​เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง : ๙. เรียนรู้ผ่านมิติทางวัฒนธรรม



บันทึกชุด "เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" ๒๖ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Transformative Learning in Practice : Insight from Community, Workplace, and Higher Education เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor and Associates ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2009

ตอนที่ ๙ นี้ ได้จากการตีความบทที่ 8 Transformative Approaches to Culturally Responsive Teaching : Engaging Cultural Imagination เขียนโดย Elizabeth J. Tisdell (รองศาสตราจารย์ด้านการศึกษาผู้ใหญ่ Pennsylvania State University, Harrisburg) และ Derise E. Tolliver (รองศาสตราจารย์ DePaul University's School for New Learning, Chicago)

สรุปได้ว่า การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง สามารถมองผ่านมิติของการเรียนรู้โดยผ่านปฏิบัติการ ของตนเอง ที่เป็นการกระทำเชื่อมโยงกับชีวิตจริง เพื่อให้ความรู้ซึมซับเข้าไปในตัว เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของนักศึกษา โดยที่ปฏิบัติการนั้นเป็นกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งแบบใช้เหตุผล (cognitive), แบบใช้อารมณ์ (affective), แบบใช้พฤติกรรม (behavioral), แบบใช้ปัญญาญาณ (intuitive), แบบใช้การเคลื่อนไหว (kinesthetic), และแบบใช้จิตวิญญาณ (spiritual)

ผู้เขียนบอกว่าการประชุม Seventh International Transformative Learning Conference ที่เมือง Albuquerque, New Mexico, 2007 ที่เน้นความแตกต่างหลากหลาย (diversity) เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม คนอินเดียนท้องถิ่น และคนเม็กซิกัน มีการนำเสนอพลังเปลี่ยนแปลงของ หมอพื้นบ้าน (curandero) ในวัฒนธรรมเม็กซิกัน รวมทั้งการอ่านบทกวีประกอบท่าทาง สื่อว่า "การรู้" (knowing) มีได้หลายแบบ และเกี่ยวข้องกับ "จินตนาการเชิงวัฒนธรรม" (cultural imagination) เป็นแรงบันดาลใจให้ร่วมกัน เขียนบทความนี้

ทำให้ผมได้รู้จักคำว่า culturally responsice education ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้จากประสบการณ์ ทางวัฒนธรรมของตนเอง โดยการนำเรื่องราวแต่หนหลัง สู่การไตร่ตรองสะท้อนคิด

บทความนี้เล่าเรื่อง "การสอนแบบเน้นความสำคัญของวัฒนธรรม" (culturally responsive teaching) ของผู้เขียนทั้งสอง ที่มีพื้นเพมาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพื่อเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลาย (diversity) และความเท่าเทียมกัน (equity) ในสังคม เพื่อให้เข้าใจว่า เส้นทางสู่การเรียนรู้มีหลายเส้นทางกว่าที่เราคิด หรือคุ้นเคย รวมทั้งเพื่อให้คุ้นกับการนำจินตนาการเชิงวัฒนธรรมมาช่วยการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง

ลู่ทางหนึ่งของการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ทำโดยนำเอาประสบการณ์เชิงวัฒนธรรมของตนเอง หรือของผู้อื่น มาทบทวนไตร่ตรองทำความเข้าใจ


นิยาม "จินตนาการ" เชิงวัฒนธรรม

จินตนาการมีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างความรู้ ช่วยให้มีมุมมองได้แตกต่างหลากหลาย และศิลปะช่วยปลดปล่อยจินตนาการ และส่งเสริมการสานเสวนา ช่วยให้สามารถมองโลกได้หลายมุม

มีผู้กล่าวว่า จินตนาการช่วยให้คนเรารู้จักตนเองลึกขึ้น และสามารถเป็นครูที่ดีขึ้นผ่านการสอน จากส่วนลึกที่จริงแท้ที่อยู่ภายในตน

เขาเสนอว่าภาพจินตนาการที่เกิดจากประสบการณ์เชิงอารมณ์ ที่นำมาไตร่ตรองสะท้อนคิด จะช่วยให้เข้าใจตนเองในมิติที่ลึกได้ดีขึ้น และช่วยให้เป็นครูที่ดีขึ้น รวมทั้งเรียนรู้ได้ดีขึ้นด้วย

ผู้เขียนเสนอว่า การนำเอาภาพจินตนาการ ที่ได้จากทั้งจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก ในเรื่องราว ประสบการณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง มาไตร่ตรองสะท้อนคิด หรือเอามาตีความ เป็นวิธี "จินตนาการเชิงวัฒนธรรม" (cultural imagination) ที่ช่วยให้บรรลุการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (transformative learning) ได้

ยิ่งวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เลื่อนไหล หรือเป็นพลวัต (dynamic) การเรียนรู้จากการไตร่ตรองสะท้อนคิด ร่วมกัน จากประสบการณ์เชิงวัฒนธรรม (ภาพ - image, สัญลักษณ์, ดนตรี, ศิลปะ, บทกวี) ยิ่งมีพลัง

ผู้เขียนบอกว่า นักการศึกษาที่เน้นความสำคัญของวัฒนธรรม ต้องไม่ใช่แค่สอนทฤษฎี แต่ต้องชวน ผู้เรียนทำความเข้าใจประสบการณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง คือประสบการณ์ทางวัฒนธรรมนั่นเอง เป็นเรื่องราวที่นำมาทำความเข้าใจเชิงวัฒนธรรมได้ รวมทั้งกระบวนการตีความทำความเข้าใจ ต้องมีเป้าหมาย เพื่อการสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น

กระบวนการจินตนาการเชิงวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือเชื่อมโยง "จิตวิทยาศาสตร์" เข้ากับ "จิตวิญญาณ"


ปฏิบัติการจินตนาการเชิงวัฒนธรรม

ผู้เขียนทั้งสอง สอนวิชาสังคมศาสตร์ว่าด้วยความแตกต่างหลากหลาย และความเท่าเทียม ในสถาบันอุดมศึกษา มีเป้าหมายช่วยให้นักศึกษาเข้าใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และตำแหน่งแห่งที่ในสังคม (เชื้อชาติ วัฒนธรรม เพศ เพศสภาพ) มีผลต่อโอกาสเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ต่อปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน และต่ออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละคน

ผู้เขียนพยายามสร้างความเป็นชุมชนในชั้นเรียน โดยนำเอาเรื่องตำแหน่งในสังคมของแต่ละคน เรื่องราวทางวัฒนธรรม วัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม เรื่องเล่า ศิลปะ และบทกวี มาประกอบจินตนาการเชิงวัฒนธรรม

ผู้เขียนแต่ละท่านเล่าเรื่องราวของตนซึ่งมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมแตกต่างกันมาก ดังต่อไปนี้


Libby Tisdell : ผูกพันความรู้ "จนมันกลายเป็นตัวคุณ"

ผู้เขียนเป็นคนขาว เชื้อสายไอริชอเมริกัน นับถือศาสนาคาทอลิก จากครอบครัวที่เคร่งศาสนา มียายเป็นคนเดนมาร์ค จนอายุ ๑๖ ปีจึงอพยพไปอยู่ที่อเมริกา โดยผสมกลมกลืนเข้ากับสังคมอเมริกันเป็นอย่างดี

จินตนาการเชิงวัฒนธรรมของผู้เขียนผูกพันอยู่กับดนตรี กวีนิพนธ์ และทัศนศิลป์ ความฝัน ฝันกลางวัน และภาพจินตนาการจากการอ่านหนังสือและกิจกรรมอื่นๆ เป็นจินตนาการแบบไม่รู้ตัว มารู้ตัวเมื่อได้เข้าประชุม 7th International Transformative Learning Conference ที่กล่าวแล้ว ที่สะกิดให้ย้อนกลับไปตีความเหตุการณ์สมัยเด็กที่ยายได้รับจดหมายจากเดนมาร์ค แต่ตามองไม่เห็น จึงให้หลานชาย (คือพี่ชายของผู้เขียน) ช่วยอ่านให้ โดยที่หลานชายอ่านภาษาเดนนิชไม่ออก เมื่อนำภาพฝังใจนี้มาสะท้อนคิดก็เกิดความสงสัยว่าทำไมตนเองไม่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมเดนิชจากยายเลย และยายต้องยากลำบากอย่างไรบ้างในการปรับตัวรับวัฒนธรรมอเมริกันเข้าไปแทนวัฒนธรรมเดนิช

ผู้เขียนสอนระดับปริญญาเอก ด้านการศึกษาผู้ใหญ่ ในชั้นเรียนว่าด้วยความแตกต่างหลากหลาย และความเท่าเทียม ที่มีเป้าหมายดำเนินการให้นักศึกษา (เกือบทั้งหมดเป็นคนขาว) นำเอาความรู้มา "ผูกพัน" (engage) ในหลากลายรูปแบบ เพื่อให้มันซึมซับเข้าไปในหัวใจ วิญญาณ ร่างกาย ของตนเอง และเข้าไป อยู่ในปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

กระบวนการเรียนรู้จึงไม่ใช่แค่เพียง ไตร่ตรองสะท้อนคิดเพื่อ "เข้าใจ" ความรู้ แต่ต้องทำกิจกรรม ที่สะท้อนทฤษฎีหรือหลักการนั้น เช่น แต่งเพลง (หรือร้องเพลงที่มีผู้แต่งแล้ว เนื้อเพลงสะท้อนความรู้ หรือหลักการนั้น) กวีนิพนธ์ เต้นรำ งานศิลป์ หรือบอกไอเดีย และการกระทำที่ตั้งใจไว้ คือต้องแปลงความรู้ เป็นการกระทำของตนเอง เพื่อให้ความรู้เข้าไปอยู่ในเนื้อในตัว ทั้งในรูปของความรู้เชิงปัญญา (cognitive) ความรู้เชิงอารมณ์ (affective) และพฤติกรรม (experiential) และอยู่ในรูปของสัญลักษณ์ (symbol)

คือทำให้ความรู้เข้าไปอยู่ในชีวิต และการกระทำจริงๆ ไม่ใช่ความรู้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่แยกออกจากชีวิตจริง


Derise Tolliver : เชื่อมสู่ความสร้างสรรค์

เล่าเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมอัฟริกัน และวัฒนธรรมอัฟริกันอเมริกัน โดยที่ชีวิตของตนเองเติบโตมากับอาหารอเมริกัน เพลงอเมริกัน แต่เป็นครอบครัวขยาย และเชื่อมโยงกับครอบครัวอื่นเป็นชุมชน

เป็นครอบครัวที่ให้คุณค่าต่อการศึกษา มีการกล่าวขวัญถึงเด็กรุ่นก่อนที่ประสบความสำเร็จในการศึกษา แต่การไปโรงเรียนก็ไม่ใช่การศึกษาทั้งหมด ยังมีการเรียนรู้เรื่องราวของคนในครอบครัว ในชุมชน อ่านหนังสือที่เขียนโดยคนดำ และนิตยสารเพื่อคนดำ ได้แก่ Pride, Jet, Ebony

ดนตรีช่วยให้ผู้เขียนตระหนักว่ามีรูปแบบการเรียนรู้โดยการเคลื่อนไหว (kinesthetic learning) และการที่ ร่างกายเป็นตัวรองรับความรู้ การเต้นรำและร้องเพลง ไม่ใช่แค่เพื่อสนุกสนาน แต่เป็นการแสดงออกอย่างลึก ทางวัฒนธรรม ที่สะท้อนว่าจังหวะ (rhythm) มีส่วนสำคัญในชีวิตคนอัฟริกัน

ครอบครัวของเธอฟังเพลงของคนอัฟริกันอเมริกันที่สะท้อนการดิ้นรนเพื่อความเป็นธรรมในสังคม และเอาใจใส่มิติทางจิตวิญญาณ แม้จะไม่ค่อยได้เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา

เธอสะท้อนว่า ตัวเธอเองเรียนรู้ตัวเอง ครอบครัว สังคม และโลก ผ่านการเรียนรู้หลายช่องทาง ทั้งแบบใช้เหตุผล (cognitive), แบบใช้อารมณ์ (affective), แบบใช้พฤติกรรม (behavioral), แบบใช้ปัญญาญาณ (intuitive), แบบใช้การเคลื่อนไหว (kinesthetic), และแบบใช้จิตวิญญาณ (spiritual)

ประสบการณ์ชีวิตสอนเธอให้เห็นความสำคัญของการ "เรียนทั้งเนื้อทั้งตัว" (whole learner) ใช้ทั้งด้านวัฒนธรรม จิตวิญญาณ การเมือง และประวัติศาสตร์ ของตนเอง เพื่อร่วมสร้างพื้นที่เรียนรู้ ที่ส่งเสริม ความจำ การเยียวยา และการเปลี่ยนแปลงตนเองและผู้อื่น

ในฐานะนักการศึกษาผู้ใหญ่ เธอจึงใช้วิธีให้นักศึกษาได้เชื่อมโยงกับความริเริ่มสร้างสรรค์ของตนเอง เพื่อเอื้อต่อพัฒนาการทางปัญญาและเพื่อชีวิตที่ดีในสังคมและโลก

ในวิชาว่าด้วยความหลากหลาย และความเท่าเทียม เธอจึงไม่ใช่แค่ให้นักศึกษาอ่านหนังสือ ตามที่ระบุในเอกสารรายวิชา แต่ยังให้นักศึกษาดูภาพยนต์ ฟังเพลง และฟังสุนทรพจน์ ที่เป็นเรื่องจริงที่สะท้อนปรากฏการณ์จริงของการกดขี่ การเหยียดผิว และการต่อสู้เรียกร้อง และที่สำคัญ เธอให้นักศึกษาร่วมกันแสดงออกเพื่อสะท้อนความเป็นจริงในสังคม โดยการแต่งและร้องเพลง กวีนิพนธ์ หรือเล่นละคร

เป็นการตรวจสอบสถานการณ์ที่เคยชิน ด้วยวิธีการใหม่ๆ ที่ไม่คุ้น ที่ช่วยให้เกิดมุมมองใหม่ต่อเรื่องนั้น จนเกิด transformation


ไตร่ตรองสะท้อนคิด

Parker Palmer (1980) เสนอว่า เราไม่ได้สร้างวิถีชีวิตใหม่โดยการคิด แต่เราสร้างวิธีคิดใหม่จากวิถีชีวิต

การเรียนรู้ที่แท้ต้องเชื่อมโยงกับชีวิตจริง (ซึ่งก็คือวัฒนธรรมนั่นเอง) ใช้ชีวิตจริง หรือขั้นตอนต่างๆ ของการดำรงชีวิตนั่นเองเพื่อการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่าง "เรียนทั้งเนื้อทั้งตัว" คือต้องเรียนให้ลึกกว่าการไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection) ต้องเรียนโดยการเอาความรู้นั้นไปใช้จริงๆ (experience)

การเรียนรู้เรื่องทางสังคมและวัฒนธรรม จึงต้องผ่าน "ปฏิบัติการจินตนาการเชิงวัฒนธรรม" เพื่อให้ความรู้ใหม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของผู้เรียน การเรียนรู้ต้องผ่านหลายแนวทางของการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซ้ำๆ จนความรู้ใหม่กลายเป็นตัวตนของผู้เรียน เป็นตัวตนใหม่ที่เกิดจาก "การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง"


วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 590136เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2015 17:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2015 17:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"เราไม่ได้สร้างวิถีชีวิตใหม่โดยการคิด แต่เราสร้างวิธีคิดใหม่จากวิถีชีวิต..... " และ "ทำให้ความรู้เข้าไปอยู่ในชีวิต และการกระทำจริงๆ ไม่ใช่ความรู้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่แยกออกจากชีวิตจริง..... " เป็นคำที่น่าสนใจมากครับ ขอบพระคุณครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท