ตำนานเทพทันใจ


ตำนานเทพทันใจ

ตำนานเทพทันใจ

ถึงแม้ประเทศพม่าจะเป็นประเทศที่ผู้คนมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามความเชื่อในเรื่องของการบูชาภูติผีวิญญาณก็ยังมีอยู่ควบคู่ในวิถีชีวิตของชาวพม่าอย่างแยกไม่ออก

"นัต" หรือวิญญาณเทพผู้คุ้มครอง ยังเป็นที่เคารพนับถือสืบเนื่องต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่ก่อนพุทธศาสนาจะเข้ามาในประเทศพม่าเสียอีก โดยเทพที่จะถูกจัดว่าเป็น "นัต" นั้น มักจะเป็นคนที่เคยสร้างความดี หรือมีวีรกรรมน่าประทับใจ และมาตายลงด้วยเหตุร้ายแรงที่เรียกว่า ตายโหง ทำให้วิญญาณยังมีความห่วงใยในภาระหน้าที่บ้านเมือง และยังคงผูกพันกับผู้คนเบื้องหลัง ทำให้ไม่อาจไปเกิดใหม่ได้ จึงกลายเป็นนัตที่มาคอยคุ้มครองรักษาบ้านเมือง หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่นพระเจดีย์องค์สำคัญ

ในสมัยพระเจ้าอนิรุธมหาราช หรือชาวพม่าเรียกว่า พระเจ้าอโนรธา แห่งอาณาจักรพุกาม เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11 พระองค์ทรงรับพระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์เข้ามาในดินแดนแถบนี้ แทนที่พุทธศาสนานิกายอารี ความเชื่อเดิมที่หย่อนในพระวินัย ผสมกับเรื่องราวทางไสยศาสตร์ และภูตผีปีศาจท้องถิ่นมากมาย นอกจากนี้ เพื่อเป็นการปฏิรูปศาสนา และความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องนัตของประชาชนเสียใหม่ให้มีความสอดคล้องกัน และเพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนามากขึ้น พระเจ้าอนิรุธได้ทรงรวบรวม นัตที่มีผู้คนนับถือมาก รวม 36 องค์ โดยจัดให้เป็นมหาคีรีนัต ยกให้เป็นเทพประจำราชอาณาจักร โดยให้มีนัตองค์ที่ 37 คือ ตัจจาเมงนัต หรือท้าวสักกะ พระอินทร์ผู้เป็นราชาแห่งเทพ และเป็นผู้คุ้มครองพระพุทธศาสนาให้เป็นผู้กำกับดูแลนัตทั้ง 36 องค์อีกต่อหนึ่ง เหตุการณ์ครั้งนี้อาจถือได้ว่าเป็นการจัดระเบียบเทพ และศาสนาในประเทศพม่าโดยพระราชาเมื่อกว่า 900 ปีมาแล้ว

นัตในประเทศพม่าที่รู้จักกันดีสำหรับชาวไทย คือ นัตโบโบจี แห่งวัดโบตะทาว หรือที่ชาวไทยเรียกขานกันว่า "เทพทันใจ" โดยชื่อของท่านมาจากการที่ท่านสามารถดลบันดาลโชคลาภให้กับผู้ที่เดือดร้อนที่เข้ามาขอพรกับท่านได้ผลสำเร็จทันใจนั่นเอง

การบูชาเทพทันใจ นิยมใช้มะพร้าว กล้วยนากสีแดง เป็นเครื่องบูชาเพราะเชื่อว่าเป็นผลไม้มงคล และเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามของชีวิต บางครั้งก็จะประกอบด้วยช่อใบไม้ที่เรียกว่า ใบชัยชนะ และฉัตร ตุงหรือธงกระดาษขนาดเล็ก ซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมงคลอีกเช่นกัน

การอธิษฐานขอพรต่อเทพทันใจ มีเคล็ดลับว่าต้องขอเพียงข้อเดียวเท่านั้น นัยว่าเพื่อพลังกล้าแข็งในการถวายเครื่องเซ่น

หลังจากนั้น ให้ถวายธนบัตรเสียบไว้ที่มือของท่าน ซึ่งอยู่ในกิริยายืนชี้นิ้วไปข้างหน้า อยากจะถวายเท่าใดก็แล้วแต่ศรัทธา แต่ต้องให้มีจำนวนธนบัตรมากกว่า 1 ฉบับ หลังจากนั้นก็เข้าไปยืนให้หน้าผากของเราติดกับนิ้วมือของท่าน แล้วจึงตั้งจิตอธิษฐานอีกครั้ง เพียงข้อเดียวเท่านั้น ห้ามเปลี่ยนใจ เสร็จแล้วจึงนำธนบัตรที่เราถวายไว้คืนกลับมา 1 ฉบับ เพื่อเอากลับไปเป็นเงินขวัญถุง ให้มีโชคมีลาภต่อไป นอกจากนี้ ผู้ดูแลศาลยังอาจจะให้เรานำกล้วยสุกที่คนมาถวายไว้ก่อนหน้านั้น เอาไปกินเพื่อเป็นศิริมงคลอีกด้วย

ตอนที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปสักการะเทพทันใจ มีคนรอต่อคิวเป็นจำนวนมากส่วนใหญ่ที่เห็นก็เป็นคนพม่า และคนไทย ฝรั่งหัวทองมีน้อยมาก ผู้เขียนไปกับบริษัททัวร์ ไกด์ก็ได้เตือนในรถก่อนไปไหว้เทพทันใจว่า เวลาไหว้ให้ขอพรอย่างเดียว เอาที่เป็นไปได้มากที่สุด และเวลาอธิษฐานเสร็จก็ให้ค่อยๆลืมตา อย่ารีบยกหัวขึ้น เพราะไกด์เล่าปนขำขันว่า เคยพากรุ๊ปทัวร์มาแต่ปรากฎว่าเทพทันใจปิดไม่ให้เข้าไปบูชาเนื่องจากคนขอพรเสร็จรีบยกหัวขึ้นทำให้นิ้วชี้ของเทพทันใจหัก เป็นอย่างนี้มา 2 ครั้งแล้ว เห็นว่าครั้งหลังนี่เค้าเลยเอาเหล็กเสริมเข้าไปในน้ิวท่านด้วย จะได้ทนทานไม่หักง่าย เรื่องที่เล่านี้จริงเท็จอย่างไรผู้เขียนไม่ขอยืนยันนะครับ

เชน ม่วงสกุล ผู้เรียบเรียง

หมายเลขบันทึก: 590140เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2015 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2015 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากไปครับ เคยดูในทีวีนักท่องเที่ยวไปขอพรมากมาย และมีรูปปั้นของเทพีอะไรสักอยางนะที่อยู่ข้างๆ หน่ะครับ

น่าสนใจมากค่ะ ทางเหนือล้านนามี พระเจ้าทันใจ อยู่ในวัดต่าง ๆ หลายวัด อาจจะมาจาก เทพทันใจ ของพม่าทั้งนี้เพราะพม่ามายึดครองเชียงใหม่และล้านนาอยู่ 200 กว่าปีก่อนที่จะเป็นประเทศราชของสยาม ต่างกันที่ของไทยเป็นพระพุทธรูป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท