เยี่ยมค่าย : กลับไปสบตาถามทักความรักกับชุมชน (ในแบบ "บันเทิงเริงปัญญา")


ผมมองว่ากิจกรรมเดินเท้าเข้าหมู่บ้านไม่ได้ช่วยให้นิสิตได้เข้าใจความเป็น "บริบทชุมชน" แจ่มชัดขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น ในมุมกลับกัน ยังช่วยให้นักเรียนและนิสิตได้ทบทวนเรื่องราวชุมชนตนเองไปในด้วยเหมือนกัน

กิจกรรมการ "เยี่ยมค่าย" ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้คู่บริการที่น่าสนใจไม่แพ้การ "ออกค่าย" เพราะอย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นภาพอันยึดโยงระหว่าง "ชาวค่ายกับชาวบ้าน" ที่ยังคงกลมกลืนแน่นเหนียวและมีพลัง –

โครงการเยี่ยมค่าย ๓๐ ปีอาสาพัฒนาเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญารวมใจพัฒนาชุมชนที่จัดขึ้นโดย "ชมรมอาสาพัฒนา" เมื่อวันที่ ๒๗-๒๘ มีนาคม ๒๕๕๘ คือหนึ่งในโครงการฯ ที่ผมกำลังจะกล่าวถึง


โครงการดังกล่าวฯ เป็นโครงการต่อเนื่องจากการดำเนินงานตาม โครงการ ๓๐ ปีอาสาพัฒนาเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญารวมใจพัฒนาชุมชน ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙-๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ โรงเรียนบ้านห้วยทรายทอง ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งจะว่าไปแล้วจากวันที่ออกค่ายจวบจนวันกลับไปเยี่ยมค่ายก็ครบขวบ ๓ เดือนเลยทีเดียว



ปิดศูนย์/แหล่งเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง



เยี่ยมค่าย : กลับไปสบตาถามทักความรักกับชุมชน


โดยส่วนตัวแล้วผมชื่นชมกิจกรรมการเยี่ยมค่ายเป็นอย่างมาก อย่างน้อยก็ทำให้นิสิตได้หวนกลับไปเยี่ยมยามถามข่าวคนคุ้นเคยในชุมชน เป็นการกลับไป "สบตาถามทักด้วยความรัก" มิใช่แค่การถามทักผ่านมือถือที่ไม่อาจมองหน้าสบตากันได้


การกลับไปเยี่ยมค่ายในทำนองข้างต้น ช่วยให้นิสิตได้กลับไปพบกับ "พ่อฮักแม่ฮัก" อีกรอบ มิหนำซ้ำยังเห็นภาพนิสิตมี "ของฝากของต้อน" ไปฝากพ่อฮักแม่ฮักหรือชาวบ้านบ้านและเด็กๆ อย่างน่าชื่นชม มีโอกาสได้ถามทักถึงความเป็นอยู่-สารทุกข์สุขดิบตามครรลอง "ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติขาดไม่ได้"




เยี่ยมค่าย : กลับไปประเมินผลงานค่าย


ในทำนองเดียวกัน การไปเยี่ยมค่ายฯ ก็เป็นเสมือนการกลับไป "ประเมินผลการงาน" ที่เคยได้ลงแรงสรรค์สร้างไว้ร่วมกับชุมชน ว่าบัดนี้ยังคงทนถาวร หรือเสื่อมทรุด หรือมีการใช้ประโยชน์กี่มากน้อย มิใช่การสร้างไว้เป็นอนุสรณ์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งหากมีการชำรุดเสียหายก็พร้อมที่จะลงแรงซ่อมแซมปรับปรุงร่วมกันอีกรอบ


กรณีค่ายครั้งนี้จึงเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่นิสิตได้ลงแรงปลูกสร้างร่วมกับชุมชนนั้นมีการใช้ประโยชน์จริงอย่างน่ายกย่อง เป็นต้นว่า นักเรียนดูแลไก่พันธุ์ไข่ได้กันเป็นอย่างดี แม่ไก่ยังคงออกไข่ได้อย่างต่อเนื่อ ง ผลผลิตส่วนใหญ่ป้อนกลับเข้าสู่ระบบอาหารกลางวันในโรงเรียน อีกส่วนหนึ่งถูกนำไปจำหน่ายให้กับชุมชนเพื่อนำกลับมาเป็นทุนรอนขับเคลื่อนกิจกรรมในโรงเรียน –



ิจกรรมปล่อยปลา และการติดตามการใช้ประโยชน์จากบ่อปลา


เช่นเดียวกับแปลงผักและบ่อปลาก็ยังคงสภาพที่น่าชื่นใจ ทุกอย่างยังคงได้รับการใส่ใจและเพียรพยายามต่อยอดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการกลับไปเยี่ยมค่ายครั้งนี้ นิสิตชาวค่ายก็ไม่ได้ไปตัวเปล่า หากแต่นำปลาไปปล่อยเพิ่มเติมให้กับนักเรียน พร้อมๆ กับการทำพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการไปในตัว เพื่อตอกย้ำให้ตระหนักว่างานค่ายที่สร้างขึ้นนั้น มิใช่รองรับเพียงวิถีการศึกษาในรั้วโรงเรียนเท่านั้น หากแต่ครอบคลุมถึงวิถีการเรียนรู้ หรือการให้บริการชุมชนด้วยเช่นกัน



อย่างไรก็ดีการกลับไปเยี่ยมค่ายครั้งนี้ฯ ยังก่อให้เกิดกิจกรรมใหม่หนุนเสริมการเรียนรู้เพิ่มเข้ามาอย่างน่ายกย่อง เสมือนการกลับไปแก้ไขจุดอ่อนของค่ายในรอบที่ผ่านมาที่ดูเหมือนว่ายังขาดกระบวนการเรียนรู้ชุมชนที่เข้มข้น พอมาถึงครั้งนี้จึงมีกิจกรรม "เดินเท้าเข้าสู่หมู่บ้าน" อย่างจริงจัง



ดินเท้าเข้าหมู่บ้าน : ข้ามสะพานไม้สู่การเรียนรู้บริบทชุมชน


การเดินเท้าเข้าหมู่บ้านในที่นี่หมายถึง จัดกิจกรรมเยี่ยมชมสถานที่สำคัญๆ ในหมู่บ้าน โดยมีนักเรียนทำหน้าที่เป็นเสมือน "มัคคุเทกศ์น้อย" นำพานิสิตท่องเที่ยวไปในชุมชน พลอยให้นิสิตได้สัมผัสถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมในหมู่บ้าน ได้เห็นสะพานที่สร้างจากไม้ไผ่ซึ่งยึดโยงด้วยลวดสลิงอย่างแน่นหนาข้ามลำห้วย เสมือนการร้อยรัดระหว่างความเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านกับเทคโนโลยีสมัยใหม่จากสังคมนอกหมู่บ้าน

จะว่าไปแล้ว – ผมมองว่ากิจกรรมเดินเท้าเข้าหมู่บ้านไม่ได้ช่วยให้นิสิตได้เข้าใจความเป็น "บริบทชุมชน" แจ่มชัดขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น ในมุมกลับกัน ยังช่วยให้นักเรียนและนิสิตได้ทบทวนเรื่องราวชุมชนตนเองไปในด้วยเหมือนกัน และถือเป็นกระบวนการถามทักถึงภาวะแห่งการเป็นเยาวชนจิตอาสา หรือเยาวชนรักบ้านเกิดอย่างแนบเนียนที่ควรค่าต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในค่ายอาสาต่างๆ



ัคคุเทศก์น้อยนำพานิสิตเดินเท้าเรียนรู้ชุมชน



เยี่ยมค่าย : เติมพลังสมาชิกเก่า สมาชิกใหม่


เช่นเดียวกันนี้ผมยังมองว่ากิจกรรมการเยี่ยมค่าย ไม่เพียงกลับไปถามทักชุมชนและประเมินผลงานเท่านั้น แต่ยังเป็นกลยุทธอันสำคัญในการนำพา "สมาชิกใหม่" ของชมรมอาสาพัฒนาได้ลงพื้นที่สัมผัสจริงกับผลงานที่ชมรมได้สร้างสรรค์ขึ้น ภาพการงานอันเป็นรูปธรรมเช่นนั้น ย่อมกลายเป็นพลังปลุกฝันให้กับสมาชิกใหม่ได้มีแรงใจในการที่จะดุ่มเดินบนวิถีคนค่ายร่วมกัน –

หรือกระทั่งการกลับไปเยี่ยมค่าย ขณะหนึ่งก็เป็นเสมือนการเยียวยาและเสริมพลังให้กับ "สมาชิกค่ายคนเก่า" ที่บางทีอาจตกอยู่ในสภาวะอ่อนแรงไร้พลัง – ครั้นพอกลับมาเยือนที่เดิม ได้สัมผัสกับบรรยากาศเดิมของชุมชนและวิถีค่าย บางทีอาจปลุกพลังให้กลับมาหยัดสู้อีกครั้งด้วยก็เป็นได้-

ด้วยเหตุนี้ผมจึงอยากยืนยันอย่างหนักแน่นว่า การเยี่ยมค่ายก็มีมนต์เสน่ห์ชวนหลงใหลไม่แพ้การออกค่าย และเป็นบทพิสูจน์อะไรๆ หลายอย่างของคนค่ายและวิถีค่ายอย่างไม่ต้องกังขา...

รวมถึงเป็นหนึ่งในกระบวนการบ่มเพาะให้นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ตระหนักถึงอัตลักษณ์ของการเป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชนด้วยเช่นกัน เพราะจากข้อเท็จจริงนี้ การกลับไปเยี่ยมค่ายของนิสิต ไม่ใช่แค่ไปเยี่ยมค่ายในแบบบันเทิงเริงรมย์ หากแต่มีกิจกรรมการเรียนรู้คู่บริการเสร็จสรรพในตัว -

หรือบันเทิงเริงปัญญา ดีๆ นั่นเอง




หมายเหตุ

ภาพ : ชมรมอาสารพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ต้นเรื่อง : นส.สายสุดา รินทร และผองเพื่อนชมรม อาสาพัฒนา


หมายเลขบันทึก: 590589เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2015 18:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2015 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ครับ คุณธีระวุฒิ ศรีมังคละ

... อย่างน้อยในบันทึกนี้ ก็พอทำให้เห็นว่า การไปเยี่ยมค่าย ก็มีมากกว่าการกลับไปเยี่ยมเยียนธรรมดาๆ หากแต่มีนัยสำคัญของการ "เรียนรู้คู่บริการ" ซ่อน หรือฉายเด่นอยู่ด้วย

ขอบคุณครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท