การปลูกฝังความคิดเชิงบริหารตั้งแต่เด็ก


ทักษะด้านการคิดเชิงบริหาร นั้นเป็นสุดยอดทางความคิดของมนุษย์ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในชีวิต

การคิดเชิงบริหาร (Executive Functions ; EF)

ที่มา ..รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล

(จากการอบรมเชิงปฏิบัติการทีมประเมินมาตรฐานงานอนามัยแม่และเด็กระดับเขต 15-16 มกราคม 2558)

การคิดเชิงบริหาร เป็นการทำงานระดับสูงของสมองที่ควบคุมความคิด การตัดสินใจ และการกระทำที่ส่งผลให้เริ่มลงมือทำตามแผนที่วางไว้ และมุ่งมั่นทำจนงานนั้นสำเร็จตามเป้าหมาย EF จึงเป็นทักษะสำคัญที่จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จในด้านการเรียน และการทำงานเมื่อโตขึ้น จะเริ่มพัฒนาตั้งแต่ขวบปีแรก โดยจะพัฒนาอย่างมากใน 6 ปีแรกของชีวิต และพัฒนาต่อเนื่องไปจนเข้าสู่วัยรุ่น และจะพัฒนาเต็มที่เมื่อย่างเข้าวัยผู้ใหญ่

มีองค์ประกอบสำคัญ คือ

1. ความจำขณะทำงาน

2. การยับยั้งความคิดและพฤติกรรม

3. การควบคุมอารมณ์

4. การเปลี่ยนความคิดเมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไป/ความยืดหยุ่นในการคิด

ลักษณะเด็กที่มีการคิดเชิงบริหารที่ดี : เด็กจะมีความจำดี มีสมาธิดี ตั้งใจจดจ่อต่องานที่ทำได้อย่างต่อเนื่องจนทำงานได้สำเร็จ รู้จักอดทนรอคอยที่จะทำหรือพูดในเวลาที่เหมาะสม ไม่รบกวนผู้อื่น รู้จักขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น สามารถคาดการณ์ผลของการกระทำได้ รู้จักยับยั้งควบคุมตนเองไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม มีเป้าหมายชัดเจน สามารถวางแผนการทำงานให้เสร็จตามกำหนด และได้ผลสำเร็จที่ดี มีความคิดยืดหยุ่น ไม่ยึดติด สามารถเปลี่ยนความคิดได้ เมื่อเงื่อนไขและสถานการณ์เปลี่ยนไป สามารถประเมินตนเองนำจุดบกพร่องมาปรับปรุงการทำงานของตนให้ดีขึ้นได้ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง เข้าอกเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น

การพัฒนาการคิดเชิงบริหารควรเริ่มต้นอย่างไร

1. สอนให้เด็กมีวินัยในตนเอง โดยเริ่มจากชีวิตประจำวัน เวลาไหนควรทำอะไร สิ่งไหนควร/ไม่ควรทำ สอนให้เด็กรู้จักการรอ สามารถเข้าคิวคอยได้ สอนให้รู็จักควบคุมอารมณ์ตนเอง แสดงออกอย่างเหมาะสม

2. ทำกิจกรรมที่ฝึกความจำ ฝึกสมาธิ ที่เหมาะสมกับวัยเด็ก

3. เปิดโอกาสให้เด็กเจอประสบการณ์ในสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ จะได้ฝึกการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

4. ฝึกกิจกรรมที่เป็นลำดับขั้นตอน สอนให้รู้จักตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เริ่มจากง่ายๆ ก่อน จากนั้นให้วางแผนและลงมือทำ

5. ควรให้กำลังใจเมื่อเด็กแสดงความมุ่งมั่น อดทนทำงานอย่างต่อเนื่อง จนเสร็จ

6. หากเกิดปัญหาควรสอนให้เด็กลองคิดหาทางออกในการแก้ปัญหาที่หลากหลาย

7. สอนให้เด็กประเมินตนเองว่าผลที่ออกมาดีหรือไม่ อย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไร คราวหน้าจะปรับปรุงอย่างไรให้ดีขึ้น

8. การเลือกของเล่น ควรเลือกชนิดที่ช่วยฝึกการคิด ความจำ การวางแผน การคาดการณ์ล่วงหน้า ฝึกแก้ปัญหา จินตนาการ ควรหลีกเลี่ยงของเล่นสำเร็จรูปเพราะไม่ได้ฝึกการคิดของเด็กแล้ว ยังทำให้อนาคตเด็กจะขี้เกียจคิด ถ้าเจอปัญหาที่ยาก ก็จะยอมแพ้ต่ออุปสรรคโดยง่าย

ช่วงเวลาวิกฤติในการฝึกการคิดเชิงบริหาร (EF) คือ เด็กวัยก่อนเรียน และเด็กวัยเรียน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการพัฒนา EF ในเด็กวัยรุ่นต่อไป เพราะวัยรุ่นจะเริ่มไม่ฟังพ่อแม่ และผู้ใหญ่ จะยากต่อการฝึก

หมายเลขบันทึก: 590130เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2015 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2015 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท