อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (7)
โปรดอ่านตอนที่ 1 (click) , ตอนที่ 2 (click), ตอนที่ 3 (click) , ตอนที่ 4 (click) , ตอนที่ 5 (click) , ตอนที่ 6 (click) ก่อนนะครับ
ในตอนที่ 7 นี้ จะเสนอเรื่อง การพัฒนาระบบตำแหน่งวิชาการสายรับใช้สังคมไทย
ในปัจจุบันระบบตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัยไทยใช้แนวคิดการสร้างสรรค์วิชาการสายเดียว คือสายสากล ยกย่องผลงานสร้างความรู้สู่สากลซึ่งวัดได้โดยการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติที่มี Impact Factor สูง และการได้รับการอ้างอิง (citation) บ่อย แนวทางดังกล่าวเป็นแนวทางที่ดี แต่ไม่เพียงพอ ควรมีระบบตำแหน่งวิชาการอีกระบบหนึ่งเป็นระบบคู่ขนาน พิจารณาคุณภาพที่ผลงานวิจัยนั้นก่อผลกระทบต่อสังคมไทย
ผมได้เคยบันทึกเรื่องนี้ไว้แล้วในหัวข้อ วิธีพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการโดยเน้นงานวิจัยที่ตอบสนองต่อชุมชน (click) เมื่อวันที่ 18 ก.ค.48 และได้มี รศ. ดร. ปิติ ทฤษฎิคุณ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยของ ม.สงขลานครินทร์ เข้ามาให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีบางมหาวิทยาลัยกำลังริเริ่มดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว
นอกจากนั้นผมยังเคยเสนอแนวความคิดในการประชุมหลายที่ มีคนตื่นเต้นอยากให้มีการผลักดันแนวคิดให้เป็นจริงอยู่ไม่น้อย แต่ก็แปลก ไม่มีคนดำเนินการอย่างจริงจัง
ผมมองว่าเป้าหมาย output ของ mega-project นี้ต้องแยกออกเป็น 2 สาย คือสายนานาชาติ กับสายรับใช้สังคมไทย แต่ละสายจะต้องมีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่กำหนดในสาย สำหรับสายนานาชาตินั้นง่าย เพราะมีเกณฑ์คุณภาพเป็นสากลอยู่แล้ว ส่วนสายรับใช้สังคมไทยนั้นยากและเสี่ยง คือเสี่ยงต่อการที่จะได้ผลงานและผลผลิตที่มีคุณภาพต่ำและเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรม mediocre ทางวิชาการ เป็นความท้าทายมากที่จะต้องมีการจัดการระบบผลงานวิชาการรับใช้สังคมไทยให้มีคุณภาพสูง สูงจนนานาชาติให้การยอมรับให้ได้ นี่คือความท้าทายยิ่ง ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จจะต้องถือเป็นนวัตกรรมที่ก่อคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่ต่อสังคมไทย
ตำแหน่งวิชาการสายรับใช้สังคมไทย ควรเน้นที่คุณภาพของผลงานวิจัยในระดับอธิบายเหตุผลของการประยุกต์ให้ความรู้ได้ผลดีหรือไม่ได้ผลในสังคมไทย เน้นการชี้ช่องว่าทำอย่างไรจึงจะประยุกต์ใช้ความรู้ให้ได้ผลในบริบทต่าง ๆ ของสังคมไทย เน้นการพิสูจน์ว่าทำได้ผลและมีคำอธิบายว่าทำไมจึงได้ผล
ถ้าจะยึดถือ impact factor ก็ควรใช้ Thai Social Impact Factor ซึ่งระบบวารสารวิชาการไทยรับใช้สังคมไทยจะต้องพัฒนาขึ้น
แต่เพียง impact factor อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอเพราะการตีพิมพ์นั้นอาศัย "โดยสาร" ความสามารถของคนอื่นได้ จะต้องมีการประเมิน "ความเป็นผู้รู้" ในสาขานั้น ๆ ในระดับของการอธิบายเหตุผลของการประยุกต์ใช้ความรู้แล้วได้ผลหรือไม่ได้ผลในสังคมไทย
เรื่องแบบนี้ยุติโดยความคิดเห็นของคนคนเดียวไม่ได้ ทีม 5 ยังเติร์กหรือผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาอุดมศึกษาเพชราภิเษก (องค์การมหาชน) ควรจัดประชุมระดมความคิดปรึกษาหารือกันให้รอบคอบ หาวิธีการประเมินระดับความสามารถและระดับคุณภาพของ "วิชาการไทยรับใช้สังคมไทย" ให้ได้แม่นยำในระดับที่น่าพึงพอใจ หรือในระดับที่มั่นใจว่าเมื่อนำไปประยุกต์ใช้โดยคณะกรรมการต่างคณะกันแล้ว ผลจะออกมาไม่แตกต่างกันมากนัก หรืออาจจะต้องทำใจว่าคงจะมีช่วงห่างกว้างมากระหว่างเกณฑ์และการปฏิบัติที่เข้มงวด กับที่ปล่อยหรือหย่อน ก็อาจจะมีระบบการตรวจสอบคุณภาพและจัด rating/ranking ของมหาวิทยาลัย/PhD Program/ฯลฯ สายวิชาการไทยรับใช้สังคมไทย แล้วบอกให้สังคมรับรู้และเลือกเข้าเรียนหรือทำงานร่วมด้วยตามความเหมาะสม
อาจมีคนโต้แย้งว่าวิชาการไม่ควรมี 2 สาย ต้องมีมาตรฐานเดียว มีความเป็นเอกภาพ ซึ่งก็เป็นข้อโต้แย้งที่น่าฟัง แต่ผมไม่เห็นด้วยในทางปฏิบัติ เราไม่ควรเอาวิชาการ (ซึ่งจริง ๆ แล้วกำหนดมาตรฐานโดยประเทศตะวันตก) เป็นตัวตั้ง แต่ควรเอาผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นตัวตั้ง วิชาการต้องสนองประโยชน์ของสังคม โดยที่วิชาการสายสนองประโยชน์ต่อสังคมก็ต้องมีมาตรฐานคุณภาพ โดยที่เราต้องคิดและพัฒนาะบบของเราขึ้นมาเอง ไม่สามารถอิงอาศัยประเทศตะวันตกได้ และถึงแม้จะมีให้อิงก็ไม่ควรคัดลอกมา ควรศึกษาของเขาแล้วพัฒนาของเราขึ้นมาเอง
เรื่องวิชาการ 2 สายนี้ผมเห็นมากว่า 30 ปี ในสหรัฐอเมริกาเวลาเขาจัด ranking โรงเรียนแพทย์ เขาจะแยกเป็น 2 สายคือ รร.แพทย์สายปกติ กับสาย community-based ก็ไม่เห็นว่า รร.แพทย์สาย community-based จะโวยวายว่าเขาโดนจัดเป็นโรงเรียนแพทย์ชั้นสอง
สรุปว่าประเทศไทย (อุดมศึกษาไทย) จะต้องคิด พัฒนาและวิวัฒน์ระบบตำแหน่งวิชาการสายรับใช้สังคมไทยขึ้นมา และมีการทำงานระยะยาวในการ evolve ระบบนี้ ตรวจสอบการปฏิบัติตามระบบนี้ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งก็จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสังคมว่าเรามีสถาบันอุดมศึกษาและวิชาการสายรับใช้สังคมไทยเป็นหลัก ควบคู่ไปกับสถาบันอุดมศึกษาสายนานาชาติ และในสายรับใช้สังคมไทยนี้ สถาบันใดเข้มแข็งทางวิชาการ และสถาบันใดหย่อนยาน
วิจารณ์ พานิช
25 ต.ค.48