ตกยกชั้น...กำลังเรียนรู้อะไร?


การสอนบรรยาย 4 ชม.ในวันที่ 1 + การสอนปฏิบัติ 4 ชม. ในวันที่ 2

การสอนแบบเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ: นศ.ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้หลังชมวิดีทัศน์ตัวอย่างการปรับความคิด-พฤติกรรมของผู้ป่วยใน 15 นาที และตัวอย่างการจัดการความปวดด้วยการประเมินองค์รวม 5 ข้อ (ใช้สัญลักษณ์ความสำคัญตามนิ้วมือทั้ง 5) ต่อด้วยการยกตัวอย่างประโยคสนทนาระหว่างกรณีศึกษากับนักบำบัด ต่อด้วยการจัดกลุ่มระดมสมองให้ตอบประเภทการวางเงื่อนไขปรับพฤติกรรม ซึ่งมีอาจารย์ผู้ช่วยเป็นพี่เลี้ยง

ผลการสอบปรนัย 3 ชม. 30 ข้อๆละ 1 คะแนน เกณฑ์ 60% ให้นศ.ตอบประเภทการวางเงื่อนไขปรับพฤติกรรม พบว่า ไม่มีนศ.ท่านใดสอบผ่าน

อาจารย์ประจำรายวิชาจึงแนะนำให้ผมสอบซ่อมนศ.แล้วเฉลยข้อสอบ

ผมขอเลือกทำด้วยวิธี "การสอบเสริม" มิใช่ "การสอบซ่อม" เพราะผมเชื่อว่า ยิ่งนศ.เปิดใจเรียนรู้ นศ.ยิ่งเกิดความเข้าใจในการเห็นคุณค่าของการนำสิ่งทีี่เรียนรู้ไปใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ นศ.มิควรเรียนในกรอบห้องเรียนแล้ววัดกันแค่คะแนน"

การสอบเสริมคือ การสอนแบบปรับความคิดให้เห็นภาพเร็วที่สุดก่อนทดสอบตัวเองแบบเปิดตำรา ผมมีเวลาเพียง 1 ชม. จึงออกแบบสื่อการเรียนรู้ที่ง่ายคือ "ตารางการปรับความคิด-พฤติกรรม" ซึ่งผมไม่สามารถคิดได้ในการสอนครั้งแรก ตารางนี้ยกตัวอย่างจากข้อสอบที่นศ.ทำไม่ได้มากที่สุดจำนวน 5 ข้อ แล้วค่อยๆสอนนศ.ให้แยกว่า ผู้ป่วยคิดอะไรก่อนหลังเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ผู้บำบัดได้ทำอะไรลงไปก่อน (บวกหรือลบ) ที่ผู้ป่วยอาจจะปรับพฤติกรรมหรือไม่ปรับพฤติกรรม ตามด้วยการทดสอบตัวเองพร้อมสะท้อนความรู้สึกว่า "ใน 1 ชม.นี้ได้เรียนรู้อะไร" พร้อมมีการทำรายงานโดยผมแนะนำหลักการตอบโจทย์รายงานและให้เฉลยข้อสอบที่นศ.เคยทำไม่ผ่านจนหมดสิ้น ที่สำคัญระหว่างการสอน ผมขอให้นศ.ทำสมาธิและเปิดใจสู่การรับความรู้สึกเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวร่างกายที่เป็นบวก ซึ่งขอบพระคุณพี่ก๋วยกับทีมงานมะขามป้อมที่ถ่ายทอดกระบวนการละครให้กับผม

ผลการสอบอัตนัย 1 ชม. 5 ข้อๆละ 6 คะแนน เกณฑ์ 60% ให้นศ.วิเคราะห์ตอบจากข้อสอบเดิมที่เคยทำไม่ได้โดยใช้ตารางฯที่ผมคิดขึ้น พบว่า นศ.สอบผ่าน 64 คน ในคอลัมน์แรกเปรียบเทียบกับคอลัมน์สาม ตรงกลางเป็นคะแนนรายงาน (ถ้าใช้เกณฑ์ 50% ผ่านหมด ยกเว้นขาดสอบ 1 คน)

ผมรู้สึก...หายเหนื่อยเมื่อเห็นนศ.เติบโตทางปัญญา ปนกับ ท้อแท้ ... ปิ้งแว๊บในใจว่า "นศ.กำลังถูกใช้หัวสมองมากกว่าหัวใจ เมื่อการสอนหัวข้อเชิงพฤติกรรมต้องมาอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม บนโลกนี้เค้าสอนกับการลงมือสื่อสารกับผู้ป่วยจริงๆ และควรยกตัวอย่างใกล้ชีวิตนศ.ถ้าเค้ายังไม่เห็นผู้ป่วย ที่สำคัญไม่ควรวัดผลเป็นคะแนนถึง 60% ตามมาตราฐานการศึกษาที่อาจารย์คิดฝ่ายเดียว"

ผมคิด...การเรียนรู้ที่ทำให้นศ.ตกยกชั้นมันสอนทักษะชีวิตแห่งการรู้คิดปัญญาที่ว่า "มนุษย์มีพื้นฐานสมองเพื่อเชื่อมโยงการรับความรู้สึก (sensory) กับการเคลื่อนไหวร่างกาย (motor) ที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะใช้สมองซีกเดียวกัน ย่อมพัฒนาสู่ทักษะการเรียนรู้บนความตระหนักรู้ในตัวเองที่มีคุณค่าสองทางคือ ทางสร้างสรรค์ (เข้าใจตัวอย่างของอาจารย์แล้วคิดประยุกต์เป็นตัวอย่างของตัวเอง) หรือ ทางสร้างซ้ำ (ลอกเลียนแบบตัวอย่างของอาจารย์แล้วปรับคำเล็กน้อยเป็นตัวอย่างของตัวเอง)" ทำให้ผมนึกย้อนที่ตัวเองเรียนกับอาจารย์แพทย์ถึง "มนุษย์สมองมหัศจรรย์ชื่อ Homoculus" ที่มีศักยภาพทางการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน แม้เป็นสมองซีกเดียวกันในคนๆเดียวกันก็ตาม

Acknowledgment cited at http://www.reddit.com/r/treeofsavior/related/32ceot/does_tos_have_anything_like_the_homunculus_ai_in/ [upper figure] and http://posturologyblog.com/the-brain-muscle-connection/ [lower figure]


หมายเลขบันทึก: 589769เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2015 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2015 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ผมชอบใจ

การเรียนการสอนต้องให้นักศึกษาใช้หัวใจเรียนและกระตุ้นให้ใช้สมองเพื่อให้เกิดการเรียนรู้สูงสุดครับ

ผมชอบการสอนเสริมแบบนี้ครับ

ขอบคุณมากๆครับ

ขอบพระคุณมากครับคุณยายธีและคุณทิมดาบ

พี่จับคำของอาจารย์ในบันทึกก่อนคือ คิด กับ รู้สึก

บันทึกนี้อาจารย์พูดถึง สมอง กับ หัวใจ

พี่สรุปเองจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า ถ้าเราใช้หัวใจกับความรู้สึกเมื่อเผชิญกับผู้ป่วยเป็นอันดับแรก การใช้สมองกับการคิดจะตามมาอย่างมีประสิทธิภาพ ผลลัพท์คือคุณภาพการดูแล

เห็นแนวคิดนี้แล้วนึกถึงคนหนึ่งครับ เค้าชื่อพี่หนุ่ม นายนิติศักดิ์ โตนิติ ผู้ก่อตั้งสถาบันปัญญาปิติ เคยไปมาหาสู่ตอนช่วงปีที่แล้ว ท่านกำลังสร้างโรงเรียนอยู่ครับ ซึ่งโรงเรียนนี้เป็นของกลุ่มหญ้าแพรกสาละวิน กลุ่มไม่แสวงหาผลกำไรของเยาวชนแถบแนวชายแดนน้ำสาละวิน
ซึ่งมีปรัชญาของโรงเรียนที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่ที่ผมจะนำมาพูดคุยในวันนี้เป็นเรื่องของการประเมินของโรงเรียนครับ

แนวคิดเรื่องการประเมินของโรงเรียนนี้คือ ประเมินแบบไม่มีเกณฑ์วัด หมายถึงให้เด็กมีพัฒนาการตามความต้องการของเขาอย่างแท้จริงโดยไม่ไปกะเกณฑ์อะไรกับเขาทั้งสิ้น เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อเราไม่ไปกะเกณฑ์ไว้ว่าเด็กจะทำได้ถึงแค่ไหน จะเป็นการทำให้เด็กพัฒนาไปเกินกว่าที่เราคาดคิดคาดการ กะเกณฑ์ ก็เป็นได้

ตัวอย่างเช่น เด็กชาย ก มาเรียน ทางโรงเรียนก็จะพยายามพัฒนาเด็กชาย ก โดยไม่ตั้งเป้าหมายไว้ก่อนว่าเด็กชาย ก ต้องได้คะแนนเท่าใดจึงจะผ่านเกณฑ์ และโรงเรียนจะไม่บังคับว่าเด็กชาย ก ต้องทำคะแนนในวิชาใดต้องผ่านเท่าไร
เด็กชาย ก อาจจะสอบไม่ผ่านเกณฑ์ของโรงเรียนทั่วๆไป แต่เด็กชายก็อาจพัฒนา ไปเป็นแบบ บิลเกต, สตีฟ จ๊อบ, ต๊อบ ถ้าแก่น้อย, ท่าน แอ๊ดคาราบาว, ท่านอาจารย์ถวัล ดัชนีย์, บีโทเฟน, อัลเบิร์ต ไอสไตน์ ก็เป็นได้

ตามแนวความคิดส่วนตัวของผม ปรัชญานี้จะสร้างการเปรียนแปลงหลายด้านดัง(ที่คิดได้ตอนนี้)ต่อไปนี้
๑. แนวความคิดใหญ่ หรือทัศณแม่บท ของเด็กที่ผ่านโรงเรียนนี้ไปจะเปลี่ยนไป จากเรียนเพื่อจบเอาใบประกาศไปสมัครงาน กลายเป็นเรียนเพื่อรู้เรียนเพื่อพัฒนาตนเอง
๒. สร้างเสริมความคิดสร้างสรรค์ เมื่อไม่มีเพดานมาขวางกั้นจินตนาการแล้ว เด็กสามารถคิดโดยไม่มีที่สิ้นสุด คิดโดยไม่ต้องสนว่าจะถูกตามแบบเรียนรึป่าว(ถูกใจผู้สอนรึป่าว)
๓. เสริมสร้างการตัดสินใจ เด็กจะกล้าตัดสินใจในสิ่งต่างๆในชีวิตมากขึ้น เนื้องจากไม่ต้องกลัวผิดพลาด (โรงเรียนทั่วไปสร้างให้เด็กกลัวควาามผิดพลาด แต่ที่นี่ให้เด็กเรียนรู้จากความผิดพลาด)
๔. สร้างวิชาการและการเรียนรู้ใหม่ๆอย่างไม่รู้จบ อาจจะมีวิชาที่เด็กอยากเรียนรู้เพิ่มขึ้นมาในโรงเรียน อย่างเช่นวิชา สมุนไพรศาสตร์ วิชาทอผ้าศาสตร์ วิชาพิธีกรรมศาสตร์ ซึ่งวิชาเหล่านี้จะพานักเรียนเติมโตไปมีความรู้ มีอาชีพ โดยไม่ต้องเข้าไปสู่ระบบอุดสาหกรรม แถมยังสร้างรายได้ เสริมฐานเศรษฐกิจให้มั่นคงอีกด้วย
๕. เกิดการวิจัยแบบบ้านๆขึ้นมากมาย ทำให้เกิดภูมิปัญญาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา รวมถึงเด็กเรียนจบไปยังนำความรู้ไปประยุคใช้กับการใช้ชีวิต เกิดนวัตกรรมใหม่ๆมากมาย แล้วนวัตกรรมที่เกิดมาพวกนี้จะเกิดมาแบบอัตโนมัติ เกิดมาจากพื้นฐานทางความคิด หรืออาจเรียกได้ว่าเกิดมาแบบอัตโนมัติ

ปีที่แล้ว ให้ตกยกชั้นเหมือนกันค่ะ

ขอบพระคุณมากครับ ใช่แล้วครับพี่ Nui ที่เราจะรู้คิดรู้แจ้งหลังใช้ใจสัมผัสใจด้วยความเป็นเพื่อนมนุษย์ นี่คือเป้าหมายการศึกษาเพื่อสุขภาวะอย่างเป็นธรรมชาติ

ขอบพระคุณมากครับคุณบุญญฤทธิ์ ที่แบ่งปันประสบการณ์ของคุณนิติศักดิ์ โตนิติ แห่งสถาบันปัญญาปิติ ซึ่งผมเห็นด้วยว่า "มนุษย์ผู้มีปัญญา (รู้แจ้ง) ย่อมทบทวนประเมินตัวเองเพื่อเรียนรู้ให้รู้รอบกับรอบรู้อย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิต ไม่มีเกณฑ์วัดผลใดจะบ่งชี้สุขภาวะทางจิตวิญญาณของมนุษย์ โดยเฉพาะคุณค่าและความดีงามได้"

ขอบพระคุณมากครับคุณครูเพ็ญศรี ผู้เป็นต้นแบบแห่งสุขภาวะทางการเรียนรู้ให้ผมเสมอครับ

ขอบพระคุณมากครับสำหรับกำลังใจจากพี่โอ๋ คุณ GD และคุณวินัย

....มิมีสายดอกเจ้า..................เศร้าไย

ลุกใหม่เพียรกระทำไป...............ใช่ช้า

ปฏิบัติหลั่งจากใจ.....................ไสวแน่

อย่าหยุดแม้แรงล้า.................."ค่า"นี้ไป่สูญ


....เพิ่มพูนส่งสู่เจ้า...................จิตธรรม์

ผุดผ่องทุกวารวัน.....................วุ่นเว้น

สันติสุขทุกสถานพลัน................แผ่ทั่ว กันนา

สกลโลกลุกโลดเต้น................แต่งแต้มโลกสวรรค์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท