กรรมการ บอร์ด กับกลยุทธขององค์กร



นิตยสาร Boardroom ของ IOD Vol 38, Issue 1/2015, Jan – Feb เน้นเรื่อง Board Strategy ผู้เชี่ยวชาญที่เขาไปสัมภาษณ์ บอกว่า ตำแหน่งกรรมการขององค์กรเป็นอาชีพ ตรงกับที่ผมไปฟังมาจากสิงคโปร์ ตาม บันทึกนี้

กระบวนทัศน์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเรื่อง strategy ไม่ใช่เรื่องที่ทำกลยุทธกันครั้งหนึ่งแล้วเอาไป ปฏิบัติตามนั้น แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่อง และสำหรับกรรมการ เน้นที่วิธีคิดมากกว่า คือกรรมการต้องคิด เชิงกลยุทธ ไม่ใช่คิดเชิงบริหาร จะให้คิดเชิงกลยุทธได้ดี กรรมการต้องมี information ที่ฝ่ายบริหารป้อนให้ อย่างครบถ้วนและเข้าใจง่าย

ผมนึกถึงตอนไปฟังเรื่อง Corporate Govenance and Director Duties Excellence ที่สิงคโปร์ เมื่อต้นเดือนมีนาคม ๒๕๕๘ ที่วิทยากรบอกว่า information ที่ได้จากฝ่ายบริหารไม่เพียงพอต่อการทำหน้าที่ บอร์ด ที่ดี ตัวกรรมการต้องไปเยี่ยมเยียนทำความเข้าใจกิจการที่หน้างานเองด้วย จะช่วยให้มองภาพเชิงกลยุทธ ได้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น

ผู้บริหารท่านหนึ่งบอกว่า กลยุทธต้องมีความชัดเจน ในระดับที่มีตัวชี้วัดผลสำเร็จ และต้องเป็นวงจร มีการติดตามตรวจสอบ และปรับวิธีดำเนินการตามกลยุทธ

หน้า ๒๒ ของนิตยสารดังกล่าว เป็นเรื่อง คณะกรรมการบริษัทกับความยั่งยืนของกิจการ และอ้างถึงรายงาน Key considerations for board and audit committee members 2013 – 2014 ของบริษัท PwC ซึ่งเป็นความเห็นระดับโลก และเป็นสถานการณ์ในปีที่แล้ว ที่เขาบอกว่ามีปัจจัยสำคัญ ๕ ประการคือ

  • ๑.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
  • ๒.การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางเศรษฐกิจ
  • ๓.การพัฒนาของเมือง
  • ๔.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขาดแคลนทรัพยากร
  • ๕.ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ผมค้นด้วยชื่อรายงานนี้ และพบรายงานของปี 2014 – 2015 ที่นี่ โดยมีประเด็นสำคัญที่บอร์ด และคณะกรรมการตรวจสอบพึงคำนึงถึง ๗ ประการคือ

  • ๑.กิจกรรมของผู้ถือหุ้น (Shareholder activism) คือยิ่งนับวันผู้ถือหุ้นก็ไม่ทำตัวนิ่งเฉย แต่จะรวมตัวกันตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ สำหรับประเทศไทยผมคิดว่าเป็นสิ่งดี ผมเสียดายที่ไม่มีกิจกรรมแบบนี้ ต่อคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย เพราะเราไม่มี "ผู้ถือหุ้น"
  • ๒.เทคโนโลยีอุบัติใหม่ (Emerging technologies) เขาระบุถึง big data, mobile devices, cloud computing และ social media ซึ่งผมคิดว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยเอาใจใส่เรื่องนี้น้อยไป เขาแนะนำให้บอร์ดนำเรื่องนี้ไปอภิปรายกับฝ่ายบริหาร
  • ๓.การดูแลความเสี่ยง โดยเฉพาะการดูแลระดับการยอมรับความเสี่ยง (Risk appetite) และความเสี่ยงของ ปาร์ตี้ที่สาม (Third parties) ที่บริษัท outsource กิจการบางอย่าง
  • ๔.ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ นี่คือประเด็นด้านธุรกิจ ไม่ใช่ด้านเทคโนโลยี ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความเสี่ยงในยุคปัจจุบัน
  • ๕.การจัดการภาวะวิกฤต ต้องมีแผน crisis response plan
  • ๖.รายงานการเงิน และบันทึกรายรับ จะมีกติกาใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ องค์กรต้องเตรียมพร้อม
  • ๗.มุมมองของผู้ลงทุนต่อ บอร์ด ที่มีส่วนมองต่างจากกรรมการบอร์ดเอง ผมคัดมุมมองที่ต่างกันของคนสองกลุ่มนี้จากเอกสาร ดังข้างล่าง


ผมอ่านเอกสารนี้แล้วนึกถึงระบบการทำหน้าที่กรรมการ บอร์ด ของมหาวิทยาลัย (ซึ่งก็คือสภามหาวิทยาลัยนั่นเอง) ว่าเราแทบไม่มีกลไกขับเคลื่อนการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงวิธีการ ทำหน้าที่กรรมการ อย่างที่มีอยู่ในระบบ บอร์ด ขององค์กรธุรกิจ

หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ (เวลานี้คือ สกอ.) ไม่เข้าใจวิธีแสดงบทบาทแนวนี้ ทำเป็นเฉพาะบทบาท command & control ซึ่งเห็นอยู่ว่าใช้ไม่ได้ผล ไม่สร้างความเจริญอย่างแท้จริงให้แก่ระบบกำกับดูแลมหาวิทยาลัย

วิจารณ์ พานิช

๑๔ เม.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 590585เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2015 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2015 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท