การใช้ทรัพยากรอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด VS การจำกัดทรัพยากรของตนเองเพื่อเข้าถึงประโยชน์อันสูงสุด


การใช้ทรัพยากรอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด VS การจำกัดทรัพยากรของตนเองเพื่อเข้าถึงประโยชน์อันสูงสุด

วันนี้ได้ย้อนกลับไปอ่านทษฎีทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือการบริหารอันเป็นหัวใจหลักที่ว่า "การใช้ทรัพยากรอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด" ก็เกิด "ปิ๊งแว้บ" ขึ้นมาทันทีว่า สิ่งที่เรากำลังดำเนินชีวิตอยู่นี้ เหมือนกัน คล้ายกัน หรือแตกต่างกันอย่างไร เพราะเรากำลัง "จำกัดทรัพยากรของตนเองเพื่อเข้าถึงประโยชน์อันสูงสุด"

ตอนนี้ไม่ใช่เราไม่มีกิน แต่เรากินน้อย ตอนนี้ไม่ใช่เราไม่มีเวลานอน แต่เรานอนน้อย เราเอาเวลาที่เหลือจากกินและการนอนมาก่อให้เกิด "ประโยชน์สูงสุด"

เบื้องต้นสิ่งที่ชวนให้ฉุกคิดของทฤษฎี "เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy)" รวมทั้ง "พุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics) คือการบริหารเวลาที่ทุก ๆ คนนั้นมีอยู่เท่ากันให้เกิดประโยชน์สูงสุด

"วันหนึ่งคืนหนึ่งของเราทุก ๆ คนน่ะมี ๒๔ ชั่วโมงเท่า ๆ กัน เวลานอนก็นอนประมาณ ๖ ชั่วโมง ถึง ๘ ชั่วโมง นอกจากนั้นเป็นเวลาตื่นของเราทุกคน

พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุก ๆ คนน่ะ พากันมีความเห็นให้ถูกต้อง มีความเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าความสุขความดับทุกข์นั้นอยู่ที่พวกเราทุก ๆ คน เดินตามศีล ตามธรรม ตามคุณธรรม (โอวาทของหลวงพ่อกัณหา สุขกาโม)"

โอวาทขององค์พ่อแม่ครูอาจารย์ทำให้ข้าพเจ้าฉุกคิดอยู่เสมอว่า ณ เวลานี้เราควรจะทำอะไร และไม่ทำอะไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การจำกัดการอยู่ การกิน การนอน ทำให้เรามีเวลาเหลืออีกมากในการทำความดี แต่นี่ก็ไม่ใช่เพียงแค่นั้น

การที่เราสามารถจำกัดความฟุ้งเฟ้อ ความสะดวกสบายของตนเองได้ ทำให้จิตใจของเราเข้มแข็ง เมื่อจิตใจของเราเข้มแข็ง เราก็จะมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ขึ้น สมาธิของเราจะแข็งแกร่งแข็งแรงขึ้น ซึ่งเหตุและปัจจัยให้สมาธินี้ ทำให้เราสามารถสู้กับกระแสของสังคม ที่ดึงเราไปสู่ความโลภ ความโกรธ และความหลง

ทฤษฎีการบริหาร และทฤษฎีการเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ทำให้เราส่วนใหญ่ตกเป็นทาสของระบบ "ทุนนิยม" ซึ่งทำให้เราต้องแสวงหามาซึ่งวัตถุ เพื่อได้มาซึ่ง "ความสุข"

แต่พระพุทธเจ้าสอนเราว่า "นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง สุขใดจะเสมอด้วยความสงบนั้นไม่มี" และความสงบที่สูงสุดคือใจสงบ

เมื่อเรามีตา เราก็เห็นรูป เมื่อเรามีหู เราก็ได้ฟันเสียง เมื่อเรามีจมูก เราก็ได้สัมผัสกลิ่น เมื่อเรามีลิ้น เราก็ได้ลิ้มรส เมื่อเรามีร่างกาย เราก็ได้สัมผัส เมื่อเรามีใจเราก็ได้เสพอารมณ์ต่าง ๆ นานา "ปัญหามีอยู่ว่า เราทำอย่างไร เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สัมผัสแล้วเราจะ สงบ...?"

คำตอบเบื้องต้นก็คือ เราต้องมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ สมาธิต้องเข้มแข็ง เมื่อสิ่งต่าง ๆ มากระทบแล้ว ก็ให้ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เปรียบเสมือนหยดน้ำที่กลิ้นอยู่บนใบบัว ไม่ให้มันมาซึบซามเข้าไปในจิตใจในของเราได้

เมื่อเราอยู่ในสังคม เราจะปฏิเสธการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมอันชวนให้ลุ่มหลงนั้น เป็นไปไม่ได้

แต่เราต้องพัฒนาใจของเราให้อยู่ในสังคมนี้ได้อย่างมีความสุข

การดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถึงทำให้เราเข้าถึงความสุขได้จากคำว่า "พอ"

การมีวิถีชีวิตตามแนวพุทธเศรษฐศาสตร์ อันมีรากฐานจาก "ทาน ศีล และภาวนา" เราจะเข้าถึงความสุขได้จากคำว่า "สงบ"

ดังนั้น หลักทั้งสองนี้จึงต้องควบคู่และสอดประสานกันไป เมื่อทำให้ชีวิตและจิตใจของเราเข้าสู่ศานติสุขที่แท้จริง

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 590127เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2015 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2015 12:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท