663. รู้จัก OD Assessment จากละคร "Blood Love จัดรักให้ตรงกรุ๊ป"


Whole Brain Literacy

ช่วงนี้เห็นลูกและเพื่อนๆ ชอบดูละครซิทคอมเรื่อง Love Blood จัดรักให้ตรงกรุ๊ป ...เห็นเธอหัวเราะชอบใจมาก

ถามก็ได้ความว่าเป็นเรื่องละครที่พูดถึงพฤติกรรมคนตามกรุ๊ปเลือด เลยลองตามดูเล่นๆ ก็ค้นพบว่าละครเรื่องนี้น่าสนใจมากๆ เมื่อลองตามดูไป 9 ตอน ก็พบว่าน่าสนใจที่เดียว เรื่องนี้พูดถึงนักศึกษาสี่สาวที่มีกรุ๊ปเลือดต่างกัน และมีพฤติกรรมแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ทั้งหมดนี้ต้องมาใช้ชีวิตร่วมกัน แน่นอนละครก็ดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งก็ตลกมากจริงๆ มีการให้ความรู้เรื่องพฤติกรรมคนตามกรุ๊ปเลือดอยู่เป็นระยะๆ

โดยเรื่องนี้จริงๆแล้วเป็นการทดลองของครูคนหนึ่ง ที่ต้องการศึกษาพฤติกรรมของคนตามกรุ๊ปเลือด โดยได้ใช้กลอุบายในการจัดให้สี่สาวมาอยู่ด้วยกัน จากนั้นก็จะสร้างสถานการณ์ต่างๆกันไป เพื่อดูว่าแต่ละกรุ๊ปจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ก็มีหลายตอนครับ ดูแล้วเห็นเลยว่าสาวๆ เพื่อนๆ ต้องพยายามปรับตัว และผจญภัยสารพัด หลายครั้งก็ไม่เข้าใจคน ดูเรื่องนี้ก็สนุด นึกถึงเรื่องวุ่นๆสมัยเรียน สถานการณ์ต่างๆทำให้พวกเธอต้องปรับตัวเข้าหากัน แน่นอนผมดูมาถึงตอนที่ 9 ก็พบว่าที่สุดแม้ปัจจัยภายนอกและความแตกต่างด้านบุคลิกภาพจะสร้างความโกลาหลให้พวกเธออย่างไร ทั้งหมดก็ดูเหมือนฝ่าฟันอุปสรรคไปได้

ถึงเรื่องนี้จะดูเป็นสถานการณ์สมมติแต่ถ้าคุณดูไปเรื่อยๆ จะเห็นว่ามันคล้ายๆของจริงมากๆ เรียกว่าคนเขียนบทเรื่องนี้เก่งมากๆ ที่สำคัญเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นชีวิตจริงๆ หลายส่วนครับ ผมอยากชมคนทำละครเรื่องนี้มากๆครับ ไม่มีหยาบโลน เรียกว่าพ่อแม่ให้ลูกดูได้อย่างสบายใจ เพราะได้ทั้งสาระและความสนุก

ที่สำคัญสะท้อนให้เห็นสิ่งที่ผมทำคือการพัฒนาองค์กร (Organisation Development - OD) ที่ต้องบอกนะครับ ว่าไม่ใช่แค่ Team Building เรามีเป็นเรื่องเป็นราว เรียนกันจนจบปริญญาเอก ผมเอกก็จบด้านนี้ เอาหล่ะ ในศาสตร์นี้เวลาเราจะพัฒนาองค์กร เราจะประเมินก่อนครับ ทำได้หลายวิธี หนึ่งในแนวทางสำคัญคือประเมิน พฤติกรรมของมนุษย์ครับ เพราะว่าส่ิงที่จะเป็นปัญาหาของทุกคน และองค์กร ก็ตัวคนในองค์กรนั่นเอง ที่หากไม่รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเอง และคนในองค์กร ก็รับรองครับ จะลำบากทีเดียวที่สำคัญหากไม่ทำอย่างนี้ก็รับรอง คุณจะเอาเครื่องมืออะไรใส่ไป ก็ยากครับ เพราะบางครั้งคนเราปิดกั้นตัวเองวันนี้ผมขอแนะนำเครื่องมือประเมินตัวเองที่เราชาว OD เริ่มใช้กันมากขึ้นก็คือ ทฤษฎีสมองสี่ด้าน (Whole Brain) มาเริ่มกันเลยนะครับ

ในยุคใหม่ความพยายามศึกษาเรื่องคน เช่นเรื่องความผูกพันธ์ในองค์กร (Employee Engagement) เพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาคน เพื่อให้ทำงานได้ผลคนสำเร็จ ก็ยังคงความสำคัญอยู่ และจะยังคงความสำคัญต่อไปในอนาคต คำถามเมื่อคนอยู่เบื้องหลังความสำเร็จและความล้มเหลว แล้วอะไรอยู่เบื้องหลังคน คำตอบที่เป็นไปได้คือสมอง คนคิดด้วยสมอง ดังนั้นอยากพัฒนาคน ก็ต้องพัฒนาสมองคนก็จะตรงประเด็นที่สุด ปัจจุบันเร่ิมมี

การศึกษาคนในสมัยใหม่มีความลุ่มลึกมากขึ้น ตามเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปเรื่อยๆ ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ด้านสมอง (Neuroscience) ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาคน จากการศึกษาสมอง เริ่มทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงพฤติกรรมของมนุษย์กับสมองได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ที่สำคัญหากเราทำอะไรบางอย่าง เช่นเปลี่ยนพฤติกรรม ก็พบว่าโครงสร้างสมองเปลี่ยนไป

ตรงนี้เองที่นำมาสู่การค้นพบทฤษฎีสมองสี่ด้าน (Whole Brain) โดยดัดลี่ย์ ลิ๊นช์ โดยดัดลี่ย์ เริ่มนำเอาทฤษฎีสมองสี่ด้านนี้มาใช้ในการพัฒนาคนและองค์กร แล้วสมองสี่ด้านนี้คืออะไร เราสามารถเอาทฤษฎีนี้ไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร การจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจเรื่องสมองก่อน ดัดลี่ย์ ลินช์กล่าวว่าสมองแบ่งเป็นสี่ส่วนประกอบด้วย

I-Control หรือสมองนักควบคุม คนที่ใช้สมองด้านนี้มากจนชำนาญ จะมีพฤติกรรมหลักคือการจัดระบบ รักษาระเบียบ แต่หากไม่ได้พัฒนาสมองด้านอื่นมามากพอ ก็มีแนวโน้มจะเป็นคนที่เข้มงวดกับคนอื่น จนเกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ขึ้นมาได้

I-Preserve หรือสมองนักประสานสัมพันธ์ คนที่ใช้สมองด้านนี้จนชำนาญ จะกลายเป็นคนที่คนอื่นรัก คนประเภทนี้จะรักเพื่อน แต่ถ้าไม่ได้พัฒนาสมองด้านอื่นขึ้นมา ก็จะกลายเป็นคนที่เสียสมดุลย์เรื่องการควบคุมตนเอง เช่นอาจรับปาก เพราะเห็นแก่ความสัมพันธ์ แต่ทำไม่ได้ หรืออาจนำมาสู่ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แย่ลง เนื่องจากใช้เวลากับการสานสัมพันธ์กับที่ทำงานมากเกินไป บางคนอาจติดหนี้ติดสินก็มี

I-Explore หรือสมองของนักสำรวจ คนใช้สมองส่วนนี้เก่งๆ จะเป็นคนที่สนใจอะไรแล้วจะค้นคว้าจริงจัง มีความคิดสร้างสรรค์ แต่หากไม่พัฒนาสมองด้านอื่นขึ้นมาช่วยเพียงพอ ก็มีแนวโน้มที่จะ "คิดแต่ไม่ทำ" กลายเป็นคนจับจด ความความน่าเชื่อถือ

I-Pursue หรือสมองนักปฏิบัติ คนที่ใช้สมองส่วนนี้เก่งๆๆ จะเป็นคนที่เน้นลงมือทำ ไม่คิดมาก ได้คำสั่งมาก็จะลงมือทำ หรือคิดก็จะลุยไปเลย เรียนรู้จากการปฏิบัติเอา แต่หากไม่พัฒนาสมองด้านอื่นมาช่วย ก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นทำอะไรซ้ำๆ ยึดมั่นถือมั่นกับวิธีการปฏิบัติแบบเดิมๆ ขาดความคิดสร้างสรรค์

ตามทฤษฎีสมองของดัดลี่ย์ ลินช์ สมองสี่ด้านเรียงตัวกันตามทิศทางต่อไปนี้

เมื่อรู้ว่าสมองด้านใดทำงานอย่างไรแล้ว ขั้นต่อมาต้องรู้ความจริงเกี่ยวกับสมอง

ปรกติมนุษย์ใช้สมองสี่ด้านอยู่แล้ว เพียงแต่ส่วนใหญ่จะช้สมองด้านใดด้านหนึ่งจนชิน พฤติกรรมการใช้สมองด้านเดียวจนชิน นานไปเลยกลายเป็นพฤติกรรมหลักที่อยู่เบื้องหลังการคิด การพูด การกระทำ คนที่ใช้สมอง I-Control มากๆ จะกลายเป็นคนมีวินัย จัดระบบเก่ง

การใช้สมองด้านใดด้านหนึ่งจนชิน จริงแล้วถือเป็นจุดแข็งของผู้นั้น แต่มีประเด็นที่น่าสนใจคือมนุษย์มีจุดแข็งที่ซ่อนเร้นอยู่ คือสมองด้านที่อยู่ตรงข้าม ที่สามารถพัฒนาขึ้นมาทั้นทีได้ไม่ยาก จุดแข็งที่ซ่อนเร้นของ I-Control คือ I-Preserve ในขณะเดียวกัน จุดแข็งที่ซ่อนเร้นของ I-Preserve คือสมอง I-Control จุดแข็งที่ซ่อนเร้นของ I-Explore คือ I-Pursue จุดแข็งทีซ่อนเร้นของ I-Pursue คือ I-Explore

จุดแข็งที่ซ่อนเร้นของมนุษย์นั้นสามารถพัฒนาขึ้นมาให้เด่นได้ไม่ยาก

เมื่อพัฒนาขึ้นได้จุดแข็งที่ซ่อนเร้นของมนุษย์จะช่วยให้มนุษย์ใช้สมองได้อย่างสมดุลย์มากขึ้น พลังสมองจะมากกว่าเดิม ความสำเร็จจะมากขึ้น และเป็นฐานการพัฒนาสมองส่วนอื่นต่อไป

เป้าหมายของมนุษย์คือการใช้สมองสี่ด้านได้อย่างสมบูรณ์

ทำไมต้องขยายพลังสมองของมนุษย์ให้ทำงานได้มากขึ้น คำตอบน่าจะมาจากปัญหา ที่พบจริงในองค์กร

1. ควบคุมเก่ง จนลืมเรื่องคน (I-Control มีปัญหา) จนขาดความยืดหยุ่น สร้างความกดดัน จนเกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ เช่นผู้เขียน เคยเจอพนักงานบริษัทคนหนึ่ง ที่เข้ามาบริการผู้เขียนอย่างกระตือรือร้น ผู้เขียนก็รู้สึกชื่นชม แต่พนักงานผู้นั้นกลับบอกว่า ที่เขาทำอย่างนี้เพราะว่าบริษัทมีการตั้งกล้องจับตาพนักงานอยู่ตลอดเวลาว่าทำงานอยู่หรือไม่ เขาบอกทุกคนเลยพยายามพางานทำ แต่เมือ่ฟังผู้เขียนก็รู้สึกเสียความรู้สึกว่า พนักงานคนนี้ถูกบังคับให้ทำ ไม่ได้ทำด้วยใจจริงๆ จึงรู้สึกเสียศรัทธามาก

2. พยายามรักษาสัมพันธ์ แต่กลับมองข้ามภาพรวม (I-Preserve มีปัญหา) ผู้เขียนใช้บริการสายการบินแห่งหนึ่ง กำลังจะไปเที่ยวต่างประเทศ เราจองกันไปสามคนพ่อแม่ลูกได้ที่นั่งติดกัน พอไปสนามบินปรากฏว่าเราถูกจับแยกที่นั่ง เมื่อสอบถามก็พบว่าสายการบินพยายามบริการลูกค้าญี่ปุ่นที่ซื้อตั๋วที่หลัง แต่อยากนั่งตรงนี้ ที่สุดผู้เขียนก็ต้องต่อสู้จนได้ที่นั่งคืน แต่ก็เสียความรู้สึกกับสายการบินนั้นไป นี่เรียกว่าการใช้สมองด้านนี้ของพนักงาน ไม่สมดุลย์ สร้างความเสียหายให้กับบริษัทในระยะยาว

3. คิดเก่ง แต่ไม่ลงมือทำ (I-Explore มีปัญหา ) ผู้เขียนมีโอกาสเจอผู้บริหารจำนวนมาก ที่ชอบแสดงออกถึงวิสัยทัศน์ ชอบชี้โอกาส ชอบสนทนาถึงความเป็นไปได้ต่างๆกับผู้เขียน แต่เมื่อถึงเวลาจะทำกลับไม่พยายาเข้ามามีส่วนร่วม หลายคนมาฝึกอบรมความรู้ มีความฝันว่าจะเป็นอาจารย์ เป็นโค้ช เป็นที่ปรึกษา พยายามไปเรียนมา แต่กลับไม่ลงมือเอาความรู้ไปใช้ ที่สุดเมื่อไม่ปฏิบัติก็ไม่แตกฉาน ไม่กล้าลงมือทำ ที่สุดก็ไม่สามารถทำตามความฝันได้ แถมไม่ได้ใจเพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา

4. ทำงานเก่ง แต่ขาดความคิดสร้างสรรค์ (I-Pursue มีปัญหา) ในองค์กรแห่งหนึ่งที่ผู้เขียนไปเป็นที่ปรึกษา เราเริ่มตั้งคำถามกับหน่วยงานบัญชีของสำนักงานสาขาทั่วประเทศ ว่าทำไมหน่วยงานบางแห่งกลับบ้านดึก ทำงานมาก แต่กลับปิดบัญชีไม่เรียบร้อย บางแห่งกลับบ้านตามเวลา แต่กลับปิดบัญชีได้ดีไม่มีปัญหา ก็พบว่าหน่วยงานที่กลับบ้านตรงเวลามีการปรับปรุงงานเป็นระบบ ที่สุดแล้วทำให้เกิดการทำงานที่ได้ผลกว่าใช้เวลาน้อยกว่า ต่างกับกลุ่มทำงานหนักที่แม้ปริมาณงานไม่ต่างกับที่อื่น แต่ขาดการปรับปรุงงานจนทำให้งานไม่ได้ผลดี ขณะเดียวกันก็ใช้เวลามาก

เท่าที่ผู้อื่นมีโอกาสคุยกับผู้ประกอบการจำนวนมาก ในระยะเกือบสิบปีที่ผ่านมา ค้นพบว่าปัญหาที่พูดมาเป็นปัญหาร่วมของหลายๆองค์กร ที่หลายองค์กรต้องการแก้ปัญหานี้ คำถามต่อไปจะทำอย่างไร เบื้องต้น ผู้เขียนขอเสนอแนะทางออกง่ายๆ

1. ระบุให้ได้ว่าคนในองค์กรใช้สมองด้านไหนเป็นหลัก วิธีง่ายๆ คือการใช้แบบสอบถามที่จะะเอียดมาก แนวทางนี้ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ Organization Development Institute ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หัวหมาก www.odinstitute.au.edu ที่นี่เป็นตัวแทนของอาจารย์ดัดลี่ย์ ลินช์ในประเทศไทย ที่เป็นทั้งศูนย์กลางประเมินสมอง และที่ปรึกษาการพัฒนาองค์กรด้วยสมองสี่ด้าน

2. ประเมินแบบง่ายๆ ไม่ละเอียดเท่าแบบแรก วิธีนี้ง่ายๆ ก็เอานิยามของสมองสี่ด้าน ให้ผู้ถูกประเมิน ประเมินตัวเอง นิยามของดัดลี่ย์ ค่อนข้างชัดเจน พอจะประเมินตนเองได้อยู่แล้ว แนะนำให้ประเมินแค่จุดแข็งหลักจุดแข็งเดียว คือถึงแม้เราจะใช้หลายได้อยู่แล้ว แต่ก็ให้หาสมองหลักๆ เพียงสมองเดียว อยากผู้เขียนนี่เป็น I-Explore ส่วนผู้บังคับบัญชาของผู้เขียนดร.เอเป็น I-Pursue เพื่อนอาจารย์ผู้เขียนที่ผู้เขียนสนิทดร.บี เป็น I-Control และพนักงานที่ผู้เขียนต้องทำงานร่วมกันบ่อยๆ คุณซีเป็น I-Preserve

เพื่อให้เห็นตัวอย่างการนำไปใช้ชัดเจน ผู้เขียนขอยกตัวอย่างง่ายๆประกอบผ่านกรณีศึกษาของตัวอย่างดังนี้

กรณีศึกษาที่ 1: การทำงานทำงานเป็นทีมสมองสี่ด้าน

คนทุกคนมีจุดแข็งที่เสริมคุณได้เสมอ ดังนั้นเวลาทำอะไรในฐานะผู้บังคับบัญชา อย่างน้อยก็แนะนำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาก่อนทำงานอะไร ควรหารือกับคนที่บุคลิกด้านอื่น ผู้เขียนเอง เมื่อค้นพบแบบนี้ เวลาทำงานสำคัญการได้หารือกับคนที่มีพลังสมองเด่นๆ ในด้านอื่นๆ ช่วยให้ผู้เขียนมีมุมมองในด้านอื่นมากขึ้น การได้หารือ หรือทำงานร่วมกับคนที่เป็น I-Control ทำให้ผมสามารถพัฒนาการสอนได้เป็นระบบระเบียบ มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน วัดได้มากขึ้น การปรึกษาหารือกับดร.เอ ที่เป็น I- Pursue หลายครั้งได้รับความช่วยเหลือที่ดีมากๆ เพราะดร.เอ เป็นสมองนักปฏิบัติ เน้นการทำให้เกิดจริง สามารถช่วยเหลือให้มุมมองภาคปฏิบัติได้ดีมากๆ ส่วนคุณซีเพื่อนร่วมงานจะช่วยให้ผู้เขียนได้เชื่อมโยงกับผู้อื่น เพราะคุณซีรู้จักคนมาก ผู้เขียนขาดเหลืออะไร เช่นผู้เขียนอยากเชิญวิทยากรเก่งๆ คุณซีมักจะมีเครือข่ายที่ผู้เขียนสามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้ ทำให้สามารถขยายขอบเขตการทำงานได้กว้างไกลมากขึ้น

กรณีศึกษาที่ 2: การใช้ทฤษฎีสองสี่ด้านมาพัฒนาองค์กร

องค์กรแห่งหนึ่งที่ผู้เขียนไปเป็นที่ปรึกษา ผู้เขียนลองให้คนในองค์กรลองจับกลุ่มกันโดยต้องมีคนที่มีระบบสมองแตกต่างกันมาทำงานร่วมกัน โดยลองให้คิดว่าจะพยายามพัฒนางานของตนให้ดีขึ้นในสิบวันจะทำอย่างไร มีกลุ่มหนึ่งตั้งเป้าว่าจะทำให้คลังสินค้าดีขึ้นในสิบวัน เมื่อถามว่าจะวางแผนทำอะไรบ้างปรากฏว่า I-Control จะบอกว่า "ควรไปเช็คกับฝ่ายบัญชีก่อนว่า ถ้าจัดระบบใหม่ จะกระทบอะไรกับฝ่ายเขาไหม" จะเห็นว่า I-Control จะเน้นที่การจัดระบบ อะไรกระทบกับอะไร จะคิดก่อน ส่วน I-Preserve บอกว่า "ประเมินดูแล้ว คนคงไม่พอ เดี๋ยวจะไปหาเพื่อนต่างแผนกมาช่วย" จะเห็นว่า I-Control เน้นเรื่องความสัมพันธ์ อาศัยพลังความสัมพันธ์เพื่อสร้างความสำเร็จ ส่วน I-Explore จะบอกว่า "เดี๋ยวจะลองไปตรวจสอบดูว่าบริษัทในเครืออื่นๆ บริหารคลังสินค้าสินค้าอย่างไร" จะเห็นว่า I-Explore เน้นภาพใหญ่ ทำงานผ่านกระบวนการสำรวจ สุดท้าย I-Pursue ที่เน้นปฏิบัติบอกว่า "เรามากำหนดกันเลยว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ เสร็จเมื่อไหร่" ที่สุดทีมเอาข้อเสนอแนะของทุกสมองมาทำ ปรากฏว่าภายใน 10 วันสามารถปรับปรุงคลังสินค้าให้ไหลคล่องตัวขึ้นได้จริง นี่คือตัวอย่างการใช้ในการทฤษฏีสมองสี่ด้านมาพัฒนาองค์กร

การประยุกต์ใช้ทฤษฎีสมองสี่ด้านยังทำได้ในอีกหลายมิติ เช่นสามารถพัฒนาเป็น Competency ได้ สามารถนำมาใช้วางแผนกลุยทธ์องค์กรได้ พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อๆไป

เนื่องจากมีลิขสิทธิ ผมก็เริ่มแนะนำให้หาตัวเทียบครับ มีคนบอกว่า DISC นี่ก็ลิขสิทธิ ดีเหมือนกัน ส่วนอีกคนบอกว่า Enneargram หรือนพลักษณ์ก็ได้ฟรีแล้วดีด้วย ใช่ครับ Enneargram ฟรี แล้วก็ดีจริงครับ แต่ในมุมมองผมตัวแปรเยอะไปหน่อย แต่ถ้าคุณถนัดก็จัดได้เลย

แต่ที่ถูกเลยเพราะฟรี ดี แถมเรียบง่ายที่สุดก็คือ "สัตว์สี่ทิศ" ครับ เรื่องนี้คนที่นำมาสอนเป็นคนแรกๆ คือดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ สัตว์สี่ทิศนี่เอามาสอนแทน Whole Brain DISC Enneargram ได้เลยครับ




สรุป

องค์กรสมัยใหม่ล้วนแล้วต้องเผชิญความท้าทาย ปัจจัยความสำเร็จขององค์กรขึ้นกับคนในองค์กรที่ใช้สมองได้ครบรอบด้าน การใช้ทฤษฎีสมองสี่ด้านช่วยทำให้ผู้บริหารเห็นจุดแข็ง จุดอ่อน และโอกาสในการพัฒนาคนได้ชัดเจนมากขึ้น ที่สำคัญการพัฒนาคนผ่านทฤษฎีสมองสี่ด้านนั้นเน้นการให้คนขยายจุดแข็งตนเอง ซึ่งสามารถทำได้ทันที ซึ่งหากขยายได้จะทำให้องค์กรสามารถแก้ปัญหาการทำงานได้ ในระยะยาวหากคนในองค์กรสามารถพัฒนาตนเองให้ใช้สมองครบสี่ด้านได้ ย่อมทำให้คนทำงานได้ผล และเป็นสุข ส่วนองค์กรก็จะเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งหากไม่พัฒนาหรือปล่อยให้เติบโตโดยธรรมชาติ สมองของมนุษย์ในองค์กรนี่เองที่จะสร้างอุปสรรคในรูปแบบต่างๆให้องค์กรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

และสุดท้ายขอขอบคุณละคร Blood Love ที่นอกจากจะฮามากแล้วยังได้สาระ ไม่หยาบโลน ผมว่าว่าเรื่องนี้น่าจะดีพอๆกับ Sitcom ระดับโลกครับ


หมายเลขบันทึก: 589768เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2015 08:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2015 08:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท