตย์ฯ ทำ) แล้วเขียนรายการคำถาม ที่สะท้อนความรู้ความเข้าใจรายวิชาเหล่านั้น เอาไว้ให้อาจารย์/ศิลปาจารย์ถาม ในกิจกรรมไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection/AAR) ให้นักศึกษาตอบ และดำเนินการฝึกอาจารย์/ศิลปาจารย์ มีทักษะในการตั้งคำถาม และทักษะ EFA + CFB ตามที่ระบุในหนังสือ ประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้ (๒) เลือกนักศึกษาที่คาดว่ามีสมรรถนะ ตรงตามที่กำหนดในหลักสูตร (๒๕ คนที่หมายตาไว้) ว่าน่าจะสำเร็จการศึกษาเพื่อรับปริญญาได้ มาทดสอบ ด้วยกระบวนการ reflection ผลงานประกอบการสังคมของตน โดยอาจารย์เลือกถามด้วยคำถามที่เตรียมไว้ แล้วอาจารย์ทำ EFA + CFB เพื่อแนะแนวทางพัฒนาตนเองให้จบหลักสูตร รับปริญญาได้

กิจกรรมข้อ (๒) จะเป็นการเรียนรู้ฝึกฝนของทั้งนักศึกษา และอาจารย์

หลังจากกลับมาไตร่ตรองที่บ้าน และเข้าอินเทอร์เน็ต ไปค้นเรื่องราวของหลักสูตรทั้งสอง พบว่า หลักสูตรสถาปัตย์ฯ ใช้เครื่องมือ ไอซีที ในการเรียนรู้และสื่อสารวงกว้างอย่างน่าชื่นชมยิ่ง แต่ไม่เห็นเลยใน หลักสูตรผู้ประกอบการสังคม ซึ่งก็อธิบายได้ว่าเพราะหลักสูตรแรกผู้เรียนเป็นวัยรุ่นอายุ ๑๗ - ๑๙ ปี ที่เกิดและเติบโตมาในยุคไอซีที แต่ผู้เรียนหลักสูตรหลังเป็นผู้ใหญ่ ไม่สันทัดเรื่อง ไอซีที

จึงเกิดความคิดว่า น่าจะจัดให้ นศ. หลักสูตรสถาปัตย์ฯ ไปร่วมกิจกรรมของหลักสูตรผู้ประกอบการ สังคม แล้วเสนอแนวทางใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศ ในการเรียนรู้ตามความเหมาะสมต่อนักศึกษาในหลักสูตร ผู้ประกอบการสังคม และอาจช่วยพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสมให้ด้วย ก็จะเกิด synergy ระหว่างสองหลักสูตร

ผมไม่รับรองว่า ข้อเสนอแนะในบันทึกนี้ จะถูกต้อง เพราะเป็นเพียงความคิด ยังไม่ผ่านการพิสูจน์ โดยการปฏิบัติ และหากจะนำไปใช้ ก็ควรปรับให้เหมาะสมต่อสถานการณ์จริง

ผมเคยเขียนบันทึกถึงหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม ไว้ที่ , , , ,

วิจารณ์ พานิช

๖ มิ.ย. ๕๘

หมายเลขบันทึก: 590850เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2015 05:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2015 05:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชื่นชมครับ เพื่อน Chula ครับ

ดร. ศักดิ์ ประสานดี ผู้อำนวยการหลักสูตรของสถาบันอาศรมศิลป์ ได้กรุณาชี้แจงดังนี้

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์คุณหมอวิจารณ์ ท่านอธิการบดี อ.สุรพล ที่กรุณาให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ รวมถึง อ.ธีรพล ที่ให้ข้อแนะนำในระหว่างการประชุมด้วย ผมขอน้อมรับคำแนะนำ และจะนำไปดำเนินการต่อไป

เนื่องในระหว่างการชี้แจงของผม ผมไม่ได้เตรียมเรื่องรายละเอัยดรายวิชาแต่ละโมดูล ผมจึงใคร่ขอโอกาสแจ้งมาพร้อมกับจดหมายฉบับนี้ และใคร่ขอรับฟังคำแนะนำเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น (ตามแนบครับ)

1. ผมใคร่ขอรับฟังคำแนะนำเพิ่มเติมในประเด็นความหมายของ "ผู้ประกอบการสังคม"

ผมได้นำเสนอว่า ความแตกต่างจากวิสาหกิจชุมชน, ธุรกิจชุมชน, หนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งชุมชน OTOP, หรือสหกรณ์, ผมได้ชี้แจงว่า คือผู้ประกอบกิจการที่เกื้อกูลต่อสังคม ทั้งในด้านธุรกิจเพื่อสังคม หรือการพัฒนาสังคม, และผมได้อธิบา่ยต่อไปอีก บัณฑิตผู้ประกอบการสังคม จะมีความตกต่างจากบัณฑิตสาขาอื่นๆ คือ เป็นคนที่พัฒนาตนเองจากด้านในด้านการครองสติและความเป็นจิตอาสา ประกอบกิจการเพื่อสังคมที่เป็นสัมมาชีพหรือการพัฒนาชุมชน และมีความสามารถในการขับเคลื่อนชุมชนสังคม และคุณหมอวิจารณ์ยังเพิ่มคำนิยามอีกว่า เป็นคนที่มี่ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ใน 4 ด้านนี้ อาจจะเป็นความหมายของผู้ประกอบการสังคม ในบริบทของหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม (คือ1) การพัฒนาตนเองจากด้านใน 2) การประกอบกิจการเพิื่ิิอสังคม 3) การขับเคลื่อนพัฒนาชุมชน และ4) การเรียนรู้ตลอดชีวิต) ความหมายนี้ เป็นความหมายเฉพาะที่ทำให้บัณฑิตของเราแตกต่างจากบัณฑิตสาขาอื่น ๆ และจากสถาบันอื่น

ความจริงแล้ว ผู้ประกอบการสังคม ในหลักสูตรของสถาบันอาศรมศิลป์ เป็นศิลปศาสตร์ ไม่ใช่เป็นบริหารธุรกิจ จึงเป็นส่วนผสมกันระหว่างศิลปศาสตร์กับบริหารธุรกิจ ไม่ใช่บริหารธุรกิจแบบเพียวๆ และไม่ใช่บริหารธุรกิจแบบเพียวๆ ผมจึงคิดว่า ไม่เน้นหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง ในขณะที่สาขาการประกอบการ จะอยู่ในบริหารธุรกิจ จึงเน้นที่การประกอบการที่สร้างรายได้อย่างเดียว ซึ่งว่ากันที่จริงแล้ว บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ สาขาผู้ประกอบการ มีจำนวนน้่อยมาก ที่สามารถจะเป็นประกอบการได้ทันทีที่สำเร็จการศึกษาหรือก่อนการสำเร็จการศึกษา ในขณะที่บัณฑิตผู้ประกอบการสังคมของสถาบันอาศรมศิลป์ สามารถเป็นผู้ประกอบการสังคม ก่อนหรือระหว่างการเป็นนักศึกษาด้วยซ้ำ ผมจึงใคร่ขอความเมตตาทืี่จะรับคำแนะนำในแนวคิดและความหมายของผู้ประกอบการสังคม ที่เป็นศิลปศาสตรบัณฑิต

2. ประเด็นสุดท้าย ผมคิดว่า นักศึกษาผู้ประกอบการสังคม แม้จะส่วนใหญ่ ไม่ได้นำใบปริญญาของสถาบันไปหางานทำ แต่เท่าที่ได้แลกเปลี่ยนสนทนา หลายคนเรียนเพื่อเป็นตัวอย่้างแก่ลูกหลาน เรียนเพื่อชดเชยชีวิตตัวเองที่ไม่มีโอกาสได้เรียนในวัยที่ควรจะได้เรียน เรียนเพื่อไม่ให้เงียบเหงานหรืออับเฉา แต่เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า การเรียนไม่ได้จำกัดอายุและวัย แต่การเรียนต้องต่อเนื่องตลอดชีวิต ไม่มีหยุด และทั้งหมด ผมพยายามสื่อสารตลอดเวลาว่า ที่สถาบัน ไม่ต้องการไล่แจกปริญญา ไม่ได้ให้ง่ายๆ ไม่ได้จ่ายเงินครบ หรือทนให้ครบ 4 ปี แล้วก็จะได้รับเอง ทุกอย่างล้วนนักศึกษาต้องแสดงความสามารถในการเรียนรู้ตามที่กำหนด ผมจึงใคร่เรียนให้ผู้บริหารได้มั่นใจในเรื่องนี้

3. สำหรับประเด็นศิลปาจารย์และนักศึกษาผู้ประกอบการสังคม ที่จะต้องฝึกทักษะการตั้งคำถาม การสะท้อน หรีือการไตร่ตรอง เป็นต้น ทางสถาบันได้กรุณาอนุมัติงบประมาณให้ไปจัดกระบวนการเรียนรู้แก่ศิลปาจารย์แล้ว อยู่ระหว่างการเตรียมการและการประสานงานกับพื้นที่ ส่วนนัักศึกษาที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษาประมาณ 25 คน ได้เตรียมการจัดกระบวนการเรียนรู้ในวันที่ 3 - 4 กรกฏาคม 58 ที่คุรุสติสถานของสถาบัน ที่ทุ่งครุ กทม. เพื่อให้ได้ฝึกการเรียนรู้ตามที่คุณหมอวิจารณ์ให้คำแนะนำ

ผมขอกราบของพระคุณที่ทุกท่านได้กรุณาให้คำแนะนำ ให้ทางสว่างในการเดินไปข้างหน้าอย่างมีำลังใจอีกครั้งครับ

ศักดิ์ ประสานดี

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท