nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

​หนัง Woman in Gold : ยืนหยัดทวงคืนความยุติธรรม


หนังสร้างจากเรื่องจริงของ Maria Altmann สตรีชาวยิวที่หนีไปอยู่อเมริกาเมื่อนาซีเข้ายึดออสเตรียประเทศบ้านเกิดของเธอ กับการทวงคืนภาพวาดที่ชื่อ Adele Bloch-Bauer I จากรัฐบาลออสเตรีย

ทหารนาซียึดทรัพย์สินมีค่าของครอบครัวมาเรีย รวมทั้งภาพวาดป้าอเดเล่ (Adele Bloch-Bauer)ผลงานของ คลิมท์ (Gustav Klimt) จิตรกรผู้มีชื่อเสียงชาวออสเตรีย มาเรียกับสามีหลบหนีจากเวียนนาไปอยู่อเมริกา เมื่อสงครามยุติภาพถูกนำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติออสเตรีย ต่อมาในปี ๑๙๘๘ ออสเตรียออกกฎหมายสำคัญให้เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกนาซียึดไปสามารถแสดงหลักฐานขอคืนทรัพย์สินนั้นได้

มาเรียขอความช่วยเหลือจากทนายแรนดี้ (Randol Schoenberg) หนุ่มเชื้อสายยิวลูกชายเพื่อน ทั้งสองเดินทางไปออสเตรีย แต่การทวงคืนครั้งนี้ไม่สำเร็จเพราะรัฐบาลออสเตรียอ้างว่าภาพชิ้นนี้ป้าของเธอเขียนพินัยกรรมมอบให้ มาเรียยอมรับและไม่คิดจะต่อสู้ต่อ สำหรับแรนดี้ทนายหนุ่มที่ไม่เต็มใจนักที่จะทำเรื่องนี้แต่แรกแต่ทนแรงตื้อของมาเรียไม่ไหวการไปเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวในออสเตรียสร้างความสะเทือนใจรุนแรงจนเขามุ่งมั่นที่จะทวงคืนภาพให้ได้ เพราะนั่นคือ การทวงคืนความยุติธรรมให้แก่เหยื่อชาวยิวทั้งมวล

กลับไปอเมริกา แรนดี้ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้านายให้ทำงานนี้ต่อเพราะมันจบแล้ว แต่สำหรับแรนดี้ยังไม่จบ เขาลาออก สืบค้นเอกสารและข้อกฎหมายจนพบว่า เขาสามารถฟ้องรัฐบาลออสเตรียบนแผ่นดินอเมริกาได้ สุดท้ายอนุญาโตตุลาการตัดสินให้รัฐบาลออสเตรียมอบคืนภาพวาด ๕ ภาพให้แก่มาเรีย รวมทั้ง ภาพสำคัญ "Woman in Gold"

นี่คือชัยชนะของความยุติธรรมที่ไม่ได้มาง่ายๆ

...........................

การนำเสนอของหนังที่มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับปัจจุบันไม่มีหนทางอื่นดีไปกว่าการตัดภาพกลับไปมา หนังทำให้คนดูสงสัยว่าเหตุใดการเดินทางกลับบ้านเกิดจึงเป็นความขมขื่น หนังให้เราเห็นภาพการกระทำป่าเถื่อนของนาซีต่อครอบครัว Bloch-Bauer ภาพเหตุการณ์ในวันที่มาเรียและสามีหนีจากบ้านเกิดทิ้งพ่อแม่ที่ป่วยไว้ลำพัง นอกจากการไม่ช่วยเหลือแล้วเพื่อนบ้านชาวออสเตรียยังชี้นำให้นาซีจับตัวเธอ จึงไม่แปลกที่มาเรียตั้งใจแน่วแน่ว่าเธอไม่มีวันกลับไปเหยียบแผ่นดินเกิดอีกชั่วชีวิต แต่เพื่อทวงคืนความยุติธรรมเธอต้องเดินทางกลับไปถึงสองครั้ง

หนังน่าเบื่อมากในครึ่งแรก การแสดงของ ไรอัน เรย์โนลด์ (รับบทแรนดี้) นั้นจืดสนิทเมื่อเจอนักแสดงรุ่นเก๋าอย่าง เฮเลน มิเรน (รับบทมาเรีย) บทพูดของหนังสไตล์ฮอลลีวูดก็เฟอะฟะ และน้ำเน่า ครึ่งหลังค่อยกระชับมีชีวิตชีวาขึ้น แต่เพราะเนื้อหาที่เป็นเรื่องจริงจึงดึงดูดให้ฉันดูหนังไปด้วยลุ้นไปด้วยทั้งที่รู้ว่ามันจะจบแบบไหน

หญิงนักสู้อย่าง Maria Altmann ได้ใจฉันไปเต็มๆ มันต้องอย่างนี้สิ!!

ถ้าไม่ใช่คอหนัง และหนังสือเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง อาจดูหนังเรื่องนี้ไม่สนุก

เป็นวันเสาร์ที่ดูหนัง ๒ เรื่องติดกัน เดินจากโรงนี้ไปโรงโน้น ออกจากโรง Woman in Gold ไปดูหนังอีกเรื่อง The Age of Adaline หนังเกี่ยวกับหญิงสาวชื่อ Adaline ที่ประสบเหตุการณ์ประหลาดที่เธอจะหยุดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพไว้ในวัยสาว คือจะไม่มีวันแก่ โครงเรื่องน่าสนใจมาก แต่หนังทำออกมาแสนธรรมดา ถ้าไม่ได้ดู Woman in Gold การขับรถเข้ากรุงคงเสียเวลาเปล่า.

......................................

บันทึกเพิ่มเติม

การยึดครองออสเตรีย

ฮิตเลอร์เรียกการยกทัพไปยึดครองประเทศต่างๆ ว่า การรวมชาติ (Anschluss = Union)

ออสเตรียเป็นประเทศบ้านเกิดของฮิตเลอร์ จึงเป็นประเทศแรกที่ฮิตเลอร์เข้ายึดครองในปี 1938 โดยข่มขู่ประธานาธิบดีออสเตรียให้แต่งตั้งคนของตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีแทนคนเก่าที่ไม่เชื่อฟัง ฮิตเลอร์บัญชาให้ โยเซฟ เกิบเบลล์ รัฐมนตรีกระทรวงโฆษนาการของเยอรมันและเป็นสาวกผู้ซื่อสัตย์คนเดียวของฮิตเลอร์ออกข่าวเท็จว่ามีเหตุวุ่นวายยุ่งเหยิงนานาในออสเตรีย เป็นผลให้ภาวะเศรษฐกิจปั่นป่วนอย่างหนัก สุดท้ายประธานาธิบดีแต่งตั้งคนของพรรคนาซีเป็นนายกรัฐมนตรี นาซียกทัพเข้ายึดออสเตรียง่ายดาย ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชาวออสเตรีย

จากหนังสือ Mein Kampf (การต่อสู้ของข้าพเจ้า) ที่ฮิตเลอร์เขียนเอง เขาจัดลำดับคนยิวเป็นชนชั้นต่ำจึงต้องกำจัดให้หมดไปจากโลก ฮิตเลอร์และพลพรรคนาซีปฏิบัติต่อยิวในทุกประเทศที่ยึดครองด้วยการยึดทรัพย์สิน จับกุมตัวคนยิวที่ร่ำรวยด้วยข้อหาต่างๆ สุดท้ายก็จับกุมยิวทุกคนไปเข้าค่ายคือเอาไปฆ่า

.......................................

เกี่ยวกับภาพวาด Pertrait of Adele Bloch-Bauer

Portrait of Adele Bloch-Bauer I

ภาพนี้เป็น ๑ ใน ๒ ภาพวาดที่มี Adele Bloch-Bauer (1881-1925) เป็นแบบ ผลงานสีน้ำมันบนผ้าใบ (Oil,silver,and gold on canvas) ของ กุสตาฟ คลิมท์ (Gostav Climt ,1862-1918) วาดในปี ๑๙๐๗ ชื่อ Adele Bloch-Bauer I

อเดเล่ (Adele Bloch-Bauer) ภรรยาของเฟอร์ดินาน (Ferdinand Bloch-Bauer) ลุงของมาเรีย อัลต์แมน เป็นยิวเจ้าของโรงงานน้ำตาล ทั้งคู่ไม่มีลูก อเดเล่ชื่นชอบงานศิลปะเธอมีผลงานของคลิมป์ในครอบครอง ๕ ภาพ ๒ ภาพเป็นภาพวาดที่เธอเป็นแบบ อเดเล่เสียชีวิตในปี ๑๙๒๕ ก่อนนาซียึดครองออสเตรีย ก่อนเสียชีวิตเธอแสดงเจตจำนงขอให้สามีมอบภาพวาดทั้งหมดให้แก่หอแสดงภาพแห่งชาติออสเตรีย (Austrian State Gallery) ทำให้เป็นประเด็นทางกฎหมายว่าเจตจำนงของเธอมีผลทางกฎหมายหรือไม่เพราะภาพทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของสามี เฟอร์ดินาน บลอช-บาวเออร์เสียชีวิตในปี ๑๙๔๕ ที่ซูริคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบไม่กี่เดือน เขาเขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่หลานๆ ได้แก่มาเรียและพี่สาวที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศ ขณะนั้นภาพเขียนทุกชิ้นอยู่ในครอบครองของรัฐบาลออสเตรียที่ไปยึดคืนมาจากนาซี

ปี ๑๙๙๘ รัฐบาลออสเตรียออกกฎหมายสำคัญที่เปิดโอกาสให้บุคคลแสดงหลักฐานเพื่อขอคืนทรัพย์สินที่ถูกนาซียึดไปในระหว่างสงคราม Maria Altmann เป็นหนึ่งในนั้น เธอร้องขอเพียงให้เธอได้รับสิทธิการเป็นเจ้าของภาพเท่านั้นและเธอยินดีที่จะมอบภาพนั้นให้แสดงไว้ที่เดิมในประเทศออสเตรีย แต่รัฐบาลออสเตรียปฏิเสธ

ปี ๑๙๙๙ มาเรียคิดจะดำเนินการทางกฎหมายในออสเตรียเพื่อเรียกร้องสิทธิต่อ แต่ตามกฎหมายเธอต้องจ่ายเงินค่าฟ้องร้องให้แก่รัฐมากถึง ๑.๕ ล้านเหรียญ ซึ่งเธอไม่มีเงินมากขนาดนั้น

Maria Altmann และ Randol Schoenberg (ทนายความ)

ปี ๒๐๐๐ มาเรียและทนายความพบว่าเธอสามารถฟ้องร้องรัฐบาลออสเตรียภายใต้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ Foreign Sovereign Immunities Act และศาลรับคำฟ้องของเธอ และในปี ๒๐๐๔ มีการแต่งตั้งคณะผู้พิพากษาออสเตรีย ๓ คน วินิจฉัยคำฟ้องนี้

โปสเตอร์อำลาภาพเขียนสำคัญที่ต้องส่งคืนเจ้าของ ติดตั้งในกรุงเวียนนา

เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๐๐๖ ได้มีคำวินิจฉัยให้รัฐบาลออสเตรียคืนภาพเขียนทั้งหมดให้แก่มาเรีย ในเดือนมีนาคมภาพทั้งหมดถูกส่งคืนเจ้าของ และถูกนำไปแสดงที่ Los Angeles County Museum of Art ในเวลานั้นมีการประเมินมูลค่าภาพทั้งหมดอยู่ที่ ๑๕๐ ล้านเหรียญ

มิถุนายน ๒๐๐๖ มาเรีย อัลท์แมน นำภาพออกประมูล ภาพ Adele Bloch-Bauer I ถูกประมูลไปที่ราคา ๑๓๕ ล้านเหรียญ โดย Ronald Lauder เป็นการประมูลภาพเขียนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในเวลานั้น ภาพถูกนำไปแสดงอยู่ที่ Neue Galerie นิวยอร์ค

มาเรีย อัลท์แมน อาศัยอยู่ที่ลอส แองเจลีส สหรัฐอเมริกา เธอเพิ่งเสียชีวิตเมื่อ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๑ ในวัย ๙๔ ปี.

.....................................

อ้างอิง

นฤนารท พระปัญญา. Hitler's War : กำเนิด จุดจบ และโศกนาฏกรรมของฮิตเลอร์. กรุงเทพ : สยามปริทัศน์ , ๒๕๕๗.

Adolf Hitler. Mein Kampf การต่อสู้ของข้าพเจ้า. พิมพ์ครั้งที่ ๘ (ศ.ป. ผู้แปล) . กรุงเทพ : สำนักพิมพ์โฆษิต , ๒๕๔๘.

http://en.wikipedia.org/wiki/Gustav_Klimt

http://en.wikipedia.org/wiki/Maria_Altmann

http://en.wikipedia.org/wiki/Portrait_of_Adele_Bloch-Bauer_I

หมายเลขบันทึก: 589704เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2015 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2015 08:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณค่ะ เรื่องน่าสนใจมาก ๆ ที่น่าศึกษาอีกเรื่องค่ะคือคดีอะไรบ้างที่เกิดในประเทศอื่นแต่สามารถฟ้องศาลในอเมริกาได้

ประเด็นของอาจารย์ ดร.กัลยา GD น่าสนใจนะคะ

ดิฉันเองก็ไม่เคยรู้ว่าเราสามารถฟ้องร้องคดีแบบนี้ได้ พอดูหนังเรื่องนี้แล้วตามไปหามาอ่าน จึงได้รู้ว่ามีกฎหมายนี้อยู่ สำหรับรายละเอียดของกฎหมาย Foreign Sovereign Immunities Act ดิฉันไม่ทราบเลยค่ะ ถ้าอาจารย์ทราบเขียนบันทึกให้อ่านด้วยนะคะ

หนังแนวนี้น่าจะไปฉายที่ปากพนังนะคะอาจารย์ อาจารย์ต้น อีกไม่นานแผ่นน่าจะออก

ขอบคุณนะคะคุณ วินัย เจริญเฉลิมศักดิ์ ที่แวะมาให้กำลังใจ

เป็นหนังที่น่าดูมาก

การดูหนังมีผลต่อการทำให้มีกำลังใจ

ในการทำเรื่องดีๆนะครับพี่

ใช่ค่ะน้อง ขจิต ฝอยทอง สนุก ได้สาระ และข้อคิด พี่รักการดูหนังมานานกว่า ๕๐ ปีแล้ว หนังที่ดูเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ ข้อคิดที่เก็บได้ก็แตกต่างไปตามอายุเช่นกัน แปลกมาก

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท