เคารพความรู้ในตัวคน
ศ.
นพ. ประเวศ วะสี จะบรรยายนำในงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่
๒ วันที่ ๑ ธค. ๔๘ เรื่อง
“การจัดการความรู้ : กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์
สู่ศักยภาพ เสรีภาพ และความสุข”
อาจารย์ได้เขียนหนังสือซึ่งเราจะแจกในวันนั้น
วันนี้เอาบทที่ ๕ มาเป็นออเดิฟก่อน
กุญแจอยู่ที่การเคารพความรู้ในตัวคน
อาจจะฟังดูแปลก
แต่การเคารพความรู้ที่มีอยู่ในตัวคนทุกคนจะนำไปสู่การการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน
“ความรู้ในตัวคน” กับ “ความรู้ในตำรา”
มีความแตกต่างกันโดยพื้นฐาน
“ความรู้ในตำรา” หมายถึง
ความรู้ที่มีผู้บันทึกความรู้ที่ได้จากการวิจัยสร้างความรู้ใหม่ขึ้นมา
ความรู้ใหม่บางอย่างก็น่ามหัศจรรย์มาก “ความรู้ในตำรา”
ก็มีประโยชน์และมีฐานะอย่างหนึ่ง
ถ้านำมาใช้ให้ถูกที่ก็จะมีประโยชน์มาก
แต่ควรจะรู้ข้อจำกัดและผลร้ายจากการใช้ไม่ถูกที่ด้วย
“ความรู้ในตัวคน”
หมายถึงความรู้ความชำนาญที่มีอยู่ในตัวคนแต่ละคนที่ได้มาจากประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน
คนทุกคนมีความรู้อยู่ในตัว บางอย่างก็แจ้งชัด
บางอย่างก็ซ่อนเร้นจนแม้เจ้าตัวเองก็ไม่รู้ว่าตัวมีความรู้นี้
อาจจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ เช่น ทำไร่ ทำนา ทำสวน ศิลปะ ธรรมะ
ทำกับข้าว ทำขนม ทำก๋วยเตี๋ยว ช่างผสมปูน ช่างปลูกบ้าน
ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง แก้ปัญหาทางจิตใจ หมอทำขวัญ ฯลฯ
ความรู้ในตัวคนได้มาจากวิถีชีวิต
จึงสอดคล้องและมีประโยชน์ต่อชีวิตและวิถีชีวิตร่วมกัน เป็น
“ความรู้เชิงวัฒนธรรม”
ถ้าเคารพความรู้ในตัวคน
คนทุกคนกลายเป็นคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ และมีความสุข
ตรงนี้คือจุดเปลี่ยน
คือถ้าทุกคนมีเกียรติ
มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ ก็จะมีความสุขและความสร้างสรรค์อย่างยิ่ง
ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ที่เรียกกันว่าชาวบ้านเป็นคนไม่มีเกียรติ
ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีศักยภาพ
เพราะการเคารพความรู้ในตำราแต่ไม่เคารพความรู้ในตัวคน
ความรู้ในตำราเป็นความรู้ที่ได้มาจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
มีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่รู้และเชี่ยวชาญความรู้ในตำรา
เหมือนพราหมณ์จำนวนน้อยเท่านั้นที่ท่องคัมภีร์พระเวทย์ได้
ความรู้ในตำรามีประโยชน์ในการไปต่อยอดความรู้เชิงวัฒนธรรม
แต่ไม่ใช่ตัวตั้ง
ถ้าไม่ระวังความรู้ในตำราจะถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจในสังคมที่อยู่เหนือชาวบ้าน
ผู้มีความรู้ในตำราคิดว่าชาวบ้านไม่มีความรู้
จึงดูถูกชาวบ้านและจัดการศึกษาชนิดที่ทิ้งชาวบ้าน
เป็นการศึกษาที่ไม่ได้เอาชีวิตและวิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง
แต่เป็นการศึกษาแบบแยกส่วนไปเอา “วิชา”
เป็นตัวตั้งแปลกแยกจากชีวิตความเป็นจริงและธรรมชาติแวดล้อม
ไม่เข้าใจชีวิตและวิถีชีวิตร่วมกันขาดปัญญาในการอยู่ร่วมกัน
นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางสังคม
จากตัวอย่างในท้ายของตอนที่แล้ว แสดงว่าในตัวคนขายก๋วยเตี๋ยว
คนขายของชำ ช่างผสมปูน มีความรู้ เป็นความรู้ในตัวคน
ไม่ใช่ความรู้ในตำรา และเอามาสอนถ่ายทอดกันได้
เมื่อถ่ายทอดแล้วก็ทำได้จริง ไปทำงานได้
ในขณะที่ความรู้ในตำราถ่ายทอดกันแล้วก็ไม่แน่ว่าจะเข้าใจหรือไปทำอะไรได้หรือไม่
ความรู้ในตัวคนได้มาจากประสบการณ์และการทำงาน
คนทุกคนที่มีประสบการณ์และมีการทำงาน คนทุกคนจึงมีความรู้อยู่ในตัว
โดยไม่คำนึงถึงระดับการศึกษา (ที่เป็นทางการ)
ตรงนี้จะช่วยบอกเราได้ว่าทำไม
แม่จึงเป็นครูที่ดีที่สุดของลูก
โดยไม่คำนึงถึงว่าแม่จะเคยเข้าโรงเรียน
หรือได้รับปริญญาระดับใดๆหรือไม่ เราไปดูประวัติของบุคคลต่างๆ
ที่มีความสำเร็จ เช่น แม่ของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์
ไม่เคยเข้าโรงเรียนเลย แม่ของอาจารย์เสม พริ้งพวงแก้ว
ก็เช่นเดียวกัน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง พิมพ์หนังสืองานศพมารดา
ชื่อ “สิ่งที่แม่สอนไว้” ว่าแม่ของท่านเป็นชาวบ้านที่อ่างทอง
ไม่เคยเข้าโรงเรียนเลย แต่สอนสิ่งดีๆ เป็นอันมาก
แม่ไม่เคยเข้าโรงเรียน
แต่แม่มีความรู้ในตัวที่ได้มาจากประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน
แม่จึงสอนลูกได้ และเป็นครูที่ดีที่สุดของลูก
ตรงนี้อยากให้หยุด แล้วลองคิดถึงแม่ของตัวท่านเองนิ่งๆ
สักพัก
จะปรากฏว่าจิตขึ้นมาก
เพราะแม่เป็นจิตวิญญาณของลูก เป็นความดีสูงสุดของลูก
เป็นกัลยาณมิตรที่สอนให้กินเป็นเดินเป็น และทำอะไรดีๆ
อย่างที่มนุษย์ควรทำ
แม่มีความรู้ในตัวท่านที่ได้มาจากประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน
แม้ท่านจะไม่มีปริญญาอะไรก็ตาม
ถ้าเราดูตัวอย่างจากแม่
ทำความเข้าใจและเห็นคุณค่าความรู้ในตัวคน เราอาจจะพบกุญแจประตูกล
ไขออกไปจากสิ่งที่คุมขังเราอยู่
ถ้าว่าแม่คือครูที่ดีที่สุด
และทุกคนก็มีแม่
ไฉนปัญหาที่ก่อความทุกข์ยากแก่คนทั้งแผ่นดิน คือการหาโรงเรียนดีๆ
ให้ลูกเข้าไม่ได้
การสอบเข้ามหาวิทยาลัยเปรียบประดุจประตูที่กั้นระหว่างนรกกับสวรรค์
นักเรียนและพ่อแม่ทั้งประเทศเครียดและวิตกกังวลกันไปหมดว่าลูกจะสอบเอ็นท์ได้หรือไม่
ส่วนน้อยเข้าได้ก็ประดุจขึ้นสวรรค์ ส่วนใหญ่เข้าไม่ได้ก็เหมือนลงนรก
บางคนไปฆ่าตัวตาย
ที่ใกล้บ้านผมมีเด็กผู้ชายคนหนึ่งเป็นคนดี มากขยันช่วยพ่อแม่ทำงาน
แต่วันหนึ่งแกฆ่าตัวตายเสียแล้วเพราะสอบเอ็นท์ไม่ได้
การที่แกเป็นคนดีขยันและช่วยพ่อแม่ทำงาน
เป็นความดีอย่างยิ่งและการช่วยพ่อแม่ทำงานเป็นการเรียนรู้อย่างดี
แต่สังคมไปให้คุณค่าแก่การสอบเอ็นท์มากกว่าการเป็นคนดีและเรียนรู้จากการทำงานกับพ่อแม่
แปลว่าทางแห่งเกียรติยศของเราคับแคบ
ก่อความทุกข์ยากให้คนส่วนใหญ่ นอกจากคับแคบแล้ว
ประเดี๋ยวจะได้ดูกันว่าทางแห่งเกียรติที่ว่านี้จริงหรือปลอมมากน้อยเพียงใด
การเรียนอย่างเป็นทางการของเราเน้นการเรียนจากตำราหรือการท่อง
“วิชา”
เนื้อหาความรู้ในโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ประมาณว่าเพิ่มขึ้นเท่าตัวในชั่วเวลาเพียง ๓ - ๔ ปีเท่านั้น
แต่เวลามีเท่าเดิมวันละ ๒๔ ชั่วโมง สัปดาห์ละ ๗ วัน
การพยายามยัดเนื้อหาความรู้อันมหึมาเข้าไปในเวลาเท่าเดิม
จึงเปรียบเหมือนยัดช้างเข้ารูเข็ม จะลำบากและบอบช้ำอย่างยิ่ง
ครูก็ลำบากเพราะไม่สามารถจดจำเนื้อหาวิชาต่างๆ ได้
ครูจึงขาดความมั่นใจ แต่ครูก็มีทางออกโดยแบ่งกันสอนเป็นวิชาๆ
แต่นักเรียนไม่มีทางออกต้องเรียนทุกวิชาแบบแยกส่วน
การเรียนโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง โดยไม่เอาชีวิตและวิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง
ทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา เช่น
(๑) เรียนยาก เพราะท่องจำไม่ไหว
นักเรียนเกือบทั้งหมดกลายเป็นคนไม่เก่ง
อันที่จริงแต่ละคนมีความชอบความถนัดต่างกัน
ถ้าได้เรียนในสิ่งที่ตนชอบก็จะเรียนง่ายและเรียนเก่ง
แต่การถูกบังคับให้ท่องจำมากมายเหมือนๆ กัน
ทำให้ขาดความสุขความสร้างสรรค์
และเป็นการทำลายศักยภาพของคนอย่างรุนแรง
ทำให้คนส่วนใหญ่ขาดความมั่นใจและความภูมิใจในตนเอง
(๒) มีปริญญาแต่ทำอะไรไม่เป็น พลเอกพิจิตร
กุลละวณิชย์ เป็นผู้หนึ่งที่เป็นห่วงการศึกษาไทยมาก
เคยเล่าให้ผมฟังว่าท่านเคยพูดกับคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ว่า “คุณเจริญ
คุณก็มีโรงแรมมาก ทำไมคุณไม่จ้างคนไทยทำงาน”
คุณเจริญตอบว่า “ผมจ้างแล้ว แต่เขามีแต่ปริญญาแต่ทำงานไม่เป็น”
คุณยิ้ม ช่างรับเหมาก่อสร้างบ่นว่าคนสมัยนี้ทำงานไม่เป็น
ไม่สู้งานหนักและไม่รับผิดชอบ ปัญหาคนไทยทำงานไม่เป็น
เป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นผลจากการเรียนแบบเน้นท่อง “วิชา”
(๓) เกิดความแปลกแยกจากเพื่อนมนุษย์และความเป็นจริง
เด็กนักเรียนที่เรียนแบบท่อง “วิชา” มากมายจะเครียดมาก
ไม่อยากคุยแม้แต่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เพราะคุยแล้วไม่ได้คะแนน
คะแนนไปอยู่ที่วิชา
การเรียนแบบนี้จึงไม่ให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพในครอบครัว พ่อแม่
ปู่ย่า ตายาย มีความรู้ในตัวเยอะทีเดียว และก็มีความรักลูกหรือหลาน
แต่การศึกษาของเราไม่ให้คุณค่ากับความรู้ในตัวคนและสัมพันธภาพในครอบครัว
เหมือนเด็กถูกตัดขาดหรือไปถูกกักขังอยู่กับ “วิชา”
ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของชีวิตและวิถีชีวิต
(๔) ขาดศีลธรรม ศีลธรรมเกิดจากวิถีชีวิตร่วมกัน
การเรียนวิชาศีลธรรมสร้างไม่ได้ เรามองการเรียนเป็นเรียน “วิชา” ไปหมด
ไม่มองว่าการเรียนรู้เกิดในวิถีชีวิตและการทำงาน
เมื่อระบบการศึกษามาแยกผู้คนออกไปจากวิถีชีวิตจริง
ความเสื่อมเสียทางศีลธรรมก็เป็นเรื่องหนีไม่พ้น
(๕) ตัดรากทางวัฒนธรรม
วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ
บุคคลเรียนรู้ในวัฒนธรรมได้ง่ายเพราะผู้คนเขาปฏิบัติกันอยู่รอบตัว
ต้นไม้ต้องมีรากฉันใด สังคมก็เช่นเดียวกัน รากของสังคมคือวัฒนธรรม
ถ้าตัดรากต้นไม้ แล้วเกิดอะไรขึ้นฉันใด
การพัฒนาโดยตัดรากวัฒนธรรมก็เกิดผลในทำนองเดียวกันฉันนั้น
การศึกษาแบบการเน้นการท่องวิชา เป็นการศึกษาแบบตัดรากทางวัฒนธรรม
ด้วยการเรียนรู้แบบนี้ ภูมิปัญญาต่างๆ
ที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมของตนจะสูญพันธุ์
เหมือนพืชหรือสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว จะไม่กลับคืนมา
ที่กล่าวนี้เพียงย่นย่อ
พอให้เห็นว่าทางแห่งเกียรติยศอันคับแคบของระบบการศึกษาปัจจุบันนั้น
ก่อให้เกิดความบีบคั้นอย่างหนักในสังคม
เราควรจะทบทวนระบบการศึกษาของเราอย่างถึงรากถึงโคน
จุดเปลี่ยนอยู่ที่การเคารพความรู้ในตัวคน
แต่เราไม่ได้ปฏิเสธความรู้ในทางทฤษฎีหรือความรู้ในตำรา
เพียงแต่ว่าเราต้องจัดความสัมพันธ์ของความรู้ในตัวคนกับความรู้ทางทฤษฎีอย่างถูกต้อง
อะไรเป็นฐาน อะไรเป็นการต่อยอด อะไรเป็นส่วนตกแต่ง
ถ้าเคารพความรู้ในตัวคน การศึกษาก็จะเปลี่ยน สังคมจะเปลี่ยน
“การจัดความรู้”
คือรูปธรรมของการเคารพความรู้ในตัวคน