GotoKnow

Thailand Medical Hub of Asia กับ ความรู้ภาษาอังกฤษของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแบบไทยๆ

Lexicom
เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2548 13:20 น. ()
แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2555 00:43 น. ()
Thailand Medical Hub

Thailand Medical Hub of Asia กับ ความรู้ภาษาอังกฤษของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแบบไทยๆ

บุญเตือน วัฒนกุล วท.ม. (สาธารณสุขศาสตร์) [1]
นำพล แดนพิพัฒน์ พบ, วว. ศัลยศาสตร์ทั่วไป [2]

      ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีประชากรจำนวนมากประมาณ 60 % ของประชากรโลก ในปี พ.ศ. 2542 (WHO; 2003)1 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรกว่า 210 ล้านคน (WHO, 1999) อัตราการเพิ่มประชากรในภูมิภาคเอเชียประมาณ 1.3 % ใกล้เคียงกับอัตราการเพิ่มประชากรโลกซึ่งเพิ่มในอัตรา 1.2 % (WHO; 2003)1 การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมเจริญก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้สถานะทางเศรษฐกิจดีและมีกำลังซื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้มีความพร้อมด้านเศรษฐกิจ ย่อมมีความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ผลที่ตามมาความต้องการในด้านสุขภาพของชาวเอเชียย่อมมากขึ้น การมองหาและเลือกสรรบริการสุขภาพที่ดีมีศักยภาพเพียงพอสำหรับการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น                                                              
    ประเทศไทยมีระบบบริการสุขภาพพอเพียง และได้รับการยอมรับจากต่างชาติ จากสถิติในปี 2545 ประเทศไทยมีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาใช้บริการทางด้านการแพทย์ 630,000 ราย และเพิ่มขึ้นเป็น 973,000 ราย ในปี 2546 (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 54.3%)2 มีผลทำให้ในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยเป็นเงินตราต่างประเทศไหลเวียนเข้ามากว่า 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (คิดเป็นมูลค่า 26,400 ล้านบาท) 2 จากบริการด้านสุขภาพแก่ผู้ป่วยชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยว คาดการณ์ว่าในปี 2553 จะมีผู้ป่วยชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 2,000,000 ราย สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงได้ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์เอเชีย (The Medical Hub of Asia) นับว่าเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พ. ต. อ. ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาธุรกิจด้านการบริการสุขภาพสู่มาตรฐานสากล ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยต้องการผู้ร่วมหุ้นชาวต่างชาติเพื่อขยายฐานลูกค้าชาวต่างชาติและต้องการเทคโนโลยีทางสุขภาพมากขึ้น                                                                                
        จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์     ของภูมิภาคเอเชียทำให้ต้องพัฒนาศักยภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุข นอกจากคำนึงถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาค ยังมีปัจจัยอีกด้านหนึ่งที่เรามิอาจมองข้ามความสำคัญไปได้ คือ บุคคลากรระดับรากหญ้า (Health worker personnel) เป็นกลุ่มบุคคลากรที่มีส่วนร่วมอย่างมากในการสร้างกิจกรรมการบริการด้านสุขภาพและสร้างความประทับใจให้ลูกค้า สอดคล้องกับการสนับสนุนจากภาครัฐจัดการด้านการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้าจากต่างชาติเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ ส่วนที่เป็นโอกาสพัฒนาของบุคลากรสาธารณสุขคือต้องเตรียมความพร้อมด้านทักษะการสื่อสารกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษซึ่งภาษากลางสำหรับนานาชาติ แม้ว่าบริการสุขภาพที่ดีมีเอกลักษณ์ไทย บริการด้วยมิตรภาพ และความสุภาพสร้างความประทับใจแก่นานาชาตินับเป็นจุดเด่นของเรา ขณะที่เพื่อนบ้านเราอย่างประเทศสิงคโปร์นั้นเคยเป็นแชมป์ของ Medical Hub of Asia พัฒนาศักยภาพเรื่อยมาและได้รับการร่วมมือจากประเทศสหรัฐอเมริกาในการสร้าง Medical Hub แห่งภูมิภาคเอเชีย 3-5
นั้นเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ เป็นโอกาสในการแข่งขันในตลาดบริการสุขภาพในภูมิภาคที่นอกจากมีจุดแข็งด้านชื่อเสียงของศักยภาพทางการแพทย์ที่มีคุณภาพเป็นที่น่าเชื่อถือ                                               
กลยุทธ์ด้าน Learning and Growth เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การบริหารโรงพยาบาลประยุกต์ใช้ Balance Score Card ได้จัดโครงการทดสอบวัดความรู้และทักษะด้านภาษาอังกฤษภายในโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 90 เตียง โดยได้รับการอนุเคราะห์การจัดทดสอบครั้งนี้จากสถาบันการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (DTEC) สถาบันที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป โดยทดสอบวัดความรู้และทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ 3 ด้าน คือ Reading, Grammar และ Listening
จากการทดสอบวัดระดับความรู้และทักษะด้านภาษาอังกฤษของบุคลากรสุขภาพที่มีคุณวุฒิตั้งแต่  ระดับปริญญาตรีขึ้นไปของโรงพยาบาล จำนวน 106 คน ประกอบด้วยบุคลากรสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ของโรงพยาบาล ได้แก่ แพทย์ พยาบาลวิชาชีพ เภสัชกร และ บุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ อยู่กลุ่มที่มีอายุระหว่าง 23 - 60 ปี (Mean ± SD = 34.87 ± 7.31) และประสบการณ์การทำงานระหว่าง 1 - 39 ปี (Mean ± SD = 12.75 ± 7.79)                                                                        
      จากผลการทดสอบครั้งนี้พบว่า มีผู้ที่มีคะแนนรวมเฉลี่ยสูงกว่า 50 % จำนวน 3 คน (2.83%) คะแนนสูงสุด คือ 59.8 % กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีทักษะด้านการอ่านและการฟังในระดับดี  กลุ่มที่คะแนนเฉลี่ยอยู่ในช่วง มากกว่า 20 - 40 % จำนวน 61 คน (57.55%) กลุ่มที่มีคะแนนเฉลี่ย ต่ำกว่า 20 % จำนวน 42 คน (39.62%) โดยรวมผลคะแนนรวมมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 23.8 ± 9.10 % (Min - Max = 9.60 - 59.80%)  เมื่อเปรียบเทียบผลคะแนนรวมเฉลี่ยกับปัจจัยด้าน อายุ ประสบการณ์ กลุ่มวิชาชีพ พบว่าคะแนนรวมเฉลี่ยมีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (แผนภูมิ 1a-c) แต่ปัจจัยด้านระดับการศึกษามีคะแนนรวมเฉลี่ยแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F = 2.532, p=0.000; 95% CI)  (แผนภูมิ 1d) การศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีมีทักษะด้านภาษาอังกฤษมากกว่า น่าจะแปลความได้ว่า การที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในระดับบัณฑิตช่วยให้มีทักษะด้านภาษาอังกฤษดีกว่า หรืออีกนัยหนึ่งคือ การได้ศึกษามาก อ่านมาก ทำให้เกิดทักษะมาก และจากข้อมูลปัจจัยด้านอายุ และประสบการณ์ทำงานไม่แสดงความแตกต่างอย่างชัดเจนของระดับความรู้ด้านภาษาอังกฤษทั้งทักษะด้านการอ่านและการฟัง (ตามแผนภูมิ 1a-b)                 
ความสามารถด้านการอ่านของผู้สอบโดยเฉลี่ย เท่ากับ 18.6 ± 7.07 % (Min - Max = 8.00 - 42.00%) เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับทักษะเฉพาะด้านการฟังนั้น คะแนนเฉลี่ยของผู้สอบทั้งหมด เท่ากับ 8.59 ± 4.31 % (Min - Max = 2.00 - 26.00%) เป็นข้อสังเกตว่าระดับความสามารถการสื่อสารในด้านการฟัง (Listening Skill) ของบุคลากรนั้นยังไม่เพียงพอในการสื่อสารได้ดีนัก ทักษะด้านการอ่านอยู่ในระดับที่ดีกว่าทักษะด้านการฟัง แต่อย่างไรก็ตามการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษต้องมีทักษะการฟังที่ดี จึงจะสามารถจับประเด็นในการสนทนาและสามารถสนทนาโต้ตอบได้ ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการสร้างความประทับใจในกิจกรรมด้านการบริการที่มีคุณค่า สร้างความแข็งแรงและโอกาสในการตลาดทางธุรกิจบริการด้านสุขภาพ      
กรณีศึกษาครั้งนี้ เป็นเพียงกลุ่มตัวอย่างส่วนน้อยที่เป็นบุคลากรสาธารณสุขส่วนภูมิภาคแต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพที่ศึกษาเฉพาะด้านของระดับความรู้และทักษะด้านภาษาอังกฤษ  ภายหลังสำเร็จการศึกษาที่ได้รับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึง   ระดับบัณฑิตศึกษา แต่ทักษะด้านภาษาอังกฤษยังคงอยู่ในช่วงที่ต้องการโอกาสสำหรับการพัฒนาต่อไปให้มีทักษะในการนำไปใช้มากขึ้น ดังข้อมูลเบื้องต้นของบุคลากรสาธารณสุขที่เข้าร่วมทดสอบครั้งนี้ ล้วนเป็นกลุ่มบุคลากรที่มีผลการศึกษาที่อยู่ในระดับดีของโรงเรียนมาก่อนที่จะเข้าเรียน แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร และเป็นบุคลากรสำคัญในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จึงเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงระบบการจัดการเรียนการสอนของประเทศไทยที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ถึงเวลากันหรือยังที่จะกลับมาทบทวนกันเสียที เพื่อการพัฒนาระบบการเรียนการสอนเพิ่มพูนทักษะการใช้ภาษาอังกฤษให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการเรียนการสอน เพื่ออนาคตของชาติไทยก้าวสู่ Medical Hub of Asia อย่างสมศักดิ์ศรี


แผนภูมิ 1a-1d : แสดงผลคะแนนทักาาะการใช้ภาษาอังกฤษเปรียบเทียบกับปัจจัยด้านอายุ ประสบการณ์ กลุ่มวิชาชีพ และ ระดับการศึกษา

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประจำวันที่ 29  เมษายน 2548 ปีที่ 29 ฉบับที่  9911(หน้า 10)

.

..

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized 

ความเห็น

ผู้ผ่านมา
เขียนเมื่อ

 thailand medical hub of asia

เป็นนโยบาย ที่เอื้อให้แก่ ร.พ เอกชน3 แห่งเท่านั้น คือ

บำรุงราษฏร์ ร.พ กรุงเทพ และ ร.พ พระรามเก้า

ได้ข่าว่าจุฬา และ ศิริราชและ รามา จะเข้าโครงการนี้ด้วย

ถามว่า ร.พรัฐ ดูแลคน ไทย ไม่ดีกว่าหรือ?

ถ้าไปดูต่างชาติกันหมดจะเอาทรัพยากรที่ไหนมาดูแลคนไทย


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย